คำสอนสายกลาง

วันนี้ก็เป็นวันที่ ๕ เม.ย. ๓๕ เมื่อวานได้พูดพาดพิงถึง พระศรีอาริย์ วันนี้ต่อดีไหม เอาอย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน การปฏิบัติกรรมฐาน ขอทุกคนจงอย่าลืมความตาย เข้าใจไหม เราลืมหรือไม่ลืมมันก็ต้องตาย ถ้าคิดถึงความตายไว้เสมอ พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นคนที่มีความไม่ประมาท ถ้าเราไม่ประมาทในชีวติ จิตก็คิดสร้างความดีไว้เรื่อย ๆ ในที่สุดถ้าตายจากความเป็นคน อย่างเลวที่สุดก็เป็นเทวดาหรือนางฟ้า อย่างกลางก็ไปพรหมโลก อย่างดีที่สุดก็ไปนิพพาน

เพราะคำว่า ตาย กับ กายคตานุสสติ คำว่า ตาย ก็มีความหมายว่า ร่างกายไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ถ้าร่างกายเป็นเราจริง เป็นของเราจริง มันก็ต้องไม่ตาย

อันดับแรก ให้คิดว่าการที่เราเจริญกรรมฐาน เพราะว่า เราไม่ต้องการความเกิด ไม่แก่ ไม่ป่วย ไม่ตายต่อไปอีก อันดับแรกนะ

ประการที่สอง ญาติโยมที่มาใหม่ ให้ใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน คือ รู้ลมหายใจเข้าออก กรรมฐานกองนี้จึงมีความสำคัญมาก สมาธิจะทรงตัวหรือไม่ทรงตัว อยู่ที่อานาปานุสสติกรรมฐาน และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อานาปานุสสติกรรมฐานนี่เป็นกรรมฐานระงับกายสังขาร คือ ระงับทุกขเวทนา ก็ตัวอย่างไม่ยาก เมื่อปลายเดือนที่แล้วเขาฉีดสีเข้าไปที่ปอด เขาบอกมันปวด พอเขาเริ่มฉีด ฉันจับอานาปานุสสติหลับไปเลย มันปวดหรือไม่ปวดก็ไม่รู้ใช่ไหม ถ้าเราใช้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก คำว่า อานาปา เป็นศัพท์ภาษาบาลี กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้อยู่หายใจออกรู้อยู่ อันนี้เป็นสมาธิ เพราะคำว่า สมาธิ แปลว่า ความตั้งใจ ตั้งใจไว้จุดใดจุดหนึ่ง ถ้าจิตมันอยู่ในจุดนั้นก็ถือว่าเป็นสมาธิ ต่อมาก็ใช้คำภาวนา ให้ใช้คำภาวนาว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ ง่ายดีและมีอานิสงส์มาก นี่เป็นการเบื้องต้นนะ อย่าลืมว่าคำว่า สมาธิ คือ การตั้งใจ

วันนี้ก็จะมาพูดเรื่อง พระศรีอาริย์ หน่อย เอาสักหน่อยเดียวนะ พระศรีอาริย์ท่านบอกว่า คนต้องการจะไปเกิดทันสมัยท่านให้ปฏิบัติในศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ ให้ครบถ้วน ศีล ๕ ด้วยนะ กรรมบถ ๑๐ ด้วย เมื่อกี้นอนคนเดียว หาเพื่อนคุยไม่ได้ ก็ขึ้นไปหาพระที่บ้าน บ้านใหม่นะ บ้านที่สร้างไว้นานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสอยู่ พอจะไปอยู่เข้าจริง ๆ เขตปิด ใช่ไหม ไปหาพระท่านแล้วคุยกับท่าน ท่านก็บอกว่า อยากจะพบพระศรีอาริย์ไหม บอกว่าอยากพบ ท่านก็เรียกพระศรีอาริย์มา พระศรีอาริย์นะตามปกติสวยมาก เครื่องประดับแพรวพราวมากหลายสี ก็ถามท่านว่า ทำไมให้ทำสีขาวใสอย่างเดียว ท่านบอกว่า จะได้ไม่เกิดกิเลสในสี บางคนก็ชอบสีนั้น บางคนก็ชอบสีนี้ใช่ไหม ความจริงปฏิบัติเพื่อต้องการบรรลุมรรคผล ท่านบอกไม่ต้องการสี ใช้สีใสอย่างเดียว

