ประวัติพระมหากัสสปเถระ
ผู้เลิศทางด้านธุดงค์

ท่านพระมหากัสสปเถระ เป็นบุตรชายของ กปิลพราหมณ์ กัสสปโคตร ในบ้านชื่อว่า "มหาติฏฐะ" ในแว่นแคว้นมคธ เมื่อเกิดมาแล้วก็มีนามว่า "ปิปผลิ" เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้แต่งงานกับ นางภัททกาปิลานี ผู้มีอายุได้ ๑๖ ปี ซึ่งนางเป็นบุตรีของ โกสิยโคตรพราหมณ์ ณ สาคลนคร แว่นแคว้นมคธ

เนื้อความในเรื่องนี้มีว่า เมื่อปิปผลิมาณพ มีอายุ ๒๐ ปีแล้ว บิดามารดาต้องการให้มีครอบครัว แต่บุตรชายบอกว่า อยากจะปฏิบัติบิดามารดาไปจนตลอดชีวิต เมื่อบิดามารดาล่วงลับไปแล้วก็จะออกบรรพชา ต่อมาบิดามารดาก็อ้อนวอนอีก ปิปผลิมาณพก็ปฏิเสธอย่างนั้นอีก

แล้วจึงได้ออกอุบายให้ช่างทองหล่อทองคำเป็นรูปหญิงสาวคนหนึ่ง ให้นุ่งผ้าสีแดง แต่งตัวด้วยดอกไม้สีต่าง ๆ และเครื่องประดับนานาประการ แล้วบอกกับมารดาว่า ถ้าหาผู้หญิงได้เหมือนกับรูปหล่อทองคำนี้ก็ยินดีจะแต่งงานด้วย

มารดาเป็นผู้มีปัญญาได้คิดว่า บุตรของเราเป็นผู้สร้างสมบุญบารมีมาดีแล้ว เมื่อกระทำบุญคงไม่ได้กระทำแต่ผู้เดียว หญิงที่ทำบุญร่วมกับบุตรของเรา ซึ่งมีรูปร่างอย่างรูปทองคำนี้จักมีเป็นแน่ จึงได้เชิญพราหมณ์ ๘ คน ให้นำรูปทองคำขึ้นบนรถ พร้อมกับมอบสิ่งของมีเงินและทองเป็นต้น เพื่อไปเที่ยวแสวงหาหญิงที่มีลักษณะงดงามพร้อมทั้งมีฐานะเสมอกันด้วยสกุลของตน

พราหมณ์ทั้ง ๘ คนนั้นรับสิ่งของทองหมั้น แล้วเที่ยวไปได้บรรลุถึงสาคลนคร ก็ได้ตั้งรูปทองคำไว้ที่ท่าน้ำแล้วพากันไปนั่งอยู่ในที่แห่งหนึ่ง คราวนั้นพวกพี่เลี้ยงของนางภัททกาปิลานีได้พากันไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ครั้นได้เห็นรูปทองคำนั้นก็เข้าใจว่าเป็นนางภัททกาปิลานี

พวกพราหมณ์เห็นเช่นนั้น จึงได้ออกมาไต่ถามว่าลูกสาวเจ้านายของเธอเหมือนรูปนี้หรือ พี่เลี้ยงจึงตอบว่า พระแม่เจ้าของเราสวยกว่านี้ เพราะสว่างไปด้วยรัศมี พราหมณ์ได้ยินดังนั้น จึงให้นางนำไปที่บ้านของ โกสิยโคตรพราหมณ์พร้อมทั้งแจ้งความประสงค์ของตน

เมื่อเจรจาเป็นที่ตกลงกันแล้ว จึงได้ส่งข่าวไปถึงกปิลพราหมณ์ ส่วนปิปผลิมาณพเมื่อได้ทราบดังนั้น ด้วยความที่ตนไม่อยากจะแต่งงานด้วย จึงได้เขียนจดหมายบอกความประสงค์ของตนให้แก่นางภัททปิลานีทราบว่า

"นางผู้เจริญ จงหาคู่ครองที่มีสกุล มีฐานะทัดเทียมกับนางเถิด เราจะออกบวช เธออย่าเสียใจต่อภายหลัง"

