สรุปอนุสสติกรรมฐาน

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย วันนี้จะขอเป็นวันสรุปอนุสสติ คือว่า อนุสสติ นี้แปลว่า การตามระลึกนึกถึงอารมณ์ ๑๐ ประการ คือ

๑. ระลึกนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธานุสสติ

๒. ระลึกนึกถึงความดีของพระธรรม เรียกว่า ธัมมานุสสติ

๓. ระลึกนึกถึงความดีของพระอริยสงฆ์ เรียกว่า สังฆานุสสติ

๔. ระลึกนึกถึงความดีที่องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงสอน เรียกว่า สีลานุสสติ

๕. ระลึกนึกถึงความดีของทานการบริจาคที่เราสละไปแล้ว เพื่อหวังการเกื้อกูลให้บุคคลอื่นให้มีความสุข เรียกว่า จาคานุสสติ

๖. ระลึกนึกถึงคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา เทวดาแปลว่า ประเสริฐ ประเสริฐก็คือความดีที่ไม่มีที่ติ เรียกว่า เทวตานุสสติ

๗. ระลึกนึกถึงความตายที่มันจะเข้ามาถึง ซึ่งเป็นของที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เรียกว่า มรณานุสสติ

๘. ระลึกนึกถึงกาย ว่ามันสักแต่ว่ากายคือเป็นธาตุ ๔ ประชุมกันแบ่งเป็นอาการ ๓๒ มีการสลายตัวไป เรียกว่า กายคตานุสสติ

๙. ระลึกนึกถึงลมหายใจเข้าออกให้สติทรงอยู่ เรียกว่า อานาปานุสสติ

๑๐. ระลึกนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้เรียกว่า อุปสมานุสสติ

เป็นอันว่า อนุสสติทั้ง ๑๐ ประการนี้ ถ้าท่านทั้งหลายจะถามผมว่า เราควรจะทรงอารมณ์อนุสสติอะไรดีจึงจะเป็นการสมควร ถ้าจะให้ผมตอบ ผมก็ขอตอบกับท่านทั้งหลายว่า อนุสสติทั้ง ๑๐ นี้ จำเป็นจะต้องทรงทั้งหมด เพราะว่าเป็นของดีทั้งหมด การนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นของดี นึกถึงพระพุทธเจ้าจงอย่านึกถึงแต่ความดีที่พระองค์ทรงปฏิบัติอย่างเดียว จงพากันนึกถึงขันธ์ ๕ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียด้วย ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมานาน เพื่อจะรวบรวมปัญญาความรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสอนพวกเรา เมื่อถึงที่สุดแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถจะรักษาขันธ์ ๕ ให้คงอยู่ ในที่สุดองค์สมเด็จพระบรมครูก็ต้องเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน มองดูขันธ์ ๕ ขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร เป็นอนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขังถ้ายึดมันก็ทุกข์ อนัตตาในที่สุดก็สลาย องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงเป็นอัจฉริยมนุษย์ ขันธ์๕ ของพระองค์ยังพังได้ แล้วของเราล่ะ มันจะอยู่ได้อย่างไร มันจะเป็นเรา เป็นของเราได้อย่างไร นี่คิดไว้ อย่างนี้ด้วยใช้ปัญญาพิจารณาถ้าจะสรุป ลงมาว่า ผลอะไรที่จะพึงได้ จากการทรงอนุสสติทั้ง ๑๐ ประการ คำว่า อนุสสตินี่ ปฏิบัติง่าย ๆ นะครับ ท่านไม่ให้เคร่งเครียดอะไรมาก ใช้อารมณ์สบาย ๆ ให้จิตใจมันทรงตัว นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ศีลคุมศีล คุมจาคา คุมหิริ โอตตัปปะ รับรู้มีความรู้สึกว่าจะตาย เห็นว่าร่างกายเป็นธาตุ ๔ อาการ ๓๒ อานาปานุสสตินี้ทรงสติสัมปชัญญะให้ทรงตัว อานาปานุสสตินี้ดีมาก เพราะว่า สามารถคุมจิตให้ทรงตัว ที่เรียกว่า สมาธิ แล้วก็เป็นการระงับกายสังขาร คือ ระงับทุกขเวทนา

