ตอนที่..๑.๑

วันนี้ว่ากันถึง อริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ มี ๔ อย่างคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่เรียกว่า อริยสัจ ก็เพราะว่า อริยสัจ ก็เพราะว่า เป็นความจริงที่ทำบุคคลให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า

พระอริยเจ้าเขาเป็นกันยังไง? เหาะได้รึไง ไอ้โง่แบบนี้ละ ปล่อยให้โง่ไปคนเดียวนะ คิดอย่างนั้นจริง ๆ อีตอนที่เรียนใหม่ ๆ คิดว่าคนทุกคน ถ้าเป็นพระอรหันต์ได้ต้องเหาะเหินเดินอากาศได้ แสดงฤทธิ์ได้ นี่มันเป็นความโง่ แต่ความจริงนี่คำว่า อรหันต์ แปลว่า เป็นผู้สิ้นจากกิเลส ใช่ไหม หรือแปลว่า เป็นผู้ไกลจากกิเลส หรือ มีกิเลสอันสิ้นแล้ว นั่นเอง

คำว่าอรหันต์อยู่ตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่าเหาะเหินเดินอากาศเนรมิตอะไรได้ ไอ้ตัวเหาะได้นี่ความจริงเขาเหาะได้ตั้งแต่ยังไม่ถึงพระโสดาบัน แต่ว่าพวกที่ได้ฌานโลกีย์ แล้วก็ได้อภิญญาด้วยนี่ฤทธิ์มันปรากฏตั้งแต่ตอนนี้ หากว่าเราไปเห็นใครเขาเหาะได้ เนรมิตอะไรเข้า อย่านึกว่าเขาเป็นพระอริยเจ้า อันนี้ไม่ใช่

หากว่าบังเอิญจะเป็นพระอริยเจ้า ได้อภิญญา ๖ หรือ ปฏิสัมภิทาญาณ เรื่องที่ท่านจะเหาะให้เราดูเฉย ๆ ก็ไม่มีเหมือนกัน ท่านไม่ยอมทำ เพราะว่าท่านไม่ยอมเป็นทาสของคำชมเชย หรือคำนินทาสรรเสริญ พระอรหันต์ถ้าหากว่าจะแสดงฤทธิ์ก็ต้องจำเป็นจริง ๆ เพื่อเป็นการเจริญศรัทธา เรียกว่าอย่างพระพุทธจเที่จะทรมานชฎิล เพราะพวกนี้เขาเล่นฤทธิ์กัน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่แสดงฤทธิ์ก็จะไม่นับถือ นี่พระพุทธเจ้าจำจะต้องทำหรือว่าพระพุทธเจ้าทรงไปทรมานน้ำใจของพระประยูรญาติ คำว่า ทรมาน นี่หมายความว่า กลับใจจากผิดให้มาเป็นถูก มันเป็นการทรมานเหมือนกัน ศัพท์ภาษาบาลีท่านเรียกว่า ทรมาน ถ้าสำหรับชาวบ้านเขาเรียกว่า โปรด

ทีนี้คำว่า โปรด หรือว่า ทรมาน นี่ก็คือ กลับอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง อย่างเขาชอบกินเหล้า เราบอกว่ากินเหล้าไม่ได้ นี่เขาต้องฝืนอารมณ์เดิม เขามางดจากการกินเหล้า ก็ชื่อว่า ทรมานใจ แต่ว่าเราทรมานให้ได้ดีอย่างนี้ ตามศัพท์บาลีท่านจึงเรียกว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไปโปรดใครท่านเรียกว่า ทรมาน อย่างทรมานพระญาติพระวงศ์ อันนี้ก็ต้องแสดงฤทธิ์เหมือนกัน ต้องเหาะให้ดู เมื่อเหาะเสร็จเรียบร้อยแล้วพระญาติพระวงศ์มีความเชื่อ เพราะคนที่มีความสามารถไม่มีเสมอนั้น เชื่อว่าพระองค์มีความสามารถเป็นพิเศษจริง จึงยอมรับนับถือ นี่ก็ความจำเป็นเกิดขึ้นท่านจึงจะแสดงฤทธิ์ ไอ้ฤทธิ์น่ะไม่ใช่แสดงกันส่งเดชไป