ฝ่ายนางภัททกาได้ทราบว่า บิดามารดาจะยกตนให้แก่ปิปผลิมาณพ จึงเขียนจดหมายไปบอกความประสงค์ของตนเช่นเดียวกัน ต่อมาคนถือจดหมายทั้งสองคนมาพบกันในระหว่างทาง ต่างไต่ถามความประสงค์ของกันและกันแล้ว จึงฉีกจดหมายออกอ่านแล้วทิ้งจดหมายทั้ง ๒ ฉบับนั้นเสียในป่า และเขียนจดหมายขึ้นมาใหม่ โดยมีเนื้อความแสดงความพอใจซึ่งกันและกัน แล้วนำไปส่งให้แก่คนทั้งสอง

ครั้นถึงกำหนดพิธีการแต่งงานผ่านไปแล้ว ด้วยความไม่เต็มใจของทั้งสองฝ่าย แต่เป็นด้วยบุพเพสันนิวาส คือ เคยเป็นคู่ครองกันมาในกาลก่อน บุคคลทั้งสองจำต้องมาอยู่ร่วมกัน ในตอนนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยสันนิษฐานไว้ว่า

ท่านทั้งสองนี้คงจะได้คุณธรรม คือ เป็น"พระสกิทาคามี"มาแต่ชาติก่อน ในชาตินี้จึงไม่นิยมเรื่องการครองเรือน มีจิตหวังที่จะออกบวชเท่านั้น ด้วยเหตุนี้คนทั้งสองสักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น มิได้ล่วงเกินซึ่งกันและกันเลย ยังคงรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้ตลอด ด้วยอำนาจบุญบารมีที่บำเพ็ญมาดีแล้ว

นั่นก็คือการวาง พวงดอกไม้ กั้นไว้ระหว่างกันในขณะที่นอนบนเตียงนั้น นางภัททกากล่าวว่า ดอกไม้ข้างตัวของใครเหี่ยว เราจะรู้กันได้ว่า ผู้นั้นเกิดราคะจิตแล้วจึงไม่ควรจับต้องพวงดอกไม้นี้ คนทั้งสองจึงนอนไม่หลับตลอดคืนเพราะกลัวถูกต้องตัวกัน ถึงเวลากลางวันก็ไม่ได้มีการยิ้มแย้มต่อกันเลย

คนทั้งสองจึงอยู่แบบไม่ได้เกี่ยวข้องกัน จนกระทั่งบิดามารดาสิ้นอายุแล้ว จึงมีความเห็นว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาป เพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี มีใจเบื่อหน่ายพร้อมใจกันจะออกบวช จึงไปแสวงหาผ้ากาสายะและบาตรดินจากร้านตลาด ได้ปลงผมซึ่งกันและกันแล้วนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดนั้น ถือเพศบรรชิตตั้งใจบวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลก

แล้วได้สะพายบาตรเดินลงจากปราสาทหลีกไป ปิปผลิเดินหน้านางภัททกาปิลานีเดินตามหลัง พอไปถึงทางสองแพร่งจึงแยกออกจากกัน เพราะเกรงผู้อื่นจะคิดว่าทั้งสองคนนี้บวชแล้วก็ยังไม่อาจพรากจากกันได้ ก่อนจะแยกจากกัน นางภัททกาได้ทำปทักษิณถึง ๓ รอบ กราบสามีลงในที่ทั้ง ๔ คือ กราบลงข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย และข้างขวา แล้วประนมมือขึ้นกล่าวว่า

"ความรักใคร่สนิทสนมกัน ซึ่งได้มีแก่เราทั้งสองตลอดกาลนานประมาณแสนกัปมาแล้ว จะแตกกันในวันนี้ ท่านสมควรไปทางเบื้องขวา ส่วนข้าพเจ้าสมควรไปทางเบื้องซ้าย"

กล่าวดังนี้แล้วก็ออกเดินทาง ระหว่างแยกทางกันนั้น แผ่นดินอันใหญ่ก็ได้หวั่นไหว ประหนึ่งว่าไม่อาจรับความดีของท่านทั้งสองไว้ได้ ส่วนในอากาศก็มีสายฟ้าแลบฉวัดเฉวียนด้วยอำนาจบารมีธรรมของคนทั้งสองนั้นบันดาลให้เป็นไป