สำหรับอุปสมานุสสติทำจิตให้เป็นสุข สุขที่สุดคืออารมณ์รักพระนิพพาน ทีนี้เราก็มานั่งไล่กันดูว่าอนุสสติทั้ง ๑๐ ประการ ให้ผลประการใด นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรม นึกถึงพระอริยสงฆ์ มีศีลบริสุทธิ์ ๕ ประการนี้ ถ้าจิตทรงตัว นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์แล้วก็นึกพระวรกายขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาว่า เป็นอนิจจังนะ ความจริงพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ไม่น่าจะนิพพานเพราะเป็นอัจฉริยมนุษย์ แต่ในที่สุดร่างกายก็เป็นร่างกาย เป็นกฎธรรมดาของมัน ห้ามปรามไม่ได้ เกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็สลายตัวไปในที่สุด

นี่ร่างกายของเราก็ต้องพังอย่างนี้ มันจะพังก็ขอให้ทรงความดี คือ อำนาจของพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ ขอเกาะชายของสังฆาฏิของพระพุทธเจ้าไว้ รักเคารพพระพุทธเจ้า ไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ รักพระธรรม รักแล้วก็ปฏิบัติตาม นึกถึงความดีของพระอริยสงฆ์ ที่ธรรมะที่สมเด็จพระพุทธองค์ทรงสอน พระสงฆ์ก็ภาวนา พระอริยสงฆ์รุ่นแรกกรุณารวบรวมเอาไว้แล้ว พระสงฆ์ทั้งหลายก็นำมาสอนตาม

อนุสสติ ๔ ประการนี้ถ้าทรงตัวอยู่ องค์สมเด็จพระบรมครูทรงเรียกว่า พระโสดาบัน กับ พระสกิทาคามี ถ้าจิตทรงตัวจริง ๆ นะ หมายความว่า จิตทรงตัวจริง ๆ ไม่ปรามาส พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีศีลบริสุทธิ์ และ รู้ว่าขันธ์ ๕ ร่างกายมันจะต้องตาย อย่างนี้ชื่อว่า เราสามารถทำลายสังโยชน์ ๓ ไปเสียได้ แล้วก็เป็นอะไรล่ะ ก็เป็นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี นี่ไม่ยากเลยนะครับ

สำหรับ จาคานุสสติ นี้ จาคานี้มีกำลังใหญ่ จาคะ แปลว่า เสียสละ แล้วอยากจะเอา พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาพูดกับท่าน ผมซึ้งใจในพระราชดำรัสมาก เพราะคนที่จะคิดอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมไม่เคยได้ยินที่ไหน คำว่า จาคะ ถ้าเสียสละจะมีกำลังยึด ถ้าตัดคำว่าเสียออกไป เหลือแต่สละ อารมณ์ยังติด ต้องใช้คำว่า ละ แหม ตัวนี้ถ้าละ เหลือละตัวเดียวแล้วท่านเอ๋ย ตัวนี้ตัวเดียวไปนิพพาน เราก็เล่นกันง่าย ๆ เอาง่าย ๆ ดีกว่า จาคะเราควรสละอะไร สละสิ่งของภายนอกก็ควรทำ เป็นการเพาะกำลังใจให้มีกำลัง นั่นการสละ

