พระสูตร เรื่อง ..
พหุปุตติกาเถรี

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับตอนนี้ก็จะขอนำบุคคลตัวอย่างที่ประพฤติปฏิบัติ เนื่องในการเจริญพระกรรมฐาน และ บรรลุมรรคผล มาเล่าให้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้รับทราบ

เพราะว่า การปฏิบัติพระกรรมฐาน เรามักจะมีความเข้าใจว่า ต้องทำอย่างนั้นบ้าง ต้องทำอย่างนี้บ้าง จึงจะบรรลุมรรคผล บางทีก็มีความรู้สึกว่า คำสอนที่ผมสอนไปมาก ๆ และ ดูเหมือนว่าคำสอนมันจะล้น เราก็จะต้องปฏิบัติตามเสียทุก ๆ อย่าง จึงจะบรรลุมรรคผล ถ้ามีความรุ้สึกอย่างนี้ ก็รู้สึกว่า จะหนักใจสำหรับบรรดาท่านนักปฏิบัติ

แต่ความจริง การปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าหากเรามีความจริงใจ ก็สามารถจะจับพระธรรมหมวดใดหมวดหนึ่ง มาประพฤติปฏิบัติ ก็มีโอกาสจะบรรลุมรรคผลเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติทุกอย่าง แต่ว่าที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ไว้มาก ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามอัธยาศัยของบุคคลผู้ปฏิบัติ เพราะว่ามีอัธยาศัย มีกำลังใจไม่เสมอกัน ถ้ามีกำลังใจดี ๆ ตั้งใจจริง พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีอะไรยากเลย ที่เข้าใจว่ายาก และรู้สึกว่ายาก เพราะว่าตนเองสร้างความยากให้เกิดขึ้นในจิต

ต่อไปนี้เราก็มาดูตัวอย่างถึงบุคคลที่เขาปฏิบัติได้ดี ชั่วเวลาคืนเดียว ก็สามารถทำได้ และท่านผู้นี้มีความรู้สึกอย่างไร มีการปฏิบัติแบบไหน เรื่องราวมีอยู่ว่า

ในสมัยเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับยับยั้งสำราญอิริยาบถในพระเชตวันมหาวิหาร ในครั้งนั้น องค์สมเด็จพระพิชิตมาทรงปรารภ ท่านพหุปุตติกาเถรี

ตอนนี้ท่านอาจจะแปลกใจว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้หญิง ผมใช้คำว่า ท่านพหุปุตติกาเถรี เพราะว่าท่านเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายไม่สำคัญ ถ้าเป็นอรหันต์แล้ว ผมถือว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้เลิศทั้งนั้น เลิศสำหรับผม แต่คนอื่นจะมีความรู้สึกอย่างไรผมไม่ทราบ

องค์สมเด็จพระมหามุนีได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ โย จ วสฺสสตํ ชีเว เป็นต้น เนื้อความโดยย่อมีอยู่ว่า พระอานนท์ได้กล่าวว่า

ได้ยินว่า ในตระกูลหนึ่ง ๆ ในเมืองสาวัตถี ตระกูลนี้มีบุตร ๗ คน และมีธิดา ๗ คน บุตรชายและหญิงทั้งหมดนั้น ก็เจริญวัยใหญ่โตเป็นหนุ่มเป็นสาว แต่งงานไปแล้ว แต่ทว่ายังอยู่ในบ้านรวมกัน ยังไม่มีใครแยก ทั้งนี้เพราะว่า ท่านพ่อมีนโยบายที่ยังจะไม่ยอมให้บุตรแยกออกไปจากเรือน ให้ประกอบกิจการงานร่วมกัน แบ่งสรรปันส่วน ถ้าว่ากันอย่างสมัยปัจจุบันก็ว่าเป็นสหกรณ์ สหกรณ์ แปลว่า ทำงานร่วมกัน แบ่งผลประโยชน์ให้สม่ำเสมอกัน สำหรับท่านพ่อได้ให้ความสุขแก่บรรดาลูก ๆ ทั้งหลายตามสมควรที่จะพึงมี ท่านกล่าวว่าในสมัยต่อมา ท่านพ่อของชนทั้งหลายเหล่านี้ก็ตาย

จำไว้ให้ดีว่า คนเราเกิดมาแล้วมันต้องตาย ไม่ใช่จะตายแต่เฉพาะคนที่เล่าเรื่องให้ฟัง ถึงแม้เราเอง กำลังฟังกันอยู่ อ่านกันอยู่ ก็รู้จักตายเป็นเหมือนกัน ให้มีความรู้สึกไว้อย่างนั้น ถ้ามีความรู้สึกไว้อย่างนี้เสมอ ๆ ละก็ ดีทุกคน

