ตอนที่..๒.๑

เมื่อวานนี้พูดกันไปบ้างแล้ว เมื่อคืนนี้กลับไปที่กุฏิ ตอนหัวค่ำพระท่านมาบอกว่า การสอน ศีล สมาธิ ปัญญา ห้ำหั่นตัณหา คือ ฟันเป็นท่อนเป็นตอน ท่านว่าอย่างนั้น นี่ผมก็ต้องเรียนมาเหมือนกันนะ คือ ถ้าเอาตามแบบผมละคุณเรียนไป ๑๐๐ ปี ไม่ได้อะไรนะ เมื่อคืนนี้ท่านมาว่าอย่างนั้น

พอตอนเช้ามืดท่านมาบอกอีกจุดหนึ่ง คนที่เห็นอริยสัจนี่ ถ้าเราพูดตามแบบก็เห็นยาก ให้หาจุดปลายทางจริง ๆ ก็คือ มรณานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ นี่ก็ไป ๆ มา ๆ เราก็ทิ้งสมถะไม่ได้ อริยสัจนี่เป็นวิปัสสนาญาณ ถ้าหากว่าเราทิ้งสมถะเสียแล้ววิปัสสนาญาณไม่มีผล ผมเคยบอกมาแล้ว สมถะมีความสำคัญมาก เป็นตัวกล่อมจิตให้ทรงตัวอยู่ ให้จิตมีกำลังและก็เป็นพื้นฐานของวิปัสสนาญาณ

ฉะนั้น ถ้าบุคคลใดเก่งในสมถะ และมีความคล่องแคล่วในสมถะ สามารถจะเข้าฌานแต่ละระดับได้ตามปกติ คำว่า ปกติ ก็หมายความว่า คิดจะเข้าฌานเมื่อไรจิตเข้าเป็นฌานทันที ไม่ยอมเสียแม้แต่เวลาครึ่งของวินาที ครึ่งวินาทีนี่อย่านึกว่ามันเร็ว มันช้าไปนะ แม้แต่นิดหนึ่งของวินาที พอคิดว่าเราจะเข้าฌานจิตก็เข้าถึงฌานเต็มที่ จะเข้าฌานไหนก็ได้ การทรงฌานจะเป็นการทรงแบบไหนก็ได้ เรียกว่าในกรรมฐาน ๔๐ กอง กองใดกองหนึ่งก็ได้ตามอัธยาศัย นี่ถ้ากำลังจิตเราแบบนี้นะ ถ้าเป็นฌานในส่วนของรูปฌาน แต่นี่ผมมวยหมู่ล่อกรรมฐาน ๔๐ ได้แบบนี้เข้าให้ กรรมฐาน ๔๐ นี่หมายถึงอรูปฌานด้วย ถ้าหากว่าเราสามารถทรงฌานในกรรมฐาน ๔๐ ก็ได้อรูปฌานด้วย คล่องตามอัธยาศัย ตั้งใจเข้าเมื่อไรได้เมื่อนั้น นี่หากว่าเราใช้อรูปฌาน เป็นพื้นฐานของวิปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณนี่มีตัวเดียว ได้แก่ การพิจารณาขันธ์ ๕ นี่เราเรียนกันมาแล้ว เรื่องขันธ์ ๕ ก็เรียนกันมา อายตนะนี่ก็คือ ขันธ์ ๕ ใช่ไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกสูดกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส ไอ้ใจนึกพลุ่งพล่านไปตามอารมณ์นี่มันก็ไปเจอะไปชนขันธ์ ๕ ทีนี้มาถึงโพชฌงค์ ๗ โพชฌงค์ ๗ มีสติเป็นต้น ก็ไปชนขันธ์ ๕ ไปนึกอะไรก็ไปใคร่ครวญขันธ์ ๕ กัน

