สมุทัย

ทีนี้เมื่อหาทุกข์พบแล้ว ความจริงอริยสัจนี่เราเรียนกัน ๒ อย่าง ก็หาสมุทัยว่า ไอ้ตัวทุกข์จริง ๆ มันเกิดมาจากไหน สมุทัยในที่นี้แปลว่า เหตุให้เกิดทุกข์นะ ไม่ใช่สมุดที่เป็นเล่มเขาทำด้วยกระดาษ ไอ้ตัวกระดาษที่มันทำให้เราเกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้เลยว่ามันมี ๓ อย่าง ความจริงน่ะมันอย่างเดียว แต่แบ่งออกเป็น ๓ จุด ไอ้ตัวที่ทำให้เกิดความทุกข์จริง ๆ ที่มันหาทุกข์มาให้เราก็ได้แก่ ตัณหา คำว่า ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก แน่ะ .. ไอ้อยากเฉย ๆ ท่านไม่ว่า บอกทะยานอยากซะด้วย แหม..ทำไง ทะยาน ทำไงนะ จะว่าความต้องการมันเกิดขึ้น ความดิ้นรนมันปรากฎก็เรียกว่า ทะยานอยาก

ทีนี้ตัณหาท่านแจกออกเป็น ๓ ระดับด้วยกัน ๓ จุดนั้นคือ

๑. กามตัณหา ของสิ่งใดที่เขายังไม่มีอยากให้มีขึ้น เกิดความอยากนี่ เรายังไม่มีรถยนต์ต้องการมีรถยนต์ ตัวอยากมาแล้ว ถ้าไอ้ตัวอยากมีปรากฎ ถ้ามันยังมีขึ้นมาไม่ได้เพียงใด ความสบายกายสบายใจมันก็มี เพราะเราอยากจะให้มันมีนี่มันต้องหาต้องดิ้นรน ต้องทำทุกอย่างเพื่อมีวัตถุสิ่งนั้น

๒. ภวตัณหา เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว อยากต้องการให้มันคงที่ ไม่ต้องการให้มันเปลี่ยนแปลง จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม

๓. วิภวตัณหา ถ้าสิ่งนั้นมันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปกติก็หาทางฝืน เพราะไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น มันก็แบบเดียวกับกลิ้งครกขึ้นยอดเขา หรือดันน้ำให้มันไหลขึ้นด้านเหนือ ขึ้นด้านสูง มันทำไม่ได้ ทำแล้วก็ได้ความลำบาก ทำไม่สำเร็จผล