วันนี้มาว่ากันถึง อริยสัจ วันนี้ว่า ตัวสำคัญเลย อริยสัจ แปลว่า ความจริง ท่านลองนึกดู นี่เราเรียนกันอย่างแบบสบาย ๆ ดีกว่าแบบตามตำราเกินไปมันฟังยาก พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ในโลกนี้มีแต่ความทุกข์ หาความสุขมิได้ นี่เราก็มานั่งนึกดูซิว่าพระพุทธเจ้าพูดจริงหรือพูดปด พระอรหันต์โกหกมีไหม เรื่องพระสารีบุตรกับตัมพทาฐิกโจร โกหกก็แปลว่า พูดไม่ตรงความเป็นจริง ตัมพทาฐิกโจรแกฆ่าคนมานับหมื่น ทีนี้เวลาพระสารีบุตรไปเทศน์ กัณฑ์แรกก็ล่อปาณาติบาตเข้าเลย มันก็เสร็จน่ะซิ พอปาณาติบาต คนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตฆ่าคนก็ตาม ตายตกนรก โอ้โฮ.. ถ้าทำเป็นอาจิณกรรม ลงอเวจีมหานรก และอธิบายเสียเป็นคุ้งเป็นแควไปเลย พวกก็เหงื่อตกพลั่ก เสร็จ เหงื่อแตก กระสับกระส่าย

พระสารีบุตรมองไปเห็นอีตาตัมพทาฐิกโจรท่าทางไม่ดีแล้ว ท่านหยุดถาม "โยม ไม่สบายรึ" บอก "ไม่สบายใจขอรับ" ถาม "ทำไม" ไอ้ที่ท่านเทศน์น่ะ ผมแย่เต็มทีแล้วเสร็จผมน่ะลงนรกไม่ได้ขึ้นละ ก็เลยถาม "ไอ้คนที่โยมฆ่าน่ะ ฆ่าเองหรือใครให้ฆ่า" บอกว่า "พระราชาสั่งให้ฆ่า" เพราะแกเป็นเพชรฆาต ท่านก็เลยเทียบกับคนลูกจ้างทำนา ๑๐๐ ไร่ เมื่อผลในนาน่ะ นายได้หรือลูกจ้างได้ แกก็บอกว่า "ลูกจ้างได้แต่ค่าจ้าง ผลในนานายได้" แกโง่กว่าพระสารีบุตร เห็นไหม พระสารีบุตรก็เลยบอกว่า "ไอ้คนที่โยมฆ่าคน พระราชาสั่งให้ฆ่าน่ะ บาปมันอยู่กับใคร" ท่านก็ไม่บอกว่าบาปมันอยู่กับพระราชา นี่อีตานั่นแกโง่กว่าพระสารีบุตรนี่ แกก็นึกว่าแกไม่บาป พอนึกว่าแกไม่บาปเท่านั้น พระสารีบุตรเทศน์ใหม่ เทศน์อานิสงส์ของทาน กัณฑ์นั้นปล่อยทิ้งไปครึ่งกัณฑ์ เพราะว่าถ้าขืนเทศน์เป็นไม่ได้การแน่ ไอ้กัณฑ์นั้น ขึ้นกัณฑ์ใหม่เทศน์อานิสงส์ของทาน ตัมพทาฐิกโจรเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม นี่ถ้าพระสารีบุตรไม่โกหก ตัมพทาฐิกโจรไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แต่คุณอย่าไปโกหกเข้านะ โกหกอย่างเรามันลงนรก อย่างท่านไปนิพพานได้ อย่างนั้นเขาไม่ได้เรียกว่าโกหก เขาเรียกเป็นลีลาแห่งการแสดง

ทีนี้พระพุทธเจ้าเทศน์อริยสัจ ว่าโลกทั้งโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ คุณก็ลองหาดูซิว่า ไอ้โลกจุดไหนที่มันเป็นสุข ลองช่วยกันหาดูซิ หิวข้าวเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หิวทำไมล่ะแล้วแกหิวทำไม ฮึ..ทำไมถึงหิว เพราะมันอยากหิว ร้อนมันเป็นสุขหรือทุกข์ ปวดท้องขี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้ามันไม่ขี้มันก็เป็นทุกข์ใหญ่นะ รวมความว่าที่เราทรงชีวิตอยู่นี่นะ เราหาความสุขไม่ได้จริง ๆ สิ่งที่ทุกข์ที่เป็นประจำเขาเรียกว่า นิพัทธทุกข์ ที่ถามมาเมื่อกี้นี้ท่านเรียกว่า นิพัทธทุกข์

