พระโสดาบันสุกขวิปัสสโก ตอนที่ .. ๓

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับคืนนี้ก็มาบรรจบครบรอบในการที่เราจะแนะนำในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความเป็นพระโสดาบัน ต่อไป นี่การปฏิบัติเพื่อความเป็นพระโสดาบันนั้น สำหรับท่านนอกจากพุทธจริตก็ต้องมาคิดอีกมุมหนึ่ง นั่นก็คือ อริยสัจ

คำว่า "อริยสัจ" ที่บรรดาท่านทั้งหลาย เมื่อฟังกันแล้วขึ้นชื่อว่าอริยสัจ รู้สึกว่ามันน่าหนักใจจริง ๆ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะคำว่า "อริยสัจ" ท่านกล่าวว่าเป็นธรรมะเบื้องสูง เป็นเรื่องของนักปราชญ์เท่านั้นที่จะพึงรู้ ที่จะพึงพิจารณา เพราะเป็นของยาก ทว่าว่ากันไปตามความเป็นจริง ความรู้สึกอย่างนี้ผมเองคิดว่าเป็นอุปาทานมากกว่า

เพราะคำว่า อริยสัจ แปลว่า ของจริงที่บรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลายรับรอง หรือว่า ของจริงที่บรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลายมีความเข้าถึงแล้ว คือ มีจิตไม่หวั่นไหว ยอมรับนับถือตามความเป็นจริงในสิ่งนั้น อย่างนี้เรียกว่า "อริยสัจ" ก็เราพูดกันอย่างนี้ก็รู้สึกว่าจะเป็นของไม่ยากนัก

ตอนนี้ก็มาพูดกันถึงอริยสัจของพระโสดาบัน ความจริงอริยสัจนี่ก็ต้องคิดกันเป็นชั้น ๆ ไม่ใช่ว่ากันดะ อยู่ ๆ ก็จะใช้อริยสัจของพระอรหันต์ มันก็หนักเกินไป ถ้าจะเป็นนักเพาะกำลังกายก็จะกลายเป็นปล้ำช้างไป อยู่ ๆ ไม่ทันจะฝึกกำลังกาย กำลังใจให้มันดี แล้วก็ไปตั้งท่าไปปล้ำกับช้าง นี่ถ้ามันจะแย่ อันดับแรกเราก็ต้องดูเสียก่อนว่า อะไรที่เราพอจะปะทะกันได้ แต่ก็ไม่ใช่ปะทะกับสิ่งที่ไม่มีกำลัง จะต้องมีกำลังพอฟัดพอเหวี่ยงกัน และเราจึงจะฟันฝ่าอุปสรรคเข้าไปได้ตามลำดับ

ถ้าจะพูดกันแบบนักรบ เราก็ต้องเลือกตีจุดอ่อน ๆ ที่เราสามารถจะชนะได้ก่อน เก็บเล็กเก็บน้อยไปเรื่อย ๆ ไป เก็บเล็กเก็บน้อยมากเพียงใด ข้าศึกก็หมดกำลังไปมากเพียงนั้น ข้อนี้มีอุปมาฉันใด เหมือนกับการปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ก็เหมือนกัน อยู่ ๆ เราจะใช้กำลังพระอรหันต์มาปล้ำกับเราซึ่งเป็นปุถุชน ก็รู้สึกว่าจะหนักใจมากเกินไป

แต่ถ้าหากว่าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายใช้กำลังแต่พอสมควร อะไรแค่ไหนทำแค่นั้น กำลังเราแค่ยกได้ ๕ กิโลก เราก็ยก ๕ กิโล ถ้ากำลังมากขึ้น เราพอจะต่อสู้กับน้ำหนัก ๑๐ กิโลได้ เราก็ไปยกน้ำหนัก ๑๐ กิโล ทำอย่างนี้ก็รู้สึกว่าจะพอไปไหว