ทีนี้ตัณหา ๓ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์แบบไหน ก็เห็นจะมองง่าย ๆ อย่างพวกเรานี้เพราะอาศัยตัณหา อยากเกิดมันจึงเกิด ถ้าเราไม่เกิดอย่างเดียวจะเอาใครมาหิว ไอ้คนที่ไม่เกิดมันหิวหรือไม่หิว เปรตหิวนี่คนไปเกิด เปรตไม่หิวเหรอ ไอ้เกิดเป็นเปรตก็ถือว่าเกิดแล้ว ถ้ามันไม่เกิดเป็นเปรตมันก็ไม่หิว มันเกิดเหมือนกัน ไม่ใช่หมายความว่าเกิดเป็นคน ไม่ต้องถือว่าเป็นคนเสมอไปมันเกิดนี่ถ้าไม่มีตัวเกิดจริง ๆ มันก็ไม่หิวละ ถามว่าเทวดาหิวไหม หิวไหม หิว เทวดาหิวอะไร ยังมีความอยากอยู่ อยากจะหิว คือ ยังมีความต้องการอยู่ ความจริงถึงแม้อาหารเขาไม่ต้องการก็จริง แต่เทวดาเขายังมีกิเลส นี่เราจัดเข้าเทวดาประเภทที่มีกิเลส ไม่ใช่พระอริยเจ้านะ เทวดามี ๒ พวก พรหมก็มี ๒ พวกเหมือนกัน ยังมีตัณหาอยู่ เขายังมีความต้องการ กายไม่หิวแต่ว่าใจหิว ยังอยากได้อย่างโน้นยังอยากได้อย่างนี้ เป็นเทวดาชั้นนี้มีรัศมีกายผ่องใสสู้องค์นั้นไม่ได้ ทำยังไงเราถึงจะมีรัศมีกายเท่าเขาหรือว่าดีกว่าเขา เทวดานี่มีความต้องการที่รัศมีกายเป็นสำคัญ ถ้ามีบุญญาธิการมาก คือ มีรัศมีกายสว่าง สว่างมาก มีบุญญาธิการน้อยก็มีรัศมีกายสว่างน้อย นี่เขาอายกันแค่รัศมีกาย คือ มันเป็นแสงสว่างออกมา นี่เทวดาเขามีความต้องการ ไอ้ตัณหา ความต้องการมันเกิดขึ้นมันอยากได้อย่างโน้น อยากได้อย่างนี้ ถ้ามันยังไม่ได้ก็เกิดทุกข์ ต้องการให้มันได้ พอได้อย่างนี้ ถ้ามันยังไม่ได้ก็เกิดทุกข์ ต้องการให้มันได้ พอได้ขึ้นมาแล้วก็เกิดความทุกข์ด้วยการต้องระวังรักษา ใช่ไหม

ทีนี้พอได้แล้ว กามตัณหา นี่อยากได้ พอได้มาปุ๊บ ดีใจว่าได้มา ตัวตัณหาอีกตัวมันก็โผล่ มันรู้วัตถุที่เราได้มานี่มันต้องเก่า มันต้องพัง คนที่เราได้มานี่มันต้องแก่ ต้องทรุดโทรม และก็ตาย สิ่งมีชีวิตคือสัตว์ทั้งหลายที่เราได้มา มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องแก่ต้องตาย ทีนี้ไอ้ตัว -ภวตัณหา มันก็ปรากฎ วัตถุก็ดี บุคคลก็ดี ที่เราได้ตามความต้องการ เราต้องการทรวดทรงแบบนี้ ต้องการสีแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ ไอ้ความต้องการไม่ให้เปลี่ยนแปลงมันก็เกิดขึ้น ว่าต้องการให้มันทรงตัวได้แก่ ภวตัณหา อารมณ์ฝืนมันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นแล้ว ในเมื่อสิ่งนั้นมันไม่ตามใจ มันเคลื่อนไปตามสภาพเก่าไปตามสภาพ ทรุดโทรมไปตามสภาพ ความไม่สบายกายไม่สบายใจมันก็เกิด เพราะเราไม่ต้องการให้มันเป็นแบบนั้น แต่มันยังเป็น มันฝืน ในเมื่อมันเริ่มเคลื่อนไปแล้ว วิภวตัณหาก็โผล่ หาทางแก้ซิ หาฤาษีมาชุบเลยคราวนี้ มันก็แก้ไม่ได้

ทีนี้ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันเก่าลง ๆ ในที่สุดมันก็ทรุดโทรมเพราะว่าสภาพทุกอย่างในโลกมันเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง และ ก็มี อนัตตา เป็นตัวสุดท้าย นี่เป็นกฎธรรมดา ในเมื่อบังคับไม่ได้แล้วสิ่งนั้นจะพังไป คนจะตายไป สัตว์จะตายไป เกิดทุกข์ใหญ่ นี่เราจะเห็นทุกข์ใหญ่ได้ก็มีอาการเสียใจปรากฎ เมื่อมีอาการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ หรือคนที่รักคนที่ชอบใจ สัตว์ที่เราชอบใจ นี่เป็นอันว่าความทุกข์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมาได้เพราะอาศัยตัณหา