ความจริง นิพัทธทุกข์นี่มันมี ๑๐ อย่าง แต่เราเอากันเห็นแบบง่าย ๆ พอตื่นขึ้นมาถ้าเราไม่ล้างหน้า เราไม่แปรงฟัน มันก็เป็นทุกข์ เพราะรำคาญใช่ไหม เพราะรำคาญนี่ไม่ล้างหน้าไม่ได้ รำคาญ มันกลางหน้า หน้ามีเหงื่อมีไคลบ้างรึเปล่า ปากถ้าไม่แปรงฟันมันก็เหม็น ไอ้ความรำคาญเกิดขึ้น บรรดาอาการของความทุกข์แปลว่า ความไม่สบายกายไม่สบายใจ อาการอย่างใดมันเกิดขึ้นก็ตาม ถ้าเป็นเหตุของความไม่สบายกายไม่สบายใจ นั่นเป็นอาการของความทุกข์

ทีนี้พอตื่นมาแล้วล้างหน้า ถ้าเราไม่ได้กินข้าวมันก็หิว ไอ้ตัวหิวนี่มันเป็นทุกข์ และเมื่อกินเข้าไปแล้วทำไง ไอ้คนใหม่เข้าไปคนเก่ามันอึดอัดมันออก ฮึ..ปวดท้องขี้ปวดท้องเยี่ยวซิ ทีนี้มันเข้าไปซ้อนกันอยู่นานได้เมื่อไหร่ ไอ้กากมันจะออก การกระสับกระส่ายของการปวดอุจจาระปัสสาวะเป็นอาการของความทุกข์ นี่คำว่าปกติของทุกข์ เป็นประจำวัน แต่เรื่องหิวนี่นะ เราเกิดมาชาติหนึ่ง เราต้องการอาหารวันละกี่เวลา ต้องคิดมันดู เราต้องการดื่มน้ำวันละกี่ครั้ง ขณะใดที่เราต้องการดื่มน้ำ ขณะนั้นเป็นอาการของความทุกข์ เพราะหากว่าถ้าเราไม่ได้ดื่ม ความกระหายมันเกิด ไอ้ความกระหาย ความต้องการนี่มันเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวสุข เห็นไหม การหิวข้าวเป็นทุกข์ การปวดอุจจาระปัสสาวะเป็นทุกข์ ความเย็นสูงเกินไปเป็นทุกข์ เพราะเราไม่ต้องการ ร้อนมากเกินไปเป็นทุกข์ การปฏิบัติงานทุกอย่างเพื่อความเป็นอยู่เป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะว่าการหากินทุกอย่างต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องใช้กำลังกายกำลังใจ และก็กำลังทรัพย์ เราไม่มีทรัพย์เราก็หากินอะไรไม่ได้เลย หากินได้ไหม บอกไม่มีทุนไปขุดดิน เอาอะไรไปขุด ถ้าไม่มีสตางค์ ซื้อพลั่ว ซื้อจอบ ซื้อเสียม ก็ต้องเอาไม้แข็ง ๆ ไปขุด ไอ้ไม้ชิ้นนั้นมันเป็นทรัพย์ ต้องใช้ทรัพย์เหมือนกัน เราทำงานทุกอย่าง เราเหนื่อยต้องเคร่งเครียดต่อการงาน และการทำงานที่มีผู้บังคับบัญชา เกรงว่าจะไม่ถูกใจ นี่การปฏิบัติงานทุกอย่าง ขึ้นชื่อว่าความสบายไม่มีเลย นี่เป็นอาการของความทุกข์ที่เราเห็นได้ง่าย ๆ

แต่พระพุทธเจ้าบอก ความทุกข์มีจริง แต่คนเห็นทุกข์ไม่มี นี่เราต้องมานั่งนึก นึกถึงความทุกข์ในอริยสัจ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า แม้แต่ข้าวคำเดียวที่เราเปิปเข้าไปมันก็เป็นทุกข์ ท่านบอกว่า กับข้าวหรือข้าวที่เราจะพึงหาได้ ที่เราจะกินอันนี้มันมาจากไหน มันมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของเรา หรือว่า ถ้าเราจะมีสตางค์ซื้อข้าว สมมุติว่าพวกคุณมีเงินเดือน ไอ้เงินเดือนนี่มันไม่ใช่เงินครึ่งเดือน หรือว่าไม่ใช่เงินครึ่งวัน เราทำงานมาตั้งเดือนถึงจะได้เงินจำนวนนั้นมา และการทำงานทุกครั้งมันเหนื่อยไหม บางทีเรานั่งเขียนหนังสือมันก็เหนื่อย เหนื่อยกาย เหนื่อยใจ เมื่อยมือ ใช้สมอง แล้วก็ต้องเหนื่อย เกรงว่าผู้บังคับบัญชาจะหาว่าทำไม่ถูกใจ ไม่ถูกแบบไม่ถูกแผน นี่มันเหนื่อย