ทีนี้มาถึง อริยสัจ ก็มาเล่นกับขันธ์ ๕ อีก ไอ้ตัณหาตัวนี้ก็เข้าไปอยากได้ขันธ์ ๕ นี่ ผมไม่เห็นมีอะไร ผมว่าง่ายจริง ๆ ไม่มีอะไรยาก มันไม่มีอะไรยากเลย เป็นอันว่าวิปัสสนาญาณมันมีตัวเดียวคือ พิจารณาขันธ์ ๕

ลีลาการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า การสอนของพระพุทธเจ้าทรงมีความฉลาดมาก ใช้ระบบหลาย ๆ วิธี อัธยาศัยของคนนี้ไม่ตรงกับจุดนี้ก็ไปชนกับจุดนั้น เรียกว่าชนกันเป้าหนึ่ง ตั้งเป้าไว้หลาย ๆ เป้า ให้มันติด ๆ กัน เรายกปืนขึ้นยิงตั้งแต่เราศึกษาขันธ์ ๕ กันมา ถ้าเราเข้าถึงจริง ๆ แล้ว เขาเป็นพระอรหันต์กันนับไม่ถ้วนนะขันธ์ ๕ นี่ แล้วก็เวลาต่อมาเราก็มาเรียนอายตนะ หรือ โพชฌงค์ ตัวโพชฌงค์นี่ก็ตัวบรรลุตัวอายตนะ นี่ก็ตัวบรรลุ

ทีนี้มาตัว อริยสัจ ก็ต้องพิจารณาขันธ์ ๕ มันหนีกันไม่ได้ ทุกข์อะไรมันทุกข์ล่ะ เพราะเราใคร่ครวญ เราพอใจในขันธ์ ๕ มันจึงทุกข์ ตัวทุกข์จริง ๆ มันอยู่ที่ใจ ที่เราทุกข์เพราะเราเอาจิตไปยึดไปถือ ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา แล้วใจเราก็ไม่ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง มันเกิดแล้วมันจะแก่ เราก็ดันไปห้ามแก่ไว้ เกิดแล้วจะป่วยไข้ไม่สบาย เราก็ดันไปห้ามความป่วยไข้ไม่สบาย จะไปห้ามได้อย่างไรล่ะ ห้ามไม่ได้ ไอ้เราทำแบบนั้นมันก็ทุกข์ ใจเราก็ทุกข์ ทุกข์เพราะร่างกายทรุดโทรม เราไม่อยากให้มันทรุดโทรม แล้วเราก็ไม่พยายามศึกษาหาความเป็นจริง ว่าร่างกายมันเกิดมาแล้วเป็นต้องทรุดโทรมเป็นปกติ เคลื่อนไปหาความพังทุกวินาที ความป่วยไข้ไม่สบาย มันเกิดขึ้นเป็นปกติ โรค แปลว่า เสียดแทง ไอ้การที่เราไม่สบายกายไม่สบายใจก็ชื่อว่าป่วย เรียกว่าโรค โรคทั้งนั้น ที่พูดว่า "ชิคัจฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง" อันนี้นาน ๆ หิว เช้ากินอิ่มแล้วมันก็พักเสียดแทงไปชั่วคราว ตอนกลางวันมันจะกินใหม่มันเริ่มหิว มันก็เสียดแทง แต่โรคเจ้าหนี้ทวงมันเสียดแทงทุกเวลา เจ้าหนี้ทวง หรือไม่ทวง ก็นึกอยู่เรื่อย กลัวเจ้าหนี้จะมา

ทีนี้เรามาว่ากันถึงเรื่องทุกข์ ทุกข์น่ะอะไร อะไรมันก็ทุกข์ ทุกข์เพราะตัณหาคือความอยาก นี่เมื่อคืนตอนเช้ามืดท่านมาบอกว่า ถ้าจะพูดเรื่องอริยสัจ มันก็ไปชนกับขันธ์ ๕ กับอายตนะ ชนกับโพชฌงค์ มันหนีกันไม่พ้น แต่ทว่าพูดไปเข้าใจยาก ท่านก็เลยบอกว่า ให้ทุกคนจับมรณานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ แล้วจะมีความรู้สึกง่าย

