พระโสดาบันสุกขวิปัสสโก ตอนที่ .. ๔

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย คืนวันนี้ก็จะขอพูดอธิบายการที่จะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบันต่อไป ถ้าหากว่าท่านพระโยคาวจรทั้งหลายที่มีอารมณ์เข้าถึงแล้ว ก็ต้องขอประทางอภัยด้วย ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเพื่อบุคคลที่ยังเข้าไม่ถึงเป็นสำคัญ

สำหรับวันนี้ก็จะขอพูดจุดที่สำคัญที่สุด ที่บรรดาพระโยคาวจรทั้งหลาย จะต้องสามารถทรงให้ได้ ถ้าทรงไม่ได้ในจุดนี้ การเป็นพระโสดาบันไม่มีทาง บอกได้เลยว่าไม่มีทาง ที่จะพูดกันวันนี้ก็ได้แก่ บารมี ๑๐ ว่าบารมี ๑๐ อย่าง แต่ก็จงอย่างลืมว่าการพูดวันนี้เป็นการพูดถึงบารมีของพระโสดาบันเท่านั้น ไม่ใช่บารมีของพระอรหันต์

นี่ก็ต้องว่ากันไปตามขั้น นี่บางทีหลาย ๆ ท่านถามว่า บารมี ๑๐ นี่สามารถจะทรงได้ไหม ก็สั่นศีรษะบอกว่าไม่ไหว ชาตินี้ทั้งชาติไม่สามารถจะทรงบารมี ๑๐ ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าไม่ทราบว่า คำว่า "บารมี" มันแปลว่าอะไร ?

นี่สำหรับคำว่า บารมี นี่แปลว่า กำลังใจ

ความจริงบารมีท่านแปลว่าเต็ม

นี่ตอนนี้ก็เคยไปเจ๊งเขามาแล้ว เจ๊งใคร เจ๊งพระอาจารย์ พระอาจารย์ใหญ่ท่านถามว่า คำว่า "เต็ม" หมายความว่าอย่างไร เอาอะไรเข้ามาเต็ม เช่น เต็มอย่างทานบารมี ถ้าต้องการจะให้เต็มโลก จะไปขนของที่ไหนมาให้เต็มโลก หรือว่าจะให้เต็มความปรารถนาของผู้รับ ทำยังไงมันถึงจะเต็ม ให้อย่างนี้เท่านี้แกก็จะเอาเท่าโน้น ให้เท่าโน้นแกจะเอาเท่านั้น ให้อย่างนี้แล้วแกก็อยากได้อย่างโน้น แล้วก็อยากได้อย่างนั้น ความอยากไม่มีที่สิ้นสุด

ในเมื่อเราให้ ให้เขาเต็มความปรารถนาไม่ได้ ก็ชื่อว่าเราให้ไม่เต็ม เป็นอันว่าทานบารมีอย่างเดียว ก็หาทางคำว่า "เต็ม" ไม่ได้ นี่ถ้าจะแปลว่า เต็ม เฉย ๆ มันก็อย่างงั้น นี่ท่านบอกว่า บารมี นี่ถ้าจะพูดกันให้ตรงตามความเป็นจริงก็ต้อง แปลว่า กำลังใจ คือ กำลังใจของเราทรงอยู่ในระดับนั้นตลอดเวลา

ในการศึกษาเพื่อความเป็นพระโสดาบัน ทั้งนี้ขอบรรดาพุทธบริษัททุกท่าน อย่าลืมว่า อาตมาพูดนี่พูดตามตำราขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสอน และจงอย่าถือว่าคำสอนทั้งหมดเป็นคำสอนของอาตมา จงถือว่าคำสอนนี้เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นแต่เพียงอาตมาเรียนมาแล้วก็มาเล่าสู่ให้ท่านฟัง มาบอกให้ท่านฟังแล้วก็จงอย่าทึกทักเอาว่าอาตมาเป็นพระอริยเจ้า เดี๋ยวจะยุ่งกันใหญ่