สำหรับอริยสัจนี่ก็เหมือนกัน บอกว่า อริยสัจ ๔ ประการ มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ฟังแล้วปวดหัวไปเลย ไม่อยู่แล้วไม่เรียนแล้ว ไม่ศึกษาแล้วอริยสัจ ปวดหัวเกือบตาย ไม่เอาแล้ว ชาตินี้ทั้งชาติไม่ขอเรียนอริยสัจ นี่พูดอย่างนี้อาตมาว่าใคร ก็น่ากลัวจะต้องไม่ว่าไม่หาว่าใคร ไปหาคนว่า มันไม่ถูก ไม่รู้จะว่าใครมันถึงจะแน่ จะมานั่งว่าท่านผู้ฟังว่ามีอารมณ์อย่างนี้ก็ไม่แน่นักเหมือนกันว่าท่านผู้รับฟังอาจจะเห็นว่าอริยสัจไม่ใช่ของหนักก็ได้

ฉะนั้น บุคคลที่ถูกว่าในเวลานี้ก็อาตมาเอง นี่ความจริงนักธรรมะอย่าเพิ่งประณามกันนะ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า การเทศน์จงอย่าปรารภตนเป็นสำคัญ ไอ้เรื่องปรารภดีเป็นสำคัญไม่ควรปรารภ ถ้าปรารภชั่วอาตมาว่าควรปรารภ

เพราะว่าในอันดับต้น อาตมาเองก็หนักใจในอริยสัจเหมือนกัน พอบอกว่าอริยสัจ ปวดหัวเลย ใครนิมนต์เทศน์อริยสัจไม่ยอมเทศน์ แต่ว่าพอมาศึกษาอริยสัจเข้าจริง ๆ ก็รู้สึกว่า อริยสัจนี่เป็นของธรรมดา ๆ ที่เรามีกันอยู่แล้วเป็นปกติ แต่เราไม่ได้คิดเอากำลังใจของเรามาคิดให้มันถูกต้องตามความเป็นจริงเท่านั้น ค่อย ๆ คิดกันไป เวลานี้เราศึกษาเพื่อพระโสดาบัน เราก็ใช้อริยสัจแค่พระโสดาบัน เราจะไปใช้อริยสัจขั้นอรหันต์ โรคเส้นประสาทจะกินตาย

นี่อริยสัจขั้นพระโสดาบันเป็นยังไง?

อันดับแรก ท่านบอกว่าทุกข์จงพิจารณาทุกข์ให้เห็น เราก็มานั่งดูว่า การเกิดมานี่อะไรมันเป็นทุกข์ ทุกข์ตรงไหนกันแน่ ตอนที่อยู่ในท้องแม่เรามองไม่เห็นว่าอยู่ในท้องแม่นี่เราเป็นทุกข์หรือเปล่า เราก็ไม่รู้ แต่ว่าในเมื่อไม่รู้ เราก็ยังไม่คิด เอาไปไว้คิดกันตอนจะเป็นพระอรหันต์ คือ พระอริยสัจของพระอรหันต์

แต่ความจริงตอนนั้นก็ไม่สำคัญ ตอนนั้นถ้าจะปฏิบัติจากพระอนาคามีไปเป็นพระอรหันต์ บอกว่าหันไปเล่นอริยสัจไหม ท่านบอกไม่ต้องล่ะ เรียบร้อยแล้ว นี่ก็สำคัญ สิ่งที่ยากที่สุดก็สมัยที่เราจะฝึกเพื่อความเป็นพระโสดาบันเท่านั้น เพราะเป็นของใหม่ นี่เรามานั่งดูทุกข์ที่เรามองเห็นกันดีกว่า

เวลานี้เราเป็นผู้ใหญ่ ย้อนหลังไปหาความเป็นเด็ก เรานึกถึงความเป็นเด็กไม่ออก ก็นึกถึงเป็นเด็กคนอื่นก็แล้วกัน เอาเด็กเล็ก ๆ มาคนหนึ่ง และที่เธอยังช่วยตัวของเธอยังไม่ได้ วางเธอลงเวลาเธอถ่ายอุจจาระ อุจจาระก็เลอะตัวเพราะลุกไม่ขึ้น ปัสสาวะก็เลอะตัว

