มรณานุสสติกรรมฐานและอุปสมานุสสติกรรมฐาน

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และ พระโยคาวจรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานพระกรรมฐานและสมาทานศีล วันนี้ก็จะขอพูดเรื่องอนุสสติทั้ง ๓ ประการ เพราะว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสสติทั้ง ๓ ประการนี้ จุดพิศดารก็มีอยู่เฉพาะกายคตานุสสติเท่านั้น เท่าที่พูดมาแล้ว บรรดาท่านทั้งหลายคงพอมีความเข้าใจ ทั้งนี้ถ้าหากว่าท่านฟังแล้วจะใช้สัญญาเป็นสำคัญโดยไม่ใช่ปัญญาประกอบ จะพูดให้ละเอียดย่อมเป็นไปไม่ได้ หากว่าใช้สัญญาความจำอย่างเดียว จะพูดให้ละเอียดเพียงใด ประโยชน์ก็ไม่เกิด ฉะนั้นเวลาที่ ท่านทั้งหลายรับฟังไปแล้ว จงใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญด้วย และ ใช้สัญญาด้วยประกอบกันจึงจะมีผล

สำหรับวันนี้ก็จะขอนำเอามรณานุสสติกรรมฐาน กับ อุปสมานุสสติกรรมฐาน บวกกับกายคตานุสสติ และ บวกกับสักกายทิฏฐิ เอาประมวลกัน ทั้งนี้จะแยกกันก็เสียเวลา เพราะว่าเวลาปฏิบัติจริง ๆ เขารวมกัน เริ่มต้นตั้งแต่อานาปานุสสติมาถึง พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ นี่อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็รวมกันมาเรื่อย ๆ เอาใจน้อมเข้าไปในความเดียวผสมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบื้องปลายที่จะเข้าถึงอรหัตตผลได้ ต้องเน้นหนักในกายคตานุสสติ มรณานุสสติ และ อุปสมานุสสติ ถ้าไม่เน้นหนักตอนนี้ การปฏิบัติไม่มีผลถึงที่สุด

สำหรับ กายคตานุสสติ ก็พูดมาแล้วพอสมควร เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ร่างกายนี้ประกอบด้วยอาการ ๓๒ มีธาตุ ๔ เป็นพื้นฐาน มีความสกปรกเป็นที่ทรงตัว แล้วก็พิจารณาต่อไป ในเมื่อสุขภาพร่างกายมันเป็นอย่างนี้แล้ว มันจะทรงตัวได้หรือเปล่า เมื่อหาความจริง ถ้าใช้ปัญญาไม่พบก็จงดูตัวอย่างนี้แล้ว มันจะทรงตัวสภาพของร่างกายไม่มีการทรงตัว มีการเสื่อม ไปเป็นปกติ ไอ้เสื่อมก็คือแก่ตามที่พูดมาแล้วในตอนต้น เห็นจะเป็นเรื่องของธรรมวิภาค ว่าเมื่อเกิดแล้ว เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ไม่สามารถล่วงพ้นความแก่ไปได้ แล้วก็เราต้องมีความ ป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความตายไปได้ มีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจให้เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นอาการอย่างนี้ไปได้ ฉะนั้นถ้าหากว่าในเวลาที่ทรงตัวอยู่ เราทำความดี ผลดีก็ให้ผลเป็นสุข ถ้าเราทำความชั่ว ผลของความชั่วก็ให้ผลเป็นทุกข์ อันนี้เราก็เลือกสุข

เมื่อร่างกายมันมีสภาพเป็นอย่างนี้ แล้วไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงมัน ในเมื่อเราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงไปได้ เราก็จะทำอย่างไร เราก็วางอารมณ์นี้ปกติ มันแก่ลงไปทุกวัน แต่เมื่อความแก่ปรากฏ เราจะทำใจอย่างไร ความจริงเราควรจะทำใจไว้ก่อน สร้างความรู้สึกไว้ก่อน ความแก่เป็นปกติธรรมดาของร่างกายเรา หลีกเลี่ยงไม่ได้ สภาพของคนแก่เป็นอย่างไร ผมหงอก ฟันหัก ตาฟาง หูตึง ร่างกายไม่ดี หนังเหี่ยวย่น เป็นอันว่าความจำก็เสื่อม สติสัมปชัญญะก็เลวทราม ร่างกายก็ใช้งานไม่สะดวก