แต่จาคะตัวนี้เราควรจะสละอารมณ์อย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องเกาะ นั่นก็คือ กามฉันทะ เพราะว่ากามฉันทะ เรารักคน รักสัตว์ รักวัตถุด้วยอำนาจกามารมณ์ แล้วก็ความนิยมในการรักมันเกิดประโยชน์อะไรบ้าง รักกันจะตาย พอแต่งงานเข้าหน่อย ประเดี๋ยวเดียวทะเลาะกัน มันดีหรือ เวลาก่อนจะแต่งงานก็เลือกสวย เลือกงาม ต่างคนก็ต่างจากกันไปด้วยความตาย สุขใด ๆ ที่จะมาจากการแต่งงานไม่มีเลย หาสุขจริง ไม่ได้ สู้อยู่คนเดียวไม่ได้จะไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ หลับเมื่อไร ตื่นเมื่อไร กินมาก กินน้อย ขี้เกียจ ขยัน ไม่มีใครเขาบ่น แต่พออยู่ด้วยกันสองคนขี้เกียจไม่ได้ ต้องเพิ่มภาระการงานให้มากขึ้น นี่มันยุ่งตรงนี้ ถ้าอยู่ด้วยกันจะมีความดีชื่นบานหรรษาตลอดกาลตลอดสมัยก็หาไม่ เดี๋ยวก็ขัดคอกัน ข่าวสารมีอยู่เสมอ ยิงกันตายบ้าง ติดตะรางบ้าง ต้องขึ้นสถานีขอหย่าจากกันบ้าง

นี่มันเป็นเรื่องของกามตัณหา ที่มีความปรารถนาในจิต เราไม่คิดถึงความเป็นจริง ถ้าบรรดาคนชายและหญิงมีความรู้สึกอย่างนี้ อยู่เสียคนเดียวสลาย ตัดกำลังใจ คือ สละความรักให้มันสลายตัวไป มันมีเมตตา ถ้าศีลเคร่งเครียดขึ้น ทรงอารมณ์ เมตตามันก็สูงขึ้น กรุณาก็สูง การให้อภัยกับคนที่สร้างความชั่ว ทำตัวไม่เป็นมิตร จิตที่จะคิดเป็นศัตรูไม่มี อันนี้เพราะว่าถ้าทรงอาการ ๒ ประการนี้ได้ความเป็นอนาคามีก็มาได้ ถ้าฉลาดนะครับ ถ้าขี้เกียจก็ตามใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าก้าวมาถึงเทวตานุสสติแล้วไซร้ จะเข้าถึงอนาคามีได้อย่างเป็นสุข เพราะเทวตานุสสตินี่อายความชั่ว กลัวความชั่ว ความชั่วที่จะมีมาได้นั่นคือ ปัจจัยของความทุกข์ อะไรก็ตามถ้ามันเป็นปัจจัยของความทุกข์ อาการอย่างนั้นเราเรียกกันว่า ความชั่ว

แล้วไอ้ความรักในเพศ มันเป็นปัจจัยของความสุขหรือความทุกข์ แล้วการโกรธ พยาบาทคิดพิฆาต เข่นฆ่า เป็นศัตรูซึ่งกัน มันเป็นปัจจัยของความสุข หรือ ความทุกข์ มันเป็นความทุกข์เพราะมันเป็นความไม่ดี มันเป็นความชั่ว อารมณ์เข้าถึงเทวตานุสสติกรรมฐานเพียงเท่านี้ใจก็เป็นสุข การทรงความเป็นอนาคามี หรือพระอรหันต์ก็ยังได้ นี่ย่อไว้ว่าเท่านี้ก็เป็นพระอนาคามี

แล้วจิตใจต่อไปก็มานั่งพิจารณาถึงมรณานุสสติ นึกถึง ความตายเป็นอารมณ์ ว่าไอ้เรานี่มันต้องตายนะ เรานี่คือใคร ความจริงเราเข้าใจผิด คิดว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา มองมาดูกายคตานุสสติว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า ร่างกายนี้ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มีอาการ ๓๒ เกลือกกลั้วกันไป มันไม่มีการทรงตัว มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด แล้วก็มันเป็นใครล่ะ มันสลายตัวก็เรียกว่า ตาย ถ้าเป็นเราเป็นของเราจริง มันจะตายไหม มันก็ไม่ตาย เพราะเราไม่ต้องการให้มันจะตาย ในเมื่อมันจะต้องตายอย่างนี้ แสดงว่าเรากับมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่มัน ในร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี เมื่อร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายอย่างอื่นที่เราคิดว่ามันเป็นสมบัติของเรา เราจะมีสิทธิปกครองมันไหม เป็นอันว่า เราก็ไม่มีสิทธิในการปกครอง

