ความเป็นมาของพระพุทธเจ้า

ตอน..ทรงเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕

หลังจากที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ในตอนหนึ่งองค์สมเด็จพระประทีปแก้วได้ทรงพิจารณาว่า ธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้งคัมภีรภาพมาก ยากที่บุคคลอื่นใดจะบรรลุตามได้

เหตุฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงได้ทรงท้อพระทัย ว่า ธรรมนี้ยากมากเกินไปที่บุคคลทั้งหลายจะบรรลุตาม ต่อมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า คนที่เกิดมาในโลกนี้แบ่งเป็น ๔ เหล่าด้วยกัน คือ

๑. อุคฆติตัญญู
๒. วิปจิตัญญู
๓. เนยยะ
๔. ปทปรมะ

คำว่า อุคฆติตัญญู หมายถึงว่า คนที่มีบารมีมาก บารมีเต็ม มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างนี้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าสอนแต่เพียงหัวข้อก็เข้าใจ บรรลุมรรคผล

ต่อไปองค์สมเด็จพระทศพลก็ทราบอีกว่า คนที่มีปัญญาทรามกว่านั้นมีอยู่ แต่ถ้าองค์สมเด็จพระบรมครูเทศน์หัวข้อแล้วอธิบายให้เข้าใจก็บรรลุมรรคผล ที่เรียกว่า วิปจิตัญญู

พวกที่ ๓ ที่มีนามว่า เนยยะ พวกนี้สามารถเข้าถึงไตรสรณาคมน์ได้ และอาจจะเข้าถึงมรรคผลตอนท้าย คือ พระโสดาบันกับสกิทาคามี ก็พอได้มีอยู่

ข้อที่ ๔ องค์สมเด็จพระบรมครูทรงทราบว่าคนพวก ปทปรมะ ซึ่งแปลว่า มีบทบาทอย่างยิ่ง คนประเภทนี้จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม พระพุทธเจ้าสอนไม่ได้ เพราะมีกรรมที่เป็นอกุศลมากเกินไป ยากที่องค์สมเด็จพระจอมไตรจะทรงช่วยเหลือได้

ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรอาศัยทศพลญาณ คือ ญาณ ๑๐ ประการของพระพุทธเจ้า ญาณ ๑๐ ประการนี้มีได้เฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น สาวกมีไม่ได้ เพราะบารมีไม่เสมอกัน องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ได้ทรงทราบอย่างนี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ตั้งใจจะเทศน์โปรด การเทศน์โปรดครั้งแรกของพระพุทธเจ้า การเทศน์ทุกครั้งจะต้องหวังผล

คำว่า ผล ในที่นี้หมายถึงว่า การบรรลุมรรคผล อย่างน้อยจะต้องได้พระโสดาบันขึ้นไป ถ้าเทศน์ในกาลใดมีผลไม่ถึงพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าไม่ทรงเทศน์ตลอดชีวิต

เป็นอันว่าในกาลนั้น องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรจึงได้เลือกคนที่แสดงธรรมเทศนาเป็นปฐม เป็นครั้งแรก การสอนครั้งแรกมีความสำคัญ เพราะคนยังไม่ชิน เพราะไม่รู้ลีลามาก่อน

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระชินวรจึงได้ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสองท่าน คือ อาฬารดาบสและ อุทกดาบส เพราะสองท่านนี้ได้สมาบัติ ๘ และถ้าสามารถจะรับพระธรรมเทศนาได้ก็จะบรรลุมรรคผลได้โดยฉับพลัน และก็เป็นปฏิสัมภิทาญาณ องค์สมเด็จพระพิชิตมารใช้อำนาจพระพุทธญาณ ว่าเวลานี้อาจารย์ทั้งสองอยู่ที่ไหน องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงทราบว่าอาจารย์ทั้งสองเวลานี้มรณภาพเสียแล้ว หรือตายจากความเป็นคน อาศัยที่ท่านได้อรูปฌาน ตายแล้วจึงไปเกิดเป็นอรูปพรหม