มรณานุสสตินี่แปลว่าอะไรเล่า ความจริงตายนี่มันตายทุกวินาทีนะ จิตมันเคลื่อนไป ความเสื่อมโทรมของร่างกายเคลื่อนไป มรณานุสสติกรรมฐานนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ท่านบอกว่า ถ้าเราไปสอน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่มีในเรา เข้าใจยาก มันยากจริง ๆ ถ้าเรามาคิดกันตัวปลายสุด ไอ้ร่างกายของเรานี่มันตายแน่ นี่มันเห็นชัดดีนะ ก็จริงของท่าน เราก็ตาย เขาก็ตาย ในเมื่อตายแล้วมีอะไรบ้างที่เราจะแบกไปได้ นี่เรามานั่งยึดถือว่านี่เป็นของเรา นั่นก็เป็นของเรา สิ่งที่ยังไม่มีอยากให้มีขึ้น ตัณหา แปลว่า ความอยาก

กามตัณหานั้นอยากได้ในสิ่งที่ไม่พึงจะมี ไม่มีให้มันมีขึ้น มีอะไร อยากรัก ยังไม่มีเมียอยากมีเมีย ยังไม่มีผัวอยากมีผัว ยังไม่มีลูกอยากมีลูก อีตัวเริ่มอยากเริ่มทุกข์แล้ว กลัวจะไม่สมความปรารถนา พอได้เริ่มทุกข์ เพราะว่างานมันเพิมขึ้น พอไอ้แอ๊วโผล่เข้ามายุ่งใหญ่เลย นอนไม่หลับแล้ว หมอก็หมอเถอะ ไอ้ลูกป่วยขึ้นมานอนไม่หลับเหมือนกัน รักษาไม่ได้ไอ้ลูกอ่อน นี่เป็นหมอแค่ไหนก็ลูกอ่อนเหมือนกัน ดีไม่ดีหมอก็อุ้มลูกไปหาหมออื่นอีก นี่ความจริงเป็นอย่างนั้น นี่เราจะป้องกันความอยากกัน เรื่องอยากนี่เราพูดกันมาตั้งแต่เมื่อวาน

ทีนี้พระพุทธเจ้าบอกว่า เราจะต้องกัน เราจะต้องดับตัณหา จริง ๆ ให้หาตัวมรณานุสสติ ไอ้ตัวตายเข้ามาเป็นที่ตั้ง เป็นพื้นฐานว่านี่เราตายแล้ว เราแบกอะไรไปได้บ้าง ก่อนที่เราจะตายมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไอ้ตัวทุกข์นี่เราก็พูดกันมาแล้ว ว่าทุกอย่างในโลกมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ทั้งหมด ไม่ว่าเงินหรือทอง ของใช้ คนหรือสัตว์ เหมือนกันหมด ถ้าเราได้เข้ามาแล้วเป็นปัจจัยของความทุกข์ทั้งหมด ไม่ใช่ปัจจัยของความสุข เพราะมันเพิ่มภาระ และก็เพิ่มความห่วงใย อารมณ์จิตเข้าไปหน่วงเหนี่ยว คนก็ดี วัตถุก็ดี สัตว์ก็ดี ที่เป็นที่รักของเรา ถ้าบังเอิญตายไป หรือพังไป ใจเราก็ไม่สบาย เราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น นี่มันเป็นอาการของความทุกข์