ทีนี้เราจะตัดทุกข์ เราตัดตรงไหน ก็ตัดตรงตัณหาตัวเดียว ไม่เห็นยาก กิเลสทั้งหมดนี่เราตัดตัณหาตัวเดียวหมด ตัณหาที่เราตัดนี่คือ ไอ้ตัวละ ต้องอดใจไม่ชื่อว่าตัด อย่างคนเขามารักษาศีลอุโบสถวันหนึ่ง อย่างนี้ชื่อว่าตัดกามตัณหาหมดไปชิ้นหนึ่ง ไม่รู้ว่าชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ก็ช่างมัน ตัดทุกวันมันก็หมดไปทุกวัน อย่างที่พวกเรามาบวชอยู่นี่ ถือเนกขัมมบารมี เราจะคิดว่าเราละกิเลสไม่ได้เลยมันก็ไม่ได้ ถ้าเราตกอยุ่ภายใต้อำนาจของกิเลสจริง ๆ เราก็รักษาศีลอยู่ไม่ได้ เอาละ ถึงจะบวช ๒ เดือน ๓ เดือน ๙ วัน ๑๐ วันก็ตาม ถ้าบวชด้วยความรู้สึกจริง มีความเลื่อมใสจริง อดใจไว้ได้จริง เป็นอันว่าตอนนี้นะเราระงับกิเลสไว้ได้ แสดงว่ากิเลสมันเริ่มแพ้เราบ้างแล้ว มันแพ้เสียบ้างเราก็มีโอกาสจะชนะมัน หาจุดอ่อนของมัน

ทีนี้การที่เราจะตัดตัณหาเขาทำยังไง พระพุทธเจ้าบอกว่า ต้องเจริญมรรคทุกขปฏิปทา คือ ต้องปฏิบัติในมรรค มี สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มรรคคือมี ๘ อย่าง ถ้าไล่ทั้ง ๘ มันก็เจ๊ง มรรคนี่เขาย่อลงมาจาก ๘ เหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็หันเข้าไปหา ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ ตัวนี่เป็นการทำลายกิเลส

นี่ศีลเราก็มีแล้ว กิเลสมันก็ยั้งตัวอยู่หน่อย เพราะอะไร ศีลมีอุปมาเหมือนกับกรงเหล็กเข้าไปครอบกิเลสเข้าไว้ แต่ว่ากิเลสเหมือนเสือ เสือร้ายหรือว่าสิงห์ร้าย ถ้ามันติดกรงอยู่มันดิ้นคึ่กคั่ก ๆ แต่มันกัดใครไม่ได้อย่างหมา หมาดิ้นอยู่ถึงแม้เราจะฆ่ามันไม่ตาย แต่เราขังไว้ได้ก็ชื่อว่าเราชนะจุดหนึ่งแล้ว จะขังไว้ได้นานหรือไม่นานนี้ไม่สำคัญ เรื่องเล็ก ชื่อว่าเราขังได้ก็แล้วกัน ถ้าเราเคยขังมันได้สักครั้งหนึ่ง ก็เชื่อว่าโอกาสหน้าเราสามารถจะจับมันขังได้อีก เราขังได้ ใช้เวลาน้อยก็ตาม มากก็ตาม ถ้าขังบ่อย ๆ กิเลสมันก็เพลียเหมือนกัน ขังแล้วไม่ให้กินข้าวกินปลา มันก็ดิ้นไปดิ้นมามันชักหมดแรงเหมือนกัน

นี่เหมือนกับพวกเราที่มาบวช นี่พวกคุณไม่ได้ฆ่ากิเลสตาย คุณรู้ คุณขังกิเลสไว้ แต่ก็ยังดีขังได้สัก ๓ เดือนก็ดีถมเถไปแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าการขังกิเลสไว้คราวหนึ่ง ก็ชื่อว่า เราพักไม่ให้กิเลสมันกัดกายเรามันกัดใจเรา ใจของเราก็มีความสมบูรณ์ บริบูรณ์ แข็งแรงขึ้นมาบ้าง พอมีกำลังที่จะวิ่งหนีอบายภูมิได้ ถึงแม้ว่าจะไม่พ้นอำนาจของกิเลสหรือพ้นอำนาจอบายภูมิ นี่มันก็ชื่อว่าเป็นของดี ไมใช่ว่าไม่ดีนะ