อรูปฌานนี้ถ้าใครได้แล้วใจมันเป็นสุข โดยมากมักจะหลงกันว่าเป็นอรหันต์ได้เข้าถึงนิพพาน อาศัยที่ก่อนจะตายจิตติดอยู่ในอรูปฌาน ตายจึงได้เกิดเป็นอรูปพรหม เป็นพรหมที่ไม่มีรูป ขาดอายาตนะ พระพุทธเจ้าไม่สามารถจะสอนได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงได้ทรงปรารภว่า

"โอหนอ..อาจารย์ทั้งสองของเรานี้ เป็นผู้ฉิบหายจากความดีเสียแล้ว"

คำว่า ฉิบหาย นี่เป็นปกติของบาลีไม่ใช่คำหยาบ หมายความว่าเป็นผู้ที่ไม่มีโอกาสได้รับธรรมและความดีต่อไป

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงได้ทรงดำริต่อไปว่า มีใครบ้างไหมหนอที่พอจะรับพระธรรมเทศนาและได้บรรลุมรรคผล สมเด็จพระทศพลก็มองเห็น ปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕ คือ ท่านโกณทัญญะ ท่านวัปปะ ท่านภัททิยะ ท่านมหานาม ท่านอัสสชิ ทั้ง ๕ ท่านนี้ปฏิบัติองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดามา นับตั้งแต่วาระแรกที่ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์

พระองค์จึงได้ทรงพิจารณาว่า เวลานี้ปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕ อยู่ที่ไหน.. องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงทราบว่า เธอพวกนี้หลีกเราไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี สำหรับองค์สมเด็จพระมหามุนี้นี่อยู่ที่พุทธคยา ปัจจุบันที่โคนต้นโพธิ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงดำริว่า เราจะไปเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕ มีโกณทัญญะ เป็นต้น

แต่ว่าในสมัยนั้น บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ท่านกล่าวว่า วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเดินไป และก็ไปถึงในวันเดียวกันที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ถ้าเวลานี้ถ้าเราจะเดินกันเองก็น่ากลัวจะหลายวัน ถ้าไปรถก็หลายชั่วโมง จากต้นมหาโพธิ์ไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เราต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ จึงจะถึง แต่ว่าวันนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปวันเดียว และก็ไม่เต็มวัน

แต่ว่าขณะที่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาเดินไปก่อนที่จะถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในระหว่างทางก็พบปริพาชกท่านหนึ่ง มีนามว่า อุปกาชีวก ท่านผู้นี้เดินสวนทางกับองค์สมเด็จพระชินสีห์ เห็นสมเด็จพระมหามุนีมีฉวีวรรณผุดผ่องงดงามมาก ลีลาน่ารัก มีความสงบเสงี่ยม เกิดความเลื่อมใส จึงสงสัยว่า ท่านผู้นี้ศึกษาธรรมมาจากใคร เป็นนักบวชสำนักไหน และ นักบวชประเภทโกนหัวแต่งตัวห่มผ้าย้อมฝาด ก็เพิ่งมีครั้งแรกในโลก เธอจึงได้ถามว่า

"โภ ปุริสะ ดูก่อน บุรุษผู้เจริญ เธอเป็นสาวกของใคร ชอบใจธรรมของใคร ศึกษามาจากไหน จึงได้มีลีลาน่ารัก มีผิวพรรณผุดผ่อง น่าเลื่อมใส น่าไหว้ น่าบูชา"

องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้ตรัสว่า

"โภ ปุริสะ ดูก่อน บุรุษผู้เจริญ เราเป็นสยมภู เป็นผู้ตรัสรู้เอง"

พอพูดเท่านี้ ปรากฎว่าท่านอุปกาชีวกท่านก็ไม่เชื่อ เพราะคิดว่าไอ้คนที่ไหนมันไม่มีครู แล้วมันจะรู้ได้อย่างไร ในที่สุดท่านสั่นหัวแล้วก็หลีกทางไป

