กายคตานุสสติกรรมฐาน

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย และ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เวลานี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปก็โปรดฟังคำแนะนำในการเจริญพระกรรมฐาน วันนี้จะว่าเฉพาะ กายคตานุสสติ และ จะบวกสักกายทิฏฐิ ตามแบบฉบับในการเจริญพระกรรมฐาน แต่ทว่าขอท่านทั้งหลายจะต้องเริ่มตั้งแต่ต้นที่ท่านได้จุดใดจุดหนึ่งมาก่อน แล้วก็เรียงมาตามลำดับ เร่มต้นให้จิตเข้าถึงความสุขที่สุด เท่าที่จะพึงทำได้ แล้วต่อมาเรียงมาตามลำดับที่ท่านเคยปฏิบัติให้มีอารมณ์จิตสม่ำเสมอกัน อย่าไปกลัวช้า เมื่อจิตได้อารมณ์ได้เสมอดัน เรียงตามลำดับมาแล้ว ก็จงทำถึงจุดสุดท้าย จิตจะทรงอยู่ในอารมณ์ของฌานนั้น การจะพิจารณาก็ดี จะทรงอารมณ์เป็นสมาธิก็ดี ผลจะทรงตัว

และการปฏิบัติแบบนี้ก็เป็นวิธีที่มีความสำคัญสูง เริ่มว่าจิตทรงตัวแล้วการพิจารณาด้วยปัญญาจะเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันนี้ก็จะขอทวนสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ ได้แก่ การพิจารณาพระกรรมฐานในเรื่องของกาย คือ ร่างกายเป็นเรา เป็นของเรานี้ ว่า มันมีสภาพสกปรกและไม่เป็นชิ้น เป็นท่อน เป็นต้น อันนี้จะขอพูดละเอียดสักนิดหนึ่ง เพราะนั่นก็คือกายนี้ ท่านแยกเป็นอาการ ๓๒ ค่อย ๆ พิจารณาไป แต่ว่าอย่าทำแบบรวบรัด และรีบร้อนจนเกินไปให้ใจมันทรงตัว พิจารณาอย่างนี้ หาตามความจริงดูว่า ในกายนี้มีตามความเป็นจริงอย่างนี้บ้างหรือเปล่า คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เส้นเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า สำหรับที่ว่ามานี้ทั้งหมดเป็นธาตุดิน

ร่างกายนี้พระพุทธเจ้าท่านกล่าวมาว่า มีสภาพจากธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ต่อไปเป็นเรื่องของธาตุน้ำ คือ มี ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อมูก

จากนั้นต่อมาก็เป็นธาตุไฟ ธาตุไฟท่านแบ่งออกเป็น ๔ คือ ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ไฟที่ทำให้ร่างกายกระวนกระวาย ไฟที่ทำให้อาหารให้ย่อย ก็คือ ไฟสภาพของความร้อน

ทีนี้ขั้นต่อไปก็กล่าวถึงลม ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมเข้าไปตามตัว ลมหายใจ

วิธีกำหนดพิจารณากายนี้ ท่านให้พิจารณาว่าเป็นธาตุ ๔ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ประชุมกันแล้วมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ในเมื่อเราไม่มีในกาย กายไม่มีในเรา เมื่อฟังตามนี้แล้ว ขอบรรดา ท่านทั้งหลายจงพิจารณาค่อย ๆ คิดตามว่า ลักษณะของที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ แบ่งเป็นอาการ ๓๒ พยายามด้วยคิด คิดน้อย ๆ คิดแล้วก็พิจารณาไปด้วย

