พระโสดาบันสุกขวิปัสสโก ตอนที่ .. ๒

ท่านเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลาย และบรรดาท่านโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับคืนนี้ ก็จะขออธิบายความเป็นมาของพระโสดาบัน ทั้งนี้ก็เพราะว่า ตามที่อธิบายมาแล้ว ๒ คืนนั่นเป็นวิสัยของพุทธจริต

แต่ว่าท่านผู้ใดมีจริตเป็นพุทธจริตก็สามารถจะจำเอาไปปฏิบัติเป็นพระโสดาบันได้เลย ทั้งนี้เพราะว่าท่านทสี่มีนิสัยเป็นพุทธจริต เป็นคนฉลาดอยู่แล้ว

แต่ว่าองค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็มีความห่วงใยบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายที่มีจริตอื่นนอกจากนั้น เช่น ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต วิตกจริต ศรัทธาจริต เป็นอันว่าคำอธิบายที่ผ่านมา บรรดาท่านที่มีคจริตทั้ง ๕ อย่างนี้ ยังไม่สามารถจะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบันได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าต้องรับคำอธิบายก่อน เนื่องด้วยความฉลาดไม่สม่ำเสมอกัน

วันนี้ก็จะขอพูดให้กับบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านเข้าใจความจริงความเป็นพระโสดาบันนี้มีความสำคัญอยู่ที่ศีล ถ้าหากว่าทุกท่านมีศีลบริสุทธิ์ก็ไม่ต้องกล่าวน้อมไปถึงการเคารพในพระรัตนตรัย ทั้งนี้เพราะว่าศีลมาจากพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ การที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ก็แสดงว่าเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยอยู่แล้ว ฉะนั้น ศีลของท่านทั้งหลายจึงบริสุทธิ์

วันนี้ก็มาขอย้ำกันว่า การที่ศีลจะบริสุทธิ์นั้น ต้องอาศัยอะไรเป็นพี่เลี้ยง ศีลจะบริสุทธิ์ได้ตามที่กล่าวมาแล้วในสิกขาบททั้ง ๕ บรรดาท่านนักปฏิบัติทั้งหลายจะเห็นว่ามีเมตตากับกรุณาเป็นสำคัญ ถ้ามีเมตตากับกรุณาทั้ง ๒ ประการนี้ครบถ้วน เป็นอันว่าศีลบริสุทธิ์

ฉะนั้น ความจริง เมตตา กับ กรุณา ทั้ง ๒ ประการนี้ยังมีเพื่อนอีก ๒ เป็นฝ่ายสนับสนุน นั่นก็คือ มุทิตา กับ อุเบกขา

มุทิตา ได้แก่ ความอ่อนโยนของจิต คือ จิตมีอารมณ์ไม่อิจฉาริษยาบุคคลผู้ใด เห็นใครเขาได้ดีพลอยยินดีกับความดีนั้น นี่ประการหนึ่ง

ประการที่ ๔ ก็ได้แก่ อุเบกขาความวางเฉย

คำว่า "เฉย" ในที่นี้ ก็หมายความถึงว่า ไม่สะดุ้งสะเทือนในเมื่อกฎของกรรมมันเกิดขึ้น

นี่ความจริงตามตำราท่านบอกว่า ไม่ซ้ำเติมเมื่อบุคคลอื่นได้รับความเดือดร้อน แต่นั่นเป็นจริยาหรือนิสัยของโลกียชน สำหรับที่พูดกันอยู่นี่ อาตมาพูดกับท่านที่ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระโสดาบันก็ต้องพูดกันคนละชั้นกับโลกียชน

สำหรับอุเบกขา มีอาการวางเฉยจากกฎของกรรม เช่น ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นกับเราก็เฉย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ความแก่ปรากฏก็เฉย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ความตายจะเข้ามาถึงเราก็เฉย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็จะต้องขอย้ำกันสักนิดว่า

ศีลที่จะทรงอยู่ได้เพราะอาศัยพรหมวิหาร ๔ นั่นก็คือ : -

๑. มีเมตตา ความรัก รักทั้งตัวเรา รักทั้งบุคคลอื่น รักทั้งสัตว์เดรัจฉาน รักทั้งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของบุคคลอื่น รักสิทธิของบุคคลอื่น ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลผู้ใด นี่เป็นตัวเมตตา ความรัก

