ตอนที่..๑.๒

ทีนี้พระพุทธเจ้า นี่ขอพูดย่อ ๆ ไอ้เรื่องทุกข์นี่พูดไปยันตายมันก็ไม่จบ หือ..จะจบยังไง เพราะผมต้องการบอกอาการผมทุกอย่างนี่ เวลามันตายมันปวดที่ไหน มันเสียดที่ไหน คุณฟังไปยันตายเลย เป็นอันว่าเรามองหาโลก มองดูโลกตามความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าบอกว่า การเกิดของเราไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ฝ่ายเดียว แต่ไอ้ที่เราเห็นว่าเป็นสุขก็เพราะอะไร เพราะว่าเราโง่ มันมีจุดสุขอยู่นิดเดียวคือ ความปรารถนาสมหวัง ถ้าความปรารถนาสมหวังตามที่เราตั้งใจ เราคิดว่าเป็นสุข เราดีใจ ดีใจนี่เราต้องการ เราได้ตามความประสงค์ แต่เนื้อแท้จริง ๆ แล้วไม่ใช่ความสุข นั่นมันเป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะว่าเราได้มันมาแล้ว จะเป็นวัตถุ หรือ เป็นบุคคลก็ตาม อารมณ์ของความทุกข์มันก็ติดตามมา ถ้าเป็นวัตถุก็เกรงว่ามันจะสูญหายไป เกรงว่าเป็นอันตราย เกรงว่าจะเก่า เกรงว่าจะพัง นี่ตัวทุกข์มันตามมาเลย คนไม่มีสตังค์ คิดว่าเขามีสตังค์สักหมื่นก็ดีใจ แต่ถ้าเงินหมื่นบาทเข้ากระเป๋าเมื่อไหร่ คุณนอนไม่หลับเมื่อนั้น กลัวเงินจะหาย นี่ไอ้ตัวทุกข์มันมาเลย

หรือบางทีกลัวเงินไม่พอ เดือนนี้มีเจ้าหนี้กี่รายไปเซ็นอะไรใครเขามาบ้าง ไอ้ทุกข์มันมีหลายด้านนะ เป็นอันว่าวัตถุก็ดี บุคคลก็ดี ในโลกนี้หาความสุขไม่ได้ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข มันเป็นปัจจัยของความทุกข์อย่างเดียว นี่ขั้นแรกพระพุทธเจ้าสอนในอริยสัจให้หาตัวทุกข์ให้พบ ถ้าหากว่าเราจะปฏิบัติในอริยสัจละก้อ ถ้าเราหาตัวทุกข์ยังไม่พบ นี่อย่าเพิ่งปฏิบัติข้ออื่น นี่พูดกันถึงแนวปฏิบัติจริง ๆ นะ

อันดับแรก พระองค์ทรงสอนให้เห็นทุกอย่างเป็นทุกข์ เราก็เป็นทุกข์ คนอื่นก็เป็นทุกข์ ทีนี้เวลาเรานอนอยู่หรือนั่งอยู่เป็นที่เงียบสงัด ปราศจากสิ่งรบกวน เราก็ใคร่ครวญหาความเป็นจริงว่า ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า โลกเป็นทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีทุกข์อะไรบ้าง ก็นั่งนึกหาความจริงให้มันพบ แล้วก็แปลทุกข์ให้มันออก ต้องนึกไว้เสมอ อะไรบ้างที่ทำให้เราไม่สบายกายไม่สบายใจ ภาระทุกอย่างที่เรามีอยู่นี่สร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจให้แก่เราทั้งหมด หนึ่ง ตื่นต้องกินข้าว ถ้าเราตื่นนอนมา ถ้าไม่มีข้าวจะกิน ความหนักใจมันก็เกิด ทีนี้ถ้ามีข้าวแล้วยังไม่กิน สายเกินไปความเสียดแทงมันเกิดมันเป็นทุกข์ ทีนี้เรากินข้าวเข้าไปแล้วทำไง อุจจาระปัสสาวะจะมามันก็เป็นทุกข์ นี่เรื่องพูดเก่าแต่หากว่าเป็นคนร่วมกัน ถ้าเราคุยเสียงดังเกินไป คนข้างห้องเขาบอกรำคาญ แต่เวลานี้ความจริงเขากอยากจะพูดให้เสียงดัง เพราะมันสบายใจ