ทีนี้ท่านก็เลยบอกว่า ถ้าเราจะตัดตัณหาทุกอย่าง กามตัณหาก็ดี ที่เราคิดว่าของมันยังไม่มีอยากให้มีขึ้น ภวตัณหาที่มีแล้วอยากให้มันทรงตัว วิภวตัณหา เมื่อสิ่งเหล่านั้นเคลื่อนไปตามสภาพของมัน ถือเป็นกฎธรรมดา เราก็หาทางต้านทานว่า ร่างกายเราจงอย่าแก่เลย จงอย่าป่วยไข้ไม่สบายเลย จงอย่าเป็นอย่างนั้นเลย จงอย่าเป็นอย่างนี้เลย มันห้ามไม่ได้ การห้ามไม่ได้มันก็เป็นทุกข์ ทีนี้ก็มานั่งพิจารณาขันธ์ ๕ ท่านบอกดูยาก เราก็นั่งนึกถึงตัวตายกัน นี่เราเกิดมาเพื่อตาย เราไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่ ไอ้สิ่งที่เราจะพึงหาได้โดยชอบธรรม และก็ไม่เป็นโทษ ยังมีถมไป

ทีนี้ตัณหานี่ถ้าตัวต่ำนะ ท่านบอกให้ยับยั้งไว้ อยากได้ในสิ่งที่ไม่มีโทษถือว่ายังมีความเบาอยู่ ใช้ได้ นี่ตัวต่ำ ถ้าตัวสูงขึ้นไปตั้งแต่อนาคามีขึ้นไปไม่ได้เลย อยากได้อะไรทั้งหมดในโลกถือว่าใช้ไม่ได้ อยากได้แล้วก็เกาะ ถ้าอยากได้มาแล้วไม่เกาะไม่เป็นไร อยากได้สิ่งนี้เพื่อความสะดวกในการเป็นอยู่แล้ว ก็คิดไว้ด้วยว่ามันจะได้มาหรือไม่ได้มาก็ช่างหัวมัน ถ้ามีโอกาสจะได้มาก็เอาเราจะใช้ ถ้าเป็นโอกาสที่จะพึงได้มาไม่มีก็ตามใจมัน เป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ฝืนความสามารถและไม่ฝืนโอกาส แบบนี้ใจมันสบายตั้งแต่ก่อนจะได้

ทีนี้พอได้มาแล้วเราก็ทราบเลยว่า ไอ้เจ้าตัวนี้นะ มันไม่อยู่กับเรานาน มันอาจจะอยู่นาน แต่เราก็ไม่อยู่กับมัน ไม่มันก็เรา สักวันหนึ่งจะต้องจากกันและก่อนที่จะจากกันมันจะทรงสภาพอย่างเดิมอยู่ไม่ได้ มันจะมีสภาพเก่า ๆ ทรุดโทรมเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา หาทางพัง มันไม่ได้เปลี่ยนไปหาทางดี เปลี่ยนไปหาทางพัง เมื่ออยากจะพังก็พัง แก้ไขไม่ได้ แก้ไขได้ก็แก้ไขไป แก้ไขไม่ได้ก็แล้วไป นี่ความสบายมันก็เกิดขึ้น เวลามันพังไม่ถือเป็นเรื่องหนักใจ เรารู้อยู่แล้วแล้วจิตของเราพร้อมแล้ว ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เราจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ นี่อาการอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ เราต้องมัดความตายเข้ามาเทียบ นี่เป็นสมถภาวนา ถ้าใครเขาบอกว่าสมถะเก่งหรือวิปัสสนาเก่ง ต้องบอกต้องเก่งคู่กัน เก่งคนเดียวใช้ไม่ได้ เก่งสมถะเป็นโลกียฌาน เดี๋ยวเจ๊ง เก่งวิปัสสนาอย่างเดียวไม่มีสมถะ ไม่มีทางจะใช้อะไรเลย