นี่เราอาจจะนึกไม่ออกว่าเด็กจะมีความรู้สึกยังไง เราก็มานึกถึงตัวเองก็แล้วกันว่า ถ้าเราต้องนอนถ่ายอุจจาระ นอนถ่ายปัสสาวะให้แปดเปื้อนตัวแบบนั้น อาการเหม็น อาการสกปรก มันเป็นปัจจัยของความสุขหรือความทุกข์ ถ้าเราจะตอบเองมันก็ไม่ยาก เราก็ตอบว่ามันเป็นความทุกข์ เพราะเราไม่ชอบ เราก็วิ่งหนี เพราะว่าถ้าเราถูกกับอุจจาระแล้ว ก็แสดงว่า เราไม่สบายกายไม่สบายใจ

คำว่า "ทุกข์" แปลว่า ไม่สบายกายไม่สบายใจ

นี่ตัวนี้รู้สึกว่าจะหนักไปสำหรับพระโสดาบัน เอากันง่าย ๆ อย่างนี้ดีกว่า ว่าขณะที่เราทรงกายเป็นผู้ใหญ่อยู่นี่ ความหิวมันเป็นสุขหรือว่าเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่มีอาหารบริโภคตามกาลเวลาที่ร่างกายต้องการ มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ร้อนมากเกินไปเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

การที่เราจะพลัดพรากจากของรักของชอบใจ สามีตาย ภรรยาตาย ลูกรักตาย พ่อตาย แม่ตาย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ของที่เรารัก สมบัติที่เราหามาได้โดยยาก ถูกยื้อแย่งไปจากคนร้าย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นกับเรา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นี่น่าจะซ้ำกัน อาการที่เราจะตายเกิดขึ้นมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

เป็นอันว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ท่านทั้งหลายตอบเองได้ จะมีใครบ้างไหมที่พูดมานี่มันเป็นสุข แต่ว่าท่านตอบว่ามันเป็นสุข อาตมาก็ต้องขอกราบท่าน เพราะว่าท่านมีความสุขใจ ไม่มีความหนักใจในสิ่งที่กล่าวมาแล้ว นั่นคืออารมณ์ของพระอรหันต์

ถ้าท่านบอกว่าไม่เห็นสะเทือนใจสักนิดหนึ่ง มันเป็นของธรรมดา ฉันไม่เห็นจะหวั่นไหวเลย มันอยากจะหิวก็เชิญหิว มีให้มันกินฉันก็จะกิน เมื่อไม่มีให้มันกินก็แล้วไป มันอยากจะหิวก็เชิญ ร่างกายไม่ใช่ของฉันนี่ มันอยากจะร้อนก็เชิญ มันอยากจะป่วยไข้ไม่สบายก็เชิญ มันอยากจะตายก็เชิญ เพราะร่างกายไม่ใช่ของฉัน ร่างกายเป็นของกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมสร้างขึ้น ฉันไม่สนใจ

ถ้าความรู้สึกของท่านเป็นจริงอย่างนี้แล้วก็ อาตมาขอกราบ ๓ วาระ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะนั่นท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ต้องมาฝึกเพื่อความเป็นพระโสดาบัน อารมณ์ของพระอรหันต์ท่านไม่มีทุกข์เนื่องด้วยของขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันจะทรุดมันจะโทรมยังไง ท่านไม่มีความรู้สึกเพราะสบายใจ มันปวดท่านรู้ว่าปวด มันหนาวท่านรู้ว่าหนาว มันร้อนท่านรู้ว่าร้อน แต่ว่าท่านไม่สนใจในมัน ถือว่าหน้าที่ของมันเป็นเช่นนั้นก็ปล่อยมันไปตามเรื่อง ไม่เห็นมีอะไรที่จะต้องหนักใจ นี่ว่ากันตามปกติ

ทีนี้เราก็คุยกันต่อไป สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นทุกข์ ความเกิดมันเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักเป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นทุกข์ ความตายจะเข้ามาถึงมันก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะโง่ ทำไมจึงว่าโง่ ก็เพราะอยากเกิดมาเพื่อทุกข์ ถ้ามันไม่โง่ก็จงอย่าเกิด มันเกิดมาแล้วนี่ ที่เกิดมาก็เกิดเพราะความโง่ เข้าใจว่าเกิดเป็นของดีจึงเกิด

เป็นอันว่า หาความทุกข์ขึ้นมาให้ได้ สิ่งใดก็ตามที่เราปรารถนามันทุกอย่าง สมบัติในโลกนี่ไม่มีอะไรเป็นปัจจัยของความสุข หาดูให้ดีก็แล้วกัน