ทีนี้คนข้าง ๆ เขาบอกว่าพูดแบบนี้ไม่ได้ ฉันไม่ชอบ รำคาญ ไอ้ความไม่สบายใจของเราก็เกิด มันเกิดคับใจเสียแล้วนี่ แหม..จะปล่อยอารมณ์ตามปรารถนาสักหน่อยเป็นไปไม่ได้ นี่ความไม่สบายใจมันก็เกิด ไอ้ตัวไม่สบายใจเกิดมันก็เป็นตัวทุกข์

ทีนี้ประเดี๋ยวก็ได้ยินข่าวแล้ว เขาบอกว่า พ่อป่วย แม่ป่วย ญาติคนนั้นป่วยญาติคนนี้ตาย เอ้า..ความไม่สบายกายไม่สบายใจเกิดขึ้นอีก ดีไม่ดีเขาบอก นี่พื้นที่ของท่านที่มีอยู่ที่โน้นมีคนเขามารุกที่เข้าไปศอกหนึ่งแล้ว แขนหนึ่งแล้ว หรือว่าคืบหนึ่งแล้วเอาอีกแล้ว แล้วก็คิดในใจว่าไอ้ที่นี่มีโฉนดมารุกรานกันยังไง มาอีกแล้ว นอนตาไม่หลับอีกแล้ว มือก่ายหน้าผาก นี่ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สินต่าง ๆ ก็ดี ร่างกายก็ดี มันทุกข์จริง ๆ

ทีนี้เวลานักปฏิบัติเขาปฏิบัติ เขามองหาทุกข์ของตัวให้พบ แม้แต่ทุกข์เล็กทุกข์น้อยเขาต้องมองให้พบ หาด้วยปัญญาไม่ได้ หาด้วยสัญญา ทีนี้เมื่อหาความทุกข์ของเราพบแล้ว ก็หาความทุกข์ของคนอื่น มองดูคนทั้งโลกว่าคนไหนนะมีความสุขจริง ๆ เห็นคนเดินผ่านหน้าเราไป เราก็คิดว่าคนนี้น่ะหิวข้าวบ้างไหม คิดในใจ ปวดอุจจาระปัสสาวะบ้างไหม เขาเคยป่วยไข้ไม่สบายบ้างไหม ร่างกายของเขาทรงอยู่หรือทรุดโทรมอยู่เสมอบ้างไหม นี่หาความจริงเหล่านี้ เราก็จะพบว่าคนทุกคนในโลกหาใครสุขไม่ได้เลย มันจะสุขยังไง ก็หิวข้าวเหมือนกัน เราหิวข้าวมีอาการแบบไหน เขาหิวข้าวก็มีอาการแบบนั้น เราปวดอุจจาระปัสสาวะแบบไหน มีความรู้สึกยังไงเขาก็เหมือนกัน เวลาเราป่วยไข้ไม่สบาย เรามีความรู้สึกแบบไหน เขาก็มีความรู้สึกแบบเรา ขณะใดที่ร่างกายมันทรุดโทรมลงไป คาวมทุกข์มันก็เกิดกับใจ เพราะอะไร เพราะใช้กายมันไม่สะดวก เวลาที่เป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มตัวใช้ร่างกายได้สะดวก ทีนี้พอมันชักจะแก่เหลาแหย่อย่างผมนี่ มันใช้อะไรไม่สะดวก ตาน่ะใส่แว่นยังอ่านหนังสือไม่ค่อยจะออกเลย เวลานี้หนังสือตัวใหญ่ ๆ บางทีใส่แว่นแล้วอ่านไม่ออก มันใช้ไม่ได้สะดวก ทีนี้ความรำคาญมันเกิด ไอ้ความรำคาญของการอ่านหนังสือไม่สะดวก หรือ ไม่ชัดเจนมันก็เป็นทุกข์ อันได้แก่การไม่สบายกายไม่สบายใจ