ทีนี้ต่อ ก็ถามท่านว่า ทำไมจึงแนะนำคนแค่ศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ ท่านก็บอกว่า ศีล ๕ ก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี รวมกันแล้ว เป็น ๑๑ ข้อ มีอะไรบ้าง จำได้ไหม

๑. ไม่ฆ่าสัตว์
๒. ไม่ลักทรัพย์
๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม นี่ทางกายนะ ต่อศีล ๕ อีกนิดหนึ่ง คือ ไม่ดื่มสุราเมรัย
ทางวาจา ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่ส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน ไม่พูดวาจาเพ้อเจ้อเหลวไหล

ท่านบอกทั้งสองตอนนี่ ทั้งทางกายก็ดี ทั้งทางวาจาก็ดี เป็นพื้นฐานของสวรรค์กับพรหมโลก คือว่า ถ้าทำได้สองอย่าง ก็ไปเกิดบนสวรรค์ เกิดบนพรหมโลก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าทั้งนี้ถ้าเราตั้งใจเพื่อจะละจริง ๆ ละการไม่ฆ่าสัตว์ ละการไม่ลักทรัพย์ ละการไม่ประพฤติผิดในกาม ละการไม่ดื่มสุราเมรัย ละเลยนะ และก็ตั้งใจไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ไอ้ตัวตั้งใจไว้นี่จะไม่ละเมิด มันเป็นสมาธิ ถ้าสมาธิอย่างอ่อนเราก็ไปเกิดบนสวรรค์ ถ้าสมาธิเข้มข้นเราก็ไปเกิดบนพรหมโลก

ทีนี้มาทางจิตใจ ๓ ข้อ

ข้อที่ ๑. อภิชฌา ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นโดยไม่ชอบธรรม ตัวนี้เป็นโลภะ ความโลภโดยตรง ยับยั้งความโลภ ตัดรากเหง้าของกิเลส
ข้อที่ ๒. ไม่ผูกโกรธ ไม่พยาบาท ไม่จองล้างไม่จองผลาญใคร โกรธแล้วก็โกรธไป ความโกรธยังมีอยู่ แต่ไม่จองล้างจองผลาญใคร แล้วก็แล้วกันไป
ข้อที่ ๓. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔ นี่ตัวสุดท้ายนะ ยากไหม

ก็เป็นอันว่า ถ้าเราละ ไม่คิดถึงความโลภ ไม่ตั้งใจผูกโกรธ และ ไม่ตั้งใจฝ่าฝืนคำสอนของพระพุทธเจ้า เอาอย่างอ่อนก่อน อย่างนี้ก็เป็นพื้นฐนของพระอรหันต์ ก็เป็นอันว่า กรรมบถ ๑๐ นี่เป็นพื้นฐานของพระนิพพาน ฉะนั้นพระศรีอาริย์จึงต้องการแค่สองอย่าง อย่าลืมนะ อันดับแรกใหม่ ๆ ขอเป็นการค่อย ๆ ยับยั้ง มันจะเลิกทีเดียว มันไม่ได้แน่นอน อยู่ ๆ เราก็จะไม่ฆ่าสัตว์บ้าง ไม่ลักทรัพย์บ้าง ไม่ประพฤติผิดในกามบ้าง ไม่ดื่มสุราเมรัยบ้าง แต่ทุกคนมีศีลอยู่แล้ว แต่ว่าจะมีครบไม่ครบไม่ทราบนะ ศีลต้องมี ๕ ข้อนี้ไม่ขาดหมดใช่ไหม คนทุกคนก็ต้องมีอยู่แล้ว ไม่ข้อบ้าง สองข้อบ้าง สามข้อบ้าง ที่เหลืออยู่นะ ไอ้ที่จะไม่ค่อยเหลือคือ โกหก อีข้อนี้หลุดง่ายหน่อยนะ ต้องใช้กาวติด มันก็มีบกพร่องบางข้อ