๒. กรุณา ความสงสาร เห็นคนก็ดี เห็นสัตว์ก็ดีที่เพลี่ยงพล้ำมีความทุกข์ ขาดแคลนเรื่องสิ่งใดก็ตาม เราพร้อมที่จะช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา จิตใจของเราก็พร้อมตามนั้นเป็นปกติ

๓. มุทิตา จิตอ่อนโยน คือ มีอารมณ์ไม่อิจฉาริษยาใคร มีอารมณ์ชอบส่งเสริมความดีของบุคคลอื่น บุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม ชาติเดียวกันหรือคนละชาติ อยู่บ้านเดียวกันหรืออยู่คนละบ้าน เป็นเพื่อนกันหรือว่าเป็นศัตรูกันก็ตาม ไม่มีความหมาย จะเป็นอะไรก็ช่าง ในเมื่อเห็นเขาได้ดี เราก็พลอยยินดีกับความดีของเขา

๔. สำหรับอุเบกขานั้น ถ้าว่ากันไปตามเรื่องในความเป็นพระโสดาบัน ก็หมายความถึงว่า มีความวางเฉยในขันธ์ ๕ เป็นสำคัญ ถือว่าขันธ์ ๕ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เรารู้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความเสื่อมไปเป็นปกติ เราจำได้ และต่อไปมันก็มีการสลายตัวไปในที่สุด เราเข้าใจ เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็สนใจจริยาอย่างนี้ คิดว่านี่เป็นธรรมของขันธ์ ฿ ขันธ์ ๕ มันเกิดมาเพื่อทรงอารมณ์อย่างนี้

ฉะนั้น เมื่อมันจะเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา การป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น การรักษาโรค ถือว่าเป็นการระงับเวทนา ในเวลาจะตายเกิดขึ้นมาถือว่าเป็นเรื่องปกติ มีอารมณ์ใจไม่หวั่นไหว มีความภูมิใจว่าเราได้ทำความดีแล้ว ขึ้นชื่อว่าอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานทั้งหมดอย่างนี้เราไม่ไป ดินแดนที่เราจะพึงไปก็คือ มนุษย์ หรือว่าเทวดา หรือว่าพรหม

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะความดีของเราทรงอยู่แล้ว คือ คุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ ได้แก่ คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ อย่างนี้เรามีครบบริบูรณ์

อย่างคนที่นึกถึงคุณของพระพุทะเจ้า แม้แต่ใช้เวลาเล็กน้อยอย่างท่านมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ท่านไม่เคยสร้างความดี ทานไม่เคยให้ ศีลไม่เคยรักษา พระไม่เคยไหว้ แต่เวลาที่ใกล้จะตาย ท่านนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเพียงเดี๋ยวเดียว ตายแล้วท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีความสุข

และอีกตัวอย่างท่านลาชเทวธิดา เป็นหญิงที่ประกอบไปด้วยความจน ไม่เคยบำเพ็ญกุศล เอาข้าวตอกใส่บาตรพระมหากัสสป เพียงครั้งเดียว แล้วนึกถึงความดีของพระมหากัสสปที่เรียกว่า สังฆานุสสติกรรมฐาน( สำหรับท่านมัฏฐกุณฑลีเทพบุตรจัดเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน ) ท่านใส่บาตรเพียงครั้งเดียวกลับไปกระท่อมถูกงูกัดตาย ท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีความสุข

สำหรับพระธรรมเราก็ถึงแล้ว คือ มีความเชื่อในพระพุทธเจ้า คนที่มีความเชื่อในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน เช่น ค้างคาว ๕๐๐ ตัว ฟังเสียงพระสวดอภิธรรมไม่รู้เรื่องว่าเป็นธรรมะ แต่พอใจในเสียง ตายแล้วเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงมาเกิดเป็นมนุษย์พบพระสารีบุตร บวชแล้วไม่นานนักก็เป็นพระอรหัตผล

นี่เป็นอันว่าคุณธรรมความดีทั้ง ๓ ประการ ได้แก่ คุณพระรัตนตรัย เราเข้าถึงแล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งของเรา การตายของเราย่อไม่ไปอบายภูมิ เราพอใจในความดีของเราจึงไม่หวั่นไหวในความตาย แล้วยิ่งไปกว่านั้น ปัญจเวร ๕ ประการ คือ ศีล ๕ เราสามารถระงับได้แล้วเป็นปัจจัยไม่ให้ลงอบายภูมิ