แล้วก็ถ้าอย่างนั้น เราก็ควรจะทำอย่างไร เราก็ควรวางเสีย วิธีวางวางอย่างไร จับอานาปานุสสติกรรมฐานให้มีอารมณ์ทรงตัว อานาปานุสสติกรรมฐานทำให้ใจสบาย ทำให้ร่างกายสบาย เพราะว่าเป็นกรรมฐานระงับกายสังขาร และระงับทุกขเวทนา ให้มีกำลังใจตั้งมั่น มีความเก่งกล้าในการทรงสมาธิ แล้วก็มานั่งพิจารณาดูว่า ร่างกายก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันมีความตายเป็นปกติ เราชำระจิต อายความชั่ว กลัวผลของกรรมชั่ว แต่ความชั่วนี่เราจะค้นได้จากที่ไหน เพราะความชั่วเป็นปัจจัยให้เป็นความทุกข์ ถ้าเราเป็นคนมันก็ต้องทุกข์ ถ้าเราเป็นเทวดาหรือพรหม มันก็ทุกข์ สิ่งที่พ้นทุกข์เป็นสุขจริง ๆ ก็คือ พระนิพพาน ที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารต้องการให้คนทุกคนไปที่นั่น เราเรียกว่า อุปสมานุสสติกรรมฐาน

เพียงเท่านี้คือ จิตเรายอมรับนับถือซึ่งพระนิพพาน พระนิพพานนี่แปลว่า ความดับ นิพพะ แปลว่า ดับ คือ ดับตัณหาทั้งหมด คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดับมานะความถือตัวถือตน เพียงเท่านี้ องค์สมเด็จพระทศพลก็ตรัสว่า ท่านผู้นั้นเป็นผู้มีจิตว่างจากกิเลส จิตว่างจากกิเลสก็คือ จิตเป็นพระอรหันต์ เห็นว่า บรรดาพุทธบริษัททุกท่าน และ พระโยคาวจรทั้งหลาย อนุสสติทั้ง ๑๐ ประการนี้ ถ้าจะทรงไว้พร้อม ๆ กัน ก็ไม่เห็นจะมีอะไรหนัก ไม่ต้องไปนั่งไล่เบี้ย พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุสสติ อานาปานุสสติ อุปสมานุสสติ ไม่ใช่ไปไล่อย่างนั้น ให้อารมณ์มันทรงคราวเดียวถึงกัน

นี่เราก็มานั่งมองว่า องค์สมเด็จพระพิชิตมารสอนเราตอนนี้มุ่งอะไร ให้มุ่งความดีจุดสุดท้าย นั่นก็คือ อริยสัจในอนุสสติ เราเรียนอนุสสติ เราก็ต้องมองอนุสสติเป็นอริยสัจ อันดับแรกมองสรีระร่างกายขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาว่า พระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเป็นมนุษย์สวยจริง ๆ แล้วก็ทรงเป็นอัจฉริยมนุษย์ ประเสริฐกว่ามนุษย์เสียหมด แต่เวลานี้สรีระร่างกายขององค์สมเด็จพระบรมสุคตไปไหน อยู่หรือเปล่า แล้วเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ ร่างกายขององค์สมเด็จพระบรมครูทรงสภาพเป็นปกติไหม พระพุทธเจ้าต้องฉันข้าวหรือเปล่า ต้องฉันน้ำหรือเปล่า พระพุทธเจ้าต้องพักผ่อนนอนหรือเปล่า พระพุทธเจ้าเมื่อทรงอยู่พระวรกายอยู่ มีโรคภัยไข้เจ็บหรือเปล่า พระพุทธเจ้าแก่หรือเปล่า ร่างกายพระพุทธเจ้าดับสลายตัวหรือเปล่า