อยากจะมีแหวนเพชรสักวงหนึ่ง รักเหลือเกิน ราคาก็แสนจะแพง อยากจะได้แหวนเพชร เงินไม่พอต้องทำงานหนักเพิ่มกำลังงาน เพื่อต้องการแหวนเพชร ๑ วง และไอ้การเพิ่มกำลังงานเข้ามานี่มันเหนื่อยมากขึ้น มันสุขหรือมันทุกข์ ตอบเองกันนะ ตอบกันเอง ต่อนี้ไปได้แหวนเพชรราคาแพงมาแล้ว ดีใจว่าได้แหวนเข้ามา เกรงว่าโจรผู้ร้ายจะเข่นฆ่า จะมาทำร้ายเพื่อเป็นหารยื้อแย่งแหวนที่เรามีอยู่ มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นอันว่าเป็นทุกข์เสียอีกแล้ว ไม่มีอะไรเป็นสุขสบายใจ

ทีนี้สมมุติว่าเราอยากจะได้สามีหรือภรรยาสักคนหนึ่ง ขณะที่จะได้กันมาเป็นคู่ครอง จิตใจก็เต็มไปด้วยความเร่าร้อน ในขณะที่มีความรัก เกรงว่าความรักมันไม่สมหวัง มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ บางทีเห็นคนรักเดินทางควงคู่ไปกับคนอื่น ความเร่าร้อนใจเกิดขึ้นเพราะความหวงแหน และเป็นอันว่ามันก็ต้องทุกข์ นี่เรานั่งพิจารณากันไปมันก็ไม่จบ

รวมความว่า ทุกอย่างในโลกที่ปรากฏมีอยู่ มันเป็นภาวะของความทุกข์ทั้งหมด เป็นอารมณ์ของความทุกข์ทั้งหมด เป็นเหตุนำมาของความทุกข์ทั้งหมด โลกทั้งโลกไม่มีอะไรเป็นสุข ค่อย ๆ คิดกันไป นี่ความทุกข์อย่างนี้ เรายังต้องการมันก็ปล่อยไปตามเรื่องไม่ต้องทำอะไร ถ้าเราไม่ต้องการมัน

เราก็ควานหาจุดที่เหตุให้เกิดทุกข์ว่าอะไรหนอ อะไรมันเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ ต้องทำลายต้นเหตุมันเสียก่อน อยู่ ๆ มาจะทำลายผลอย่างนี้ไม่ถูก ต้องทำลายต้นเหตุ ต้นเหตุของความทุกข์ได้แก่อะไร นั่นก็คือตัณหา พระพุทธเจ้าบอกว่า ไอ้ความอยากนี่เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์

ลองนั่งนึกดูซิ มีข้าวแล้ว อยากจะกินอาหารอย่างโน้น อยากจะกินอาหารอย่างนี้ ดีไม่ดีอาหารในบ้านมีเยอะแยะไม่พอ อยากจะไปกินอาหารนอกบ้านให้ราคามันแพงเล่นโก้ ๆ เสียน้ำมันค่ายานพาหนะไปแล้ว เสียไปหนึ่ง ไปนั่งในร้านอาหารก็เสียเวลา กิจการทางบ้านอีกหนึ่ง ราคาอาหารในร้านนั้นก็แพงอีกหนึ่ง และไอ้เงินที่จะจ่ายค่าอาหารก็ต้องเพิ่มภาระเข้าไปอีกหนึ่ง มันก็แบกความทุกข์หนัก แต่ว่าคนที่เขาไม่เห็นทุกข์นั่นเขาไม่รู้ คนที่จะรู้ได้ต้องมีอารมณ์ใจเป็นพระอริยเจ้า

เป็นอันว่า ถ้าเราตัดตัณหาคือความอยาก นี่ตัดขั้นพระโสดาบัน ไม่ใช่ตัดขั้นพระอรหันต์ อยากตรงไหนล่ะ