นี่เป็นอันว่า เรามีความชุ่มชื่นใจ ไม่หันกใจในด้านสังขารุเปกขาญาณ ในอุเบกขาข้อสุดท้ายของพรหมวิหาร ๔

แต่ว่า สังขารุเปกขาญาณ สำหรับพระโสดาบันนี้ทรงไม่ได้มากนัก เป็นแต่เพียงมีความรู้สึกว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันเป็นของธรรมดา แต่ว่าในสมัยที่มีชีวิตอยู่ ยังมีความรักสวยสดงดงามตามปกติของปุถุชน แต่ว่ากำลังใจของตนดีกว่าปุถุชนที่เข้าถึงคุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการพรหมวิหาร ๔ เรามีความรัก เรามีความเมตตา กรุณา ความสงสาร รักดัวยสงสารด้วย เราก็ฆ่าเขาไม่ได้ ทรมานเขาไม่ได้ ใครจะกล้าฆ่าคนที่รัก ใครจะกล้าฆ่าคนที่สงสาร เห็นจะหาไม่ได้ในโลก

นี่การที่จะลักขโมยทรัพย์ของเขา ถ้าเรามีความรัก เรามีความสงสารเจ้าของทรัพย์ เราก็คงไม่สามารถจะทำได้เหมือนกัน

นี่หากว่าเราจะไปยื้อแย่งคนรักของบุคคลอื่น หรือคนที่อยู่ในปกครองของบุคคลอื่น โดยการละเมิดด้วยกาเมสุมิจฉาจาร เราก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเรารัก เราสงสารบุคคลนั้นว่าจะเสียหายเพราะเรา และรักและสงสารผู้ปกครองของเขาว่าจะต้องเกิดความเสียใจน้อยใจ หรือมีความขุ่นข้องหมองใจในเมื่อเราเข้าไปละเมิด นี่เป็นอันว่า เรามีความรักความสงสาร เราทำไม่ได้

อันนี้สำหรับข้อที่ ๔ คือ การมุสาวาท ก็ดี การพูดคำหยาบก็ดี พูดส่อเสียดยุยงส่งเสริมให้เขาแตกร้าวกันก็ดี พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล เป็นวาจาที่ไร้ประโยชน์ก็ดี อาการอย่างนี้จะมีกับเราไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเรามีความรัก เรามีความสงสาร เราจะทำอย่างนั้นไม่ได้

คนที่เรารัก เราก็ไม่โกหก คนที่เรารักมีแต่วาจาอ่อนหวานเท่านั้นที่เราจะพูดกับเขา ไม่มีวาจาสามหาว วาจาหยาบ

การที่จะยุยงส่งเสริมให้คนรักกันเป็นศัตรูกัน มันก็ไม่มีสำหรับเรา เพราะเรามีความรักความสงสารบุคคลทุกคนว่า ถ้าเขาเป็นศัตรูกัน เขาก็มีความทุกข์มีแต่ความเร่าร้อน

นี่สำหรับการที่จะพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล เป็นวาจาหยาบคายสร้างความสะดุ้งสะเทือนใจให้เกิดแก่บุคคลอื่นก็ไม่มีกับเรา ซึ่งมีความรักความสงสารในบุคคลนั้น

การดื่มสุราก็ย่อมไม่ปรากฏ เพราะเราสงสารตัวเองด้วย สงสารบุคคลในครอบครัวด้วย ว่จะต้องสูญเสียทรัพย์สินที่นำมาซึ่งเป็นเหตุให้เป็นประโยชน์จากทรัพย์นั้นให้สูญเสียไปเปล่า หรือมิฉะนั้นไอ้เจ้าเหล้าสุรายาฝิ่น มันก็จะพาเราเข้าคุกเข้าตะราง เป็นเหตุให้คนอื่นเหยียดหยามว่าเราเป็นคนขี้เหล้าขี้ยา ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่เป็นที่สมควรจะคบค้าสมาคม เพราะคนเมาเหล้าไม่ใช่คนดี คนประเภทนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดากล่าวว่า เป็นคนที่ไม่ศักดิ์ศรี เป็นคนทำลายความดีของตนเอง

นี่รวมความว่า ถ้าเรามีพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วน ศีลเราก็บริสุทธิ์ คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ เรายึดมั่นทรงตัวอยู่ และคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมครูในข้อที่ว่า ศีลบริสุทธิ์มีอยู่ เราก็เชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ศีลของเรานั้นจะมีความั่นคงได้ ก็เพราะอาศัยพรหมวิหาร ๔ เป็นสำคัญ