ต่อมาองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงเสด็จไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี วันนั้นเป็นวันกลางเดือน ๘ พอดี ในครั้งนั้นปรากฎว่า ปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕ ที่ได้หลีกหนีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าในตอนก่อนที่อยู่กับพระพุทธเจ้าก็หวังจะบรรลุมรรคผล ต่อมาเห็นองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาเสวยพระกระยาหาร เลิกการทรมานกาย ก็คิดว่าการบรรลุใด ๆ คงไม่มี จึงได้หลีกไปจากองค์สมเด็จพระชินสีห์ หนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาจึงคิดว่า พระพุทธองค์มานี่ คงจะอยู่คนเดียวไม่ไหว จะหาพวกเรานี้ไว้เป็นที่พึ่ง จึงได้นัดหมายกันว่า

"เวลานี้สิทธัตถะราชกุมารเสด็จมา บางทีจะทนอยู่คนเดียวไม่ไหว ฉะนั้นพวกเราจงอย่าแสดงความเคารพ ในเมื่อเธอมาถึงอย่ารักบาตร อย่ารับสังฆาฏิ อย่ารับไม้เท้า อย่าล้างเท้าให้ อย่าปูอาสนะให้"

แต่ว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ เมื่อองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปถึง พวกท่านทั้ง ๕ ก็ลืมความนัดหมาย กลับรับบาตร รับสังฆาฏิ รับไม้เท้า ถอดรองเท้า ล้างเท้า ปูอาสนะให้แก่องค์สมเด็จพระบรมสุคต แต่ทว่าใช้วาจาไม่เคารพ ออกพระนามของพระองค์ว่า "พระสมณโคดม" เรียกเฉย ๆ เป็นการแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงบอกตามความเป็นจริงว่า

"เธอทั้งหลาย เวลานี้เราได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว"

ท่านทั้ง ๕ ได้ฟังองค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ไม่เชื่อ ต่างคนต่างส่ายหน้าแล้วว่า

"เวลาท่านทรมานร่างกายมาตั้ง ๖ ปี ไม่ได้บรรลุความดี แต่มาตอนหลังท่านนี้เป็นคนมักมากในอาหาร จะบรรลุได้อย่างไร?"

องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงตรัสย้ำว่า

"ท่านทั้งหลาย ในสมัยเมื่อท่านอยู่กับเราสิ้นเวลา ๖ ปี เคยได้ยินคำนี้บ้างไหม คำว่า บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ เราเคยพูดบ้างหรือเปล่า"

ท่านทั้ง ๕ ได้ฟังองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสย้ำ ก็นึกขึ้นมาได้ว่าเป็นความจริง อยู่ด้วยกันมา ๖ ปี องค์สมเด็จพระมหามุนีไม่เคยตรัสเรื่องนี้ จึงคิดว่าคงจะสำเร็จแล้ว จึงได้แสดงความเคารพในองค์สมเด็จพระประทีปแก้วเป็นอย่างดี เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาเห็นว่าท่านทั้ง ๕ พร้อมที่จะรับพระธรรมเทศนาแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้ประทับในอาสนะที่เขาปูให้ หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ตรัสว่า

"บรรดาท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติของพวกเราที่ทำมาก่อน ตามแบบฉบับของพราหมณ์เป็นการทรงทุกขกิริยามากอย่างนี้ ไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผล เพราะว่าทางนี้เราทำมาแล้วสิ้นเวลา ๖ ปีน่ะ ไม่ได้อะไรเลย การบรรลุมรรคผลคราวนี้เราได้จากทางใจ ต้องบำรุงร่างกายให้สมบูรณ์มีกำลังดี จึงจะสามารถทรงขั้นฌานโลกีย์ไว้ได้ ต่อจากนั้นจึงใชัปัญญาซึ่งเกิดจากกำลังของฌานตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน อย่างนี้จึงจะชื่อว่า บรรลุมรรคผล"

แล้วองค์สมเด็จพระทศพลก็ตรัสใจความ มีความสำคัญในด้านการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลว่า