คิดถึงผมว่าสภาพของผมนี่ มันอยู่ในอำนาจของเราหรือเปล่า ถ้าผมเป็นเราจริง เราต้องการให้ผมยาวแค่ไหน มันก็ต้องยาวอยู่แค่นั้น เราไม่ต้องให้เปลี่ยนแปลงสี มันก็ต้องไม่เปลี่ยน เราไม่ให้มันยุ่งเหยิง มันก็ไม่ยุ่ง เป็นอันว่า ผมตามใจเราหรือเปล่า เมื่อพิจารณาไปแล้วก็เป็นของไม่ยากนะครับ ถ้าเราไม่พยายามโง่ เราก็ได้ทราบว่าผมนี่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจคำสั่งของใจ เราคือจิตที่เข้ามาอาศัยกายนี้ เป็นอันว่าผมนี้มันยาวเรื่อย เกินความต้องการของเรา แต่บางรายก็ผมน้อยเกินไป ที่เราไม่ต้องการให้มันร่วงหล่นให้มันอยู่พอดี มันก็ไม่หยุดร่วงแล้ว มันก็ไม่สั้นเกินไป มันเกิดน้อยเกินไป แล้วก็สภาพของผมเราต้องการของสะอาด ผมถ้าเราไม่สระสาง ไม่ล้าง ไม่ชำระ มันจะสะอาดหรือสกปรก อันนี้ผมขอให้ท่านทั้งหลายใช้ปัญญาของท่านพิจารณาเอง ซึ่งมันเป็นของไม่ยาก

มาสำหรับขนก็เหมือนกัน เล็บก็เหมือนกัน ฟันก็เหมือนกัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ลองนึกซิครับ ลองนึกไปตามลำดับ ถ้าเรามองให้เลยหนังกำพร้าเข้าไป นึกถึงอาการ ๓๒ และหนังกำพร้าด้วย ผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี ฟันก็ดี หนังก็ดี เนื้อก็ดี เอ็นก็ดี กระดูกก็ดี ลองนึกลงไป เยื่อในกระดูกก็ดี ม้าม นึกถึงสภาพของม้าม หัวใจ หัวใจนี้ไม่ใช่จิตนะครับ หัวใจนี่มันเป็นอุปกรณ์อันหนึ่งที่สร้างทำงานอยู่ในกาย เป็นตัวเครื่องจักรตัวหนึ่ง แล้วก็ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ลองนั่งนึกถึงสภาพที่มันอยู่ภายในของร่างกาย ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ว่ามันสะอดา หรือมันสกปรก มันมีสภาพเป็นอย่างไรบ้างครับ ที่มันอยู่ในร่างกายนี่ เราก็คุมมันได้ เราไม่ได้รังเกียจ เพราะเรามองไม่เห็น แต่ว่าถ้าบังเอิญจะมีใครสักคนหนึ่งเขาตาย แล้วก็มีสัปเหร่อ หรือ เจ้าหน้าที่เขาผ่าร่างกายออกมาดู เราจะมองดูตรงไหนบ้างว่ามัน น่ารักน่าสะอาด น่าจับ น่าแตะ น่าต้อง น่าประคอง น่าประเล้าประโลม อันนี้จะมีไหมครับ นั่งนึกดูให้ดี ช่วยผมนึกด้วยว่ามีตรงไหนบ้างที่มันน่ารัก

ผมที่ปราศจากจิต น่ารักไหมครับ พูดอย่างนี้จำยาก ก็ผมสำหรับคนตายนั่นเอง ที่ไม่ได้สระสาง ไม่ชำระล้างมัน มันน่ารักไหม หรือ ผมของบุคคลทั้งหลายที่ไม่ได้สนใจกับผม อย่างกับคนบ้าเป็นต้น ปล่อยยุ่งเหยิงรกรุงรัง มีเหงื่อไคลจับ มันน่ารักไหมครับ มาผม ขน เล็บ ฟัน ก็เหมือนกัน เล็บ เล็บปล่อยไม่กี่วันมันก็สกปรก ยิ่งฟันไม่แปรงฟันสักหน่อย ก็โอโห เลอะเทอะแล้วครับ ฟันอยู่ในปากเป็นที่ ปรารถนาของเรา แต่ถ้าฟันออกจากปาก เราก็บอกว่าฟันสกปรกใช่ไหม หนังถ้าเราไม่ชำระล้างมันก็ดีวันเดียว ไม่อาบน้ำวันเดียวท่าจะทนไม่ไหว สภาพของเนื้อที่แล่ถลกหนังออก ถ้ายิ่งเอาเนื้อออก จะได้เอ็น สวยไหมครับ นึกดูก็ดูทุกส่วนที่ลอกเนื้อออกแล้ว มีสภาพเป็นอย่างไร ท่านมีความรู้สึกเป็นอย่างไร ก็ไม่ทราบ ผมอยากอาเจียนทันที เพราะมีความรู้สึกว่าเห็นคนเหมือนเห็นศพ เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ลองนึกดู ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ปล่อยไส้ออกมาเลอะ มันน่ารักไหม อาหารใหม่ อาหารเก่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันอยู่ที่ไหนครับ มันอยู่ภายในกายของเราใช่ไหม