แต่คนที่ไม่นึกถึงความตายนี่ ไม่ดี จิตก็หนักไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่รู้จักประมาณตัว หรือ ไม่รู้จักหาความสุขที่จะพึงมีมาข้างหน้า ในสมัยเมื่อตายไปแล้ว เพราะว่าความสุขที่จะพึงได้ข้างหน้า ได้แก่

ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน

ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

สามประการนี้จัดว่าเป็น มหาสมบัติ ของบุคคลผู้ล่วงลับไปจากโลกนี้ จะมีสมบัติใหญ่

ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า ท่านมหาอุบาสิกา เมื่อตายไปแล้ว ท่านแม่ก็ยังไม่ยอมแบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่บรรดาลูกหญิงและลูกชายทั้งหลายก่อน ยังให้ลูกหญิงและลูกชายอยู่ร่วมกัน อยู่ร่วมบ้าน ทำกินร่วมกัน แบ่งกันกินไปพลาง ๆ ก่อน

ในครั้งนั้น บรรดาลูกหญิงและลูกชายทั้งหลาย เขาก็พากันพูดพากันบ่นบอกว่า เมื่อบิดาตายไปแล้ว ท่านแม่ยังไม่ตาย ท่านแม่จะมาหวงทรัพย์สมบัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร เพราะกองทรัพย์มรดกมีมาก แม่คิดว่าถ้าแบ่งให้พวกฉันไปแล้วแม่คิดว่าพวกฉันจะไม่อาจที่จะเลี้ยงแม่ได้หรืออย่างไร นี่เป็นวาทะของลูก ตามพระบาลีท่านว่าอย่างนี้ แต่ว่าผมแก้มาเป็นภาษาไทยล้วน ๆ

สำหรับท่านแม่ เมื่อฟังคำพูดของลูกทั้งหลายเหล่านั้น ก็นิ่งเสีย จะพูดในตอนแรก ท่านก็นิ่ง ต่อมาบรรดาบุตรทั้งหลายเหล่านั้นก็พูดกันบ่อย ๆ พากันคิดว่า พวกเราต้องเร่งรัดให้ท่านแม่แบ่งทรัพย์สินให้เสียก่อน เพราะว่าท่านก็แก่แล้ว เวลานี้ท่านพ่อตาย ถ้าท่านแม่ตายไปเสียอีก เรื่องทรัพย์สมบัติมันจะยุ่ง

เป็นเรื่องของคนเลวก็มีความรู้สึกอย่างนั้น แต่ความจริงถ้าพวกลูกหญิงและชายรวมทั้งหมด ๑๔ คน ถ้าหากว่าพวกแกจะไม่ยุ่งเสียอย่างเดียวก็จะไม่มีใครมายุ่ง เมื่อทรัพย์สินของพ่อแม่มีเท่าไร ก็พากันแบ่งสรรปันส่วนเท่า ๆ กัน ก็หมดเรื่อง แต่นี่พวกแกไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดว่าจะให้แม่แบ่งให้เสียก่อน ก่อนที่แม่จะตาย แล้วท่านแม่ก็ได้ยินพวกลูก ๆ พูดกันบ่อย ๆ ว่าแม่คนเดียว ลูกเลี้ยงได้ คุณแม่ไม่ต้องห่วง ลูก ๑๔ คน พ่อกับแม่สองคน เลี้ยงลูกมาได้ แต่ว่าลูก ๑๔ คนจะเลี้ยงแม่ไม่ได้เชียวหรือ แม่คนเดียวเท่านั้น

เมื่อพวกลูก ๆ พูดกันแบบนั้นบ่อย ๆ ท่านแม่ก็ใจอ่อน คิดว่าอย่างไร ๆ ลูกก็คงจะเป็นลูก คงจะไม่ทิ้งให้แม่ตาย จึงได้แบ่งทรัพย์ปันส่วนด้านความยุติธรรม แบ่งกันคนละส่วน ๆ เป็นคนมีสมบัติมาก อยู่ในฐานะขั้นเศรษฐี ทรัพย์ก็มาก

