ข้อคิดจากธรรมะ

" หลวงพ่อค่ะ พวกเราที่ปฏิบัติกัน สมมุติว่าเราตายไปแล้วเราไปนิพพาน กับ พระที่ปฏิบัติเคร่งครัดมาก ๆ แล้วท่านพลาดนิพพานไป มันต่างกันอย่างไรคะ "

เขาเคร่งขนาดไหนล่ะ มันมีอยู่ ๓ เคร่ง ถ้าเคร่งเกินไป เลยลงนรก เพราะถ้าเคร่งศีล พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า บุคคลใดก็ตาม คำว่า บุคคลใดก็ตาม จะเป็นพระก็ตาม ฆราวาสก็ตาม สามารถทำจิตให้ว่างจากกิเลสวันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง วันหนึ่งเดี๋ยวเดียว ขณะจิตนิดเดียว ทำอย่างนี้ได้ทุก ๆ วัน มีอานิสงส์มากกว่าพระที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ๑๐๐ ปี รักษาศีลบริสุทธิ์ทุกสิกขาบท ถ้ารักษาศีลดีขนาดไหนก็ตาม จะเกิดแค่กามาวจรสวรรค์ จะไปพรหมไม่ได้ ถ้าทำจิตให้ว่างจากกิเลสวันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง อย่างต่ำเกิดเป็นพรหม ต่างกัน ถ้าวันหนึ่งทำจิตให้ว่างจากกิเลสชั่วขณะจิตหนึ่งเดี๋ยวเดียว ทุกวัน ทีนี้เวลาใกล้จะตายจริง ๆ พอใกล้จะตายจริง ๆ กำลังอานิสงส์จะรวมตัว ดีไม่ดีกำลังอานิสงส์มันก็ตัดตัวนั้นไปนิพพานเลย

ท่านยังบอกว่า การทำจิตให้ว่างจากกิเลสวันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง บอกกับพระสารีบุตรว่า

" สารีปุตตะ ดูก่อนสารีบุตร บุคคลใดทำจิตให้ว่างจากกิเลสวันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง เรากว่าวว่า บุคคลนั้นมีจิตไม่ว่างจากฌาน "

และท่านก็ไปต่อท้ายว่า "บุคคลใดทำจิตให้ว่างจากกิเลสวันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง มีอานิสงส์ดีกว่าพระสงฆ์ที่บวชมาในพระพุทธศาสนา ๑๐๐ ปี มีศีลเคร่งครัด บริสุทธิ์ทุกสิกขาบท"

อันนี้ถ้าเราจะฟังไป จะเป็นการปรามาสพระสงฆ์ แต่นี่พระสงฆ์ แต่นี่พระพุทธเจ้าตรัสเอง ฉันแปลไปฉันก็มานั่งคิด จริงของท่าน คือ พระสงฆ์ที่บวชระมัดระวังแต่ศีล ศีลนี่พาไปพรหมไม่ได้ ได้แค่สวรรค์อย่างเดียว ถ้าสมาธินี่อย่างต่ำไปพรหม ถ้าจิตว่างจากกิเลส ดีไม่ดีไปนิพพานเลย ชั้นต่างกันมาก ฉะนั้นการเคร่งครัดก็หมายถึงเคร่งครัดในศีล และก็มีสมาธิหรือเปล่า เคร่งครัดในสมาธิด้วย ถ้ายังไม่มีวิปัสสนาญาณ ก็ไปนิพพานไม่ได้ ก็ต้องเคร่งในวิปัสสนาญาณด้วย

ตามปกติพระท่านบังคับอยู่แล้ว เมื่อก่อนนี้การขอบรรพชา เดี๋ยวนี้เขาตัดออกเสียแล้ว การขอบรรพชามีศัพท์ว่า "นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา" ซึ่งแปลว่า "ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน" ใช่ไหม

ทีนี้การรับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หน่วยการปฏิบัติพระวินัยเขาตั้งกฎไว้เลย ว่าพระที่บวชเข้ามาแล้วจะต้องปฏิบัติกฎทั้ง ๓ ประการให้ครบถ้วน