ก็เป็นอันว่า พระวรกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้นทุกอย่างเหมือนกับเรา ๆ เมื่อพระพุทธเจ้าดีกว่าเรา แล้วก็สรีระร่างกายก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย มีความทุกข์ของขันธ์ ๕ แต่จิตท่านไม่ทุกข์ เพราะอะไร ก็เพราะว่ามันเป็นกฎธรรมดา แล้วมาดูร่างกายของเราที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ อาการ ๓๒ มันมีการเคลื่อนไหวเข้าไปหาความตายเป็นปกติ ประสบกับอารมณ์ที่ฝืนใจอยู่เสมอ อาการทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ ความแก่เป็นสุขหรือควาทุกข์ การป่วยไข้ไม่สบายเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความตายเข้ามาถึงเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

ถ้าให้ผมตอบ ผมพูดเดี๋ยวนี้ พูดคนเดียวไม่ให้ใครขัดคอ ผมก็ต้องตอบว่า อาการทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมด มันเป็นทุกข์ มันหาความสุขไม่ได้ นี่มันเป็นทุกข์ ทำไมจึงทุกข์ ทำไมเราจึงต้องเกิด ที่เราต้องเกิดมานี่ ก็เพราะอาศัยตัณหาเป็นสำคัญ ตัณหาอยากรัก ตัณหาอยากโลภ ตัณหาอยากโกรธ ตัณหาอยากรักก็อยากมีคู่ครอง ตัณหาอยากโลภอยากมีทรัพย์สินให้มาก เป็นคนมีวาสนาบารมีสูงส่ง ตัณหาอยากโกรธ ก็อยากมีอารมณ์ถือเนื้อถือตัวเกินไป ใครทำอะไรมาไม่ถูกใจ ก็ไม่ถูกความปรารถนา ลืมจริยาของเขาว่า คนที่เกิดมาในโลกนี้มันมาหลายพวก มาจากนรกก็มี มาจากเปรตก็มี อสุรกายก็มี จากสัตว์เดรัจฉานก็มี จากพรหมก็มี จากเทวดาก็มี ว่าคนที่มาต่างแดนอย่างนี้ จะมีจริยเหมือนกันไม่ได้ เพราะต้องเป็นไปตามอำนาจของกฏแห่งกรรม เราไม่ได้คิด ไม่ได้คิดถึงข้อนี้ คิดแต่อย่างเดียวว่า อะไรถ้าไมถูกใจเราเราก็โกรธ อย่างนี้มันเป็นตัณหา เรียกว่า ตัณหาหลง

หลงอย่างไร หลงวรกายของเรา มันดีวิเศษเสียหมด มันจะต้องไม่แก่ มันจะต้องไม่ป่วย มันจะต้องไม่ตาย คนที่เรารัก สัตว์ที่เรารัก วัตถุที่เรารัก มันจะต้องทรงอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัย อันนี้ก็เป็นตัณหาใหม่ ตัณหาหลง ถ้าเราไม่หลงเราจะทำอย่างไร ก็คิดหาความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะตัณหา วิธีที่จะตัดตัณหาก็ต้องใช้มรรค ๘ ย่อลงเหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา

อันดับแรก ทรงศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อทรงศีลให้บริสุทธิ์จริง ๆ ศีลเป็นเอกัคคตารมณ์ ถ้าศีลจะทรงบริสุทธิ์ เพราะอาศัยความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระอริยสงฆ์ อันนี้เราก็เป็นพระโสดาบัน เข้าถึงกระแสพระนิพพาน