สำหรับต่อจากนี้ไป ถ้าหากว่าเราจะมาพูดกันว่า สำหรับมรรค ๘ มี สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น นี่ท่านขึ้นตัวปัญญาก่อน ความจริงพระพุทธเจ้าสอนน่ะ สอนให้ใช้ปัญญาก่อนนะ ไม่ใช่ขึ้นศีลก่อน คือ คนต้องมีปัญญาแล้วจึงจะมีศีล แต่ว่าในมรรค ๘ ย่นมาเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ว่าคนที่มีศีลได้นี่ถ้าไม่มีปัญญาเขาก็จะไม่รักษาศีล คนไม่มีปัญญานี่ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของศีล แต่ว่าปัญญามันยังเล็กเด็กอยู่เท่านั้นเอง ฉะนั้นการศึกษาอะไรก็ตามที่เราจะพอใจในการศึกษา ว่าเราจะบวชเข้ามาด้วยศรัทธา นี่แสดงว่าเราเป็นคนมีปัญญาแล้ว แต่ว่าปัญญาตัวนี้ยังไม่มีกำลังกล้าพอที่ทำลายกิเลสได้หมด แต่ว่าเป็นปัญญาที่สามารถจะหาทางยับยั้งกิเลสไว้ได้ นี่เป็นปัญญาเล็ก ๆ แต่ว่าปัญญาเล็ก ๆ นี่คุณ อย่าถือว่าไม่มีประโยชน์นะ ความจริงมันเป็นประโยชน์ ไม่ว่าวัตถุสิ่งใดก็ตาม บ้านเรือนโรงต่าง ๆ ที่เขาสร้างมาเป็นหลังใหญ่ ๆ ได้ เพราะอาศัยวัตถุเล็ก ๆ เป็นปัจจัย ถ้าไม่มีวัตถุเล็กเป็นเครื่องสนับสนุนเป็นอุปกรณ์ บ้านหลังใหญ่มันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ตัวของเราเองก็เหมือนกัน ที่จะเกิดขึ้นมาได้เป็นตัวใหญ่ขนาดนี้ มันก็มาจากตัวเล็ก ๆ ก่อน ทีแรกเดิมทีเดียวมันก็ไม่เป็นตัว ทีนี้เวลานานวันเข้าการสะสมของร่างกายมันเกิดขึ้น มันก็เป็นตัวเต็มตัว แล้วในที่สุดมันก็เติบโตขนาดนี้ นี่เป็นอันว่าของเล็กมีความสำคัญ ไม่ใช่ว่าของใหญ่มีความสำคัญ

ทีนี้ก็มาว่ากันถึง มรรค มรรคมีองค์ ๘ เราย่นมามันเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เขาบอกว่าในเมื่อมรรคท่านขึ้นด้วยปัญญาก่อน คือ สัมมาทิฏฐิ ตัวนี้เป็นปัญญา สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ แต่คนที่ไม่มีปัญญาจะมีความเห็นชอบไม่ได้ เวลาในกฎถือศีล สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ ประการ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ขึ้นปัญญาก่อน เราก็ต้องตอบเขาว่า คนที่จะมีศีลได้ต้องเป็นคนมีปัญญา แต่ว่าปัญญาตัวนี้ยังมีกำลังไม่กล้าพอ ยังไม่สามารถจะทำลายตัณหาให้หมดไปได้ เป็นปัญญาตัวยับยั้งกำลังของตัณหา ยับยั้งเล็ก ๆ ไม่ใช่ยับยั้งใหญ่ เหมือนกับคอกขังเสือ