พื้นฐานจริง ๆ ที่เราจะรักษาศีลได้ และ รักษากรรมบถ ๑๐ ได้ ก็มีคุณสมบัติสองอย่างควบคู่กันคือ

หนึ่ง เมตตา ความรัก
สอง กรุณา ความสงสาร

เราคิดรักชาวบ้านสงสารชาวบ้านก็เหมือนกับรักตัวเอง สงสารตัวเอง ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะการฆ่าสัตว์มันมีจิตใจโหดร้าย เป็นการสร้างศัตรู ในเมื่อเรามีศัตรูเราก็ไม่มีความสุข เขาก็ไม่มีความสุข เราก็ไม่มีความสุข

ข้อที่สอง ทรัพย์สินต่าง ๆ ของใครที่หามาได้ ต่างคนต่างก็หวงแหน เพราะหวังความสุขจากทรัพย์สิน ในเมื่อเราไปลักขโมยเขา เขาก็ไม่ชอบใจเรา และก็สมบัติทั้งหลายเหล่านั้นที่เราได้มา ที่คดโกงเขาบ้าง ลักขโมยเขาบ้าง มันก็ไม่คุ้มความแก่ มันกันแก่ไม่ได้ กันความป่วยไข้ไม่สบายไม่ได้ กันการพลัดพรากจากของรักของชอบใจได้ กันความตายไม่ได้ จะเอามาทำไม

ศีลข้อที่ ๓ เจ้าชู้มากเกินไป เอาแค่พอดี ๆ นะ อย่างมีคู่ครองแค่ ๕ คนนี่พอดี ๆ พอถึง ๗ คนก็ห้ามสมัครผู้แทน เมืองแขกนะ ศีลข้อที่ ๓ ถ้าเราระงับได้ คนในปกครองของเราก็มีความสุข เราก็มีความสุข ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าลูกหลานที่เกิดมาใหม่จะไม่เป็นคนดื้อด้าน ว่านอนสอนง่าย

ถ้าเรารักษาศีลข้อที่ ๔ ได้ ถ้าเกิดใหม่จะมีวาจาเป็นทิพย์

ถ้าละศีลข้อที่ ๕ ได้ เกิดใหม่จะเป็นคนมีความสุข สุขทั้งกายและทั้งใจ คือ ไม่เป็นโรคปวดศีรษะ ไม่เป็นโรคเส้นประสาทและก็ไม่เป็นโรคบ้า

ในเมื่อเราตั้งใจควบคุมกำลังใจของเราแบบนี้ ว่าเราจะมีเมตตา คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม และ ไม่ดื่มสุราและเมรัย เราจะพูดแต่ความจริง พูดแต่วาจาไพเราะ คือ ไม่กล่าววาจาหยาบ และก็ไม่กล่าววาจาส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน ไม่กล่าววาจาเพ้อเจ้อเหลวไหล การควบคุมกำลังใจอยู่ได้เพราะอาศัยสมาธิ ถ้าขาดสมาธิการคุมใจก็คุมไม่อยู่ แต่ว่าใหม่ ๆ ก็เผลอบ้างเป็นของธรรมดา ในเมื่อเราค่อย ๆ ยับยั้งมัน ไม่ช้าก็ชิน จะต้องใช้เวลานิดหน่อยนะ ในเมื่ออารมณ์ชินเกิดขึ้น คำว่า ชิน ก็หมายความว่า ละจนชินไม่ต้องระวัง ขึ้นชื่อว่าการฆ่าสัตว์เป็นต้น ไม่มีแน่นอน ถ้าชินแบบนี้ท่านเรียกว่า ฌาน ฌานก็คือความชิน ในเมื่อจิตเป็นฌานอย่างนี้ ตายจากความเป็นคนก็ไปเป็นพรหม