พระพุทธองค์เสด็จไปต้อนรับ
ฝ่ายองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับอยู่ในพระคันธกุฎีที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ได้ทรงสดับเสียงแผ่นดินไหวก็ทรงพิจารณาดูว่า แผ่นดินไหวเพื่อใคร ก็ทรงทราบว่าปิปผลิมาณพกับนางภัททกาปิลานี ได้สละทรัพย์สมบัติอันหาประมาณมิได้ ออกบรรพชาโดยตั้งใจเฉพาะต่อเรา

แผ่นดินไหวนี้มีขึ้น ด้วยกำลังแห่งคุณธรรมของบุคคลทั้งสอง ในขณะที่จะแยกจากกันถึงแม้ว่าเราก็ควรจะสงเคราะห์บุคคลทั้งสองนั้น แล้วจึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทรงถือเอาบาตร จีวร ด้วยพระองค์เอง โดยไม่บอกแก่พระสาวกทั้งหลายให้ทราบ

ครั้นเสด็จถึงใต้ร่มไทรต้นหนึ่ง ในระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทาต่อกัน พระพุทธองค์ทรงประทับนั่ง แล้วทรงเปล่งพระรัศมีไปตลอดวิ่งฉวัดเฉวียนไปทางโน้นทางนี้ ป่านั้นจึงมีแสงสว่างเหมือนกับมีดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ขึ้นตั้งพันดวงฉะนั้น

ต้นไทรในวันนั้นจึงมีสีดังทองคำ ปิปผลิมาณพได้คิดว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระศาสดาของเรา เราได้บรรพชาเฉพาะท่านผู้นี้ พอได้แลเห็นก็โน้มตัวลง เดินเข้าไปเฝ้ากราบลงในที่ทั้ง ๓ แล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ส่วนข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์"

กล่าวดังนี้ถึง ๓ หน องค์สมเด็จพระทศพลจึงตรัสว่า

"กัสสป...ถ้าเธอกระทำความเคารพอันนี้แก่แผ่นดินอันใหญ่นี้ ถึงแม้ว่าแผ่นดินอันใหญ่นี้ก็ไม่อาจทรงอยู่ได้ เพราะเธอมีคุณความดีมากเหมือนกับพระตถาคต แต่ความเคารพที่เธอกระทำแล้ว ไม่อาจให้เส้นโลมาของเราไหวได้ จงนั่งเถิดกัสสป...เราจะให้ความเป็นทายาทแก่เธอ.."


พระโอวาท ๓ ประการ
ครั้งนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ประทานอุปสมบทแก่ปิปผลิมาณพด้วยการประทานพระโอวาท ๓ ประการคือ ....

๑. กัสสป..ท่านพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงไว้ในภิกษุผู้เป็นผู้เฒ่าและปานกลางอย่างแรงกล้า ฯ

๒. เราจะฟังธรรมอันใดอันหนึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความดังนี้ ฯ

๓. เราจะไม่ละสติที่ไปในกาย คือ พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ ฯ

เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จออกจากโคนต้นไทร มีพระมหากัสสปเป็นผู้ตามเสด็จ พระสรีรกายของพระพุทธเจ้างามด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ส่วนร่างกายของพระมหากัสสปงามด้วยลักษณะมหาบุรุษเพียง ๗ ประการเท่านั้น

พระมหากัสสปนั้นได้เดินตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์ไป เปรียบเหมือนกับเรือน้อยพ่วงท้ายเรือใหญ่ ซึ่งสำเร็จแล้วด้วยทองคำฉะนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์เสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง จึงทรงแวะออกจากทางทรงแสดงอาการจะประทับนั่งที่ภายใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง

พระมหากัสสปทราบว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดามีพระประสงค์จะนั่ง จึงพับผ้าสังฆาฏิของตนให้เป็น ๔ ชั้นแล้วปูถวาย พระพุทธองค์ประทับนั่งบนผ้าสังฆาฏินั้นแล้วก็ทรงลูบผ้าสังฆาฏิด้วยพระหัตถ์ แล้วตรัสว่า