นั่งมองดูความแก่ของคนอื่นเสียก่อน ว่าสภาพของความแก่ของเขาเป็นอย่างไร แล้วก็จงคิด สักวันหนึ่งข้างหน้าอาการอย่างนี้มันจะปรากฏกับเรา แล้วก็จงคิด สักวันหนึ่งข้างหน้าอาการอย่างนี้มันปรากฏกับเรา ในเมื่ออาการอย่างนั้นปรากฏ เราจะสร้างึความรู้สึกอย่างไร เราจะเสียใจ เราจะเศร้าใจ เพราะความแก่เข้าครอบงำอย่างนั้นหรือ ถ้าเราทำอารมณ์ใจอย่างนั้นก็ไม่ถูก ต้องใช้อุเบกขาใน สังขารุเปกขาญาณ อุเบกขาตัวนี้เป็นสังขารอุเบกขาจรัง ต้องวางเฉยในมัน เพราะว่าถ้ามันจะแก่ ในเมื่อเราห้ามความแก่ไม่ได้ เราจะเสียใจ เศร้าใจ มันก็ไม่เกิดประโยชน์

ก่อนที่จะวางเป็นสังขารุเปกขาญาณ เราก็มานั่งดูว่าร่างกายนี้น่ารัก น่าชมไหม ที่เราพยายามเลี้ยงดูด้วยประการทั้งปวงประคบประหงมด้วยเหตุต่าง ๆ หาอาหารให้ ให้ยารักษาโรค ให้เครื่องประดับ ให้สถานที่อยู่ บำรุงบำเรอความสุขทุกอย่าง แต่ทว่าเราไม่ต้องการให้มันแก่ มันกลับจะแก่ จุดนี้ต้องตั้งไว้ในเขตของนิพพิทาญาณ คือ สร้างความเบื่อหน่ายว่าขันธ์ ๕ ประเภทนี้มันเป็นของไม่ดี ถ้าเป็นเพื่อน เราก็ต้องเลิกคบ เพราะว่าเป็นเพื่อนที่อกตัญญูไม่รู้จักคุณ ไม่รู้จักสนองคุณเราบ้าง เอาเปรียบเราอย่างเดียว เราปรนเปรอทุกอย่าง แต่เพื่อนไม่เอาใจเราเลย ให้เราเป็นฝ่ายเอาใจแต่ผู้เดียว อย่างนี้ก็ต้องเลิกคบ

สำหรับขันธ์ ๕ คือ ร่างกายก็มีสภาพเดียวกัน ในเมื่อเราปรนเปรอมันทุกอย่าง มันก็แก่ มันก็เสื่อม มันทรุดโทรมทุกอย่าง เราจะบำรุงอย่างไรก็ไม่มีอาการทรงตัว ตอนนี้สร้างความเบื่อหน่าย ให้เกิดว่าถ้าเราจะเกิดมีขันธ์ ๕ แบบนี้อีกต่อไป สภาพร่างกายก็ทรงอยู่แบบนี้ เราก็ไม่ต้องรู้จักจบจากความลำบาก ในเมื่อความเบื่อเกิดขึ้น ทั้งในนิพพิทาญาณ เบื่อที่จะมีขันธ์ ๕ เบื่อที่จะมีทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

ในเมื่อนิพพิทาญาณมันเกิดขึ้นแล้ว ตอนนี้ระวังใจของคน คิดอยากจะฆ่าตัวตายเพราะเหนื่อยหน่าย อันนี้ทำไม่ถูก ทำอย่างนั้นไม่ถูก ต้องใช้ สังขารุเปกขาญาณ เข้ามาคุม ในเมื่อมันเกิดแต่ถ้าว่ามันเกิดมาแล้ว เราก็ต้องปล่อยมันไป ปฏิบัติทุกอย่างตามใจมันตามหน้าที่ แต่กำลังใจของเรานี้รู้สึกรังเกียจในมัน มันอยากจะแก่ก็เชิญแก่ อันนี้ถึงเวลาป่วยเกิดขึ้น แล้วก็มองดูว่านี่เป็นอย่างนี้อีกแล้ว แก่ไม่พอแล้วยังก็ยังจะหาเรื่อง สร้างความเสียดแทงให้เกิดทุกขเวทนา จะป้องกันอย่างไร มันก็ไม่ยอมรับฟัง ร่างกายอย่างนี้ควรเป็นที่น่าปรารถนาของเราอีกหรืออย่างไร เรียกว่าน่ารัก น่าพอใจ หรือว่าน่าเบื่อ เมื่อพิจารณาไปจริง ๆ แล้วมันน่าเบื่อหน่าย น่ารังเกียจ