จงสร้างความเข้าใจเพียงว่าอาตมาเป็นเพื่อนที่รักของท่านก็แล้วกัน ต่างคนต่างเราก็รักความดีด้วยกัน แต่ว่าความดีที่เราทำนั้นจะดีมากดีน้อย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่สามารถจะดัดแปลงแก้ไขได้ เป็นอันว่าจงเข้าใจไว้ว่า อาตมาจะพูดอะไรก็ตาม จงอย่าคิดว่าอาตมาเป็นพระอริยเจ้า ขอจงทำความรู้สึกไว้อย่างเดียวว่า

นี่เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสอนไว้ เพื่อยังปฏิปทาของเราให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า...

แล้วก็ไม่ต้องมาย้อนถามว่า ถ้าไม่เป็นพระอริยเจ้าสอนได้ยังไง ก็บอกแล้วว่าแนะนำกันตามที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาท่านแนะนำมา ท่านว่ามาอย่างนี้อาตมาก็ว่าไปอย่างนั้น ก็หมดเรื่องกันไป เป็นอันว่าอาตมาเป็นสะพานเดินเท่านั้น

นี่สำหรับบารมีนี่ ตอนที่บรรดาพระโบราณาจารย์ทั้งหลายท่านสอนกัน เมื่อเห็นว่ากำลังจิตของศิษย์ของท่านใกล้จะเข้าจุดความเป็นพระโสดาบัน ท่านก็เร่งรัดว่า จงสร้างบารมีกันให้ครบถ้วน หมายความว่า ทำบารมีที่มีอยู่นี่ให้ครบถ้วน ให้จิตมันทรงตัวในบารมี ๑๐ ประการ

บารมี ๑๐ ประการนั้นมีอะไรบ้าง ต้องเปิดตำราไหม

ข้อที่ ๑ ทานบารมี มีกำลังใจพร้อมอยู่เสมอในการให้ทาน ในการสงเคาระห์ ทานที่เราจะให้นี่ไม่ได้ให้เพียงเพื่อหวังผลตอบแทน เขาจะตอบแทนด้วยทานอันเป็นวัตถุก็ตาม หรือเขาจะตอบแทนด้วยการสรรเสริญเยินยอ ด้วยการยกย่องก็ตาม ไม่มีสำหรับพวกเรา เราต้องการอย่างเดียว ให้เพื่อการสงเคราะห์ให้เขามีความสุข

และในขณะเดียวกันเราก็มีความรู้สึกว่า การให้ทานไปครั้งหนึ่ง ชื่อว่าเราตัดโลภะความโลภไปจุดหนึ่ง ความโลภมันขาดไปเลยจุดหนึ่ง ให้ ๑๐ ครั้ง ความโลภขาดไป ๑๐ ชิ้น ให้ ๑๐๐ ครั้ง ความโลภขาดไป ๑๐๐ ชิ้น ให้มากความโลภขาดก้อนใหญ่ ให้น้อยความโลภขาดไปก้อนเล็ก นี่หมายความว่าให้ด้วยศรัทธา ให้เพื่อการสงเคราะห์ ไม่ใช่หมายถึงการให้เพื่อแข่งขันกัน อันนี้ไม่ใช่

เป็นอันว่าจิตใจในการที่เราคิดว่าจะให้ทานการสงเคราะหืมันมีเป็นปกติ ตั้งแต่ลืมตามาจนกว่าจะหลับไปใหม่ ใจมันพร้อมอยู่เสมอเพื่อการสงเคราะห์ด้วยการให้ทาน เมื่อให้ไปแล้ว อารมณ์ใจของเราก็ชื่นบาน คิดว่านี่ความโลภหายไปอีกชิ้นหนึ่งแล้ว จิตเราก็มีความเบา สร้างความชุ่มชื่นให้เกิดขึ้นมาในจิต