ความจริงตัวมรรคนี่นะ เวลาเราปฏิบัติจริง ๆ นะ และเวลาปฏิบัติจริง ๆ เขาไม่มีกันหรอกนะ หรือไง? ปฏิบัติจริง ๆ นี่ เขาพิจารณากันแค่ทุกข์กับสมุทัยเท่านั้น ตัวมรรคกับนิโรธ ๒ ตัวนี่ไม่มีหรอก ถ้าเทศน์ละก้อมี นิโรธ แปลว่า ความดับ คือ ดับกิเลสตัณหาทั้งหมด มันเป็นผล ไอ้ตัวมรรคจริง ๆ น่ะ มันมีตั้งแต่เริ่มต้น คือ เราเจริญสมถภาวนาใช่ไหม แล้วเวลาเราเจริญสมถภาวนานี่ เราต้องมีศีลก่อน เพราะอะไร เพราะ ถ้าไม่มีศีล สมาธิมันไม่เกิด มันมีอยู่แล้ว เมื่อศีลมีแล้ว เวลาที่เราเจริญสมถภาวนา ก็ต้องมีสมาธิ ถ้าสมาธิไม่มี จริง ๆ มันก็เป็นสมถะไม่ได้ คือ ควบคุมอารมณ์ใจไม่ได้ นี่ตัวสมาธิก็ดี ตัวศีลก็ดี จะมีขึ้นได้เพราะตัวปัญญาเป็นปัจจัย ถ้าปัญญาของเราไม่ดี เราเป็นคนไม่มีปัญญา มันก็ไม่เห็นคุณเห็นประโยชน์ว่าการมีศีลดี มีสมาธิดี นี่เป็นอันว่า เราใช้ปัญญากันมาตั้งแต่ต้น แต่ว่าปัญญาที่องค์สมเด็จพระทศพลเรียงไว้ในด้านศีล สมาธิ ปัญญา เป็นปัญญาตัวสุดท้าย ว่าเป็นปัญญาที่มีกำลังใหญ่ ไม่ใช่ว่าเราในตอนต้นนี่เราไม่มีปัญญา ไม่ใช่อย่างนั้น

ทีนี้ การตัดตัณหา ท่านบอกว่า ให้เป็นคนมีศีล ไอ้ศีลนี่มันทำร่างกาย วาจาให้สงบ แต่ความจริงมันต้องสงบมาถึงใจ เรียกว่าค่อย ๆ บุกมันลงไป ค่อย ๆ เลาะ ไม่ใช่ตีทีเดียวตายเลยนะ ครั้งแรกมันอยากวิ่งเร็วนัก ตีขาซ้าย ขาซ้ายหัก ไอ้มีขาขวายังตะเกียกตะกายได้ ตีขาขวาให้หักอีกขวา มีมืออีก ๒ มือ มันยังตะกายต่อไปได้ เอามือสาวไป ตีมือซ้ายหัก มีมือขวายังไปได้อีก ตีมือขวา ทีนี้ทำไงล่ะ มันก็นอนแหงแก๋ ไปไม่ได้ แต่ปากมันยังด่าได้ หือ..ทำไง ตีปากมันซะอีก ฟันเฟินหักปากพัง เอ๊ะ..นัยน์ตามันยังด่าอีก ตาด่าได้มีไหม นี่เขามองกันไปมองกันมาเดี๋ยวชกกันนี่ มันใช้ตาด่า เห็นไหม ก็ต้องตีตามันอีก