หรือว่า ถ้าเราจะเกิดอีก สภาพอย่างนี้ก็ปรากฏ เมื่อเราเบื่อในมัน จิตใจเป็นอย่างไร เบื่อเป็นนิพพิทาญาณ แต่เราก็ต้องใช้สังขารุเปกขาญาณ ถ้าเราสร้างความโง่ เราคบความโง่ให้มันเกิดขึ้นมา เพราะอาศัยตัณหาเป็นเหตุ ตัณหาที่สำคัญคือทะยานอยากให้ปัจจัยของความเกิด นั่นก็คือ ความอยากมีคู่ครอง ความอยากรวย อยากสวย อยากโกรธ อยากเกลียด อาการอยากอย่างนี้มันเป็นปัจจัยที่เรียกว่า ตัณหา ดึงให้มันเกิดอุปาทาน มีความยึดมั่น ความเกิดเป็นคนเป็นของดี นี่ในตัวยึดมั่นอกุศลกรรมในเมื่อจิตคิดผิด การกระทำก็ทำแบบผิด อกุศล แปลว่า ไม่ฉลาด นี่ว่าทำทุกอย่าง ในความรัก คือ ในกามารมณ์ คือ พอใจในรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส ทำทุกอย่างในเรื่องของความโลภโมโทสัน ทำทุกอย่างในเรื่องความโกรธ ความหลง

ทุกอย่างคือ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเราเป็นของเรา โดยที่เราไม่ได้คิดว่าเรากับมันจะจากกัน นี่เพราะอาศัยความโง่ แบบนี้ที่เราคบมันในอดีตชาติ มันจึงเป็นปัจจัยให้เราเกิดความทุกข์ คือ คบกับขันธ์ ๕ ที่ไม่มีคามจริงจัง

ฉะนั้น เมื่อเรารู้เหตุว่าตัณหาเป็นเหตุ เพราะอาศัยความอยาก พอใจอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส แล้วก็อยากรวย อยากโกรธ อยากยึด เมื่อเราทราบว่าตัวอยากมันไม่ดีเสียแบบนี้ เราก็เลิกคบ เลิกอยากตัวไหน เลิกอยากขันธ์ ๕ ตัวเดียว เลิกอยากเกิดเสียตัวเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ระงับหมด

เป็นอันว่า เราก็กหนดใจว่า ขึ้นชื่อว่าความยากลำบากกาย ลำบากใจที่มีอยู่ในเวลานี้ เพราะมีขันธ์ ๕ เป็นตัวตั้งตัวตี ก็เพราะอาศัยความอยากเป็นสำคัญ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขึ้นชื่อว่า อยากมีขันธ์ ๕ ไม่มีสำหรับเรา เพราะมันเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ การยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างในโลก วัตถุธาตุต่าง ๆ เป็นเราเป็นของเราไม่มี มันเป็นเครื่องอาศัยชั่วคราว เพราะว่ายังมีลมปราณเท่านั้น

เป็นอันว่า ร่างกายอย่างเราที่เกิดมาเพื่อเป็นเรา ร่างกายของบุคคลอื่น วัตถุธาตุต่าง ๆ เราไม่พึงปรารถนามันอีก แต่ถ้าว่ามันมีแล้ว มันเกิดแล้ว ก็ทำใจวางเฉย คิดหาทางหนีไว้ตลอดกาล ว่าสิ้นลมปราณเมื่อไรเป็นความดี สภาพอย่างนี้จะไม่มีสำหรับเรา