แล้วลองนึกถึงสภาพมันว่า ไอ้สิ่งที่มันอยู่ในกายว่าสะอาดหรือว่ามันสกปรก นั่งนึกดูซิว่า ร่างกายของเรานี่มันมีอุปมาคล้าย ๆ กับถุง ถุงเศษเนื้อไส้ในของสัตว์ มันเต็มไปด้วยสภาพสกปรก และ สภาวะของมัน ถ้าผ่าท้อง ออกไปดูแว มันจะเหม็น เหม็นคาว เหม็นกลิ่นชอบกล รู้สึกว่าเรารังเกียจกันทุกคน นี่เป็นเรื่องของธาตุดิน

ส่วนที่เป็นธาตุน้ำนี่ไปกันใหญ่ ดี เสลด เสมหะ เสลดนี่อยู่ในคอ เราอมได้กลืนได้ พอบ้วนมันแล้วรังเกียจ น้ำหนองไหลจากกาย สะอาดหรือสกปรก เลือด เลือดนี่เราต้องการ คนเลือดฝาดดีนี่ สวยเปล่งปลั่ง แต่ว่าเลือดหลั่งไหลออกมาจากร่างกาย บอกว่า เลือดสกปรก น้ำเหงื่อ น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตรก็คือ ปัสสาวะ

ลองนั่งนึกดูทีครับว่ากายของเรานี่ ที่เรียก กายคตานุสสติ ตามนึกถึงสภาวะความเป็นจริงในกาย ถ้านั่งไล่เบี้ยอยู่อย่างนี้แล้ว จะมีความรู้สึกอย่างไง เห็นคนปั๊บ จิตจะต้องนึกถึงสภาพอย่างนี้ทันที เห็นคนหรือสัตว์ก็ตามที จงอย่าเห็นแต่เปลือก จิตของคน ปุถุชน คนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส บางทีไม่ได้มองเปลือก ไปมองสิ่งที่หุ้มเปลือก ผ้าผ่อนท่อนสไบที่เขาแต่ง มองแล้ว มันสวย แต่งสีนี้ก็สวย สีนั้นก็สวย ทรงนั้นก็ดี สีนั้นก็สะอาด มันฉูดฉาดน่ารัก นี่เรื่องของคนที่ไม่มีปัญญาเลย ไม่ใช่เรื่องของคนที่มีปัญญาน้อย มองเข้าไปไม่ถึงหนัง มองเข้าไปคิดแค่เสื้อผ้าอาภรณ์ ก็สวยเสียแล้ว เรียกว่า เป็นคนไร้ปัญญา แล้วก็คนไร้สัญญา คนประเภทนี้น่ะ ท่านเรียกว่า เป็นผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส คือ ปุถุชนไม่ได้หาของจริง

ก็สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเราต้องการ เราก็ทำตุ๊กตา ทำหุ่นขึ้น ไปหาเครื่องประดับเอามาประดับ ตุ๊กตาหรือหุ่นนี่มันดีกว่าคนตั้งเยอะ เพราะสิ่งที่กล่าวมาแล้ว อาการทรุดโทรมมันก็น้อย กลิ่นคาวมันก็ไม่มี อันนี้ดีกว่าไหมครับ ถึงแม้เป็นกายหลอก แต่ก็เต็มไปด้วยการทรุดโทรม กายประเภทนั้นก็มีธาตุ ๔ เหมือนกัน คือ มีเหมือนกับร่างกายเรา ร่างกายของคนและสัตว์นี่นั่งนึกกันตรงนี้นะ วันนี้ผมต้องการให้ท่าน ทั้งหลายพิจารณาตามนี้ด้วยปัญญา แล้วก็พิจารณาย่อย ๆ นั่งไล่เบี้ยกันตามสบาย