๑. อธิศีลสิกขา ๒. อธิจิตสิกขา ๓. อธิปัญญาสิกขา

อธิศีลสิกขา หมายความว่า ปฏิบัติในศีลยิ่ง เคร่งครัดด้วยนะ

อธิจิตสิกขา ต้องทำจิตให้เป็นสมาธิ ว่างจากนิวรณ์

อธิปัญญาสิกขา ก็หมายถึงว่า ตัดสังโยชน์ ๑๐

อันนี้เป็นกฎบังคับ กฎตายตัวนะ ถ้าพระองค์ใดบวชเข้ามาสิกขาสามประการนี้ถ้าไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องบรรลุมรรคผล แต่ว่า ไม่สนใจ ลงนรก เห็นไหม จะต้องสนใจ จะบรรลุมรรคผล หรือไม่บรรลุมรรคผล ทำฌานสมาบัติได้หรือไม่ได้ก็ตามจะต้องพยายามทำ คือให้จิตมันทรงอยู่ ระมัดระวังศีลให้ครบถ้วน พยายามฝึกสมาธิให้ทรงตัว แม้ว่าจะไม่ได้ฌาน แต่ว่าฝึกเป็นสมาธิ อย่างน้อย ก็ต้องได้ขณิกสมาธิ หรือ อุปจารสมาธิ ใช่ไหม

ด้านวิปัสสนาญาณ ก็ต้องพิจารณาขันธ์ ๕ คือ ไม่ติดในขันธ์ ๕ ความจริงมันอาจจะติดแกะไม่ออก แต่มันมีเวลาปลดใช่ไหม เวลาปลดมันมีอยู่ ถ้าหากไม่ครบถ้วนตามนี้ก็มีโอกาสลงนรก เพราะอะไร เพราะว่าความจริงแค่กินข้าวไม่พิจารณาเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็ยังลงนรกแล้ว เพราะว่าพระอยู่ในสภาวพ ปูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่ชาวบ้านเขาต้องบูชา พอบวชเข้ามาแล้วพ่อแม่ก็ต้องไหว้ลูก ใช่ไหม ตามปกติลูกต้องไหว้พ่อไหว้แม่ ทีนี้พอบวชเข้ามาพ่อแม่มาไหว้ลูก อันนี้ถ้าทำตัวไม่เหมาะสมก็ต้องลงนรกไป
นี่ลำบากตรงนี้ ทีนี้จะถือว่าผ้ากาสาวพัสตร์มีความหมายว่า เป็นผู้เลิศ มันก็ไม่แน่ ก็ต้องดูพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านทรงเรียกพระ พระที่บวชเข้ามาถ้ายังไม่เป็นพระอริยเจ้า ท่านเรียก สมมุติสงฆ์ สมมุติว่าเป็นพระ ถ้าหากว่าฆราวาสเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเรียก พระ อย่างพระนางวิสาขาพระโสดาบัน อนาบิณฑกะพระโสดาบัน เห็นไหม