หลังจากแบ่งทรัพย์ไปแล้ว เวลาก็ล่วงไปสักสองสามวัน ในระหว่างตอนต้น แม่ก็อยู่กับลูกชายคนโต ลูกสะใภ้ก็นั่งบ่นกับสามีว่า คุณแม่มาอยู่กับเราในเรือนเท่านั้น เหมือนกับว่าท่านแบ่งทรัพย์ให้เรานี้สองส่วน แต่ความจริงทรัพย์ที่ท่านมีอยู่ ท่านก็แบ่งให้คนอื่นไปคนละส่วน ๆ มี ๑๔ คน ก็ได้ไปคนละเท่า ๆ กัน แต่คุณแม่ท่านก็มานั่งกินอยู่ที่บ้านเราบ้านเดียว ท่านไม่ได้แบ่งให้เราสองส่วน ถ้าให้เราสองส่วนเกินกว่าชาวบ้านเขาส่วนหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นส่วนของท่าน ท่านจะมานั่งกินนั่งใช้อยู่กับเรา อันเป็นส่วนของท่าน ก็เป็นของไม่แปลก แต่นี่แม่แบ่งให้เราส่วนเดียวเท่าคนอื่น แต่มานั่งกินนั่งใช้กับเรา เราก็แย่ เห็นไหม แม่คนเดียวเลี้ยงลูกได้ ๑๔ คน แต่ลูก ๑๔ คนเลี้ยงแม่ไม่ได้

สำหรับท่านแม่ เมื่อถูกลูกสะใภ้ก็ดี ลูกชายก็ดี นั่งบ่นในทำนองเดียวกันว่า แม่ ทำไมไม่ไปบ้านอื่นบ้างจ๊ะ มากินข้าวกินปลา มาใช้เงินใช้ทองที่บ้านนี้บ้านเดียว ผมก็แย่สิขอรับ ส่วนน้อง ๆ อีก ๑๓ คนก็ได้กำไร เพราะทรัพย์สินก็ได้เท่ากัน ท่านแม่ทนเขาบ่นไม่ไหว ก็ไปบ้านลูกคนอื่น ๆ เมื่อบ้านลูกคนที่สอง ที่สาม ที่สี่ ถึงคนที่สิบสี่ ก็พูดแบบเดียวกัน หาว่าแม่ไปเบียดเบียน

ดูเอาเถิด ท่านที่มีลูกทั้งหลายจำไว้ให้ดี คนไม่มีลูกก็อยากจะมีลูก มีลูกผู้หญิงแล้ว ก็อยากมีลูกผู้ชาย มีลูกผู้ชายก็อยากมีลูกผู้หญิง พอมีลูกขึ้นมาแล้วถ้าลูกดีก็เป็นบุญตัว ถึงอย่างไรพ่อแม่ก็ไม่เคยได้ทุนคืน มีแต่จะหมดไป ถ้าแกมีน้ำใจดีก็น่าคิด ถ้าไปโดนลูกอกตัญญูไม่รู้คุณแบบนี้เข้าก็เป็นแบบนี้แหละ

เป็นอันว่า ท่านแม่ถูกดูหมิ่นจากลูกหญิงและลูกชายทั้ง ๑๔ คน ไม่มีใครเขาต้องการท่าน ท่านจึงมานั่งคิดว่า มีประโยชน์อะไรที่เราจะมานั่งอยู่ในสำนักของคนทั้งหลายเหล่านี้ ความจริงลูกพวกนี้เป็นลูกอกตัญญู ไม่รู้คุณเรา ก่อนที่พวกมันเกิด เราอุ้มท้องมันมาแสนที่จะยากลำบาก การคลอดทั้งทีก็เต็มไปด้วยความทุกขเวทนาอย่างหนัก เวลาที่มันเป็นเด็กยังช่วยตัวไม่ได้ เราก็ทำทุกสิ่งทุกอย่าง นอนก็ไม่เต็มตื่น กินก็ไม่เต็มอิ่ม แสนลำบากด้วยประการทั้งปวง ด้วยความรักลูก แต่ทว่าลูกกลับสนองความรัก ด้วยความอกตัญญู ทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านี้เราสามีภรรยาสองคนหามา เจ้าพวกนี้เมื่อครองทรัพย์เข้าแล้ว กลับไม่รู้คุณในเรา สำหรับคนที่ไม่รู้จักคุณคน ไม่รู้จักคุณพ่อคุณแม่ คนเนรคุณแบบนี้ เราก็ไม่น่าจะอยู่ที่นี่ จึงตัดสินใจว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไปบวชเป็นนางภิกษุณี

วัดเขารับของที่คนไม่ต้องการ เรียกว่า วัดไม่มีจัญไร แมว ๕ หมา ๖ เขาบอกว่า ชาวบ้านเขาเลี้ยงมันมีจัญไร เขาก็มาปล่อยวัด คนที่เขาไม่ต้องการ ให้เข้าวัด วัดก็ไม่รังเกียจ เพราะวัดเป็นเขตอุดมมงคล