สำหรับธาตุไฟ ไม่มีอะไรหรอกครับ ไฟธาตุเราจะรังเกียจ ปัญญามันต้องดีแล้ว ถึงจะรังเกียจไฟ เพราะอะไร ไฟมีสภาพของความร้อน ก็มีความรู้สึกยาก คนที่เป็นไข้จับแล้วก็สั่น นั่นธาตุไฟมันหย่อนกำลังตัวลง เป็นอันว่า ธาตุ ๔ นี่ ถ้ามีกำลังเสมอกัน เราพิจารณายาก เพราะว่ามันมีความแข็งแรง ไม่มีอาการทรงตัว นี่ถ้าหากว่าอย่างใดอย่างหนึ่งมันหย่อน ถ้าธาตุน้ำหย่อนลงไป ธาตุไฟกำเริบก็ร้อน ธาตุไฟหย่อน ธาตุน้ำกำเริบ ธาตุลมกำเริบก็หนาว หากว่าธาตุดินหย่อน ธาตุดินน่ะมันหย่อนทุกวัน เพราะมันยานอยู่เรื่อย มันซูบ มันซีด กายมันเศร้าอยู่เสมอ ที่มีสภาพสลายตัวทุกวัน ธาตุน้ำ มันก็เสื่อมทุกวัน ธาตุไฟมันก็เสื่อมทุกวัน ธาตุลมก็มีสภาพแปรปรวนทุกวัน สำหรับธาตุดิน ธาตุน้ำที่มันทรงอยู่ได้เพราะอาศัยเรากินอาหาร เรากินอาหารนั้นเข้าไปเติมธาตุที่มันสลายตัวไปแล้ว หรือว่า เสื่อมกำลังจะสลายตัว

ที่แพทย์แผนปัจจุบันเขากล่าวว่า เซลล์ต่าง ๆ บางตัวมันตายไปแล้ว ตัวอื่นก็เกิดใหม่ ถ้าป็นเด็กก็ไม่ค่อยจะเสื่อม เกิดมีความสมบูรณ์ถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาว ถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ทีนี้ไอ้ตัวที่ตายไป มันมากกว่าตัวที่เกิดมาแทน อาการเปล่งปลั่งเต่งตึงของร่างกายมันก็หมดไป มันก็มีแต่ความเหี่ยวแห้งลงมา เหมือนกับถุงใหญ่ที่เคยใส่ของเต็มก็ดูเปล่งปลั่ง แต่ของภายในมันย่อหย่อนลงไป มันก็ชักจะร่อยหรอลง เป็นอันว่า สภาวะของร่างกายหรือถุงมันย่น สภาพของคนก็มีสภาพอย่างเดียวกัน

ก็เป็นอันว่า เราก็ต้องดูตามความเป็นจริงที่ท่านบอกว่า ของเก่าหมดไป ของใหม่เกิดแทน มันเป็น สันตติ ตอนนี้เป็นวิปัสสนาญาณ แต่มองสภาพจริง ๆ ของร่างกายว่าส่วนไหนบ้างที่มันสะอาด ท่านกล่าวไว้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร บอกว่า มันเหมือนกับไถ้และถุงที่เขาใส่ของสกปรกทุกอย่าง ผูกหัวผูกท้ายถุงนั้นมันก็สีดี เราก็เลยคิดว่า เจ้าถุงนี้สวย คิดว่าในถุงมันดี แต่ว่าพอปล่อยหัว ปล่อยท้าย ไอ้ขี้ ไอ้เยี่ยว ไอ้สิ่งที่เหม็นอยู่ในนั้น แล้ว มันหลั่งไหลออกมา เราก็รังเกียจ

นี่สำหรับกายก็เหมือนกัน จงอย่าดูเฉพาะกายคน ให้ดูกายของเราเป็นสำคัญ เห็นกายของเราแล้วก็กายของคนอื่นเปรียบเทียบกัน อย่าไปนั่งหลอกตัวเอง สัญญาคือความจำ เท่าที่ผมพูดไปนี้ ถ้าหากว่าท่านจำได้นั่นคือสัญญา ถ้ายังทรงตัวอยู่ด้วยอำนาจของสัญญา จำได้ว่าผมพูดมานี้ แต่ว่าความจริงแล้วนี่น่ะไม่ได้มีความรู้เอง ความรู้อันนี้เป็นของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ท่านจงอย่าเกาะผม อย่าเกาะร่างกายของผม แล้วก็จงอย่าเกาะเสียงของผม