"ผ้าสังฆาฏิของเธออ่อนนุ่มดี"

พระมหากัสสปก็ทราบว่า พระศาสดาทรงตรัสเช่นนี้ จักมีพระประสงค์ที่จะทรงห่มเป็นแน่ จึงได้กราบทูลถวายผ้าผืนนั้นของตน ส่วนผ้าสบงของพระพุทธองค์ ก็จะขอมาทำเป็นผ้าสังฆาฏิ องค์สมเด็จพระบรมครูจึงตรัสว่า

"กัสสป..ผ้าบังสุกุลผืนนี้ ในวันที่เราถือเอามานั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เพราะเป็นผ้าที่เคยใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมาแล้ว ผู้ที่มีคุณธรรมเล็กน้อยไม่อาจใช้ได้ ส่วนผู้ที่มีชาติถือบังสุกุลซึ่งสามารถจะทำข้อปฏิบัติอันนี้ให้เต็มได้...จึงจะใช้ได้..."

ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิกับพระมหากัสสปเถระ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มผ้าของพระมหากัสสป ส่วนพระเถระก็ห่มผ้าของพระพุทธองค์ ในคราวนั้นแผ่นดินอันใหญ่ซึ่งไม่มีจิตวิญญาณ ก็ได้หวั่นไหวจนกระทั่งน้ำรองข้างล่าง ปานประหนึ่งจะกราบทูลว่า

การที่พระองค์ไม่เคยทรงประทานผ้าของพระองค์ให้แก่พระสาวกนี้ ชื่อว่าได้กระทำสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้าพระองค์ไม่อาจทรงคุณความดีของพระองค์ไว้ได้ฉะนั้น

ฝ่ายพระมหากัสสปก็ไม่ได้มีใจฟูขึ้นว่า บัดนี้เราได้ผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ แต่เราควรจะทำสิ่งใดให้ยิ่งขึ้นไป แล้วก็สมาทานธุดงค์คุณ ๑๓ในที่ใกล้พระพุทธองค์ ท่านได้อุปสมบทเพียง ๗ วันเท่านั้น พอถึงวันที่ ๘ ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ

ต่อมาองค์สมเด็จพระศาสดาจารย์จึงได้ทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ถือธุดงค์ และทรงสรรเสริญคุณธรรมของท่านอีกหลายประการ เช่น :-

๑. มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่าง

๒. กัสสปเข้าไปใกล้ตระกูล แล้วชักกายและใจห่าง ประพฤติเป็นคนใหม่ไม่คุ้นเคยเป็นนิจ ไม่คะนองกายวาจาใจในสกุลเป็นนิจ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลเหล่านั้น ตั้งอารมณ์จิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญก็จงได้บุญ ตนได้ลาภมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น

๓. กัสสปมีจิตประกอบไปด้วยเมตตากรุณาแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ดังนี้


สมัยสมเด็จพระปทุมุตระ
การที่พระมหากัสสป ได้ตำแหน่งเป็นผู้เลิศฝ่ายธุดงค์นี้ ท่านได้ตั้งความปรารถนามาตั้งแต่สมัย สมเด็จพระปุทุมุตระ ด้วยเหตุที่เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งพระสาวกองค์หนึ่งชื่อว่า พระมหานิสภะเป็นบุคคลตัวอย่าง

ท่านจึงได้อาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก ๖ ล้าน ๘ แสนองค์ มาฉันภัตตาหารที่บ้านของตน พร้อมตั้งความปรารถนาเป็นผู้เลิศฝ่ายธุดงค์บ้าง องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสพยากรณ์ว่า

"ต่อไปอีกแสนกัป จะมีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระโคดม" เกิดขึ้นในโลก เธอจะได้เป็นสาวกอันดับที่ ๓ ของพระโคดมนั้น เธอจะมีชื่อว่า "มหากัสสป"

อุบาสกได้ฟังพุทธพยากรณ์ดังนี้แล้ว ก็ดีใจเหมือนกับของที่ตนจะได้ในวันรุ่งขึ้น จึงได้ให้ทานรักษาศีลอยู่จนตลอดอายุขัย แล้วก็ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์ จนกระทั่ง สมเด็จพระวิปัสสีทศพล ทรงอุบัติขึ้นในโลก ท่านก็ได้ลงมาเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่ยากจน ในนครพันธุมดี