โภ ปุริสะ ดูก่อน บุรุษผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายถ้าปรารถนาความดี การที่จะบรรลุมรรคผลในพระพุทธศาสนานี้จะต้องปฏิบัติตามแบบนี้จึงจะมีผล คือว่า ต้องละส่วนสุด ๒ อย่าง คือ

๑. อัตตกิลมถานุโยค เวลาที่ปฏิบัติอย่าให้ร่างกายมันเครียดเกินไป ถ้าเครียดถึงขั้นทรมานกาย อย่างนี้ไม่บรรลุมรรคผล

๒. กามสุขัลลิกานุโยค คำว่า กาม แปลว่า ความใคร่ หมายความว่า ขณะที่เจริญสมาธิก็ดี เจริญวิปัสสนาญาณก็ดี ในตอนนี้วางอารมณ์การอยากได้อย่างโน้น อยากได้อย่างนี้เสีย ใช้อารมณ์ตัดเป็นสำคัญ ใช้ใจสบาย ๆ

แล้วองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ตรัสว่า

ผลที่การบรรลุจริง ๆ ก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา การทรงอารมณ์ต้องทรงแบบสบาย ๆ ไม่เครียดเกินไป ไม่ย่อหย่อนเกินไป

ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสอย่างนี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้ตรัสในใจความของ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

สำหรับใจความจริง ๆ ในธัมมจักรกัปปวัตนสูตร ความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระจอมไตรก็หมายเอาอริยสัจ คือว่า อริยสัจนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสก็หมายถึง เป็นเรื่องของความจริง ๆ พอพูดกันถึงอริยสัจนี่บางท่านอยากจะง่วงนอน อยากจะหลับ

คำว่า อริยะ นี่เขาแปลว่า บริสุทธิ์ผุดผ่อง อริยสัจ หมายถึงเราทรงความจริงที่เราเข้าถึงความบริสุทธิ์ทางใจ เรื่องกายแต่ละคนหาความบริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะกายมันสกปรก ความบริสุทธิ์จริง ๆ มันต้องเป็นความบริสุทธิ์ทางใจ ความบริสุทธิ์ทางใจที่องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสในวันนั้นว่าโดยย่อท่านบอกว่า

"จงละตัณหา ๓ ประการ"

คำว่า ตัณหา นี่ก็ไม่ใช่เรื่องหยาบ ถ้าไปด่ากันว่าเจ้านี่มันมากด้วยตัณหา มักจะโกรธ แต่ความจริงเป็นของธรรมดา ตัณหา แปลว่า ความอยาก คือ

เราอยากได้สิ่งยังไม่มีให้เกิดขึ้น เขาก็เรียกว่า ตัณหา

สิ่งใดมีอยู่แล้วอยากให้ทรงตัว เขาก็เรียกว่า ตัณหา

สิ่งใดที่มันมีอยู่แล้วมันเก่าไปมันแก่ไป เขาไม่อยากให้มันพัง เราไม่อยากให้มันพัง อย่างนี้เขาก็เรียกว่า ตัณหา

สิ่งที่มีอยู่แล้ว อยากให้มีขึ้น เรียกว่า กามตัณหา กาม เขาแปลว่า ความใคร่ ตัณหา แปลว่า อยาก ใคร่อยากจะได้

สิ่งที่มีอยู่แล้วอยากให้ทรงตัวอย่างนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างนั้นเรียกว่า ภวตัณหา

สิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไปมันจะต้องแตก มันจะต้องตาย มันจะต้องพัง เราไปนั่งภาวนาบนบานสานกล่าวขออย่าให้แตก ให้ตาย ให้พังเลย ทรงอยู่อย่างนี้ อย่างนี้ท่านเรียกว่า วิภวตัณหา

ถ้าใครเขาว่าเราว่าเป็นคนมีตัณหา เราก็อย่าไปโกรธเขา เรามีจริง ๆ แต่ว่าคนที่ว่าเรา เขามีมากกว่าเรานิดหนึ่ง มีมากจนถึงขั้นเอามาแจกเราด้วย ของเรามีเก็บคนเดียว มันไม่ล้นกระเป๋านะ ไอ้คนที่ว่าเราน่ะมันล้น เอามาแจกเราอีกหน่อย แสดงว่าเขามากกว่าเรานิดหนึ่งนะ เราก็ดีใจนะ เราได้รับแจก