อารมณ์ที่จะเกาะต้องเกาะพระพุทธเจ้า เพราะว่าเสียงนี้พูดตามเสียงที่พระพุทธเจ้าท่านพูด ถามว่า เสียงพระพุทธเจ้ามาจากไหน ก็ไม่ยากหรอก ก็เรื่องของตำราท่านสอนมาแล้ว ตำราหรือวิชา ความรู้ทรงอยู่ เอาจิตน้อมลงไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ของ องค์สมเด็จพระบรมครู ดูว่าส่วนไหนหนอที่น่ารัก มองผิวพรรณของใครว่าเปล่งปลั่ง มองให้ทะลุหนังไปถึงเนื้อ ทะลุเนื้อเข้าไปถึงตับไต ไส้ ปอด พยายามคิดหาความเป็นจริง ว่าส่วนไหนบ้างที่เราน่ารัก ถ้ามองไม่เห็นก้เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เวลาเขาบ้วนน้ำลาย ก็ขอให้รองเอาไว้ น้ำลายของเรา หรือ น้ำลายของใครก็ได้ เวลาเขาเสมหะมาติดคอ เขาขากออกมาก็เก็บเอาไว้ ดูซิว่าส่วนไหนมันน่ารัก ในเมื่อพิจารณากันจริง ๆ แล้วมันไม่มีอะไรจะน่ารัก ผมพูดมานี่ก็รู้สึกว่ามันอยากจะอาเจียนเต็มที

แล้วต่อไปเมื่อพิจารณากายนี้ว่าเป็นสภาพอย่างนี้ ว่ามีอะไรบ้างที่เราบังคับมันได้ มันสกปรกก็จริงแหล่ แต่ถ้าเราบังคับให้มันทรงตัว ไม่ให้มันแก่ ไม่ให้ป่วย ไม่ให้มันตาย ไม่ให้มันทรุดโทรม ไม่มีอะไรทั้งหมด ให้มันทรงตัวเหมือนกับตุ๊กตา ให้มันมีสภาพเฉย ๆ จิตเราจะได้มีความสุข เพราะว่ามันต้องการหวานแล้วให้หวาน มันต้องการเปรี้ยวแล้วะให้เปรี้ยว มันต้องการเค็มแล้วให้เค็ม มันต้องการอะไรเราให้สิ่งนั้นทุกอย่าง เพราะเราตามใจมัน ถ้ามันหนาวเอาผ้าอุ่น ๆ มาห่ม ถ้ามันร้อนเอาของเย็นมาลูบ ตามใจมันทุกอย่าง เพื่อให้มันทรงตัว แล้วมันทรงตัวไหมครับ

เป็นอันว่า มันไม่ยอมทรงตัว ก็มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แล้วเมื่อมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เต็มไปด้วยความสกปรก นั่นก็เป็น

๑. อนิจจัง ไม่เที่ยง
๒. เมื่อทรงอยู่เต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะว่าอะไร ทุกข์เพราะความหิว ความร้อน การปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ป่วยไข้ไม่สบาย ร่างกายไม่ทรงสภาพ แล้วแถมมีวิญญาณธาตุเข้ามาอาศัย รับสัมผัสอาการต่าง ๆ ภายนอกได้ เช่น เสียง และ รูป เป็นต้นนั้น ทำให้สร้างความยุ่งอยู่ตลอดเวลา

แล้วเราก็เดินเข้าไปหาความตายทุกวัน ในที่สุดมันก็พัง แล้วมีอะไรบ้างครับที่เราคิดว่ามันเป็นเราเป็นของเรา

ที่เขาพูดว่าเป็นเรา เป็นของเรานี่ ตัวนี้เป็นวิปัสสนาญาณ เป็นสักกายทิฏฐิ ถ้าพิจารณาแล้วว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแล้ว ร่างกายของใครเล่าขอรับ ที่เราต้องการให้มาเป็นของเรา ที่เราต้องการหาคู่ครองเข้ามา ประคับประคอง เวลาเราประคับประคองกอดรัด ประคับประคองรัดอะไรครับ ไม่ประคับประคองถุงขี้ ถุงเยี่ยวอยู่ เต็มไปด้ยความสกปรก ไอ้ถุงขี้ถุงเยี่ยวจริง ๆ ที่เขาวางไว้ที่ไหน มันก็อยู่ที่นั่น แต่ไอ้ถุงขี้ถุงเยี่ยวที่ มันมีวิญญาณ มันสร้างความยุ่งยากด้วยประการทั้งปวง