ต่อมาก็ได้ไปฟังธรรมจากพระศาสดา แล้วถวายผ้าห่อมของตนที่มีอยู่เพียงผืนเดียว จนพระราชาพระราชทานสิ่งของให้มากมาย ครั้นตายจากชาตินั้นแล้ว ก็ได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์ จุติจากสวรรค์ก็ได้ลงมาเกิดในเรือนกุฎุมพี เมืองพาราณสี ในระหว่างแห่งพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระโกนาคม และ พระพุทธกัสสป

เมื่อเติบโตขึ้นแล้วก็ได้ครองเรือน วันหนึ่งออกไปเที่ยวป่า ได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ขณะกำลังทำจีวรอยู่ริมแม่น้ำ เมื่อผ้าไม่พอก็ม้วนเพื่อจะเก็บไว้ กุฎุมพีนั้นไปพบเข้า จึงได้ถวายผ้าขาวของตนผืนหนึ่ง แล้วตั้งความปรารถนาว่า

"ความเสื่อมใด ๆ อย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า ในที่ข้าพเจ้าเกิดแล้วนั้น ๆ เถิด.."

ครั้งนั้น เมื่อภรรยาของกุฎุมพีกำลังทะเลาะกับน้องสาว พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เข้าไปบิณฑบาต น้องสาวของกุฎุมพีก็ได้ใส่บาตร แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ข้าพเจ้าไกลจากคนพาลเช่นนี้ ภรรยาของกุฎุมพีได้ยินเข้าก็คิดว่า อย่าให้พระองค์นี้ได้ฉันอาหารที่หญิงสาวคนนี้ถวายเลย แล้วก็ไปถือเอาบาตรมาเทข้าวทิ้งเสีย เอาโคลนใส่ลงไปแทน แล้วก็นำไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า

น้องสาวได้เห็นเข้าจึงกล่าวเตือน ภรรยาของกุฎุมพีก็นึกขึ้นมาได้ จึงเทโคลนทิ้งแล้วล้างบาตรให้ดี ขัดด้วยของหอมแล้วใส่อาหารที่มีรสอร่อย นำไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาว่า

"บิณฑบาตอันนี้ มีแสงสว่างฉันใด สรีรกายของข้าพเจ้า จงมีแสงสว่างฉันนั้น"

ต่อมาสองสามีภรรยาตายแล้ว ก็ได้ขึ้ไปเกิดในสวรรค์ จุติจากสวรรค์ก็ลงมาเกิดเป็นบุตรเศรษฐีในกรุงพาราณสี ในสมัยสมเด็จพระพุทธกัสสป ฝ่ายภรรยาก็มาเกิดเป็นธิดาเศรษฐีเหมือนกัน และได้เป็นสามีภรรยากัน แต่กายของนางมีกลิ่นเหม็นฟุ้ง ด้วยผลแห่งกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน แต่กลิ่นเหม็นนั้นได้ปรากฏขึ้นเฉพาะในเมื่อนางเข้าไปสู่ตระกูลสามีเท่านั้น นางจึงได้ถูกส่งกลับไปยังบ้านเรือนของตนถึง ๗ ครั้ง


อานิสงส์การสร้างพระเจดีย์
ครั้นสมเด็จพระพุทธกัสสปได้ปรินิพพานไป คนทั้งหลายได้พากันสร้างพระเจดีย์สูง ๑ โยชน์ ด้วยอิฐทองคำ ในขณะที่กำลังสร้างอยู่นั้น ธิดาเศรษฐีจึงคิดว่า เราถูกสามีส่งกลับถึง ๗ ครั้งแล้ว เราจะต้องการอะไรด้วยชีวิต จึงให้คนทำลายเครื่องประดับของตน แล้วให้ปั้นเป็นอิฐทองคำนำไปสู่ที่เขาสร้างพระเจดีย์