ท่านบอกว่า ให้นึกถึงความตายเป็นปกติ เรารู้อยู่ว่าเราจะตายเสียอย่างเดียว ถ้าเราไม่ลืมความตาย ความเมามันก็น้อย อารมณ์ที่จะเกิดตัณหาคือความอยากมันก็เบา มันอาจจะอยากอยู่บ้าง แต่ว่าอยากพร้อมกับปล่อยอยาก ได้มาพร้อมกับอารมณ์ปล่อย มันมีอยู่เสมอ จะได้มาหรือไม่ได้ก็ไม่หนักใจ หรือ โอกาสยังมาไม่ถึง เมื่อได้มาแล้วเราก็พร้อมใจรู้อยู่แล้วว่ามันจะพัง มันจะต้องเก่า มันจะต้องทรุดโทรม มันจะพังหรือมันจะไม่พัง แต่ขโมยอาจเอาไปเสียก่อนก็ได้ ถ้าอาการอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฎเราก็สบายใจ นี่ถือตัวมรณานุสสติกรรมฐานเป็นพื้นฐาน

แต่ว่าไอ้ตัวนี้ก่อนที่มันจะเกิด มันแย่เหมือนกันนา กว่าจะหาไอ้ตัวนี้ได้ต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยมีเครื่องมืออันดับแรกหรือทั้ง ๓ อันดับ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่แล้ว เราจะมานั่งพิจารณาแบบนี้หาความตายเป็นพื้นฐาน เอามาเปรียบเทียบกับอารมณ์ของวัตถุหรือบุคคลว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมดา มันเป็นไปไม่ได้ อยู่ ๆ มันเกิดไม่ได้ มันก็ต้องมีพื้นฐาน คือ เครื่องมือสำหรับใช้ เรียกว่าจะขึ้นบันได จะขึ้นบ้านขึ้นตึกมันต้องมีบันได อยู่ ๆ กระโดดขึ้นไปบนหลังคาตึกน่ากลัวจะไม่สำเร็จ อันดับแรก เมื่อเรานึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เมื่อนึกถึงความตายแล้วจิตมันก็ยังดิ้นรนอยู่ ไอ้ความทะเยอทะยานของจิต อยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากให้มันทรงตัว อยากจะฝัน มันก็ทรงอยู่ และคิดว่าถึงแม้ว่าเราจะตายแล้ว ลูกหลานก็ยังจะได้ใช้

ทีนี้วิธีที่จะป้องกัน และจะทำลายอำนาจของตัณหา อันดับแรก ตามที่พูดเมื่อวานนี้ ใช้ศีลครอบมันเข้าไว้ เอาศีลเข้าไปขังตัณหาคือความอยาก เอาศีลทำลูกกรงครอบตัณหาเข้าไว้ มันอยากได้โน่นอยากได้นี่ ให้มันวิ่งคึ่กคั่ก ๆ เอาไว้ มันโผล่มากัดไม่ได้ อยู่ ๆ เป็นพระอยากจะมีเมียจะไปมีได้ที่ไหนก็ไม่ได้ ศีลมันค้ำอยู่นี่ ตัณหามันเกิดแล้ว แต่ว่าขังตัณหาไว้ด้วยอำนาจของศีล อยากรัก รักก็รักได้ แต่ก็รักแล้วอย่าไปยุ่งกับใครเขา รักแต่อยู่ในใจยุ่งเข้าอาบัติกินศีล ศีลบกพร่องไม่ได้ อันดับแรกนี้เอาศีลขังตัณหาเข้าไว้

ทีนี้พออยากจะรวย อยากไปค้าขายกับเขาบ้าง จะไปรับจ้างเขาบ้าง ศีลของพระมันบังคับนี่ ศีลบังคับให้พระประกอบอาชีพใด ๆ ไม่ได้ ผิด เป็นไง ขังไว้อีกตัวซิ ไอ้ตัณหาอยากรวยถูกขังไว้อีกแล้ว ดิ้นโครม ๆ