นี่เป็นกำลังใจจุดหนึ่งในบารมี ๑๐ ประการ ให้ทรงไว้ว่าเราพอใจในการให้ทาน ในการให้ทานเพื่อความเป็นพระโสดาบันก็ต้องเลือกเหมือนกัน ถ้าให้ไปแล้วจะเป็นภัยย้อนหลังเข้ามาหาเรา หรือว่าจะเป็นภัยเพื่อทำลายบุคคลอื่น จงอย่าให้เป็นการสนับสนุนโจร นี่ไม่เป็นการสมควร เวลาจะให้ก็ต้งอใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเสียก่อน อย่าให้ส่งเดช จะไม่มีผล

ข้อที่ ๒ ท่านบอกว่า ศีลบารมี ศีลบารมีหมายความมีกำลังใจรักษาอารมณ์ของศีลให้เต็ม ถ้าพระก็ศีล ๒๒๗ เต็มครบถ้วนบริบูรณ์ สามเณรทรงศีล ๑๐ ให้เต็มครบถ้วนบริบูรณ์ ฆราวาสทรงศีล ๕ให้ครบถ้วนบริบูรณ์

คำว่า "ศีลบริบูรณ์" นี่ ไม่ใช่หมายความถึงว่าเราจำศีลได้ เราต้องระมัดระวังว่า ไม่ยอมให้ศีลข้อใดข้อหนึ่งบกพร่องเป็นอันขาด เราจะรักษาศีลด้วยชีวิต เราจะยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด อารมณ์ทรงศีลตั้งแต่ลืมตาถึงหลับตา เราจะไม่ลืมเรื่องศีลของเราเป็นอันขาด จะระมัดระวังให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ

ข้อที่ ๓ เนกขัมมะ เป็นบารมีที่ ๓

เนกขัมมะ นี่แปลว่า จิตเราน้อมไปเสมอว่าจะพยายามทำลายอารมณ์ที่พอใจในกามให้พินาศไป นี่สำหรับพระโสดาบันนี่ยังไม่หมด เป็นอันว่าเราจะมีความพอใจในเรื่องกามารมณ์เฉพาะขอบเขตของเราเท่านั้น คือ ในระหว่างสามีและภรรยา เราจะไม่ต้องกาเสวยกามารมณ์นอกเหนือไปจากสามีและภรรยาของเรา อย่างนี้จัดเป็นเนกขัมมะของพระโสดาบัน

และนอกจากนั้นอารมณ์ใจก็คิดไว้เสมอว่า เราจะพยายามตัดกามฉันทะ ลดความรู้สึกในกามด้วยการทำลายกามฉันทะในนิวรณ์ ลดความรู้สึกด้วยการพิจารณา สักกายทิฏฐิ และ อสุภกรรมฐาน คือ จะไม่เมาในกามฉันทะมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่อยู่ระหว่างคู่ผัวตัวเมียก็ตามที แต่ถ้าว่าเรามีก็หาทางลดเท่าที่พึงจะลดได้ แต่ว่าเป็นการไม่ทำลายกำลังใจซึ่งกันและกัน พยายามรักษากำลังใจซึ่งกันและกันไว้ เรียกว่า บัวไม่ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น เราจะพยายามหาทางระงับความโกรธ และความพยาบาทไม่ให้มันฟูเกินไป เพื่อการรักษากำลังใจให้มีความสุข

บารมีที่ ๔ ที่เรียกว่า ปัญญา ปัญญาตัวนี้หาทางความรอบรู้ พิจารณาดูตามความเป็นจริง ใช้ปัญญาในทรรศนะของพระโสดาบัน อย่าลืมว่าบารมีตอนนี้เป็นบารมีของพระโสดาบัน มานั่งพิจารณาหาความจริงว่า เราเกิดมานี่มันก็เป็นทุกข์ ตั้งแต่วันเกิดถึงวันนี้ไม่มีอะไรเป็นสุข แล้วต่อไปกว่าจะถึงวันตายมันก็ทุกข์ตลอดเวลา ฉะนั้น ความเกิดจึงเป็นปัจจัยทุกข์ ที่เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดต่อไป นี่การที่เราจะไม่เกิดต่อไป เราควรจะทำยังไง พยายามหาทาง เหตุแห่งความเกิดใหญ่มีอยู่ ๓ อย่าง คือ : -