แล้วก็มันทรงตัวไหม ต่างคนต่างพัง ไอ้พังน่ะถุงมันพัง มันพังแต่เราไม่พัง เราทำอย่างไร ถ้าเรามีตัณหา ความอยากได้การทรงตัวหรือการอยากได้สภาวะที่สกปรกอย่างนี้ มันเป็นปัจจัยให้เกิดต่อไปข้างหน้า ถ้าเรามานั่งพิจารณากันจริง ๆ ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันสกปรก สกปรกแล้วเราไม่มีอำนาจบังคับ มันสร้างทุกข์มาให้ ถ้าใจเราวางเสียจะเป็นอย่างไร วางมันไปเสียเลย เพราะร่างกายนี้สกปรกน่าเกลียด มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จะเป็นของมันทำไม

สร้างความรังเกียจกายทั้งกายเสียให้หมด รังเกียจใคร รังเกียจเรานี่แหละ รังเกียจว่ามันเลว ๆ อย่างนี้ เราไม่ต้องการในมัน ความผูกพันในกายมีกายไม่มี ถ้าเราไม่ต้องการกาย เราเสียอย่างเดียว มองดูกายคนอื่น มันก็เหมือนถุงขี้ และ ถุงเยี่ยว แล้วเราก็รังเกียจ เป็นอันว่าความปรารถนาในกายของเราไม่มีต่อไปแล้ ความปรารถนากายของใครก็ไม่มีในใจของเรา เราไม่ต้องการมันอีก ของที่เต็มไปด้วยความสกปรกของเขาเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ ไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุข แม้แต่ ๑ วินาที ให้ใช้ปัญญาให้ดีนะครับ เพียงท่านทรงอารมณ์อยู่อย่างนี้เป็นปกติ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ พิจารณา ให้วันทั้งวัน ที่เรามีความรู้สึกนี่ มันทรงตัวด้วยอารมณ์อย่างนี้ อย่าลืมว่า การคิดการพิจารณาใหม่ ๆ เราเคยแพ้มันมา อำนาจของกิเลส เมื่อเราแพ้มันมาแล้ว เวลานี้เราก็ยอมแพ้มันบ้าง มันแพ้เราบ้าง ใหม่ ๆ เราก็แพ้มันมากกว่าชนะ แต่ค่อย ๆ พิจารณาไปหนักเข้า ๆ มันชักจะเริ่มเสมอกัน มันบ้างเราบ้าง รักบ้างเกลียดบ้าง เป็นต้น หนักเข้าอาการที่เราชนะมันมากกว่าเราแพ้ แต่ในที่สุดเรามีจิตเป็นเอกัคคตารมณ์

เอกัคคตารมณ์ นี่อารมณ์เป็นฌาน อารมณ์เป็นฌานต้องฝึกอานาปานุสสติกรรมฐานให้มีอารมณ์ทรงตัวไว้ แล้วก็เมื่อคลายสมาธิออกมาก็พิจารณากายตามนี้ ถ้าพิจารณาไป ๆ ใจมันหยุด ก็แสดงว่าการพิจารณาจิตเริ่มเป็นสมาธิทีละน้อย จนกระทั่งเข้าถึงอารมณ์ฌาน ถือว่าบางทีเข้าฌาน ยังจิตทรงตัว เมื่อจิตทรงตัวดี แล้วก็มาพิจารณา พิจารณาว่าจิตเฟื่อง เห็นจะซ่าน กลับเข้าจับอารมณ์สมาธิใหม่ คือ จับอาการทรงตัว กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จะภาวนาว่าอย่างไรก็ได้ สลับกันมาสลับกันไปอย่างนี้ ไม่ช้าก็เป็น เอกัคคตารมณ์ พอเป็นเอกัคคตารมณ์จิตตั้งตรงดีแล้ว ความเป็นพระอริยเจ้าก็มาถึง

วันนี้เป็นไม่ได้นะครับ เพราะเวลาหมด เมื่อเวลาหมดแล้ว ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน ขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระชินวร จงทรงอารมณ์อยู่ในอิทธิบาท ๔ ตามที่แนะนำมานี้ หรือตามที่ท่านพอใจในการปฏิบัติ จนกว่าจะถึงเวลาจะเลิก สวัสดี.

Copyright © 2001 by
Amine
07 ส.ค. 2544 22:37:36