นี่คิดเพียงเท่านี้นะ ป่วยมาคิดถึงเห็นคนตายที่เขาตายเป็นครู ว่านึกถึงถ้อยคำขององค์สมเด็จพระบรมครูที่ตรัสว่า สัพเพ สัตตา มริสสันติ มรณังติ หิ ชีวิตตัง เป็นอันว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งหมดที่เกิดมาในโลกนี้ไม่มีใครเหลือ ปรนเปรอย่างนี้มันตาย มันตายแล้ว เราตายไหม ถ้าเราตายเสียด้วย คำว่าตกนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเทวดา เป็นพรหมมันก็ไม่มี ฉะนั้น เมื่อมันตาย เราไม่ตาย มันคือใคร มันคือธาตุ ๔ ที่ประกอบกันด้วยอาการ ๓๒ เป็นของน่าเกลียด นั่นคือ มันไม่ใช่เรา เราคือจิต ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในร่างกายนี้ เป็นอันว่า ในเมื่อมันตาย เราไม่ตาย จะคบมันทำไม เราก็เลิกคบ ขึ้นชื่อ ขันธ์ ๕ ประเภทนี้ มันไม่ดี มีความตายเป็นในที่สุด

แล้วถ้ากล่าวต่อไปว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ หมายความว่า วัตถุธาตุใด ๆ แม้แต่คนและสัตว์ ที่เราถือว่าเป็นสมบัติของเรา เป็นผัวเรา เมียเรา พ่อเรา แม่เรา ลูกเรา หลานเรา เพื่อนของเรา วัตถุธาตุต่าง ๆ อาคารบ้านเรือน เงินทอง ทั้งหมดที่เราถือว่าเป็นของเรา ในเมื่อเราตายแล้ว ร่างกายมันตายแล้ว เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะปกครอง ฉะนั้นเราต้องทำกรรมดี ไม่ทำกรรมชั่ว คือ

๑. ทานมัยมีทานเป็นปกติ เพื่อตัดความโลภ เป็นปัจจัยแห่งความไม่เกิด
๒. ศีลมัยมีศีลเป็นปกติ เพื่อป้องกันอบายภูมิ
๓. ภาวนามัยมีสมาธิตั้งมั่น มีปัญญาฉลาด รู้เท่าสภาวะตามความเป็นจริง

รวมความว่า สักกายทิฏฐิ ว่า ร่างกายนี้เป็นของไม่ดี มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของไม่ดี ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ เป็นพื้นฐาน มีอาการ ๓๒ เป็นกายคตานุสสติ มองซึ้งลงไปเห็นความ สกปรกของร่างกาย อันนี้ถือว่ามันเป็นความไม่ดีอย่างหนึ่ง นั่นเป็น อสุภสัญญา แล้วมันจะต้องแก่ มันจะต้องป่วย มันจะต้องตาย จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มันมีสภาพไม่ทรงตัว อันนี้เป็นวิปัสสนาญาณ เห็นไหมครับ

แล้วก็นั่งมองดูไปว่า เราที่จะทำลายความเกิดได้ มีอะไรเป็นเหตุ เราก็มามองดูสมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาทั้ง ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าค้นคว้า ความไม่เกิด คล้ายว่าค้นไม่ได้ ต้องสร้างกำลังใจเพื่อความฉลาด เมื่อสิ้นเวลาเท่านี้แล้ว เมื่อชาติสุดท้ายองค์สมเด็จพระมหามุนีเป็นลูกของกษัตริย์ แล้วก็เป็นกษัตริย์เองด้วย ช่วยทำนุบำรุงประชากรทุกอย่างให้มีความสุข ต่อมาก็ออกแสวงหาภิเษกรมณ์ พยายามทำทุกอย่างตามที่ประเพณีนิยมของคณาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้น สิ้นเวลา ๖ พรรษา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ สมเด็จพระพิชิตมารทรงฌานด้วยสมาบัติ ๘ คือ ได้รูปฌาน๔ และ อรูปฌาน๔ อารมณ์ของรูปฌานก็ดี ของอรูปฌาณก็ดี ถ้าจิตทรงฌาน ๔ เป็นอารมณ์ที่ว่างจากกิเลส หมายความว่ามีอารมณ์เป็นสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์แห่งอรูปฌาน