โลภะ ความโลภ
โทสะ ความโกรธ
โมหะ ความหลง

เราจะพยายามหาทางทำลายความโลภให้พินาศไป ทำลายความโกรธให้พินาศไป ทำลายความหลงให้พินาศไป ตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สอนไว้

ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำว่าเป็นความดี ควรประพฤติปฏิบัติ เราจะทำตามนั้นทุกอย่างโดยไม่ฝ่าฝืนคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำว่าธรรมนั้นเป็นธรรมที่เป็นอกุศล ควรละ เราจะละทุกอย่าง จริยาใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดากล่าว ว่าเป็นปัจจัยให้จิตผ่องใส เราทำตามนั้น

นี่เอาปัญญาของเราใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วก็มีอารมณ์ทรงตัวอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เป็นอันว่าทำให้เต็มอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเต็มขั้นระดับพระโสดาบัน


บารมีที่ ๕ วิริยะ บารมีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า ต้องทำกำลังใจให้ทรงความเพียร ต่อสู้กับอุปสรรคทุกอย่างที่จะเข้ามาขัดขวาง ไม่ว่าอะไรทั้งหมดที่จะเข้ามาทำลายหักล้างเรา เพื่อให้หมดกำลังใจที่จะพึงประพฤติปฏิบัติ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเราไม่ต้องการ มันจะมีอุปสรรคต้านทานแข็งแรงเพียงใดก็ตามที จะไม่ยอมถอยหลัง จะฟันฝ่าอุปสรรคนั้นให้พินาศไป ถ้าเราไม่สามารถจะทรงกายไว้ได้ คือ จะตายเพราะฟันฝ่าอุปสรรคนั้นเราก็ยอม เพื่อเราจะก้าวไปสู่ความดี กำลังใจอย่างนี้ต้องทรงเป็นปกติ ไม่มีการท้อถอย ไม่ท้อแท้ ไม่ถอยหลัง

บารมีที่ ๖ขันติ ความอดทน ความอดทนต้งอมีเพราะจิตเรามันชั่วอยุ่มาก ก็มาหาความดี อุปสรรคทางจิตมันก็มีมาก ก็ต้องต่อสู้กัน หมายความว่า อุปสรรคใด ๆ ก็ตาม จะเป็นอุปสรรคทางกายก็ดี อุปสรรคทางใจก็ตาม ที่มันจะเกิดขึ้นด้วยประการใดก็ตาม เราไม่ยอมท้อถอย อดทนต่อสู้จนถึงที่สุด กำลังใจจะไม่ยอมผ่อนลงไปให้ต่ำลง จะพยายามเฟื่องฟูอารมณ์ต่อสู้ให้มากขึ้นตามลำดับ เรียกว่าไม่ท้อถอย

บารมีที่ ๗สัจจะ ต้องทรงความจริงใจไว้เสมอ ว่าเราจะนึกถึงความตายเป็นปกติ ไม่ประมาทในชีวิต จะคิดไว้เสมอว่าเราจะต้องประคับประคองอารมณ์ใจของเราให้อยู่ในความดี นั่นก็คือ หนึ่ง ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ มีศีล ๕ บริสุทธิ์ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จะไม่ยอมให้มีความต้องการในการเกิดต่อไป ขึ้นชื่อว่าความเกิดจะไม่มีสำหรับเรา

บารมีที่ ๘ เรียกว่าอธิษฐานบารมี อธิษฐาน แปลว่า ตั้งใจ ให้ทรงใจไว้ ตั้งอารมณ์ไว้ว่า ถ้าเราจะทำอย่างนี้เราจะทรงความดี เราจะเป็นพระโสดาบันให้ได้ เราจะไม่ท้อแท้ เราจะไม่ถอยหลัง คุณธรรมอันใดที่จะทำให้เราเป็นพระโสดาบัน คือ หนึ่งมรณานุสสติกรรมฐาน ร่างกายจะต้องตายรู้อยู่ทุกวัน แล้วก็รู้คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณของศีล เราจำได้ทรงตัว ใครจะชวนไปที่ไหน เราไม่ไปแล้ว เกาะคุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการนี้พอ แล้วมีศีลบริสุทธิ์ จิตใจน้อมยอมรับพระนิพพานเป็นอารมณ์