นี่เป็นอันว่า คำว่า เคร่ง เคร่งของพระนี่ก็ต้องดูนะว่า เคร่งถูกหรือว่าเคร่งผิด ต้องไปดูในอุทุมพริกสูตร เคร่งแต่ว่ามีกิเลสอยู่มากตั้งเยอะ บางทีเราไปเห็นเขาเข้านึกว่าเคร่ง แต่ความจริงไอ้ตัวเคร่ง ตัวนี้มีกิเลสอยู่เยอะก็มี มีอะไร อย่างเดินบิณฑบาตต้องคนยืนอยู่คนเดียวจึงรับ ถ้ามีผู้หญิงยืนอยู่ด้วยไม่ยอมรับ อยู่ใกล้ครกไม่ยอมรับ คนตั้งครรภ์ไม่ยอมรับ อะไรพวกนี้ บางทีเรานึกโอ้โฮท่านเคร่งจริง ๆ นะ นี่กิเลสบานเลยเห็นไหม ไปไล่เบี้ยในอุทุมพริกสูตรตั้งแยะ ถ้าเราอ่านมาตอนต้นจะรู้สึก แหม เขาเก่งจริง แต่ไล่ไปไล่มา เก่งลงนรก ที่ท่านพูดกับ นิโครธปริพาชก ทำอย่างนี้เป็นสาระเป็นแก่นสารไหม ก็บอกเป็นสาระเป็นแก่นสาร พระพุทธเจ้าบอก ยัง ๆ มีอุปกิเลสอยู่มาก อุปกิเลสนี่อย่าลืม ความเศร้าหมองของจิต ไอ้ตัวนี้มันดึงลง มันมีมานะ มานะการถือตัว บางท่านก็ปฏิบัติถูก แต่ว่าอารมณ์ผิด อย่างฉันภัตตาหารเวลาเดียว เป็นเอกา นี่ก็เป็นธุดงค์อันหนึ่ง แต่ว่ากลับไปทะนง ไปดูพระที่เขาฉันสองเวลาว่าเป็นพระที่เลวกว่าเรา เสร็จ กลายเป็นมานะถือตัวถือตนลงนรกไปอีก พระที่เจริญพระกรรมฐาน เจริญให้ชาวบ้านเห็น เป็นการโอ้อวดแสดงตนว่าฉันเป็นพระสมถะวิปัสสนา มีอุปกิเลสอยู่ พัง ก็แย่เหมือนกัน

ฉะนั้น คำว่า เคร่ง ๆ บางทีชาวบ้านเขามาเล่าให้ฟัง ฉันตกใจตั้งหลายรายการ ไปโดนเคร่งที่พระพุทธเจ้าบอกมีอุปกิเลสเข้า ต้องไปนั่งไล่เบี้ยตามวินัยใช่ไหม ไปไหนถือวินัยไปเล่ม แล้วก็ถืออุทุมพริกสูตร ว่าเขาทำไปอ่านดูเหมือนกันไหม ว่าข้อไหน ไอ้คำว่าเคร่งในทีนี้ ถ้าเคร่งเกินไปเป็นอัตตกิลมถานุโยค ท่านบอกว่า ต้องไปถือตัวเกินไป ก็ไม่ใช่ว่าไม่ถือเลย ถือว่าตัวเองอยู่ในขั้นเป็นพระแต่ว่าไม่เกินไป

ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า ท่านยังไปเล่นซ่อนหากับท่านผกาพรหม แล้วก็ครั้งหนึ่ง นางบุญทาสี เดินสวนทางมา นายเขาบอกว่าพรุ่งนี้เธอจงไปธุระที่โน้นนะ ไปบ้านโน้นมันเป็นทางไกลมาก เธอคิดว่า การเดินไปในระหว่างทางอาหารมันจะขาด อาจจะหิว วันนั้นก็เลยเอาข้าวทำแป้ง ข้าวสารโขลกทำแป้งผสมกับรำ ขยำกับน้ำให้ดีปิ้งเป็นแป้งจี่ เพื่อเอาไปกินกลางทาง ตอนเช้าออกเดินทางไปเธอก็ห่อชายพก เหน็บชายพกไป พอดีเดินสวนทางกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสด็จมากับพระอานนท์ เธอก็คิดในใจว่า เออ..เราเป็นคนจนนะ โอกาสที่เราจะถวายทานกับพระสงฆ์ก็ไม่มี บางครั้งเรามีของก็ไม่มีพระมา บางทีมีพระมาเราก็ไม่มีของ วันนี้เรามีแป้งจี่มา พระพุทธเจ้ามาพอดี เราจะขอใส่บาตร พระเดี๋ยวนี้คงไม่กินกันหรอกนะ