อันนี้เป็นอารมณ์ของ อรูปฌาน ฟังแล้วคล้ายจะเป็นพระอรหันต์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กำลังละเอียดแบบนี้ ถ้าองค์สมเด็จพระมหามุนีไปศึกษากับครูที่เป็นพราหมณ์ ครูที่เป็นพราหมณ์ เขามีความต้องการ อย่างเดียวคือไปเกิดใน อรูปพรหม ถือว่ายังมีรูปมันเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีรูปเสียแล้วหาทุกข์ไม่ได้

การถูกด่า ถูกชม ถูกว่า ป่วยไข้ไม่สบาย ความแก่ความตายมันจะมีขึ้นได้ เพราะอาศัยการมีรูป ถ้าไม่มีรูปอาการอย่างนั้นไม่มี อันนี้จิตของเขาไม่โปร่ง ความจริงโปร่งบ้างแต่มันไม่ปลอด คือ ยังไม่ปลอดจากตัณหา ก้าวไม่ถึงที่สุด ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมาใคร่ครวญถึงเพียงนี้ แล้วยังเอาดีไม่ได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงแสวงหาใหม่

ต่อมาวันสุดท้าย สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงใช้ต้นโพธิ์เป็นที่อาศัย ใช้หญ้าคาเป็นสถานที่รองนั่ง หันหลังพิงต้นโพธิ์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าเราไม่บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งไป ถึงแม้ว่าชีวิตอินทรีย์จะตายเสียที่ตรงนี้ก็ตาม เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี่ แล้วในที่สุด องค์สมเด็จพระชินศรี ก็ทรงได้ปัญญาเกิดขึ้นเบื้องหลังใกล้สว่างว่า เราจะต้องทำลายกิเลสด้วยอริยสัจ

สิ่งนั้นก็คือ เห็นว่าทุกอย่างความจริงมันเป็นทุกข์ ว่า ความจริงคนก็ดี สัตว์ก็ดี วัตถุธาตุก็ดี ร่างกายทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ถ้าคบมันก็ถือเชื่อว่าเราคบทุกข์มันหาสุขไม่ได้ มีผัวก็ทุกข์ มีเมียก็ทุกข์ มีลูกก็ทุกข์ ผ้าผ่อนท่อนสไบที่หามาได้ เราหามาได้ด้วยความทุกข์ แต่ตัวทุกข์ตัวนี้ท่านทั้งหลาย ถ้าจะว่ากันไปอีก ๓๐ ปี มันไม่จบ ก็นั่งพิจารณาดูก็แล้วกัน

องค์สมเด็จพระทรงธรรม์มองเห็นทุกข์แล้ว พระองค์ก็ค้นคว้าต่อไป ถ้าเราต้องการจะให้พ้นทุกข์จริง ๆ นี่เราทำอย่างไรมันจึงจะพ้นทุกข์ พระองค์ก็ทรงทราบด้วยปัญญาในเวลานั้นว่า ตัวทุกข์จริง ๆ นี่ถ้าจะฆ่ามัน ถ้าเราฆ่าท่ทุกข์มันก็เหมือนกับดับไฟที่เปลว ฉะนั้นเราก็ต้องฆ่าที่ต้นเหตุเหมือนกับดับไฟ ต้องดับไฟที่ขอนไม้ซึ่งเป็นเชื้อ ไม่ใช่ดับที่เปลวไฟ

แล้วก็อะไรเป็นเชื้อของความทุกข์ ก็ทรงทราบว่า ตัณหา คือ ความอยากเป็นทุกข์ นี่การจะปลดเปลื้องความอยากจะทำอย่างไร ก็ต้องอาศัยมรรค ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คือ ศีลบริสุทธิ์ สมาธิตั้งมั่น ตัวตัดนิวรณ์ ปัญญาตัดกิเลส คือ ความอยากให้เด็ดขาด เป็นอันว่า สมเด็จพระบรมโลกนาถจึงได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันต์