ในขณะนั้น อิฐขาดอยู่ก้อนหนึ่งพอดี นางจึงก่ออิฐของตนให้ติดกันเป็นอันเดียว แล้ววางดอกบัว ๘ กำไว้ในเบื้องบน กราบไหว้พระเจดีย์แล้วตั้งความปรารถนาว่า

"ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเกิดในที่ใด ๆ ขอให้กลิ่นกายของข้าพเจ้าหอมดังกลิ่นจันทน์ และขอให้กลิ่นปากของข้าพเจ้าหอมดังกลิ่นดอกบัว"

ต่อมาบุตรเศรษฐีก็ได้ให้คนใช้ไปตามนางกลับมา ปรากฏว่ามีกลิ่นจันทน์และกลิ่นดอกบัวหอมฟุ้งไปทั้งบ้าน ครั้นสอบถามว่าเธอได้ทำสิ่งใดไว้ ธิดาเศรษฐีก็เล่าสิ่งที่ตนกระทำไว้ บุตรเศรษฐีก็มีความเลื่อมใส จึงได้นำผ้ากัมพลไปบูชา พระสุวรรณเจดีย์ อันสูงได้ ๑ โยชน์นั้น แล้วก็ประดับพระเจดีย์ด้วยดอกปทุมทองอันใหญ่เท่ากงเกวียน

ครั้นธิดาเศรษฐีตายจากชาตินั้นแล้ว ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ จุติจากสวรรค์ก็ได้ลงมาเกิดเป็นราชธิดาในเมืองพาราณสี ส่วนบุตรเศรษฐีก็ได้จุติจากเทวโลกลงมาเกิดในตระกูลอำมาตย์ ต่อมาก็ได้เป็นพระราชาทรงพระนามว่า "พระเจ้านันทราช" แล้วได้อภิเษกกับราชธิดานั้น

บุคคลทั้งสองจึงได้ทรงปรึกษากันว่า การที่ได้เสวยราชสมบัติอันยิ่งใหญ่นั้น เป็นเพราะผลบุญแต่ชาติปางก่อน ที่มีความศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต บัดนี้ เรายังไม่ได้ทำกุศลไว้เป็นปัจจัยแห่งอนาคตเลย จึงได้ทรงถวายทานพร้อมทั้งสร้างบรรณศาลา ๕๐๐ หลัง ในพระราชอุทยาน ให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ อันมีพระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า เป็นประธาน

เมื่อได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าดีแล้ว พระราชาก็ได้เสด็จไปชายแดน ในขณะที่ยังไม่เสด็จกลับมา อายุสังขารของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็สิ้นไป ท่านได้เข้าฌานอยู่ตลอดราตรี พอเวลารุ่งขึ้นก็ยืนพิงพนักปรินิพพานไป

ในเวลาตอนเช้า พระราชเทวีได้จัดที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้ แล้วก็ประทับนั่งรอการมาของท่าน เมื่อไม่เห็นก็ใช้ให้บุรุษหนึ่งไปตาม จึงทรงทราบว่าท่านยืนพิงพนักปรินิพพานไปหมดแล้ว พระนางก็ทรงกันแสงคร่ำครวญ จึงพร้อมกับประชาชนทั้งหลาย เสด็จออกไปสักการบูชาจัดการถวายพระเพลิง แล้วเก็บพระบรมธาติไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์

ครั้นพระราชาเสด็จกลับมาจากชายแดนแล้ว จึงได้ทรงทราบเรื่องราวจากพระราชเทวี ผู้เสด็จออกไปต้อนรับ จึงทรงดำริว่า บัณฑิตเห็นปานนั้นก็ยังตาย เราจักพ้นความตายได้อย่างไร จึงไม่เสด็จเข้าพระนคร ได้เสด็จเข้าไปสู่พระราชอุทยาน ตรัสสั่งให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ไปเฝ้าแล้วทรงมอบราชสมบัติให้ พร้อมทั้งทรงสั่งสอนพอสมควร แล้วก็ทรงบรรพชา

ฝ่ายพระราชเทวีก็ทรงดำริว่า เมื่อพระราชาบรรพชาแล้ว เราจักทำอะไร แล้วก็ทรงบรรพชาอยู่ในพระราชอุทยานแห่งเดียวกัน ทั้งสองพระองค์นั้นก็ได้ทำฌานสมาบัติให้เกิดขึ้น เวลาจุติจากชาตินั้นแล้วก็ได้ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก ดังนี้