บารมีที่ ๙ ท่านกล่าวว่า เมตตา ตัวเมตตานี่ เป็นตัวค้ำจุนที่มีความสำคัญ จิตใจตั้งไว้มั่นว่า เราจะมีเมตตา ความรักในตัวเราก็ดี บุคคลอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี จะไม่ยอมให้คลาดจากจิต คำว่าเป็นอมิตร กล่าวคือ ศัตรูจะไม่มีสำหรับเรา เขาประกาศตนเป็นศัตรูเป็นเรื่องของเขา สำหรับเราไม่ยอมเป็นศัตรูกับใคร จะมีแต่จิตใจเต็มไปด้วยความเมตตาปรานีเป็นปกติ

บารมีที่ ๑๐ ข้อสุดท้ายอุเบกขา ความวางเฉย ตัวนี้หมายความว่า เฉยต่ออุปสรรค ขึ้นชื่อว่าอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม ถ้ามันจะพึงเกิดขึ้นกับเรา โดยลักษณะใดก็ตาม อาการอย่างนั้นจะไม่มีสำหรับเรา เราไม่ท้อแท้ เขาจะด่าเราก็เฉย เขาจะว่าเราก็เฉย เขาจะชมเราก็เฉย แต่ว่าเฉยแบบพระโสดาบัน มันจะป่วยไข้ไม่สบายก็เฉย มันจะตายก็เฉย เฉยแบบพระโสดาบัน ไม่ใช่แบบพระอรหันต์ พระโสดาบัยังมีโกรธ แต่ว่าระงับความโกรธเข้าไว้ ที่ว่ามันอยากจะด่าได้ก็ช่างมัน อดใจไว้ไม่ตอบ มันอยากจะเลวคนเดียวก็เชิญเลวไป เราไม่ขอเลวด้วย ไม่ช่วยสนับสนุนความเลวของเขา นี่ถ้ามันอยากจะป่วย ก็ทราบแล้วว่ามันจะป่วย อยากป่วยก็เชิญ รักษาหายก็หาย ตายก็ช่างมัน ตายแล้วเรามีความสุข ถ้ามันจะตายก็เชิญมันตาย ไม่ว่าอะไร ถ้าจะเกิดการพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็รู้สึกว่ามันเป็นของธรรมดา

นี่รวมความว่า การปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบัน เราก็มาสรุปกันในตอนที่เรียกว่า บารมี ๑๐ ประการ นี่พระโบราณาจารย์ที่ท่านสอนมา ท่านสอนแบบนี้ ท่านบอกว่า ตอนนี้ต้องควบคุมกำลังใจในบารมี ๑๐ ประการให้ครบถ้วน อย่าให้บกพร่อง ให้จิตมันเต็มอยู่เสมอ

เมื่อจิตมันเต็มอยู่ในขั้นบารมี ๑๐ ประการในขั้นของพระโสดาบันแล้ว อารมณ์ตอนหนึ่งมันจะเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นของมันเอง คือ อารมณ์มีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ จิตมีอารมณ์หน่วงเหนี่ยวในพระนิพพาน รักพระนิพพาน คิดอยู่เสมอ ฝันอยู่เสมอ ใคร่ครวญอยู่เสมอ ว่าเราต้องการพระนิพพาน อารมณ์ที่ต้องการไปพระนิพพานที่พระโบราณาจารย์ท่านบอกว่า เวลานี้จิตเข้าสู่โคตรภูญาณ

คำว่า "โคตรภูญาณ" ก็หมายความว่า จิตอยู่ในระหว่างโลกีย์กับโลกุตตระ เหมือนกับเรายืนอยู่ที่ลำรางเล็ก ๆ เท้าซ้ายเหยียบทางนี้ เท้าขวาเหยียบทางโน้น ทั้ง ๒ เท้ายังเหยียบอยู่ ไม่มีเท้าใดยก ท่านเรียกว่า โคตรภูญาณ