ทีนี้คนที่เขาทำนาทำสวนมันก็เหนื่อย ออกกำลังกายมากใช้กำลังความคิดด้วย คนที่ประกอบการค้าก็เนหื่อย ไม่ใช่เขานั่งอยู่ได้สบาย ๆ ยิ่งต้องใช้สมองหนัก และการค้าต้องเอาใจชาวบ้าน นี่มันหนักทุกอย่าง หากว่าใครเขาจะเข้ามาซื้อของเรา พูดไม่ถูกใจเขา ๆ ก็ไม่ซื้อ เราก็ต้องวางแผนว่าจะวางลีลาตั้งท่าว่ายังไง จะพูดว่ายังไงเขาจึงจะชอบใจซื้อของ ๆ เรา ทีนี้ไอ้การวางแบบ วางแผน วางกฎ ตั้งตนไอ้แบบนี้จะทำให้ถูกใจเขานี่มันเหนื่อย รวมความว่าอาหารที่เราจะกินเข้าไป กว่าจะได้อาหารมาก็แสนที่จะเหน็ดเหนื่อย เต็มไปด้วยความทุกข์

ความหนาวจะหนาวสักเพียงใดก็ตาม ก็ต้องทนทำงานเพื่อเงิน อากาศจะร้อนเพียงใดก็ตาม ก็ต้องทนทำงานเพื่อเงิน บางทีอันตรายที่เราจะถึงสำนักงาน หรือว่าไปถึงสำนักงานแล้วอันตรายรอบตัวจะพึงมีก็ได้ เราก็ต้องทนทำ เพราะต้องการเพื่อเงินและทรัพย์สินเอามาเป็นอาหารที่เราจะพึงกิน นี่เป็นอันว่าอาหารที่เรากินเข้าไปนี้เรากินทุกข์ ใช่ไหม

เรานี่รู้แล้วว่า โลกนี้มันทุกข์ แล้วเกิดมาทำไมล่ะ ทำไมถึงเกิด อีตอนนั้นมันไปโง่เพราะเจ้านายมันบังคับให้เกิด คือ กิเลส ความเศร้าหมองของจิต ที่คิดว่าโลกเป็นสุข ใช่ไหม ตัณหา ความทะยานอยาก คือคิดว่าโลกเป็นสุขจริงอยากจะมาเกิด อุปาทาน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ไอ้ตัวคิดว่าสุขมันมีอยู่ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นอาการของทุกข์ ทุกอย่างเราก็คิดว่าเป็นสุข เป็นความยึดมั่นอุปาทาน อยู่คนเดียวสบาย ๆ ไม่พอ อยากจะแต่งงานให้มันมีความสุข พอแต่งงานแล้วหาสุขตรงไหนล่ะ เราอยู่คนเดียวเอาใจเราคนเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นคนสองคน เราจะถือระบบนั้นไม่ได้ จะต้องคอยเอาใจคนอีกคนหนึ่ง ไอ้การประกอบอาชีพการแสวงหาทรัพย์สินมันก็ต้องมากขึ้น เพราะต้องเผื่อคนอีกคน ถ้าเรามีคนอีกคนหนึ่งมาเป็นคู่เป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์ แต่ความจริงไม่ใช่ร่วมสุข มันร่วมแต่ทุกข์ แล้วเราก็ต้องรักษากำลังใจคนอื่นอีกหลายสิบคน ซึ่งเป็นพวกพ้องซึ่งกันและกัน นี่ความหนักมันเกิด ไม่ใช่ความเบาเกิด

พอแต่งงานแล้วลูกโผล่ออกมาอีกซิ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า "ภารา หเว ปัญจักขันธา" ขันธ์ทั้งหลาย ๕ เป็นภาระอันหนัก

เราคนเดียวมีแค่ขันธ์ ๕ หนักพอแล้ว หนักเพราะความหิว หนักเพราะความกระหาย เพราะความร้อน ความหนาว ความป่วยไข้ไม่สบาย ความแก่ ความปรารถนาไม่สมหวัง และก็ความตาย แค่นี้หนักจนเราแบกไม่ไหว ในที่สุดร่างกายมันพัง