เป็นอันว่า ตัณหาทั้ง ๓ ประการ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความจำเป็นของร่างกายมีอยู่เป็นของธรรมดา ถ้าเทศน์กับฆราวาส อย่างพระพุทธเจ้าเทศน์กับนางวิสาขาก็ดี หรือ อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดี ใครก็ดี องค์สมเด็จพระชินสีห์ไม่ได้สอนให้คนละการทำมาหากิน ทรงสนับสนุนให้การทำมาหากิน ดังที่กล่าวว่า อุฏฐากสัมปทา จงถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร หมายความว่า ทุกคนจงมีความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน

เมื่อกี้บอกว่าสิ่งที่ยังไม่ได้มา ถ้าเราอยากได้จัดว่าเป็นกามตัณหา ถ้าฟังกันตรงนี้ฟังกันเผิน ๆ ก็จะเห็นว่า พระพุทธเจ้ายุให้ชาวบ้านมีตัณหา แต่เนื้อแท้จริง ๆ น่ะมันไม่ใช่ การแสวงหาทรัพย์สินมาได้โดยชอบธรรม เขาเรียกว่า สัมมาอาชีวะ ไม่เรียกตัณหา จำให้ดีนะ เกิดไม่ทำนาทำไร่ ไม่หากิน พระอดตายหมด ไม่ดีนะ

แต่ความจริงต้องเข้าใจว่า คำว่าอยากได้ที่เป็นตัณหา มันอยากได้เกินพอดี กำลังเรามีเท่านี้อยากได้เท่าโน้น กำลังมีเท่าโน้นอยากได้เท่านั้น ตะเกียกตะกายเกินพอดี จึงเรียกว่า ตัณหา ถ้ามีทุนพอ พอที่จะลงทุนทำการค้าขาย ทำไร่ทำนา ลงทุนทำทุกอย่างที่มันไม่เดือดร้อน ไม่คดไม่โกงเขา อย่างนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะแยกเสียด้วยนะ

คำว่า ตัณหา นี้ต้องอยากได้เกินพอดี หรือว่าอยากจะโกงเขา อยากจะลัก อยากจะขโมยเขา ยื้อแย่งทรัพย์สินเขา อย่างนี้เป็นตัณหา ถ้าหากินด้วยความชอบธรรม มีน้อยได้กำไรมาก เป็นคนจนหากินจนรวยเท่าไรก็ตาม ไม่เรียกว่าตัณหา เป็นสัมมาอาชีวะ

ทีนี้สำหรับ กามตัณหา ก็อยากได้สิ่งที่ไม่มีเกินพอดี อยากได้เข้ามา อีตอนที่อยากได้ถ้ามันไม่ได้สมหวังเราก็เดือดร้อน ขณะที่อยากจะได้ใจมันก็ไม่สบาย อารมณ์ก็ไม่เป็นสุข ถ้าได้มาแล้วมันก็ไม่เป็นสุข ถ้าไม่ได้เดือดร้อนใหญ่ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ดีไม่ดีตายเฉย ๆ หรือ ทุพพลภาพ

ทีนี้สำหรับ ภวตัณหา ก็เดือดร้อนเหมือนกัน ของทุกสิ่งทุกอย่างในโลก คำว่า โลก นี่ในวิสุทธิมรรคท่านแปลว่า มีอันจะต้องฉิบหายไป เป็นอันว่าของในโลกทั้งหมดไม่มีการทรงตัว คนก็ดี สัตว์ก็ดี คนหรือสัตว์เกิดขึ้นมาแล้ว เจริญขึ้นหาความเป็นหนุ่มเป็นสาว ต่อไปก็เป็นคนแก่ ต่อไปก็เป็นคนตาย สำหรับวัตถุเป็นของเกิดขึ้นมาใหม่ มีใหม่เป็นของใหม่ วันเวลาล่วงไป ๆ มันก็เก่าไปทุกที ๆ ในที่สุดมันก็ผุ มันก็พัง