จะยกตัวอย่างให้เห็นว่า บุคคลที่เป็นพระโสดาบันย่อมมีเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร และไม่อิจฉาริษยาบุคคลอื่นใดที่ได้ดี พลอยยินดีกับบุคคลผู้ได้ดีนั้น และยิ่งไปกว่านั้น ก็มีอุเบกขาวางเฉยเมื่อกฎของกรรม หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นที่รักของตนจะต้องสูญหายไป เพราะเหตุที่ไม่ได้ตั้งใจ อาการอย่างนี้มีตัวอย่าง จะยกตัวอย่างมาแบบง่าย ๆ สักรายเดียว แล้วก็จะขอนำมากล่าวแต่โดยย่อ ไม่ใช่พิสดารเพราะเวลาจำกัด

ตัวอย่างที่บรรดาท่านพุทธบริษัทเห็นอยู่เสมอ ได้แก่ นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางวิสาขามหาอุบาสิการนี่เป็นพระโสดาบัน จิตใจของนางนั้นเต็มไปด้วยความเกื้อกูล เต็มไปด้วยเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร

จะเห็นได้ว่า ในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงเสด็จประทับอยู่ที่พระคันธกุฎี ในวันหนึ่งนางวิสาขาได้อาราธนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมไปด้วยพระสงฆ์ทั้งหมดไปฉันภัตตหารที่บ้าน วันนั้นจะถึงเวลาที่นิมนต์ บังเอิญฝนตกใหญ่

สมัยนั้น บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายมีผ้า ๓ ชิ้น คือ สบง๑ จีวร๑ สังฆาฏิ๑ มีผ้าพิเศษ ก็ได้แก่ อังสะ เป็นผ้าซับใน แล้วก็ผ้ารัดประคดแทนเข็มขัด เวลาเดียวกันนั้นปรากฏว่าฝนตกจัด บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายเห็นเป็นโอกาส พระประมาณสัก ๒,๐๐๐ รูป ก็พากันอาบน้ำตามชายคามหาวิหาร เพราะเป็นวิหารใหญ่ เวลาอาบน้ำท่านก็แก้ผ้าด้วยกันทุกองค์ เป็นเวลาสายแล้ว

นางวิสาขาท่านใช้คนใช้ไปนิมนต์พระ ปรากฏว่าเมื่อคนใช้ไปถึงเห็นพระแก้ผ้าอาบน้ำกันเป็นแถว เข้าใจว่า อเจลก คือ พวกชีเปลือย จึงได้กลับมาบอกกับนางวิสาขาว่า ที่วิหารไม่มีพระ มีแต่พวกอเจลกชีเปลือยเท่านั้น นางวิสาขาก็ทราบว่า พระคงจะอาบน้ำกันเพราะมีผ้า ๓ ผืน ถ้าสบงเปียกก็ไม่มีสบงนุ่ง เพราะมีสบงผืนเดียว มีจีวรตัวเดียว มีสังฆาฏิตัวเดียว

เมื่อฝนหายแล้ว นางวิสาขาก็ใช้คนใช้ไปใหม่ เพราะว่าเวลานี้พระกลับมาแล้ว เธอจงไป ก็ปรากฏว่าคนใช้กลับไปคราวนี้ฝนหาย พระนั่งในมหาวิหาร ห่มผ้าผ่อนเรียบร้อย นางจึงเข้าไปบอกแก่พระอานนท์ว่า ถึงเวลาอาหารแล้ว ขอได้โปรดเผดียงพระให้ไปรับภัตตาหารได้

เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรพร้อมไปด้วยพระสงฆ์ทั้งหลายฉันภัตตาหารเสร็จ นางวิสาขาเพราะอาศัยมีความเมตตาในพระมีความสงสารในพระเห็นว่ามีผ้าน้อยเกินไป จึงได้ขอพรแด่องค์สมเด็จพระจอมไตรว่า ขอให้หม่อมฉัน หรือ ขอให้พระได้มีโอกาสรับผ้าวัสสิกสา คือ รับผ้าอาบน้ำฝนได้เป็นชิ้นที่ ๔ ที่เป็นผ้าสำรองครอง คือ เป็นผ้าอธิษฐาน องค์สมเด็จพระพิชิตมารก็ทรงอนุมัติ