และต่อมา สำหรับมโนกรรมสามอย่าง ทางจิตใจ

หนึ่ง ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นโดยไม่ชอบธรรม นั่นก็หมายความว่า ถ้าศีลห้ามแต่เพียงมือนะ ศีลถ้าไม่ลัก ศีลไม่ขาด ถ้าลักของเขาศีลขาด แต่ว่าใจมันอยากจะลักก็ได้ใช่ไหม ใจนึกชอบใจ เจ้าของเผลอเอาเสียหน่อยดีไหม ถ้าจะหยิบของเขามาก็เกรงว่าศีลขาด เลยไม่หยิบ ยังไม่ได้ห้ามใจ ก็มากรรมบถ ๑๐ นี่ห้ามใจเลย เอาใจเข้าไปยับยั้งหมายความว่า ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สมบัติถ้าไม่ใช่ของเรา เราไม่ต้องการมัน ทั้งนี้เว้นไว้แต่ว่าของเขาขาย ถ้าของที่เขาขายเราอยากจะได้หาสตางค์ไปซื้อ อันนี้ไม่ห้าม ข้อนี้นะ ไม่ถึงข้อนี้ เอาแต่เพียงว่าอยากจะลักเขา อยากจะขโมยเขา นี่ไม่มีในจิตใจของเรา ค่อย ๆ ยั้งตัว

มโนกรรมข้อที่สอง ความโกรธยังมีอยู่ แต่ยับยั้งความโกรธไว้ ไม่จองล้างไม่จองผลาญ

ข้อที่สาม สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก หมายความว่า เชื่อพระพุทธเจ้าทุกอย่าง ที่ท่านสอนมาทั้งหมด นี่อย่างอ่อน ถ้าหากว่าทำได้อย่างอ่อนแบบนี้ อย่างน้อยก็เป็นพระโสดาบัน ต้องเป็นพระโสดาบันขั้นต้น โกลังโกละ ไม่ใช่สัตตักขัตตุง ขั้นที่สองนะ ขั้นกลาง พระโสดาบันนี่มี ๓ ขั้น หนึ่ง เอกพิชี สอง โกลังโกละ สามสัตตักขัตตุง

สัตตักขัตตุง แค่รักษาศีล ๕ บริสุทธิ์ ถ้ารักษากรรมบถ ๑๐ บริสุทธิ์บ้าง ไม่บริสุทธิ์บ้าง พร่องนิดหน่อย ในที่สุดก็ต้องบริสุทธิ์ แต่ว่าต้องระวัง อย่างนี้เป็น โกลังโกละ

ถ้าเป็น เอกพิชี ก็หมายความว่า รักษากรรมบถ ๑๐ ครบถ้วน โดยไม่ต้องระมัดระวัง ไม่ต้องระวังมันก็ไม่ละเมิด อย่างนี้เป็นพระโสดาบันขั้นเอกพิชี มีบารมีสูง ถ้าเกิดเป็นคนอีกชาติเดียวก็ไปนิพพาน

ทีนี้มาข้อที่สาม ทางจิตใจ จิตใจนี่เป็นพื้นฐานของพระอรหันต์นะ กิเลสน่ะมีแค่สามตัว รากเหง้าจริง ๆ หนึ่งโลภะ ความโลภ สองโทสะ ความโกรธ สามโมหะ ความหลง อันนี้เป็นรากเหง้าของกิเลส ถ้าเราถอนรากเหง้าได้หมด กิเลสก็หมดไป ทีนี้การจะถอนเหง้าจริง ๆ จัง ๆ ครั้งเดียวสองครั้งมันก็ไม่ไหว มันต้องค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ใช้สมาธิ คือ ใช้สติสัมปชัญญะเข้าไประมัดระวัง ว่าทรัพย์สมบัติของใคร ใครเขาก็รัก คิดว่านับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขึ้นชื่อว่าการอยากได้ทรัพย์สมบัติของใครไม่มีในจิตใจของเรา ควาโกรธอาจจะยังมีอยู่แต่ไม่จองล้างจองผลาญใคร