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าให้มองหาความจริงของชาวโลก ความจริงกายก็ดี หรือวัตถุก็ดี มันไม่ทุกข์ ไอ้ตัวทุกข์จริง ๆ น่ะมันอยู่ที่ใจ ความจริงร่างกายนี่มันไม่ทุกข์ วัตถุมันก็ไม่ทุกข์ ไอ้ตัวทุกข์จริง ๆ มันอยู่ที่ใจคือเรา

ที่บอกว่า ความทุกข์มันอยู่ที่ใจคือ เรา คำว่า เรา คือ จิต หรือ อทิสสมานกาย ที่ควบคุมร่างกาย ไอ้ร่างกายแท้ ๆ น่ะ ถ้าเราถอยออกมาเสียแล้ว มันไม่มีความรู้สึก ตัวอย่างคนตายที่เราเห็นในเมื่ออทิสสมานกายมันเคลื่อนออกไป ทีนี้ร่างกายนั้นใครเขาทำอะไรมันก็ไม่ว่า นี่ความจริงมันไม่ทุกข์ ที่มันทรุดโทรมลงไปก็เป็นกฎธรรมดาของมัน ร่างกายมีอุปมาเหมือนท่อนไม้ มันไม่ต่างอะไรกับไม้ท่อน ความจริงมันไม่ได้มีความรู้สึกอะไร ไอ้ที่มีความรู้สึกทุกข์ต่าง ๆ มันมาจากจิตตัวเดียว

จิต คือ ความนึกคิดที่มีกำลังเหนือระบบของร่างกายทั้งหมด ที่สามารถสั่งให้ร่างกายทำอะไรต่ออะไรก็ได้

นี่เราต้องเดินไป เราต้องพูดไป ต้องนอน ต้องยืน ต้องกิน อะไรพวกนี้ มันเรื่องของจิตสั่งตัวเดียว ลำพังของร่างกายมันไม่ได้สั่ง เพราะอะไร เพราะมันไม่ต้องการ จะให้มันทรงอยู่แบบไหนก็ตามใจ จะให้กินหรือไม่กินมันก็ไม่ได้ว่าอะไร ร่างกายมันไม่ได้ทวงแต่ว่าจิตมันทวง เพราะจิตเข้าไปรับทราบถึงความเสื่อมของร่างกาย การขาดอาหารของร่างกาย จิตมันเข้าไปทราบ

ทีนี้ถ้าเราจะพูดว่าคนเรายังไม่ตาย ถ้าจิตออกจากร่างแล้วร่างกายมันไม่ทุกข์ ตรงนี้เราจะต้องไปพิสูจน์กันอีตอนที่ได้มโนมยิทธิ หรือว่าเข้าถึงฌาน ๔ แต่ขณะใดถ้าจิตเราทรงอยู่ในฌาน ๔ ขณะนั้นจิตมันแยกออกจากกายเด็ดขาด ความจริงมันอยู่ในกาย แต่ว่ามันไม่ยอมรับรู้เรื่องของประสาท นี่ท่านทรงฌาน ๔ อยู่น่ะ ยุงกินริ้นกัดจึงไม่มีความรู้สึก แล้วก็ใครเอาเสียงดัง ๆ อย่างเสียงปืนใหญ่ เสียงพลุ เสียงระเบิด มาทำเสียงให้ปรากฎใกล้ ๆ หูก็ไม่ได้ยิน แต่ความจริงประสาทไม่ได้ดับ มันทรงตัวตลอด แต่ว่าจิตไม่ยอมรับทราบ นี่เราจะพิสูจน์ได้ตอนฌาน ๔ อย่างหนึ่ง