ทีนี้หากว่า เรามีคู่ครองและเขาแบกมาอีก ๕ เป็น ๑๐ ใช่ไหม ๑๐ ขันธ์เข้าไปแล้ว พอเข้ามาเป็น ๑๐ ขันธ์เดี๋ยวมันโผล่มามันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ อีตอนที่มีใหม่ ๆ น่ะหรือรู้ข่าวว่ามีลูก แหมดีใจ พอลูกโผล่ออกมา ชักยุ่งแล้ว ใช่ไหม ดีไม่ดี ดึก ๆ ดื่น ๆ ไอ้ลูกไม่สบายต้องวิ่งไปหาหมอ ต้องตื่นขึ้น ลูกร้องขึ้นมา นี่พูดให้เห็นว่าเป็นทุกข์ง่าย ๆ ที่เราจะพึงมองเห็น แต่ว่าไม่มีใครเขาอยากมองกัน ที่พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า โลกมีความทุกข์จริง แต่คนเห็นทุกข์ไม่มี นี่ความจริงอันนี้มันมีตามปกติ เรามองไม่เห็นใช่ไหม ที่ผมเคยบอก ชิคัจฉา ปรมา โรคา ไอ้ความหิวนี่มันเป็นอาการเสียดแทง โรค เขาแปลว่า เสียดแทง นี่เวลาหิวขึ้นมาไม่ได้กินมันก็แสบท้องน่ะซี ใช่ไหม ความไม่สบายกายไม่สบายใจมันก็เกิด โรคประเภทนี้มันเป็นกับเรากี่วัน เป็นอาการของความทุกข์ที่เรามองไม่เห็น

ทีนี้ในเมื่อมันหิว แล้วเรากินเข้าไป ร่างกายเราเอาใจมันทุกอย่าง อาหารประเภทไหนราคาแพงเท่าไร ที่พวกอนามัยเขาบอกว่าดี เราก็พยายามกิน กินเข้าไปของแพงเท่าไรก็หนักใจมากเท่านั้น เพราะเราต้องจ่ายทรัพย์มาก เราต้องเหนื่อยมาก มีการสิ้นเปลืองมาก ของดีวิเศษแค่ไหนก็ตาม กินแล้วที่ไม่แก่ไม่มี กินแล้วไม่ป่วยไข้ไม่สบายก็ไม่มี กินเข้าไปแล้วไม่ตายก็ไม่มี เป็นอันว่าอาหารทุกอย่างที่เรากินเข้าไปเราได้มาจากความทุกข์

แล้วเวลาที่เราจะกินก็กินเพราะอำนาจของความทุกข์บังคับ เพราะอะไร เพราะความหิวบังคับ นี่เราจะกินอาหารประเภทไหนมันก็แก่ มันก็ป่วย มันก็ตาย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ถ้าเราจะกินอาหาร ก็กินคิดว่าเป็นแต่เพียงยังอัตภาพให้เป็นไป อย่ากินเพื่ออย่างอื่น ถ้าเราคิดว่าเรากินเพื่ออย่างอื่นเราก็โง่เต็มที เราจะกินของดีประเภทใดก็ตาม ให้เราเป็นคนหมดทุกข์น่ะมันไม่ได้ ขณะที่ความหิวเกิดขึ้นเราอาจจะไม่มองถึงความทุกข์เรื่องอื่น มองทุกข์จุดเดียว คือ ความหิว คิดว่ากินเข้าไปแล้วถ้าอิ่มมันก็หมดทุกข์ แต่พออิ่มดีประสาทมันเริ่มดีขึ้น มันก็เลยนึกต่อไปว่าเวลานี้ได้กินแล้ว เวลาหน้าจะกินอะไร และงานประเภทไหนที่มันยังคั่งค้างอยู่ ความปรารถนาที่เราต้องการมีอะไรบ้าง ที่เรายังไม่ได้สมหวัง นี่อารมณ์แบบนี้มันเป็นอารมณ์บอกถึงความทุกข์ ไม่ใช่อารมณ์หยุด มันเป็นอารมณ์ทำงานทุกอย่างที่เราทำ ขณะที่เราทำมันเป็นทุกข์

อ่านต่อตอนที่ ๑.๒

Copyright © 2001 by
Amine
22 ส.ค. 2544 23:04:48