นี่เอาขั้นเข้มแข็งนะ ขั้นสุดท้าย สัมมาทิฏฐิ เห็นอริยสัจ อริยสัจมี ๔ อย่าง

๑. ทุกข์
๒. เหตุให้เกิดทุกข์
๓. ความดับทุกข์
๔. การปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์

ถ้าเราเห็นจริง ๆ แค่ข้อเดียวคือ ทุกข์ เท่านี้พอ ถ้าทุกคนเห็นทุกข์ ทุกคนก็ไม่อยากจะเกิดเป็นมนุษย์ต่อไป เพราะโลกมนุษย์เต็มไปด้วยความทุกข์ มีอะไรเป็นทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นทุกข์ ความหิวความกระหายเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความตายจะเข้ามาถึงก็เป็นทุกข์ ถ้าเรายังขืนเกิดเป็นมนุษย์ต่อไป ไอ้ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้มันก็มีกับเราทุกชาติ เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้

ฉะนั้นในเมื่อเห็นทุกข์ในอริยสัจ ก็หาทางตัดทุกข์ คือ หวังไปนิพพาน การหวังไปนิพพานทำอย่างไร ก็ทำอย่างว่านี่แหละ ปูพื้นฐานของพระศรีอาริย์ท่าน เราปฏิบัติตามท่านเพื่อศาสนาของท่าน เราปฏิบัติตามท่านเพื่อบรรลุมรรคผลในชาตินี้ด้วย มันเหมือนกัน ถ้าชาตินี้เรามีความเข้มแข็งในกรรมบถ ๑๐ เราก็เป็นอรหันต์ในชาตินี้ ถ้าความเข้มแข็งยังไม่พอ เราก็เกิดเป็นเทวดาบ้าง นางฟ้าบ้าง เป็นพรหมบ้าง คอยพระศรีอาริย์ ในเมื่อพระศรีอาริย์ตรัส ตามธรรมดาพระพุทธเจ้าเทศน์ เทวดานางฟ้ากับพรหมนี่ฟังมากกกว่าคน เขามาฟังกันนะ และการบรรลุมรรคผลก็บรรลุมากกว่าคน ไม่ห่วงการหุงข้าวเย็น หุงข้าวเช้าก็ไม่ห่วงใช่ไหม ไม่ห่วงเข้าส้วม เทวดาไม่มีส้วม ใครจะตายเป็นเทวดาเป็นนางฟ้าน่ะขี้เสียให้ดีนะ ขี้ให้หมดท้อง เดี๋ยวจะไปนั่งปวดอีกมันหาส้วมไม่ได้

ก็เป็นอันว่า เทวดา นางฟ้าหรือพรหม ท่านไม่มีกังวล เวลาฟังเทศน์ก็ฟังเทศน์ พระพุทธเจ้าเทศน์เกี่ยวกับอะไรท่านก็ทราบ พระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องนรก เขามีตาทิพย์เขามีร่างกายเป็นทิพย์เขาก็เห็นนรก พระพุทธเจ้าเทศน์ถึงคนเป็นทุกข์ มีอายุน้อยเขาก็มองเห็น เห็นตามนั้น พระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องพรหมเทวดาเขาก็ทราบ ต่อมาก็อีกข้อเดียว พระพุทธเจ้าก็เทศน์เรื่องนิพพาน เขาก็ใช้ปัญญาพิจารณา เขาสามารถระลึกชาติได้ เขาจะถอยหลังชาติของเขาไปเอง ว่าก่อนจะมาเกิดเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหม เขามาจากไหน เขาก็ทราบว่ามาจากคนบ้าง มาจากสัตว์บ้าง สัตว์ก็เป็นเทวดา เป็นนางฟ้าได้นะ อย่าคิดว่าเป็นไม่ได้นะ