นี่จะเห็นได้ว่าคนที่เป็นพระโสดาบัน มีจิตประกอบไปด้วยความเมตตาปรานี และประกอบไปด้วยเหตุผล ไม่ใช่เมตตาปรานีประเภทส่งเดช ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา

และอีกคราวหนึ่ง ในคราวที่ภิกษุชาวปาฐา ๓๐ องค์ มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษาแล้วแต่ยังไม่ถึงองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จึงพักระหว่างทางที่เมืองสาเกต พอออกพรรษาก็รีบเดินทางมา น้ำค้างตามใบหญ้าใบไม้ก็เปียก เมื่อเธอก็ต้องใช้ผ้าเปียก ๆ ก็มันมีอยู่ชุดเดียว

เมื่อถึงพระพุทธเจ้าแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ตอนนั้นนางวิสาขานั่งอยู่ที่นั้นด้วย เห็นพระเปียกทั้งหมด ถามได้ความชัดว่า เดินมาตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษา มาเวลานี้เข้าพรรษาแล้ว ก็เมื่อเวลาเข้าพรรษาต้องพักระหว่างทาง ออกพรรษาก็รีบมา ผ้าผ่อนท่อนสไบไม่มีผลัด เพราะมีผ้าอยู่ ๓ ชิ้นจำกัด

นางวิสาขาจึงขอพรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เวลาออกพรรษาแล้ว ขอให้มีโอกาสได้ทอดกฐิน คือ พระจะได้รับผ้าไตรจีวรจากบรรดาทายก อุบาสก อุบาสิกา

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้มีพระพุทธฎีกา อนุญาตว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ เป็นเวลา ๑ เดือน ขอให้บรรดาพระสงฆ์รับผ้าพระกฐินทานแก่ บรรดาทายก ทายิกาที่มาถวายได้...

ฉะนั้น ผ้ากฐินที่เขากล่าวว่า สำคัญที่ไตรครอง ไตรอื่น ๆ ไม่สำคัญนั้นไม่จริง ความจริงสำคัญทุกไตร มีอานิสงส์เท่ากัน เพราะยิ่งถวายได้ทั้งวัดยิ่งดี เพราะพระจะได้มีใช้สม่ำเสมอกัน ...

นี่การนำเรื่องนี้มาเล่าให้กแก่บรรดาท่านพุทธบริษัทฟัง ก็จะได้จำ เป็นตัวอย่างว่า

ท่านที่เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน หรือ กำลังจะเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน จะต้องทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ เมื่อทรงพรหมวิหาร ๔ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ศีลบริสุทธิ์ด้วย ทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปัจจัยระงับโทสะและพยาบาท ทำให้โทสะและพยาบาทคลายตัว

แล้วก็พรหมวิหาร ๔ เป็นปัจจัยให้คนใจดี พอใจในการให้ทาน แล้วก็ทานตัวนี้เป็นปัจจัยตัดโลภะ คือ ความโลภ ทำให้จิตใจของท่านที่เป็นพระโสดาบัน มีอารมณ์บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีความโลภ คือ ปรารถนาในการยื้อแย่งเขา พอใจในการหาได้ด้วยสัมมาอาชีวะ

ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลายที่กำลังสดับอยู่ จงปรับกำลังใจของท่านให้ดีตามนี้ นี่การเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน จะเห็นว่าเป็นของไม่ยาก ไม่มีอะไรลำบากที่บรรดาท่านพุทธบริษัทจะต้องหนักใจ

นี่มองดูเวลาสำหรับจะพูดกันก็เห็นว่าหมดเสียแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน จะนั่งอยู่ก็ตาม จะนอนก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ ควบคุมกำลังใจของท่านให้เป็นไปตามคำแนะนำที่กล่าวมาแล้วนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติเพื่อสุกขวิปัสสโก ใช้อารมณ์คิดเป็นสำคัญ เมื่ออารมณ์คิดมีเหตุมีผลทรงใจดีแล้ว จิตใจของท่านทั้งหลายก็มีความผ่องแล้ว ทรงความเป็นพระโสดาบันได้ง่าย เวลานี้ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องพักคำอธิบาย

ขอทุกท่านจงทรงกำลังใจของท่านให้เป็นสมาธิ และพิจารณาไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ จิตใจจะได้มีความสุขเข้าถึงพระนิพพานต่อไปตามกาลตามสมัย ตามเวลาที่ท่านต้องการ สวัสดี *

กลับหน้า 1ไปหน้า 3Copyright © 2001 by
Amine
15 พ.ย. 2544 17:27:41