สรุปอารมณ์ของนักธุดงค์

เป็นอันว่าการปฏิบัติธุดงค์ขอกล่าวโดยย่อเพียงเท่านี้ สรุปแล้วว่า

๑. จะต้องมีพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ

๒. ตัดปลิโพธิ ความกังวล

๓. พยายามระงับนิวรณ์ ๕

๔. มีอาหาเรปฏิกูลสัญญา

๕. มีมรณานุสสติกรรมฐาน

๖. มีอุปสมานุสสติกรรมฐาน คือ ถือพระนิพพานเป็นอารมณ์

จิตจะต้องทรงฌานอยู่ตลอดเวลา ทั้งเวลาว่างและไม่ว่าง ยามที่นั่งคุยกันใช้อารมณ์อยู่ใน อุปจารสมาธิเป็นอย่างต่ำ เวลามีภาระจะพึงเกิดขึ้น ก็ต้องใช้อารมณ์อย่างน้อยก็อุปจารสมาธิ เดินไปจากที่ไม่มีใครคุย ใช้อารมณ์อย่างต่ำขั้น ปฐมฌาน นี่เฉพาะ.."จิต"

นอกจากนั้น "จิต" จะต้องเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราอยู่ตลอดเวลา คิดว่าโลกนี้เป็นทุกข์ เทวโลกเป็นทุกข์ พรหมโลกเป็นทุกข์ และไม่พ้นทุกข์ เราไม่ต้องการโลกทั้งสาม

เราไม่พอใจในร่างกายของเรา คือ ไม่สนใจร่างกายของเราด้วย ไม่สนใจร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ไม่ต้องการทุกสิ่งทุกอย่างในโลกด้วย อย่างนี้เป็น "อารมณ์ของนักธุดงค์" ทั้งในวัดและในป่า..

คำสั่งพิเศษ

เป็นอันว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้แนะนำวิธีฝึกไว้อย่างละเอียด เพื่อไว้เป็นแบบฉบับในการปฏิบัติ เพราะการจัด งานธุดงค์นี้ เป็นการจัดกิจกรรมหลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว คือ เริ่มงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖

ทั้งนี้ เป็นไปตามความประสงค์ของท่านทุกประการ ตามที่ท่านได้เตรียมการไว้ให้ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ คือ นอกจากจะมีคำแนะนำไว้แล้ว ท่านยังได้เตรียมสถานที่ไว้ฝึกธุดงค์อีกด้วย ตามที่จะได้เล่าดังต่อไปนี้

คือ มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ท่านไปสอนพระกรรมฐานที่ บ้านสายลม เมื่อ วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๑ พระท่านมาบอกหลวงพ่อเมื่อ ๑๐ ปีก่อนว่า ...

"ที่วัดท่าซุงฉันสั่งให้ทำที่เดินใหญ่ ทำเป็นทางเดินรอบบนหลังคา และมีฝาด้านเดียว นั่นเป็นที่ฝึกพระธุดงค์"

ท่านบอกวิธีธุดงค์เขาปฏิบัติตามนี้ เดี๋ยวก่อน...ฉันจดไว้นะ ยังไม่ลอกลงสมุดเลย..

๑. เอาจิตจับที่ศูนย์ ตั้ง "อานาปานุสสติ" ไว้ตลอด ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกว่าจะหลับ คือว่าเผลอไม่ได้เลย ถ้าเผลอเมื่อไหร่ "นิวรณ์"เข้า ตัวนี้กั้นนิวรณ์ ไม่ใช่เฉพาะไปนั่งสมาธิ ต้องฝึกแม้แต่ทำงาน ไม่ใช่ธุดงค์ทำอะไรไม่ได้ ธุดงค์ต้องทำงานได้ทุกอย่าง

๒. นึกถึง บารมี ๑๐ ตั้งใจปฏิบัติให้ครบถ้วน เวลาที่จะภาวนาคู่กับลม ให้ใช้ คาถาหัวใจบารมี ๓๐ ทัศ หรือว่า "พุทโธ"ก็ได้ แต่ผลที่จะได้ต่างกัน ถ้าภาวนา"บารมี ๓๐ ทัศ"ได้คล่อง จิตจะแจ่มใสมาก มารต่าง ๆ จะไม่รบกวน สัตว์ในป่าจะเป็นมิตร ป้องกันอันตรายได้

การภาวนาจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ภาวนาได้ ส่วนบารมี ๑๐ ก็ให้ทรงอารมณ์ไว้ทั้งวันอย่าให้พร่อง เขียนวางไว้ข้างตัว ให้สะดุดตา แล้วตั้งใจปฏิบัติให้ครบถ้วน

๓. เมื่ออารมณ์คลาย ให้ตั้งอารมณ์ไว้ใน พรหมวิหาร ๔ คิดรัก คิดสงสาร ไม่อิจฉาริษยา พลอยยินดีด้วยและวางเฉย อันนี้ต้องทรงตัว ถ้าพรหมวิหาร ๔ ไม่ทรงตัว อย่าลืม..ทั้งศีล ทั้งภาวนา ไม่เหลือเลย!

๔. มรณานุสสติกรรมฐาน บวกกับ วิปัสสนาญาณ ๙ คือ ข้อ ๘ - ๙ (นิพพิทาญาณ - สังขารุเปกขาญาณ) แล้วมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

๕. ค่อย ๆ เคาะ สังโยชน์ ๑ - ๑๐ แต่ให้ถือสังโยชน์ ๓ เป็นใหญ่ แล้วตัดตัวสุดท้าย คือ อวิชชา

สรุปความว่า พอลืมตาปั๊บ..จับ อานาปา ปั๊บ! คิดบารมี ๓๐ ทัศ ภาวนา ๆ ๆ จิตทรงตัว จิตมันจะเอนมาเอง จิตเลื่อนลงมาถึงอารมณ์คิดได้ อารมณ์คลายตั้งอยู่ในอารมณ์ พรหมวิหาร ๔ แล้วคิดถึง มรณานุสสติ คิดว่าเราอาจตายเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้าได้มโนมยิทธิ ให้เอาใจไปตั้งอยู่พระนิพพาน

สำหรับผู้ที่เข้าป่าลึก ให้ติดต่อกับเทวดาเป็นปกติ ระหว่างคุยกับเทวดากับพรหม กิเลสจะไม่เกาะจิต ต้องภาวนาบารมี ๓๐ ทัศ และการคุมอารมณ์ต้องเข้มแข็งจึงจะเอาตัวรอด มิฉะนั้นอาจจะถูกทดสอบอารมณ์จากภัยที่ไม่เห็นตัว..

Copyright © 2001 by
Amine
10 ก.ย. 2545 23:04:26