ต่อไป สมเด็จพระประทีปแก้ว ให้ทรงสมาธิ อารมณ์ตั้งมั่นคิดว่าตายแน่หนอ ญาติมิตรไม่อยู่ ความรักในเพศไม่มีความเพศ ความโกรธไม่มีความหมาย ตั้งใจไว้ในพรหมวิหาร ๔ เอากายคตานุสสติ กับมรณานุสสติทั้ง ๒ ประการนี้บวกกัน เห็นว่ามันไม่ใช่ดินแดนที่เราจะทรงการตั้งมั่นไม่ใช่สถานที่ยึดมั่นได้ ไม่ช้าก็ตาย จนกระทั่งกำลังใจของเราหมดจากความรักในระหว่างเพศ หมดจากความโกรธ แล้วกายคตานุสสตินี่มันสร้างความรังเกียจในร่างกาย จนกระทั่งจิตใจเห็นคนทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เหมือนกับซากศพ เมื่อพบอกับอารมณ์ที่เราไม่ถูกใจ ให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเขา ถือว่า เป็นเรื่องธรรมดาของคนมีกิเลส

อันนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ถือว่า ท่านผู้นี้เป็นพระอนาคามี แล้วในที่สุดกำลังใจของเรานี้ก็ตัด ตัดมานะความถือตัวถือตน เพราะว่าการถือตัวถือตนไม่ใช่ความดี เป็นปัจจัยของความทุกข์ ไม่ใช่สายของความสุข อารมณ์จิตคิดอย่างเดียวคือ เราต้องการดับ ดับเสียทั้งหมด สักกายทิฏฐิ การถือว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา เราไม่มี เพราะใช้ปัญญาพิจารณาแล้วว่าเป็นของจริง ดับความสงสัย สีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีลไม่มี มีความมั่นในศีล ไม่สงสัยในศีล ยึดมั่นดับอารมณ์ที่ไม่มั่นในศีลเลย นับว่า กามราคะ ก็ดับไปด้วยกายคตานุสสติ อสุภกรรมฐาน แล้วก็ ความโกรธ ความพยาบาท นั้นก็ดับด้วยเมตตาปรานี คือ พรหมวิหาร ๔ การหลงในฌาน คือ รูปฌาน และ อรูปฌาน ไม่มี คิดว่าความดียังไม่ต้องไปนิพพานเถอะเพราะแค่อนาคามีก็พอ เราไม่คิดอย่างนั้น คิดว่าชีวิตินทรีย์ยังทรงอยู่ จะไม่ยอมให้เวลาความดีที่มีนี้ โอกาสที่จะสร้างความดีให้หมดจด จะทำให้หมดไปในเมื่อต้องการยังอยู่

ต่อมาก็ยอมรับนับถือคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู คือ ฉันทะ ตัดเสีย ดับฉันทะความพอใจมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก ราคะเราก็ดับเสีย เมื่อเห็นว่ามนุษย์สวย เทวดาสวย พรหมสวย ไม่มี เพราะดินแดนทั้งหลายเหล่านี้เป็นดินแดนแห่งความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ สิ่งที่เราต้องการก็คือ พระนิพพาน อารมณ์ใจยึดมั่นถือมั่น หมายความว่า ตั้งใจเฉพาะพระนิพพาน มีอารมณ์เป็นสุข จนกระทั่งอารมณ์ทรงอุเบกขาถึงความเฉย เฉยต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบใจ เฉยต่ออาการทั้งหลายที่เข้ามากระทบจิตใจ ใจสบายเป็นสุข ชื่อว่าเราเข้าเขตแดนของความหมดทุกข์ เขาเรียกว่า พระอรหันต์ เพียงเท่านี้

บรรดาพระโยคาวจรทุกท่าน อนุสสติทั้ง ๑๐ ประการ ถ้าทรงได้จริง ๆ บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง อุบาสกอุบาสิกา ภิกษุ สามเณร ทั้งหลาย ก็จะมีกำลังใจพ้นทุกข์ มีอารมณ์แต่ความสุข คือ อารมณ์เข้าถึงพระนิพพาน เวลานี้หมดเสียแล้ว ขอลาก่อน ขอท่านทั้งหลาย ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าถึงธรรมนั้นโดยฉับพลัน สวัสดี.

Copyright © 2001 by
Amine
10 ส.ค. 2544 14:54:56