อานิสงส์การบูชาพระเจดีย์
พระมหากัสสปเถระ ผู้ได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งอันเลิศนั้น ได้ถึงซึ่งความเป็นพระสาวกผู้ใหญ่ แล้วจึงได้ระลึกถึงบุพกรรมของตน เมื่อจะประกาศซึ่งการอบรมบารมีมาแต่ปางก่อน จึงได้กล่าวว่า

"ปทุมุตตะรัสสะ ภะคะวะโต.. เป็นต้นว่า เมื่อพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่ในโลก ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เทพยดามนุษย์ทั้งหลายก็ได้ทำสักการบูชา พุทธศานิกชนก็มีจิตร่าเริงบันเทิง บ้างก็เกิดความสลดใจ แต่ความปีติก็ได้เกิดแก่เรา

เราได้ชักชวนญาติมิตรทั้งหลายว่า พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้าใหญ่ได้ปรินิพพานแล้ว เราทั้งหลายพากันกระทำสักการบูชาเถิด ญาติมิตรเหล่านั้นก็รับว่า ดีละ แล้วก็ทำให้เกิดความยินดีแก่เรายิ่งขึ้น เราได้สะสมบุญไว้ในพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของโลก เราได้กระทำผ้าให้เป็นม่านกั้นพระเจดีย์ มีส่วนสูงได้ ๑๐๐ ศอก มีส่วนกว้างได้ ๑๕๐ ศอก

ครั้นเราได้กระทำผ้ากั้นพระเจดีย์แล้ว ก็มีจิตเลื่อมใสได้บูชาพระเจดีย์อันประเสริฐสุด พระเจดีย์นั้นรุ่งเรืองดังกองเพลิงในอากาศ เบิกบานดังต้นพระยารัง ทำให้ทิศทั้ง ๔ สว่างไสวเหมือนกับดวงอาทิตย์ เมื่อเราทำจิตให้เลื่อมใสในพระเจดีย์นั้นแล้ว ได้กระทำกุศลไว้เป็นอันมาก ได้ระลึกถึงบุพกรรมแล้ว ก็ได้เกิดในดาวดึงส์สวรรค์

ทิพยสมบัติทั้งปวงก็ได้เกิดขึ้นแก่เรา คือ ปราสาทของเราสูงถึง ๗ ชั้น มีศาลาจตุรมุขอยู่ข้างหน้าปราสาท เรือนยอดที่สำเร็จด้วยแก้วมณีมีอยู่รอบทิศแห่งปราสาทนั้น มีแสงสว่างเต็มที่ โดยรัศมีแห่งเรือนเหล่านั้น เราได้ครอบงำเทพเจ้าทั้งปวง ด้วยบุญกุศลที่ได้สละผ้าทำเป็นเพดานกั้นพระเจดีย์ในคราวนั้น

เราได้เป็นกษัตริย์ผู้สูงสุด ผู้ชนะโลก มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต อยู่ในกัปที่ ๖ หมื่น มาถึงกัปนี้ เราก็ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิอีก ๓๐ ชาติ ได้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ได้เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ ที่อยู่ของเราในคราวนั้นสูงประหนึ่งว่า วิมานของพระอินทร์ฉะนั้น

พระนครของเราชื่อว่า รัมมนคร มีอาณาเขตกว้างใหญ่ เกลื่อนไปด้วยหมู่มนุษย์เหมือนกับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เราได้ครอบครองรัมมนครนั้น แล้วก็ได้ไปเกิดเป็นเทพเจ้าอีก ความสมบูรณ์ด้วยตระกูลไม่ได้แก่เราแล้วในภพสุดท้าย

เราได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ ซึ่งสมบูรณ์ด้วยแก้วเป็นอันมาก เราได้สละทรัพย์ ๘๐ โกฏิออกบรรพชา เราได้สำเร็จปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ แล้ว เราได้กระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ดังนี้ฯ

Copyright © 2001 by
Amine
3 ต.ค. 2545 13:04:44