ทีนี้ประการหนึ่ง ถ้าเราได้มโนมยิทธิ สามารถถอดกายภายในออก ถอดออกแล้วเราจะไปไหนหรือไม่ไปก็ช่าง จะมายืนดูกายของเราที่เราอาศัยอยู่ ที่มันนั่งอยู่ แล้วก็ดูสิ เวลายุงกินริ้นกัดร่างกายมันจะเกามันจะไล่ยุงไหม จะไม่มีทางเลย มันจะเฉยทำเหมือนหัวหลักหัวตอ นี่แสดงว่าร่างกายนี่มันไม่รับรู้เรื่องจริง ๆ มันไม่ได้ทุกข์ด้วย และอาการที่ทุกข์ก็คือจิต จิตเข้าไปยึดว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา นี่มาลงสักกายทิฏฐินะ ถ้ายุงมันกินก็เกรงว่าไอ้ไข้ต่าง ๆ ที่มันมาจากยุง ยุงนำมาจะเกิดแก่ร่างกาย หรือไม่งั้นร่างกายมันเจ็บ เราเสียเลือด เราต้องไล่ยุง นี่เมื่อจิตมันเกาะอยู่มันรับทราบ ถ้าจิตมันไม่เกาะอยู่มันไม่เอา ร่างกายมันไม่ทำ นี่เป็นอันว่าไอ้ตัวทุกข์จริง ๆ มันอยู่ที่จิต ที่เราเรียกกันว่า อุปาทาน ตัวเข้าไปยึดถือ

ทีนี้เรื่องทุกข์นี่ บอกแล้วว่าพูดเท่าไรก็ไม่จบ ท่านจะต้องหากันให้พบ ดูคนทุกคนในโลกนี้ให้เห็นว่าทุกคนมีแต่ความทุกข์ และก็ดูสัตว์ทุกประเภทในโลก เห็นว่าสัตว์ทุกตนมีแต่ความทุกข์ ไม่ใช่ไปแช่งเขานะ ไม่ใช่ไปแช่งให้เขามีความทุกข์ หาความจริงว่าเขามีทุกข์ ไอ้ความจริงที่เขามีทุกข์จะมียังไงบ้าง ก็มีตามที่ผมพูดมาแล้วนั่นแหละ ผมขี้เกียจย้อนไปย้อนมาเดี๋ยวรำคาญ เป็นอันว่าหาให้ได้

ถ้าเรายังมองมุมใดมุมหนึ่งว่าเป็นแดนของความสุข อันนี้เขาถือว่าใช้ไม่ได้ จะชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติที่ดีน่ะใช้ไม่ได้ เขาเรียกว่านักปฏิบัติเหมือนกัน แต่เป็นนักปฏิบัติที่เลวแสนเลว เพราะอะไร เห็นว่าโลกเป็นสุข มันก็ค้านความเป็นจริง เพราะชื่อว่าจิตเรายังประกอบไปด้วยตัณหา มีกิเลส มีตัณหา มีอุปาทาน ตัวยึดมั่น แล้วมันจะดีได้ยังไง มันก็เลว

กิเลส แปลว่า ความเศร้าหมอง ไอ้วัตถุใด ๆ ก็ตาม ถ้ามันเศร้าหมองไม่แจ่มใส เราก็ถือว่าวัตถุนั้นเลว มันหาตัวดีไม่ได้ ทีนี้หากว่ามันเศร้าหมองแล้วเรายังไปดึงมันเข้าไว้ ก็ดึงเอาความสกปรกเข้ามา แล้วมันจะสะอาดได้ยังไง ก็เลวน่ะซิ อุปาทานตัวเดียวไอ้ตัวทะยานอยาก ตัณหาอยาก อุปาทานดึง ดึงเข้ามาแล้ว อกุศลกรรม คือ ทำด้วยความโง่ รักษาของเลวไว้เป็นสมบัติของตน เลยเอาดีไม่ได้

นี่ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็ต้องเป็นนักปฏิบัติที่ระบบชั้นเลวสุด ถ้าเราจะไล่ตัวเลวกันไอ้ตัวเลวอันดับหนึ่งน่ะมันก็ถึงก่อน ตัวที่จะถึงก่อนนี่เขาต้องถือว่า ถ้าจิตของเราเข้าไปเห็นมุมใดมุมหนึ่งของโลก หรือว่าคนใดคนหนึ่งในโลก ไม่ว่าจะทรงร่างกายทรงฐานะระดับไหนก็ตาม เห็นว่าเขามีสุข นั่นเราจะรู้เลยว่าเราโง่เต็มที จัดว่าเป็นคนบรมโง่แล้ว บรมโง่ ปรมะ แปลว่า อย่างยิ่ง บรมโง่ ก็แปลว่า โง่อย่างยิ่ง คือ ยอดของความโง่ หาใครโง่เกินกว่าเราไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะความจริงของโลกไม่มีมุมไหนเป็นมุมของความสุข คุณลองบอกผมทีเถอะ คุณเห็นว่าไอ้โลกมุมไหนมันสุขบ้าง