ใส่บาตรพระพุทธเจ้าก็ทรงรับ เมื่อรับแล้วแกก็คิดในใจว่า ตามธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมฉันอาหารเลิศในบ้านเศรษฐีบ้าง ในพระราชฐานของพระราชาบ้าง สำหรับแป้งจี่ของเรานี่แกนึกนะ แกไม่ได้พูด ท่านจะฉันหรือไม่ฉันก็ตามใจท่าน ท่านจะไปโยนทิ้งก็ตามใจ เรามีโอกาสถวายถือว่าได้บุญแล้ว พอแกนึกเท่านี้ พระพุทธเจ้ามองดูหน้าพระอานนท์ พระอานนท์ก็ทราบ ทราบวาระนั้นก็ปูผ้าสังฆาฏิข้างทาง พระพุทธเจ้านั่งข้างทาง หม่ำตรงนั้นเอง

พอฉันตรงนั้นแกก็ดีใจ ก็นั่ง พอฉันเสร็จ พระพุทธเจ้าก็โมทนา โมทนาไม่ใช่ ยะถา สัพพี ก็คือ เทศน์ พูดให้ฟังว่า อานิสงส์มันดียังไง พอเทศน์จบนางบุญทาสีก็เป็นพระโสดาบัน ใช่ไหม นี่ถ้าเราไปทำเข้าเขาก็หาว่าพระบ้า เอ้า จริง ๆ นะ เดี๋ยวจะหาว่านางบุญทาสีบ้าอีกด้วย ใช่ไหม ไอ้แป้งจี่ของแกเอาแป้งกับรำผสมกัน แล้วก็ปิ้ง แล้วยังไม่พอ ดันห่อชายพกแน่ะ สกปรก อีตอนนี้ก็ต้องนั่งคิด

นี่พระเราเคร่งขนาดนี้ไหมล่ะ คำว่า เคร่ง เคร่งกินนี่ได้ไหม ถ้าเขาทำแบบนั้นกินได้ไหม กินได้ถือว่าเคร่ง ถ้ากินไม่ได้ไม่เคร่งใช่ไหม

ถ้าเคร่งก็ต้องไปดู ธุดงค์ ๑๓ ถ้าถือในธุดงค์ ๑๓ ท่านว่าอย่างไรก็ปฏิบัติตามนั้น นั่นเป็นเรื่องของธุดงค์ ไอ้คำว่า ธุดงค์ นี่ก็ไม่ต้องอยู่ในป่าเสมอไป อยู่วัดมันก็ธุดงค์ ตั้งใจถือ เนสัชชิ คือ ถือการนั่งเป็นวัตร การถือการนั่งเป็นวัตรไม่จำเป็นต้องนั่งตลอดวัน ว่าจากนี้ไปถึงเวลาเท่านี้เราจะไม่ยอมเอนกาย เราจะไม่เอามือยันพื้น เราจะนั่ง จะนั่งเพื่อทรงสมาธิจิต หรือว่า พิจารณาวิปัสสนาญาณ การตั้งใจนั่งชั่วขณะหนึ่งตามที่ต้องการ ยังไม่ถึงเวลานั้นเราไม่ยอมเอนไม่ยอมนอน อันนี้ก็ถือว่าเป็นธุดงค์ เป็นเนสัชชิธุดงค์ใช่ไหม

หรือว่าอยู่ในวัดใช้เฉพาะผ้าสามผืน คือ สบงหนึ่ง จีวรหนึ่ง สังฆาฏิหนึ่ง ผ้าอังสะหรือรัดประคดถือเป็นผ้าเกิน ใช้ได้นะ แต่ว่าต่อมาพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้มีผ้าวัสสิกสาได้ ถ้า ๗ วัน ๑๕วัน เดือนสองเดือนก็ใช้ได้ ก็ถือว่าเป็นธุดงค์ หรืออีกประการหนึ่ง ถือเป็น เอกธุดงค์ หมายถึงว่าฉันข้าาเวลาเดียว นี่ก็เป็นธุดงค์ หรือถือภาชนะอันเดียว คำว่าภาชนะอันเดียวนี่เวลาเราไปบิณฑบาต ก็บาตรลูกนั้น เขาใส่อะไรมาในนั้นเรากินในนั้น ไม่กินของนอกไปจากนั้น ถือเอกภาชนะใช่ไหม เราจะถือกี่วันกี่เดือนกี่ปีก็ได้ อันนี้ก้เป็นธุดงค์ ธุดงค์ไม่ใช่หมายความว่าเข้าป่าเสมอไป