เราก็ต้องมานั่งนึกเหมือนกันว่า ในเมื่อเราเห็นว่ากายยึดถือไม่ได้ มีความเกิด ความแก่ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ต้องแสวงหาความดี คือ จับ มรณานุสสติกรรมฐาน ตัวนี้เอาไว้ว่า สักวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องตาย ในเมื่อความตายมาถึงเรา เราจะไปทางไหนเลือกทางไว้เลย อย่าตายอย่างคนตาบอด เราว่าเราจะต้องออกจากบ้านหลังนี้ก่อนจะไปสะสมทรัพย์อะไรบ้าง มีไว้เพื่อ เป็นความสุขวันหน้าและข้างหน้า ร่างกายอันนี้มันจะพัง พังเมื่อไรก็ไม่แน่ มันอาจจะพังเดี๋ยวนี้ หรืออีกสักครู่จะพัง จะพังด้วยอาการอย่างไรเราก็ไม่ทราบ ฉะนั้น เราก็ต้องหาทางตัด ตัดด้วยวิธีไหน ก็ตัดด้วยวิธีมรณานุสสติกรรมฐาน กันไว้ว่าตายเมื่อไรก็ช่าง เป็นสังขารุเปกขาญาณ พร้อมกันนั้นยึดอารมณ์พระนิพพานไว้เป็นอารมณ์

นิพพาน แปลว่า ดับ ดับจากการเกิดความในความเป็นคน ดับจากการเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ สัตว์นรก เป็นอสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ดับจากการเกิดเป็นเทวดา หรือ พรหม อารมณ์ของเรา เข้าถึงพระนิพพาน เป็นแดนอมตะ ก็เป็นอันว่าเราจะต้องละด้วยอุปสมานุสสติกรรมฐานเข้ามาควบคุม ทำอย่างไรถ้ากายไม่ดี ก็ต้องนั่งมอง มองดูว่าโลภะ ความโลภ เราตัดด้วยการให้ทาน คือ จาคะ สละทุกอย่าง แม้แต่ร่างกายเราก็คิดตัด คิดสละ จาคะตัวนี้นะครับ ต้องสละกายเลย แต่อย่าไปเชือดคอตายอย่างพระโคธิกะ สละว่ามันจะป่วย มันจะตายอย่างไร เราไม่เกี่ยวข้อง

ต่อมาก็คือ ศีล คุมศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุให้คนอื่นทำลายศีล ไม่ยินดีไม่ว่าคนอื่นทำลายศีลแล้ว สมาธิคือ อารมณ์เมื่อทรงอารมณ์ทรงตัว มองไม่เห็นความสวยสดงดงามของร่างกาย มองไม่เห็นความทรงตัวของร่างกาย เห็นความมีร่างกายเป็นสภาพเหมือนกับศัตรูร้ายที่จองล้างจองผลาญทำให้เราเป็นทุกข์ จิตของเรามองดูแล้วเราก็รู้สึกมีความสุข ถึงว่าร่างกายนี้เป็นอย่างนี้เป็นอย่างนี้ช่างมัน ชาตินี้ชาติสุดท้ายที่เราจะเป็นทาสของตัณหา มีร่างกายแบบนี้ จิตมันทรงกำลังใจไว้อย่างนี้ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างมันสลายไปหมด แล้วก็เชื่อองค์สมเด็จพระบรมสุคตว่า กายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่พึงปรารถนาในมัน ร่างกายของคนอันนั้นเราก็ไม่ต้องการ วัตถุธาตุใด ๆ ที่มีเป็นบ้านช่อง เรือนโรง ทรัพย์สินสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันกับเราต้องจากกัน เมื่อสภาพของจากกันแบบนี้เกิดมาอีก มันก็ทำอย่างนี้ เราไปพระนิพพาน

พระนิพพานจะไปได้อย่างไร ต้องใช้สังขารุเปกขาญาณ คือ ใช้ความวางเฉยในขันธ์ ๕ เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย พูดมากไปไม่ได้ พรุ่งนี้จะนำเอาอริยสัจ ๔ มาสรุป เป็นอันว่าหมดเรื่อง อนุสสติกันเสียที

สำหรับวันนี้เวลาหมดแล้ว ขอสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วทุกท่านดำรงอยู่ในอิริยาบถที่ท่านเห็นว่าสมควร ท่านจะนั่ง นั่งท่าไหนก็ได้ หรือว่าจะนอน นอนท่านไหนก็ได้ หรือจะยืน หรือจะเดินแบบจงกรมก็ได้ ใช้กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยที่กำลังใจของท่านจะเข้าถึงในเวลานี้ ว่ามาเข้าถึงไหน จนกว่าเวลาที่ท่านจะเห็นสมควร สวัสดี.

Copyright © 2001 by
Amine
08 ส.ค. 2544 22:42:18