ถูกล็อตเตอรี่มีความสุขหรือความทุกข์ ไม่มีสุข หาสุขไม่ได้ มันจะสุขตรงไหน พอรู้ข่าวถูกล็อตเตอรี่ ดีใจว่าถูกล็อตเตอรี่ ความทุกข์มันตามมาเลย เกรงว่าสลากล็อตเตอรี่จะหาย ใช่ไหม ความจริงตอนซื้อมา ๑๐ บาท อาจจะวางตรงไหนก็ได้ แต่รู้ข่าวว่าถูกรางวัลที่ ๑ อีคราวนี้ดีไม่ดีไม่อาบน้ำไม่อาบท่าแล้ว อีใบนี้เก็บกันเต็มที่เลย นี่ทุกข์ตามมาเลย ทีนี้พอไปรับสตางค์ เขาเกิดหักภาษีรายได้ขึ้นมา อารมณืของความทุกข์มันก็เกิด เสียดายสตางค์ ใช่ไหม พอได้สตางค์มาแล้ว กลัวสตางค์หาย เสร็จ ดีไม่ดีถูกใครเขาต้มเขาตุ๋นไปก็เจ๊งไปเลย นี่เป็นอันว่า มุมของโลกหาความสุขไม่ได้เป็นอันว่ากษัตริย์ก็ทุกข์ มหาเศรษฐีก็ทุกข์ จะมีใครมันก็ทุกข์ทั้งหมด เป็นอันว่าโลกนี้ทั้งโลกมีแต่ความทุกข์ นี่ถ้าเราจะเรียนอริยสัจ ต้องหาทุกข์ให้จบก่อน มันไม่มีอะไร อันนี้มี ๒ อย่างเท่านั้น ไม่เห็นมีอะไร ง่ายนิดเดียว

ที่เรียนมาในขณะที่ปฏิบัติ ท่านบอกว่า ต้องมองโลกทั้งหมด ให้เห็นว่าเป็นทุกข์ ให้เห็นด้วยปัญญานะ ไม่ใช่เห็นด้วยสัญญา ไม่ใช่จำวาทะของท่านมาพูด เราต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องคิด เห็นคนที่มีร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์เดินแบบองอาจ เราแน่ใจว่าคนนี้จะมีความสุขหรือความทุกข์ ก็หากฎของความเป็นจริงคือ นิพัทธทุกข์ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย การปวดอุจจาระปัสสาวะ อาการป่วยไข้ไม่สบาย นึกเลยว่า คนนี้เขามีแบบเดียวกับเรา มันทุกข์แล้วดีไม่ดีเข้าไปถามเขา เขาจะบอกอาการทุกข์ประจำเขาปรากฎ คือ โรคที่มีอยู่ในกาย หรือว่าความไม่สบายกาย ไม่สบายใจอย่างหนึ่งที่ประจำอยู่

เป็นอันว่า คนทั้งโลกไม่มีสุขจริง ๆ มีทุกข์ นี่จิตเราต้องเห็นทุกข์จริง ๆ เสียก่อน ก่อนที่จะย่องไปถึงสมุทัยนะ ยังไม่ต้องย่องไปถ้าเรายังไม่เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกยังมีทุกข์ ต้องตำหนิใจทันทีว่าใจเรานี่ยังเลวมาก ยังโกหกตัวเอง ยังมีกิเลสเป็นเครื่องบังใจ ไอ้กิเลสน่ะ ความเศร้าหมองของจิต เ หมือนแว่นตา แว่นตาถ้ามันใสมองอะไรก็สะดวกเห็นถนัด ถ้ามันขุ่นมัวมันมีความเศร้าหมองละก้อ มองอะไรเห็นไม่ถนัด กิเลสเหมือนกับแว่นตาที่ถูกฝุ่นละอองมาปะ ถ้าฝุ่นละอองมันปะมากเราก็ไม่เห็นความเป็นจริง นี่หาทุกข์ให้พบ

Copyright © 2001 by
Amine
23 ส.ค. 2544 22:42:42