สำหรับขั้นพระโสดาบันก็คิดว่าเรามีเท่าไรพอใจเท่านั้น หมายความว่า เรามีมาได้ด้วยสัมมาอาชีวะ เราจะลงทุนเพิ่มสักเท่าไรก็ได้ ถ้าเราไม่คดไม่โกงเขา ไม่ปลอมไม่แปลงเขา พอใจที่หาได้มาโดยสัมมาอาชีวะ ไม่ตะเกียกตะกาย ไม่อยากได้เกินพอดี อย่างนี้เป็นอารมณ์ตัดตัณหาตัวหนึ่ง ตัดแบบเบา ๆ อย่างพระโสดาบัน

นี่ความอยากอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ อยากจะยื้อแย่งความรักของบุคคลอื่น สำหรับพระโสดาบันก็ตัดอยากคือ ตัณหาตัวนี้เสีย มาตัดถึงว่าเราจะพอใจแต่เฉพาะคู่ตัวผัวเมียเราเท่านั้น ใครกี่คนกี่คนก็มีสภาวะเหมือนกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกันไป จะเพิ่มมากเข้ามาเท่าไหร่ มันก็ทุกข์มากเท่านั้น เราพอใจที่เรามีอยู่ นี่เป็นที่พอใจของเราแล้ว ยับยั้งชั่งใจด้วยอาการแห่งสันโดษ ยินดีเฉพาะบุคคลที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ตะเกียกตะกายเกินไป อย่างนี้ก็เป็นอาการตัดตัณหาที่จะพึงหามาได้โดยไม่ชอบธรรม นี่ตัดกันแค่พระโสดาบัน

นี่ถ้าเราอยากจะโกรธ อยากจะฆ่าเขา เราก็ตัดมันเสียด้วยอำนาจของพรหมวิหาร ๔ นี่เรามาคิดอีกทีว่า เราไปอยากฆ่าเขาทำไม อยากไปทำร้ายเขาทำไม เราไม่ฆ่า เขาก็ตาย เราไม่ทำร้าย เขาก็มีความทุกข์ เพราะเขามีความทุกข์อยู่แล้ว ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น อารมณ์ใจของเราจะไม่มีความสุข เราไม่ต้องการเราจะปล่อยให้อารมณ์ความสุขของเราทรงตัว เขาทำไม่ดีเป็นเรื่องของเขา เขาพูดไม่ดีเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะต้องทำอย่างนั้น

ตัดอารมณ์อยากจะฆ่าเขา อยากจะทำร้ายเขาด้วยอำนาจพรหมวิหาร ๔ แผ่เมตตาความรัก กรุณาความสงสาร ว่าเขาไม่น่าจะทำอย่างนั้น มันเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ เขาสร้างศัตรูแท้ ๆ ไม่น่าจะสร้างศัตรู อย่างนี้อารมณ์จิตก็สบายนี่

แล้วก็มาตัดความอยากได้แก่ ความโลภ อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นให้ได้ ด้วยอำนาจการให้ทานเป็นการแลกเปลี่ยนกัน การให้ทานเป็นจริยาที่ทำลายความทุกข์

ก็เป็นอันว่า ตัวตัวดความทุกข์ได้แก่อะไร ท่านก็เลยไม่รู้ขอย้อนให้ฟังอีกนิดว่า ตัวที่จะเข้ามาตัดเหตุของความทุกข์ได้จริง คือ ตัดตัณหา ก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

ท่านบอกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ไอ้ตัวมรรคนี่แหละ ได้แก่ ตัวศีล

มรรคก็ได้แก่ มรรค ๘ ที่พูดมาแล้วในวันก่อน มรรคตัวนั้นรวมเข้าโดยย่อ คือมี ๘ กระจายไปเป็น ๘ ย่นลงเหลือ ๓ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

เราก็ใช้ ศีล เป็นการตัวคุมอารมณ์ ยังไง ๆ เราไม่ยอมให้ศีลขาด เกรงว่าจะไปอบายภูมิ คุมไว้ก่อน

สมาธิ ทำอารมณ์ศีลให้ทรงตัว ศีลนี่ถ้าไม่มีสมาธิก็ไปไม่รอด

ปัญญา เราก็มานั่งพิจารณาว่า ถ้าเราจะมายื้อแย่งทรัพย์สินของบุคคลอื่นเป็นการสร้างเวรสร้างภัย เราไม่เอา กำลังใจที่อยากจะได้ มันเป็นกำลังใจของความชั่ว เราผลักมันออกไปด้วยอำนาจการให้ทาน