อย่าง โฆษกเทพบุตร ตายจากคนเกิดเป็นสุนัข ตายจากสุนัขเกิดเป็นเทวดา เห็นไหมล่ะ อย่านึกว่าสัตว์เดรัจฉานเป็นเทวดา เป็นนางฟ้าไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นได้

ในเมื่อพระศรีอาริย์ท่านตรัส ถ้าเราเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า จะดีกว่าคนอื่นที่เกิดเป็นคน เพราะไม่มีกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถามท่านแล้ว ท่านบอกว่า ตามธรรมดาคนน่ะมี ๔ เหล่า

หนึ่ง อุคฆฏิตัญญู มีบารมีเต็มและมีปัญญามาก แนะนำเพียงแค่หัวข้อก็มีความเข้าใจ บรรลุมรรคผล สามารถเป็นพระอรหันต์ได้ พูดย่อ ๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าเทศน์กับพระวักกลิว่า

"วักกลิ บุคคลใดเห็นธรรม บุคคลนั้นชื่อว่าเห็นตถาคต"

เพียงแค่นี้ ท่านบรรลุอรหันต์เลย

สอง วิปจิตัญญู มีบารมีเต็มแต่ว่าปัญญาอ่อนไปหน่อย เทศน์แค่หัวข้อย่อย ๆ ไม่เข้าใจ ต้องอธิบายให้ฟังเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างพระยส พระยสฟังเทศน์ครั้งแรกในอนุปุพพิกถา ๕ ข้อ ฟังจบเป็นพระโสดาบัน ต่อมาตอนสายพ่อไปตาม พระพุทธเจ้าเทศน์ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ฟังครั้งที่สองเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เรียกว่า วิปจิตัญญูนะ

ต่อไปก็ เนยยะ พวกเนยยะนี่ก็หมายความว่า ต้องสอนกันมากหน่อย ถ้าสอนน้อยจะไม่เข้าใจ

ทีนี้ก็มาเปรียบกับพระศรีอาริย์ท่านตรัส ที่ท่านบอกว่า พวกรักษากรรมบถ ๑๐ ได้ครบถ้วนทั้งวันปกติ และ วันพระ พวกนี้เป็น อุคฆฏิตัญญู หมายความว่า ถ้าพบท่าน ท่านเทศน์สั้น ๆ เมื่อกี้นี้คุยกันนะ เทศน์สั้น ๆ เพียงแค่หัวข้อจะบรรลุมรรคผลทันที ต่อไปพวกรักษาวันปกติก็รักษาได้ดี วันพระก็รักษาได้ดี แต่บางทีก็บกพร่องบ้าง เป็นนิด ๆ หน่อย ๆ ยังต้องระวังอยู่ อย่างนี้เป็นพวกอันดับที่สอง หมายความว่า เทศน์เพียงหัวข้อยังไม่เข้าใจชัด เทศน์ซ้ำครั้งที่สองจะเข้าใจชัด บรรลุอรหันต์

ต่อมาก็พวกที่รักษากรรมบถ ๑๐ วันปกติไม่ค่อยจะสมบูรณ์แบบ ใช่ไหม เผลอเองบ้าง ตั้งใจเผลอบ้าง แต่ว่าวันพระรักษาได้ปกติ เฉพาะวันพระ กรรมบถ ๑๐ กับ ศีล ๕ นี่แน่นอนไม่ขาดไม่บกพร่อง แต่วันปกติบกพร่องบ้าง ท่านบอกพวกนี้พวกเนยยะ ต้องสอนกันหลายครั้งจึงจะบรรลุมรรคผล