หลังจากนั้นไปชั่วขณะไม่มากนัก อารมณ์จิตจะยอมรับนับถือกฎของธรรมดา จะมีอารมณ์เห็นว่าใครจะด่า ใครจะว่า จะนินทา จะสรรเสริญ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา อารมณ์ใจจะไม่หวั่นไหวนัก ก็มีเหมือนกันแต่มีไม่มากนัก เรียกว่า พอมีแต่ว่ามีไม่มาก

พอตัวธรรมดาเกิดขึ้นมาแล้ว ตอนนี้อารมณ์ใจของเรามีความมั่นคง มีจิตตรงต่อพระนิพพาน มองไปดูทาน ก็เต็มเปี่ยมด้วยการบริจาคทาน พอใจในทาน มองไปดูศีล ศีลของเราก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง ตอนนี้ถ้าเราจะมองไปดูความรู้สึกพอใจในร่างกาย ก็รู้สึกว่ามันรักน้อยลงไป เห็นว่าร่างกายเป็นแต่เพียงเรือนร่างที่อาศัยเท่านั้น

เราจะไปมองดูคุณพระรัตนตรัย คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ เราไม่ยอมเหยียดหยามเป็นอันขาด จิตใจของเรามีเคารพพระรัตรตรัย มีองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถเป็นสำคัญ อาการอย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ตามตำราหรือตามที่ท่านแนะนำกันมา ท่านกล่าวว่า เป็นพระโสดาบัน

นี่ถ้าเรามาพูดกันถึงพระโสดาบัน อาจจะถามว่าทำไมไม่แนะนำในการทรงฌานบ้างล่ะ ก็ต้องตอบว่า สำหรับความรู้ขั้นสุกขวิปัสสโก ท่านไม่ได้ไปนั่งปล้ำกับสมาธิทั้งวันทั้งคืน ท่านปล้ำกับอารมณ์ความคิด หาความเป็นจริง การทรงอารมณ์อยู่ในด้านกุศล คิดหาความตายว่า มันจะมีกับเรา คิดว่าเราก่อนจะตาย เราจะต้องนับถือพระพุทธเจ้า นับถือพระธรรม นับถือพระสงฆ์ เพื่อกันอารมณ์หลงใหลไปสู่อบายภูมิ

แล้วเราจะต้องมีศีลบริสุทธิ์ เพื่อตัดอบายภูมิให้มันเด็ดขาด นอกจากนั้นก็มีอารมณ์มุ่งมาดปรารถนาในพระนิพพานเป็นอารมณ์เมื่อว่ากันอย่างนี้ก็รู้สึกว่า เห็นว่าจะไม่มีอะไรมาก มันไม่มีอะไรมากซะแล้วนี่ท่านพุทธบริษัท

รวมความว่า การที่จะเป็นพระโสดาบัน ถ้าว่ากันสั้น ๆ ก็คาสเซ็ทเดียวจบ นี่ว่ากันมาอย่างนี้ว่ายาวที่สุด น้อยคนนักที่เขาจะปฏิบัติตามแบบนี้ที่ว่ามา แต่ถึงอย่างไรก็ดี ก็พยายามว่าไป ว่าไปเพื่อความเข้าใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท แต่ความจริงพิจารณาแล้ว มันจะเกินความพอดีไป ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าคุณแห่งพระโสดาบันไม่จำเป็นต้องเดินทางให้ไกลถึงขนาดนี้ แต่อธิบายมาไกลหลายสิบกิโลแบบนี้ ก็เกรงว่าท่านจะไม่เข้าใจตอนใดตอนหนึ่งเท่านั้น

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน รวมความว่าอารมณ์แห่งพระโสดาบันในขั้นสุกขวิปัสสโกก็จบลง ต่อนี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้เวลาที่ต้องการ สวัสดี*

ไปหน้า 3Copyright © 2001 by
Amine
29 พ.ย. 2544 22:46:21