ถ้าเราตั้งใจว่ากลางวันนี่เราจะไม่อยู่ในอาคาร ถ้ามีร่มไม้อยู่เราจะอาศัยร่มไม้ ตั้งแต่เวลาเท่านี้ ถึงแม้ว่าฝนจะตกแดดจะออกเราไม่ยอมเข้า อันนี้ถือว่าเป็น รุกขมูลธุดงค์ แต่ว่าเลิกจากนั้นเราก็เข้าเมื่อถึงเวลากำหนดของเรา

ฉะนั้น คำว่า ธุดงค์ ก็ไม่ต้องเข้าป่าเสมอไป อย่างนี้เราก็เรียกว่า เคร่ง เคร่งตามธุดงค์ ไม่ใช่เคร่งเหนือธุดงค์ใช่ไหม เอาเคร่งแบบไหน หรือเอาเคร่งแบบกินข้าวไม่มีหมูกินไม่ได้ ไอ้นี่เคร่งนะ ( หัวเราะ ) ฉันถือธุดงค์เป็นเอกัคตารมณ์ ต้องมีหมูกิน ( หัวเราะ )

เป็นอันว่าเคร่งก็ต้องดูตามแบบ ว่าเขาเคร่งพอดีหรือว่าเคร่งเกินไป บางทีก็เคร่งผิด ถ้าเคร่งผิดนี่เป็นกิเลาเลยใช่ไหม ทำถูกแต่ว่าทำเพื่ออวด ต้องไปดูในอุทุมพริกสูตร ทำถูกแต่ว่ทำเพื่ออวดถือตัวว่าดี ใครไม่ทำเหมือนตัว เหยียดหยามว่าเป็นผู้มักมากในอาหาร มีจริยาไม่ดี อันนี้เป็นอุปกิเลสอีก คือว่า ทำถูกด้วย ต้องรักษากำลังใจให้ดีด้วย

ก็รวมความว่าถ้าจะเคร่งจริง ๆ ก็ต้อง

หนึ่ง ต้องไม่สนใจในจริยาของบุคคลอื่น ใครเขาจะดีใครเขาจะเลวอย่างไรก็ช่างเขา เว้นไว้แต่คนที่อยุ่ร่วมกันหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ตักเตือนกันโดยธรรม

ประการที่สอง เวลาเจริญสมาธิจิต จะไม่แสดงตนให้คนเห็น นี่เท่านี้ เคร่งเท่านี้นะ ไม่ยุ่งกับอารมณ์ของใคร ไม่ยุ่งกับจริยาของใคร ใครเขาจะดี ใครเขาจะเลวเป็นเรื่องของเขา และก็ไม่แสดงตนให้คนทราบว่าเราเป็นนักเจริญสมถะวิปัสสนา ไม่ถือตนเกินไป นี่พระพุทธเจ้าตรัสเองนะ การถือตัวเกินไป ท่านหาว่าเป็นอุปกิเลส คือว่าตัวนั้นต้องถือว่าเราเป็นพระ ดีไม่ดีไม่ถือตัวเกินไปเจอะสาว ๆ รูปหล่อ ๆ ไปแบกเขาเข้าล่ะซวย ใช่ไหม ต้องถือตัวว่าเราสมณะเป็นพระ ในวินัยมีอะไรอยู่บ้างที่ห้ามเราต้องปฏิบัติไม่ได้ เราต้องเว้นข้อนั้น ถ้าสิ่งใดเป็นส่วนธรรมะ เป็นส่วนเกื้อกูลกับบุคคลให้มีความสุขเราทำ ถึงแม้กิจนั้นจะยากลำบากอย่างไรก็ตามเราก็ทำ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเคร่ง ถ้าเคร่งแต่นี้พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เข้าถึงสะเก็ดของพระศาสนาเท่านั้น ถ้าปากยังเที่ยวว่าคนโน้น ว่าคนนี้เขาละก็ อันนั้นเคร่งลงนรก ใช่ไหม นั่งไล่เบี้ยในอุทุมพริกสูตรซินี่สะเก็ด จิตไม่ยุ่งกับจริยาของบุคคลอื่น แหม...มันดีมากแล้วนะ แต่ยังดีนิดเดียว ต้องไล่เบี้ยอีกทีปฏิบัติได้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์ คือ ไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุให้ใครเขาทำลายศีล ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว ต้องระงับนิวรณ์ ๕ได้ ทรงพรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ ถึงจะมีความดีเข้าถึงเปลือกของพระศาสนา ใช่ไหม