ทีนี้ตัณหาอีกตัวมาแล้ว อยากจะฆ่า หมอนี่มันพูดไม่ถูกใจ ทำอะไรไม่ถูกใจ ฆ่ามันเสียเถอะ แหม..ฆ่าได้ที่ไหน ศีลขาด นี่ศีลขังตัณหาเสียแล้ว ตัณหาคืออยากฆ่านะ

ทีนี้ตัณหาตัวหลง ไอ้โน่นก็ดี ไอ้นี่ก็ดี โน่นของกู นี่ก็ของกู ไอ้สิ่งที่ว่าเป็นของกูแบบนี้พระใช้ไม่ได้ ใช้เมื่อไรลงนรกเมื่อนั้น

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ อนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง มีสภาพเป็นปัจจัยของความทุกข์ อนัตตา มันสลายตัว ในเมื่อมันจะพัง มันมีอะไรเป็นของเรา ทีนี้ไอ้ความเมาของจิตก็ยังมีอยู่ ก็ดิ้นอยู่ในลูกกรง โผล่มาไม่ได้ก็ช่างมัน เก่งก็เก่งในลูกกรงนะ ไอ้เจ้าศีลตัวนี้ ถ้ามันขังไว้จริง ๆ คือว่า สิกขา ๓ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา นี่ก็บรรดาพุทธบริษัทที่ประกาศตัวเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจริง ๆ ต้องทรงสิกขา ๓ ประการให้ครบถ้วน ใช้คำว่า อธิ แปลว่า ยิ่ง คือ เอากันจริง ๆ ไม่ใช่ล้อเล่น หรือว่าหลอกเล่น ถ้าเป็นฆราวาสก็ศีล ๕ หรือว่า ศีล ๘ เป็นเณร ศีล ๑๐ เป็นพระศีล ๒๒๗ ทั้งหมดนี้เราจะรักษาศีลยิ่ง

คำว่า ยิ่ง เขาทำยังไง
๑. เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง
๒. จะไม่ยุให้ใครทำลายศีล
๓. จะไม่ยินดีหรือไม่พอใจเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว

นี่รวมความว่า ศีลทั้งหมดที่เรามีอยู่ เราจะไม่ยอมให้มันบกพร่องแม้แต่นิดเดียว ทำลายศีลเราก็ไม่ทำลาย ยุให้ใครทำลายก็ไม่ยุ ไม่ยินดี เมื่อทำลายแล้วก็ไม่ยินดี อย่างนี้เรียกว่ารักษาศีลยิ่ง ทีนี้ในเมื่อจิตใจของเราอยู่ในขอบเขตของศีล ลองดูซิว่า ไอ้ตัณหา ความอยากมันจะอยากได้สักแค่ไหน คือว่า มันก็จะทรงตัวอยู่ ข้างในดิ้นคึ่กคั่ก ๆ มันก็จะดิ้นอยู่เฉย ๆ มันโดดมาทำร้ายใครเขาไม่ได้ ใช่ไหม มันจะมาอย่งไร รักก็รักได้ ในเมื่อเรามีศีลเขาห้ามก้าวก่ายกับความรัก มันก็นึกได้อย่างเดียว นึกรักแต่แสดงความรักจริง ๆ ไม่ได้ ในด้านกามารมณ์


พระยืน ๓๐ ศอก
( หลวงพ่อเงินไหลมา )
วัดท่าซุง จ. อุทัยธานี
ทีนี้ความโลภ นึกอยากรวยได้ แต่ทำไม่ได้มันละเมิดศีล ใช่ไหม อยากจะฆ่าเขา นึกได้แต่ทำไมได้ ถ้าไปฆ่าเขา เดี๋ยวศีลขาด ไอ้ตัวหลงคือ โมหะ ว่านั่นเป็นของกู นี่เป็นของกู ก็นึกได้เหมือนกัน แต่ละสมจริง ๆ ไม่ได้ เพราะศีลบังคับอยู่