ถ้ามันอยากจะยื้อแย่งความรัก ก็ผลักออกไปเสีย ความเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน นี่ใช้ปัญญานะ ใช้ปัญญาและใช้สมาธิเข้าควบคุม ใช้ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รอง กำลังใจต้องเข้มแข็ง สมาธิคือมีกำลังใจเข้มแข็งว่า ฉันจะไม่ยอมละเมิดอย่างนี้แน่นอน

ตอนนี้หากว่าเราจะมีอาการความโกรธ ความพยาบาท เราก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่าโกรธพยาบาทเขาทำไม ไม่เป็นเรื่อง คนโกรธกันมีความเร่าร้อน คนรักกันมีความสุข เรารักกันดีกว่า หาทางเกื้อกูลซึ่งกันและกันให้เกิดความรักดีไหม ใจเราก็สบาย มาอีกตัว หลงว่านั่นก็ของกู นี่ก็ของกู ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า ถ้าเราตายเสียแล้ว อะไรแบกไปได้บ้าง ถ้าเราไม่แน่ใจว่าเวลาเราตายเราจะแบกไปได้หรือไม่ได้ ก็มานั่งคิดกันใหม่ มานั่งคิดกันว่า

ในเมื่อขณะก่อนที่เราจะตาย ชาวบ้านเขาตายให้เราดู แล้วมีคนไหนบ้างที่แบกทรัพย์แบกสินไปโลกหน้าได้ มีบ้างไหม ไม่มี สิ่งที่เขารักปานประหนึ่งว่าจะตายลงไปในสมัยที่เขามีชีวิตอยู่ แต่พอเขาตายจริง ๆ เขาก็หาบเอาไปไม่ได้ ไม่สามารถจะแบกไปได้ นี่เป็นปัจจัยอันหนึ่ง ที่เราจะเห็นว่าก็ไม่ควรจะมาหลงไหลทรัพย์สินต่าง ๆ ให้มันมากเกินพอดี

ถ้าจิตใจของเราทรงได้อย่างนี้ ก็เข้าถึงนิโรธแบบพระโสดาบัน คือ : -

๑. ตัดความโลภเสียได้ ด้วยการให้ทาน
๒. ตัดความรักเสียได้ ด้วยการรักษาสิทธิซึ่งกันและกัน ยอมรับนับถือสิทธิซึ่งกันและกัน
๓. ตัดความโกรธเสียได้ ด้วยการมีพรหมวิหาร ๔ เป็นสำคัญ โดยการใช้ปัญญาพิจารณาทราบตามความเป็นจริงว่า โกรธกันเป็นทุกข์ รักกันเป็นสุข แล้วก็
๔. ไม่มัวเมาในทรัพย์สินกันมากเกินไป ด้วยใช้ปัญญาพิจารณาว่า คนตายแล้วแบกอะไรไปไม่ได้ เมื่ออยู่ก็ทำมาหากินเลี้ยงชีพไปตามหน้าที่ ตายแล้วก็แล้วกันไป ของมันจะหายไปด้วยจริยาใด ๆ ก็ตาม ติดตามได้ก็ได้ ไม่ได้ก็แล้วไป หมดเรื่องกัน
ถ้าทำได้อย่างนี้ เป็นอันว่าทุกท่าน ถ้าทรงใจได้อย่างนี้เป็นอันว่าทุกท่านมีหวังว่า ทรงอารมณ์เป็นพระโสดาบันได้อย่างไม่ยาก

เอาละ บรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย คืนนี้เวลาที่จะพูดกันก็หมดเสียแล้ว มากเกินไปท่านก็เบื่อ หรือว่าเฝือเกินพอดี ต่อแต่นี้ไป ขอทุกท่านพยายามทรงกำลังใจของท่านให้อยู่ในอารมณ์ตามที่กล่าวมาแล้วในอริยสัจสี่ เพื่อเป็นการพยุงอารมณ์จิตให้ตั้งอยู่ในความดี เพื่อความเป็นพระโสดาบัน ตามกาลตามเวลาที่ท่านต้องการตามอัธยาศัย สวัสดี *

กลับหน้า 2ไปหน้า 4Copyright © 2001 by
Amine
21 พ.ย. 2544 22:08:56