ต่อไปนั้นสามารถทำ บุปเพนิวาสนุสสติญาณ ให้เกิดขึ้น เป็นความดีเข้าถึงกระพี้ของพระศาสนา และจากนั้นทำทิพจักขุญาณ คือ จุตูปปาตญาณ ให้เกิดขึ้น คนทั้งหมด สัตว์ทั้งหมดในโลกเรารู้ได้ว่าก่อนเขาจะเกิด เกิดมาจากไหน เวลาที่เขาไปแล้วเขาไปไหน อันนี้ชื่อว่าเขาถึงสาระแก่นสาร แก่นของพระศาสนา นี่ยังไม่จบ เมื่อทำถึงจุดนี้แล้วก็ จะต้องปฏิบัติวิปัสสนาญาณสามารพทำลายสังโยชน์ ๑๐ ให้หมดไป

ถ้าหากเข้าถึงจุดนี้ถ้าทำกันจริง ๆ ถ้ามีกำลังใจสูงก็จะเป็นพระอรหันต์ภายใน ๗ วัน มีกำลังใจอย่างกลางจะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ เดือน ถ้ามีกำลังใจต่ำสุดจะเป็นพระอรหันต์ภายใน ๗ ปี นี่ท่านไม่ได้บอกว่าไม่ได้เป็นอรหันต์ ถ้าเข้าถึงจุดนี้แล้วต้องเป็นอรหันต์ ถ้าไม่วางทิ้ง ถ้าวางทิ้งก็ไม่เป็นใช่ไหม คำว่า วางทิ้ง หมายความว่า ได้แค่นี้แล้วฉันเด่นละฉันดีละ ก็ไอ้ที่พูดว่าเข้าถึงสาระแก่นสารมันก็ได้แก่ มโนมยิทธิ เรานี่แหละ แต่นั้นเป็นหลักวิชชาสามไม่ถึงมโนมยิทธิ ไม่ถึงนะ คือว่าเขารู้ได้แต่ไปไม่ได้ ที่เราปฏิบัติมโนมยิทธินี่เข้าจุดนี่จุดปลาย จุดสาระแก่นสาร แต่ว่าถ้าทรงอยู่ได้ ตายก็เป็นพรหม แต่ว่าชีวิตมันก็ไม่แน่นอนนัก ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ก็ต้องหาทางตัดขันธ์ ๕ วิธีตัดก็ไม่ยากก็ไปเที่ยวนิพพานทุกวันก็หมดเรื่อง ได้มโนมยิทธิได้กำไรใช่ไหม ไปเที่ยวนิพพานทุกวัน ไม่ต้องแนะนำให้รู้จักมนุษย์ ไม่ต้องแนะนำให้รู้จักสวรรค์ ไม่ต้องแนะนำให้รู้จักพรหม แนะนำใจมันอย่างเดียวรู้จักนิพพาน คือว่า สวรรค์เราไปแวะได้ พรหมไปแวะได้ แต่เราไม่สร้างความพอใจในสวรรค์ และ พรหม เราพอใจจุดเดียวคือ นิพพาน