ก็เป็นอันว่า บรรดาญาติโยมพุทธศาสนาชน ที่เราปฏิบัติกันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมบถ ๑๐ ก็จงอย่าคิดว่าจะไปนิพพานในศาสนาพระศรีอาริย์ ตั้งใจว่าเราจะต้องนิพพานในชาตินี้ แต่ถ้าบังเอิญจริง ๆ มันไปไม่ไหว ถ้าพลาดจากชาตินี้ก็ไปพบพระศรีอาริย์แน่ ฉะนั้นตั้งใจให้แน่วแน่ทั้งสองอย่าง คือ หนึ่งต้องการนิพพานชาตินี้ ถ้าหากว่าชาตินี้นิพพานไม่ได้ ขอทันศาสนาพระศรีอาริย์

ก็เป็นอันว่า เอ..จบดีไหม หรือยังไม่ดี ก็เป็นอันว่าสอนกันแค่นี้ก็พอละมั้ง เมื่อกี้ถามท่านว่า คนสมัยท่านน่ะอายุมากไหม ท่านบอกว่ามาก ถามว่ากี่หมื่นปี ท่านไม่ตอบ แต่ท่านบอกว่า คนสมัยของท่านน่ะ คนสวยทุกคน คนรวยทุกคน คนมีความสุขทุกคน เรื่องการทะเลาะวิวาทกันไม่มี ท่านบอกที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่ทุกคน ท่านหมายความว่าคนในขอบเขตของท่านเท่านั้นเอง ไอ้คนนอกเขตน่ะมีอยู่ ใช่ไหม อย่างพวกปทปรมะนี่ อย่างพวกปทปรมะเขาไม่เข้าเขตพระพุทธศาสนา เขาจะมีการรบฆ่าฟันกัน โดยเฉพาะคนในเขตของท่านเท่านั้น ที่เป็นสาวกของท่าน ก็เลยถามท่านว่า ท่านจะบรรลุอายุเท่าไร ท่านไม่ตอบ ท่านตอบแต่เพียงว่าผมเป็นหนุ่มเต็มที่ผลก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ไอ้เต็มที่ของท่านมันกี่ปีก็ไม่รู้นะ ถ้าไปโดนสมัยอายุ ๘ หมื่นปี เป็นหนุ่มเป็นสาวเสียสองหมื่นปี เป็นคนวัยกลางคนเสียสองหมื่นปี เป็นคนแก่สองหมื่นปี นี่ยุ่ง ฉันแก่ไม่กี่ปียังแย่เลยนะ จะลุกไม่ไหวอยู่แล้ว

ก็เป็นอันว่า ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกคน คำว่า สมาธิ แปลว่า การตั้งใจ ที่เราต้องนั่งภาวนากันนี่เป็นการฝึกการยับยั้งของใจ แต่จริง ๆ แล้ว จะต้องมีสมาธิจริง ๆ ในระหว่างที่ไม่ใช่นั่งภาวนา ให้อารมณ์มันทรงตัว เราตั้งใจไว้เพื่ออะไร ตั้งใจไว้เพื่อรักษากรรบถ ๑๐ ก็ให้มีความรู้สึกว่า เราจะต้องไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ไม่อยากได้ทรัพย์สมบัติของใครโดยไม่ชอบธรรม ถ้าเราต้องการซื้อเขานี่เขาไม่ห้ามนะ ไม่ใช่ข้อนี้นะ คือ ไม่อยากได้ทรัพย์ของเขาโดยที่เราจะลักขโมยเขา ไม่มี เรายังมีความโกรธ แต่ยับยั้งความโกรธ ไม่จองล้างจองผลาญเขา เราจะมีความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิ คือ เห็นอริยสัจ เห็นทุกข์ของความเกิดทุกข์ของความแก่ ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของการป่วยไข้ไม่สบาย ทุกข์ของความตายจะเข้ามาถึง ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว ทุกคนจิตก็ไม่อยากจะเกิดต่อไป สิ่งที่ต้องการจะพึ่งได้ก็คือ พระนิพพาน

เอาละ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย พูดมาพูดไป มันก็หมดแรง ต่อนี้ไปขอให้ทุกคนสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐาน.

Copyright © 2001 by
Amine
16 ส.ค. 2544 15:55:51