อย่างปราสาทที่สร้างด้วยศิลาแลงมันก็พัง ปราสาทที่สร้างด้วยหินมันก็พัง เป็นอันว่าของในโลกทั้งหมด จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม มันไม่มีการทรงตัวขึ้นใหม่ วันเวลาล่วงไป ล่วงไปทุกวัน ๆ ผลที่สุดก็พัง ก็ผุ คนเกิดขึ้นมาเป็นเด็ก เจริญขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เรียก่วาร่างกายดีหน่อย พอไม่ช้านานเท่าไร ความร่วงโรยก็เข้ามาถึง มันก็ไม่มีการทรงตัว แล้วก็ตาย

เป็นอันว่า สำหรับ ภวตัณหา มีความรู้สึกว่าของสิ่งใดที่เรามีอยู่แล้วเราชอบใจอย่างคนที่เป็นหนุ่มเป็นสาว เมื่อถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นเด็กอยากจะหนุ่มจะสาว พอถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็นั่งภาวนานอนภาวนา เดินภาวนา ยืนภาวนา ขอฉันจงอย่าแก่เลย จงอย่าตายเลย นี่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราคิดว่าเราจะไม่แก่ ถ้าความแก่เข้ามาถึงมันก็เดือดร้อน ของที่เราซื้อมาใหม่หามาใหม่ได้ เราชอบใจ เรานึกว่าจงอยู่อย่างนี้ จงอย่าเก่า อย่างนี้เป็นอาการของภวตัณหา

ทีนี้เราจะคิดจะนึกจะทำอย่างไรก็ตาม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเว้นไม่ได้ มันต้องเก่าไปตามวันเวลา ถ้าความปรารถนาไม่สมหวังเกิดขึ้นมา เราก็มีความเดือดร้อน เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ ก็สิ่งที่เราตั้งใจไว้มันไม่สมหวัง นี่ตัณหามันเดือดร้อนอย่างนี้

สำหรับ วิภวตัณหา นี่ ของมันจะพัง คนมันจะตาย เราก็นั่งบนบานสานกล่าวไอ้สิ่งทั้งหลายนี้ วัตถุเรามีอยู่ชิ้นเดียว ถ้ามันพังเราไม่มีอะไรจะใช้ ก็หาทางทุกอย่างป้องกันไม่ให้มันพัง ผลที่สุดมันก็พังจนได้เราก็เดือดร้อน เป็นการฝืนอารมณ์ สำหรับคนหรือสัตว์ที่มีชีวิตอยู่เราไม่อยากให้ตาย วาระความตายเข้ามาถึง ขืนไปฝืนแบบนั้นเราก็เดือดร้อน

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า ขอทุกท่านจงวางตัณหาเสีย เอาจิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา อริยสัจนี่ไม่มีอะไรมาก อริยสัจนี่ถ้าจิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ก็เป็นอริยสัจ คือ อย่าง พระอรหันต์นี่เรียนไม่มาก ท่านเรียนอยู่ข้อเดียวคือ สักกายทิฏฐิ ตั้งแต่ โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นมาถึงอรหันต์ เรียนข้อเดียว เรียนในด้านสักกายทิฏฐิ มองเห็นกฎธรรมดาของร่างกายของเราเองว่า

ร่างกายของเรานี่มีสภาพเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีคาวมเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ เป็นเด็กเปลี่ยนมาเป็นความเป็นหนุ่มเป็นสาว จากความเป็นหนุ่มเป็นสาวเปลี่ยนไปหาความเป็นคนวัยกลางคน จากวัยกลางคนเปลี่ยนมาเป็นวัยแก่ จากวัยแก่เปลี่ยนมาเป็นวัยตาย