ทีนี้เวลาที่จิตเราจะออกจากร่าง มันจะไปตามกระแสใจที่ปักอยู่ อารมณ์ที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ คือ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ จับได้จุดเดียว อย่างหนุ่ม ๆ สาว ๆ ฝ่ายไอ้สาวก็เห็นไอ้หนุ่มสักร้อยคน ไอ้หนุ่มเห็นไอ้สาวสักร้อยคน แต่ในจำนวนร้อยคนเราชอบคนเดียวใช่ไหม ปักใจรักอยู่คนเดียว เวลาต้องการก็แต่งงานกับคนนั้นคนเดียวใช่ไหม ไอ้นี่เราพูดเทียบกับทางโลก ใช่ไหม

ทีนี้อารมณ์ของเราก็เหมือนกัน ไอ้ใจเราตั้งเฉพาะจุดไหนมันจะไปจุดนั้น ทีนี้เวลายามปกติก็ตั้งไว้จุดเดียวเราพอใจพระนิพพาน พอใจนิพพานเราทำอย่างไร ถ้าเราได้มโนมยิทธิ หรือ วิชชาสามก็เหมือนกัน แต่วิชชาสามไปไม่ได้แต่เขาเห็นได้นะ เขาเห็นสวรรค์ได้ เห็นพรหมได้ เห็นนิพพานได้ พวกเห็นก็ดี พวกไปได้ก็ดี ดูที่จิตมันหนักอยู่ตรงไหน วันหนึ่งหรือหลาย ๆ วันเราเคยคิดว่าจะอยู่ในสวรรค์ไหม เคยคิด่าจะอยู่พรหมโลกไหม ถ้ามันยังเคยคิดอยู่ ก็ชื่อว่าเป็นจิตที่ยังไม่แน่นอน มีคติไม่แน่นอน ถ้าจิตมันคิดไว้อย่างเดียวว่าเราต้องการนิพพาน ตายเมื่อไรก็ไปเมื่อนั้นแหละ ถ้าจะถามว่าต้องเป็นอรหันต์ก่อนไหม เป็นแน่ตอนตาย มันตัดกันตรงนั้น อารมณ์ตัดไม่ต้องการมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก มันก็ตัดอวิชชา อวิชชาคือความโง่ ที่เห็นว่ามนุษย์ดี เทวดาดี พรหมดี อันนี้เป็นความโง่ท่านเรียกว่า อวิชชา ถือว่าแดนมนุษย์เป็นแดนศีวิไลซ์ เทวดาเป็นแดนศีวิไลซ์ พรหมเป็นแดนศีวิไลซ์ อันนี้เป็น ราคะ ถ้าพอใจที่เรียกว่า เห็นมนุษย์ดี เทวดาดี พรหมดี เป็น ฉันทะ

ฉะนั้น การตัดอวิชชาก็ต้องตัดสองตัว ตัดฉันทะกับราคะ ฉันทะ ความพอใจความเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือพรหม ราคะ เห็นว่ามนุษย์ดีศีวิไลซ์ หรือว่าสวรรค์ศีวิไลซ์ดี พรหมศีวิไลซ์ดี อันนี้ท่านเรียกว่า โง่ เพราะอะไร เพราะว่าไอ้แดนสามแดนนี่มันเป็นแดนไม่พ้นทุกข์ การเป็นมนุษย์ตั้งแต่เกิดถึงตายไม่มีความสุข มีทุกข์ทุกลมหายใจเข้าออก เป็นเทวดาหรือพรหมพักทุกข์ชั่วคราว ในเมื่อหมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องลงมาใหม่ ลงมาแค่มนุษย์ก็ยังเป็นบุญ ถ้าไปสู่แดนนิพพานไม่มีการเคลื่อน เป็นอมตะอยู่ที่นั้นสุขที่สุด และไม่มีการเคลื่อนไปไหนอีก สวัสดี.

Copyright © 2001 by
Amine
16 ส.ค. 2544 03:11:47