เมื่อนางคิดอย่างนี้แล้ว ก็ไปสู่สำนักของนางภิกษุณี ขอบรรพชา นางภิกษุณีทั้งหลายเหล่านั้นให้บรรพชาแล้ว นางได้อุปสมบทปรากฏได้ชื่อว่า พหุปุตติกาเถรี แปลว่า พระเถระผู้หญิงผู้มีบุตรมาก

นางคิดว่า เราบวชในเวลาเมื่อแก่ เราก็ไม่ควรจะประมาทในชีวิต จึงทำวัตรปฏิบัติแก่นางภิกษุณีทั้งหลาย แล้วคิดว่า จักทำสมณธรรมตลอดคืน หมายความว่า เธอตั้งใจไว้ว่า ในฐานะที่เราเป็นนางภิกษุณี เมื่อเวลาบวชเข้ามาทีแรก ท่านพระอุปัชฌาย์ให้กรรมฐานว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แต่สมัยนั้นเขาไม่ได้ให้กันแบบนี้ แบบนี้สมัยนี้เขาให้กัน

เวลานั้นเวลาบวชเข้ามา พระอุปัชฌาย์ก็สอน อุปัชฌาย์ใหญ่คือ พระพุทธเจ้า สอนให้เห็นว่า โลกเต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายนี้เป็นปัจจัยของความทุกข์ คนเราทุกคนในโลกไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งแน่นอน สภาวะของโลกทั้งหมด จะเป็นสิ่งที่มีชีวิต หรือ ไม่มีชีวิตก็ตาม มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด

ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์

ชราปี ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์

มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์

โสกปริเทวทุกขโทมนัสสุปายาสาปิ ทุกขา ความเศร้าโศกเสียใจจากสิ่งที่เรารักเป็นทุกข์

ฉะนั้น ขอให้เธอทั้งหลายจงตัดอาลัยในชีวิต คือ ร่างกายเสีย จงตัดความอาลัยในทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเสียให้หมด เห็นว่าโลกเป็นปัจจัยของความทุกข์ การเกิดเป็นปัจจัยของความทุกข์ เราจะไม่เกิดต่อไป ขึ้นชื่อว่าขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เราจงวางภาระขันธ์ ๕ ของเราเสีย จงวางภาระขันธ์ ๕ ของบุคคลอื่นเสีย จงวางวัตถุทั้งหมดเสียจากจิตใจ ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา จงอย่ามีความผูกพันในขันธ์ ๕

พระพุทธเจ้าทรงเทศน์เพียงเท่านี้ นางตั้งใจฟังและก็คิดว่า เออ.. จริงหนอ ผัวเรารักกันจะตาย ก็ตายไปเสียแล้ว ลูกที่เรารักยิ่งกว่าชีวิตมันก็อกตัญญูไม่รู้คุณเรา ทรัพย์สินที่เราหามาได้ พอแบ่งให้มันไป มันก็ถือว่าเป็นทรัพย์ของมัน ไปอยู่บ้านมัน มันก็หาว่าแย่งกินแย่งใช้ พระพุทธเจ้าทรงเทศน์จริง

เธอจึงตั้งใจว่า เราจะทำวัตรปฏิบัติกับนางภิกษุณีให้ถึงที่สุด ด้วยความกตัญญูรู้คุณที่ท่านให้อุปสมบทบรรพชา และคิดต่อไปว่า คืนนี้ทั้งคืน เราจักทำสมณธรรมตลอดคืนยันรุ่ง ถ้าไม่ได้ ก็ให้มันตายไปเสีย ร่างกายจัญไรนี้ เราไม่ต้องการ เพราะเวลานี้ผัวก็ตาย ลูกก็อกตัญญูไม่รู้คุณ เราไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ขึ้นชื่อว่าโลกที่จะมาเป็นที่พึ่งไม่มีสำหรับเรา ขันธ์ ๕ ของเราหรือร่างกายของเรา มันก็กำลังจะพัง เวลานี้เราต้องการอย่างเดียว คือ ธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เราจะทำจิตตัดกังวลทั้งหมด คือไม่มีความเยื่อใยในร่างกาย ไม่มีความเยื่อใยในบุตร และธิดา ไม่มีความเยื่อใยในทรัพย์สิน ไม่มีความเยื่อใยในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