ก็แบบเดียวกับเราเจริญกฎ ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ขั้นแรกเรามีศีลก่อน เมื่อเรามีศีลแล้วเรียกว่า ฝึกอดใจ แบบเล็ก ๆ ใช้กำลังน้อย ๆ ควบคุมกำลังใจ พอระยะกฎ ๕ ประการ ที่เรียกว่า ศีล ๕ ถ้าพระมีศีล ๒๒๗ เณรศีล ๑๐ พระไปล่อเอาศีล ๕ ก็ไม่ได้นะ ตกนรกบอกไม่ถูกเลยนะ ไม่เป็นไร ศีล ๕ ฉันมีฉันไม่ต้องห่วง อเวจีเป็นที่ไปละไม่ต้อง สบาย ลุงพุฒิลงบัญชีเขียนบัญชีมันเมื่อยมือใช่ไหม พระไปรักษาศีล ๕ ไม่ได้ ถ้าพระองค์ไหนยิ่งไม่มีศีล ๕ ด้วยละก้อ ไม่ต้องห่วงแล้ว โลกันต์นั่นแหละเป็นที่ไปเลย เดี๋ยวนี้มีไหมพระไม่มีศีล ๕ เดินหลีกไม่พ้นเลยกระมั้ง ทำไมล่ะ ก็พระไม่รักษาสัจจวาจา มันก็ขาดศีล ๕ ใช่ไหม แล้วพระไปบี้ยุงบี้มดมันก็ขาดศีล ๕ ขาดรึเปล่า? ไม่ตั้งใจจะบี้

เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย การตั้งใจชื่อว่าเป็นตัวกรรม

ถ้าเราไม่ตั้งใจเราจะไปบีบบี้มันทำไม ใช่ไหม เว้นไว้แต่ว่าอะไรมันมาจับข้างกาย จะลูบคลำดูมันไปบังเอิญมันแรงไปนิดมันตายไป ไม่มีเจตนาฆ่า ตอนนี้ไม่ถือว่าขาดศีล ๕ นะ นี่เป็นอันว่า ถ้าเรารักษาศีลได้ตามปกติ เราก็เป็นการตัดกำลังของกิเลส ตัดมากไม่ได้ไม่เป็นไร เราตัดน้อยเข้าไว้ก่อน เหมือนกะตีแข้งตีขาไว้ก่อน ใช่ไหม ให้มันคลานยากเข้า มันขาดมันวิ่งไม่ได้ มันจะเดินโขยก ก็ยังช้ากว่าวิ่ง ดีไม่ดีเราก็ตัดเสีย ๒ ขา ให้เดินโขยกไม่ได้ มันคืบไปก็ยังช้ากว่า วิ่งช้ากว่าเดิน

นี่อันดับแรก พระพุทธเจ้าให้เป็นผู้ทรงศีลให้บริสุทธิ์เสียก่อน คือ ขึ้นชื่อว่าศีล เราจะต้องรักษาด้วยชีวิต แต่ว่าในตอนต้น ๆ จริง ๆ ท่านก็ไม่ได้บังคับขนาดนั้น บังคับแต่เพียงว่า หรือแนะนำไว้แต่เพียงว่า ถ้าหากเรารักษาศีล ๕ ตัว ถ้าเป็นฆราวาส ถ้าเป็นพระน่ะไม่ได้นะ พระเณรนี่ ๑๐ ตัว ก็ ๑๐ , ๒๒๗ ก็ ๒๒๗ ใช่ไหม เอามันแค่ ๑ ก่อน ถ้า ๑ นี่เราบังคับได้แน่นอนแล้ว ก็ขยับไปเป็น ๒ ให้อารมณ์มันชิน มา ๒ แล้ ก็ไปเป็น ๓ เป็น ๔ เป็น ๕ ค่อย ๆ ไป ถ้าเราชนะศีล ๑ ตัวได้ เราไม่ละเมิดศีล ๑ ตัว ไอ้นี่แสดงว่า เราชนะกิเลสไป ๑ จุดแล้ว ไม่ใช่ว่าเราแพ้กิเลส ค่อย ๆ ตีเข้าไป สวัสดี

Copyright © 2001 by
Amine
23 ส.ค. 2544 22:42:42