เป็นอันว่าเปลี่ยนแปลงไปตามขณะไม่ทรงตัว ในเมื่อร่างกายมันไม่ทรงตัว ทีนี้มานั่งมองอีกทีว่าร่างกายของเรามันตายแล้วเราตายหรือเปล่า

ถ้มีคำว่า "ถ้าเราตายด้วย" คำว่าตกนรกมันก็ไม่มี คำว่าไปสวรรค์มันก็ไม่มี มันก็ต้องมีสภาพสลาย เพราะว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรกล่าวว่า คำว่าสลายตัวมี คือว่า มันตายแต่ร่างกาย แต่เราคือจิต มันไม่ตาย ตอนนี้ต้องคิดกันมากหน่อย รวมความว่า พระอรหันต์ก็ศึกษาเท่านั้น พระโสดาบันก็ศึกษาเท่านั้น ให้จิตละเอียดลงไป

รวมความว่า จิตของเราจะสบายได้ ให้มีการยอมรับนับถือรู้สึกไว้เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็เสื่อมลงไปทุกวัน ในที่สุดมันก็พัง ร่างกายของเรามีสภาพ เวลานี้พอมีแรง ไม่ช้าแรงมันก็จะหมดไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดมันก็พัง

แต่เราตัดสินใจไว้อีกทีว่า ไอ้การเกิดเหล่านี้มันมาจากไหน การเกิดอย่างนี้จะพึงมีมาได้เพราะอาศัยตัณหาเป็นเหตุ ความตะเกียกตะกายตัณหาตัวไหน ไอ้ตัณหาตัวนอกไม่เป็นไร สำคัญตัณหาตัวใน คือ เกิดมาแล้วลำบากแสนลำบาก ก็อยากจะเกิดต่อไป ความอยากแปลว่าตัณหา ไม่ใช่ทางละ อย่างนี้พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าละเสียมันมีสุข จึงได้ทรงแนะนำ ปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕ ว่า

"เธอทั้งหลาย จงพยายามละตัณหาทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ด้วยอำนาจของอริยสัจ คือ รู้ตามความเป็นจริง จงพิจารณาว่าร่างกายของคนก็ดี ของสัตว์ก็ดี ที่มีอยู่นั่นไม่ใช่ร่างกายของเราจริง มันเป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และมีการสลายตัวไปในที่สุด ในเมื่อเธอทั้งหลายวางภาระนี้เสียได้ เธอก็จะพ้นจากความทุกข์ คือ เป็นพระอริยเจ้าเข้าพระนิพพาน"

เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงเทศน์จบ ปรากฎว่า ท่านโกณทัญญะเป็นพระโสดาบัน เป็นเหตุให้องค์สมเด็จพระพิชิตมารดีพระทัยมาก จึงได้เปล่งอุทานวาจาว่า

"อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญ"

คำว่า "อัญญาสิ" นี่แปลว่า รู้แล้ว ซึ่งแปลเป็นใจความว่า โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ พระองค์ดีใจมาก เพราะเทศน์กัณฑ์แรกมีคนบรรลุมรรคผล แม้แต่เบื้องต้น เป็นอันว่า คำว่า อัญญา ต่อหน้าคำว่า โกณทัญญะเฉย ๆ มีมาตั้งแต่วันนั้น

ท่านโกณทัญญะท่านฟังอะไร ฟังยังไงจึงได้พระโสดาบัน อันนี้ฟังยังไงไม่ต้องว่าไปถึง ว่าไปสามเดือนมันก็ยังไม่จบ มาว่ากันถึงอารมณ์ อารมณ์จิตเวลานั้นของท่านตั้งยังไง ที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงตัณหา ๓ ประการให้วางตัณหา ยอมรับนับถือกฎธรรมดา ซึ่งเรียกกันว่า อริยสัจ

อันดับต้น ท่านอัญญาโกณทัญญะ มีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรมจริง เวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ มีแต่พระพุทธเจ้ากับพระธรรม เข้าถึงไตรสรณาคมน์ ๒ ประการ แล้วหลังจากนั้น ท่านอัญญาโกณทัญญะไม่มีความสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เรื่อง