เมื่อเธอตัดสินใจอย่างนี้แล้ว จึงเอามือจับเสาต้นหนึ่งภายใต้ถุนกุฏิ ( เขาเรียกว่า ปราสาท ) เดินเวียนไปตามเสา ทำสมณธรรมแบบจงกรม เพราะเป็นคนแก่ มันมืด ไม่มีแสงสว่าง ก็เอามือจับเสา คือ แตะเสา แล้วเดินวนเสา เมื่อเวลาจะเดินจงกรมก็เอามือไปจับต้นไม้ ก็คิดว่า ศีรษะของเราอาจจะกระทบต้นไม้นี้ก็ได้ เพราะมันมืด จึงแตะต้นไม้ต้นโน้นบ้างแตะเสาต้นนี้บ้าง กัน เพราะว่าในป่า จะชนต้นไม้ตาย เดินวนไปเวียนมาอยู่อย่างนั้น ทำสมณธรรม นึกถึงพระธรรมคำสั่งสอน ด้วยคิดว่า เราจักทำตามธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว เมื่อเธอตามระลึกถึงธรรมนั้นอยู่ในขณะนั้นเอง

ลำดับนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับในพระคันธกุฏิ ทรงแผ่ฉัพพรรณรังสี รัศมี ๖ ประการ มาเฉพาะหน้าเพื่อตรัสกับนางว่า พหุปุตติกา พระองค์ทรงเรียกชื่อ ความเป็นอยู่แม้ครู่เดียว ของบุคคลที่เห็นธรรมที่เราแสดงแล้ว ย่อมประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ร้อยปี ของบุคคลที่ไม่นึกถึงธรรม และไม่เห็นธรรมที่เราแสดง

เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม พระองค์จึงตรัสเป็นพุทธภาษิตว่า

ผู้ใดไม่เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม พึงอยู่เป็นร้อยปี ความเป็นอยู่เพียงวันเดียวของผู้เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น เป็นไหน ๆ

องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสเพียงเท่านี้ ปรากฏว่า ท่านพหุปุตติกา บรรลุพระอรหัตตผล

ที่นำเรื่องนี้มาแสดงให้แก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ก็เพื่อให้เป็นตัวอย่าง เป็นกำลังใจของท่าน เวลาที่ท่านจะเจริญสมณธรรม ประพฤติปฏิบัติในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ให้มีกำลังใจยอดเยี่ยมแบบนี้ เอาจริงเอาจัง ไม่ใช่สักแต่ว่าทำตนเป็นผู้รู้ ทำตนเป็นนักปฏิบัติสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน แต่ว่าจิตใจของเรานั้น ยังมีความผูกพันในร่างกายบ้าง มีความผูกพันอยู่ในทรัพย์สินบ้าง มีความผูกพันอยู่ในคนที่เรารักบ้าง ไม่ได้หมายความว่า คู่รักเสมอไป หมายถึงคนที่เนื่องถึงกัน

ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทเป็นอย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่เข้าถึงธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว ทั้งนี้ต้องดูตัวอย่าง พหุปุตติกาเถรี ท่านผู้นี้ ท่านวางทุกอย่าง เอาจริงเอาจัง ที่ตัดสินใจว่า เราจะทำสมณธรรมนี้ตลอดคืนยันรุ่ง มันจะตายเสียก็ตามใจ

กำลังใจตอนนี้ตรงกับกำลังใจขององค์สมเด็จพระชินสีห์เมื่อวันที่จะบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ที่องค์สมเด็จพระพิชิตมาร ทรงตัดสินใจว่า ถ้าเราไม่บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ลุกจากที่นี้ เลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไปก็ตามที ชีวิตินทรีย์จะตายไป อย่างนี้ชื่อว่า เป็นอารมณ์ตัดขันธ์ ๕ ไม่มีความเยื่อใยอยู่ในขันธ์ ๕

ท่านพหุปุตติกาเถรีนี้ ก็มีคติเช่นเดียวกัน เมื่อท่านมีคติอย่างนี้และมีอารมณ์เป็นอย่างนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงชมเชย ท่านพหุปุตติกาเถรีก็ได้บรรลุอรหัตตผล

ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้สดับแล้วทุกท่าน ถ้าท่านคิดว่า ท่านจะเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง ๆ ให้สมกับคำว่า ท่านเป็นภิกษุ ท่านเป็นสามเณร ท่านเป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็ขอให้ตั้งกำลังใจของท่าน ให้เหมือนพระพหุปุตติกาเถรีท่านนี้ ตัดความกังวล ตัดความห่วงใยใด ๆ เสียให้สิ้น ตัดกังวลแม้แต่ชีวิตของท่าน คิดว่าเราต้องการธรรม ธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเหตุบันดาลความสุขให้แก่เรา

เอาละ บรรดาท่านทั้งหลาย สำหรับตอนนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิพิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้นำไปปฏิบัติทุกท่าน สวัสดี

Copyright © 2001 by
Amine
05 ก.ย. 2544 22:03:28