นี่เป็นอันว่า อธิศีลสิกขา คือว่า สิกขาบทตัวต้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เรามีศีลเพื่อขังตัณหา เรามีศีลตัวเดียว เราทำลายกิเลสตัณหาไม่ได้ แต่ว่าเราขังความชั่วคือ ตัณหาไว้ได้

คำว่า ตัณหา นี่แปลว่า ใฝ่ต่ำ นะ อยากจะไปสวรรค์ ไปพรหม ไปนิพพาน อันนี้ท่านไม่เรียกตัณหานะ มันตัวอยากเหมือนกัน ท่านเรียก ธรรมฉันทะ มีความพอใจในธรรม

พวกคุณต้องรู้ไว้ด้วยนะ เดี๋ยวพวกคุณจะไม่เข้าใจ ถามว่า ไอ้คำว่าอยากนี่มันเป็นตัณหา ทีนี้อยากไปสวรรค์ อยากไปพรหมโลก อยากไปนิพพาน เป็นตัณหารึเปล่า ถ้าย่องไปตอบว่าเป็นตัณหาเข้านี่มันผิดจังหวะ ต้องระวังไว้ด้วยนะ ต้องว่าอยากดีไม่ใช่อยากเลว เราอยากไปสวรรค์นี่ คนที่อยากไปสวรรค์เป็นเทวดาได้ ต้องอย่าลืมคุณ... ต้องมีหิริและโอตตัปปะ อายความชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่ว นี่มันดีหรือมันเลว อายความชั่วเราก็ไม่ทำชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่วเราก็ไม่ทำชั่ว

ทีนี้จะถือว่าตัณหาเป็นกิเลสเลวไม่ได้ นี่เป็นตัวดี แต่เป็นตัวดีก้าวที่ ๑ อย่าไปนึกว่าแค่สวรรค์นี่เป็นกามาวจร ยังมีผัวมีเมีย มีผู้หญิงผู้ชาย แล้วอย่าลืมว่าสวรรค์เป็นก้าว ก้าวหนึ่งที่จะเข้าถึงพระนิพพาน ดีกว่าเราก้าวลงนรก

ก้าวที่สอง อยากไปพรหม ถามว่าเป็นตัณหาไหม ก็จะตอบว่าเป็นตัณหามันไม่ถูก พรหมน่ะเขาเป็นคนอยู่คนเดียวนะ เอกายโน อยัง ภิกขเว จริง ๆ คือ มีตัวผู้เดียว พรหมไม่มีคู่ แล้วพรหมก็ไม่มีเพศ นี่เรียกว่ามีสภาพใกล้พระนิพพานเข้าไป อย่างนี้ต้องเรียกว่า ธรรมฉันทะ ถ้าอยากไปนิพพานนี่เราไม่ต้องพูดกัน เป็นธรรมจริง ๆ ธรรมบริสุทธิ์ ถึงแม้ว่าเป็นเทวดาก็ต้องบริสุทธิ์เบื้องต้น บริสุทธิ์คือเราไม่ทำความชั่ว คืออยากไปเป็นพรหม จิตเราระงับนิวรณ์ ๕ ประการ จัดว่าเป็น เนกขัมมบารมี นี่มันเลวที่ไหน ดีมาก สามารถกดคอกิเลสได้ให้มันโงไม่ได้ ความจริงเราไม่ได้ฆ่ามัน แต่กดคอมันไว้ แต่พอมันลุกมาได้เมื่อไหร่ มันล่อหงายท้อง หงายไปหลายองค์แล้ว พระได้ฌานสมาบัติทำหน้าทำตา ตั้งท่าหลับตาปี๋ ไม่กี่วันไป ถามใหม่สึกแล้วจะกดคอกิเลสหรือกิเลสมันกดคอเข้าไว้ก็ไม่รู้ ชักสงสัย

อ่านต่อตอนที่ ๒.๒

Copyright © 2001 by
Amine
31 ส.ค. 2544 00:03:48