อนุสสติ ๓

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และพระโยคาวจรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปขอได้โปรดตั้งใจฟังคำแนะนำในการเจริญ อนุสสติ สำหรับวันนี้ก็จะขอพูดถึงอนุสสติสุดท้าย "อนุสสติสุดท้าย" ก็หมายความว่า อนุสสติที่เหลือ ๓ อย่าง คือ

๑. กายคตานุสสติ
๒. มรณานุสสติ
๓. อุปสมานุสสติ

จะอธิบายรวมกัน แต่ว่า อนุสสติทั้ง ๓ ประการนี้ ถือว่าเป็นอนุสสติที่มีความสำคัญที่สุดในบรรดาอนุสสติทั้งหลายที่ผ่านมา ที่พูดว่าสำคัญก็เพราะว่า ถ้าผู้ใดหรือท่านใดปฏิบัติอนุสสติทั้ง ๓ ประการครบ ท่านถือว่าการปฏิบัตินั้นเป็นการปฏิบัติเพื่ออรหัตตผลโดยตรง ฉะนั้น ผมถือว่าอนุสสติทั้ง ๓ ประการนั้น มีความสำคัญมาก คือว่า ท่านผู้ใดที่จะเป็นพระอริยเจ้าหรือเป็นพระอรหันต์ ถ้าขาดการเจริญกายคตานุสสติกรรมฐาน ท่านผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ไม่ได้

ประการที่สอง สำหรับ มรณานุสสติกรรมฐาน นี้ มีความสำคัญมากเหมือนกัน เพราะว่าอะไร เพราะว่าแม้แต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า วันหนึ่ง ได้เรียกพระอานนท์มา เวลานั้นพระอานนท์เป็นพระโสดาบัน พระพิชิตมารได้ตรัสถามพระอานนท์ว่า

"อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง"
พระอานนท์ได้กราบทูลแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
"ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงความตายวันละ ๗ ครั้งพระพุทธเจ้าข้า"

สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
"อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายดูห่างมากนัก คิดให้มันกระชั้นไปยิ่งกว่านี้"
แล้วองค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสว่า
"ตถาคตเองนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก"

ความจริงเมื่อเรานึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ก็ได้แก่ควบกับ สักกายทิฏฐิ มรณานุสสตินี่ความจริงเป็นกรรมฐานนับเนื่องกับสักกายทิฏฐิ ถ้าคิดถึง ความตายท่านเรียก สมถะ ถ้าเห็นว่าความตายมันเข้ามาถึงก็อาศัยร่างกายเรามันไม่ทรงตัว คือ มีสภาพไม่เที่ยง อันนี้เป็น วิปัสสนาญาณ เป็น สักกายทิฏฐิ

แล้วกรรมฐานข้อที่ ๓ คือ อุปสมานุสสติ อุปสมานุสสตินี่ ก็เป็น การนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ จะเห็นว่ามรณานุสสติก็ดี อุปสมานุสสติก็ดี พระพุทธเจ้า ทรงยกเข้าไว้ในจริตสุดท้ายที่ว่า พุทธจริต คือ อารมณ์ของคนฉลาดที่จะเอาไปคิด คนโง่มองไม่เห็น

สำหรับ กายคตานุสสติ เป็นการทำลายกามฉันทะ หมายความว่า เป็นการทำลายกิเลสตัวสำคัญ เป็นกิเลสสร้างความเย็นให้เกิดขึ้นกับจิต ความจริงมันร้อน กามราคะ ราคัคคิ ไฟราคะมันร้อน แต่ทว่าความร้อนของราคะนี้ คนส่วนใหญ่ที่มีกิเลสเข้าใจว่ามันเป็นของเย็น ความจริงมันเป็นโทษ แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นคุณ อันนี้เพราะอะไร เพราะจะเห็นได้ว่าคนที่มีกิเลสทุกคนยังปรารถนาในการมีคู่ครอง มักจะยกตัวอย่างขึ้นว่า บุตรสาวบุตรชายเป็นฝั่งเป็นฝาจะได้มีความสุข แต่ความจริงเรื่องนี้ บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายท่านพบ ความทุกข์มาแล้ว แต่ท่านไม่จำ ท่านกลับยัดเยียดความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นให้กับลูกหลานของท่านต่อไป ทั้งนี้ก็เพราะว่าอะไร เพราะว่ากิเลสตัวนี้มีความหนามาก ยากที่จะแก้ไข

ประการที่สอง เรื่องของความตายก็เหมือนกัน ความตายนี้สัตว์อื่นก็ดี มนุษย์ด้วยกันเองก็ดี เขาตายให้เราดูทุกวัน ปีหนึ่งรับบัตรเชิญในการเผาศพนับไม่ถ้วน ฟังข่าวการตายนับไม่ถ้วน แต่เราไม่เคยคิดว่าเราจะตาย สำหรับคนที่ไร้ปัญญามักจะไม่ยอมคิดถึงความตาย ชาวบ้านอยากจะตายก็ตาย ก็ตายตายไปเถอะ ตายเท่าไรก็ตายไป

อุปสมานุสสติ สำหรับการนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรื่องพระนิพพานนี่ก็เหมือนกัน ถ้าคิดกันว่าเราไม่มีปัญญาที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางท่านก็กลับจะ โง่เกินไปว่า เรื่องนิพพานเป็นเรื่องเหลวไหล ที่กล่าวกันว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นี้จะหาจริงไม่ได้ ให้จำศัพท์ว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง แต่แปลไม่ออก แปลหนังสือไม่ออกเลยว่า นิพพานสูญ ความจริงคำว่า "สุญญะ" เขาแปลว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง แปลว่า นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง คือ ว่างจากความเลวทุกอย่าง

เป็นอันว่าอนุสสติทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าหากว่าท่านองค์ใด หรือว่าท่านผู้ใด อนุสสติ แปลว่า ตามนึกถึง จำไว้ให้ดีนะครับ สำหรับอนุสสติ ๓ นี่น่ากลัวจะต้องใช้เวลากันนิดหนึ่ง เพราะว่าเป็นอนุสสติที่มีความสำคัญ ความจริงทุกอนุสสติที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดก็สำคัญทั้งหมด แต่ที่ขนวดสุดท้าย ที่ว่า อันนี้สำคัญก็เพราะว่า เป็นอารมณ์ของพุทธจริต คือว่า คนฉลาดเท่านั้นจึงจะมองเห็น ถ้าคนโง่หน่อยเดียวไม่มีทาง ถ้าลงมือเห็นด้วยอำนาจของปัญญาเมื่อไร ใจของท่านก็เข้าถึงกระแสพระนิพพานเมื่อนั้น แล้วกระแสพระนิพพานที่จะก้าวเข้าถึงความเป็นอรหัตตผลเป็นของไม่ไกล ถ้ามีความคล่องอยู่ในอนุสสติทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว ขึ้นชื่อว่า ความหวังในความเป็นอรหัตตผลของท่าน

นี่ผมขอพูดสำหรับท่านที่ทรงวิริยบารมี และก็ ปัญญาบารมี กำลังจิตของท่านทรงอยู่ในกรรมฐานทั้ง ๓ ประการ คือ อนุสสติทั้ง ๓ ประการนี้ ผมขอขีดเส้นในท่านไว้เพียง ๓ เดือน ถ้าหากท่านมีความ มั่นคงจริง ๆ ไม่เกิน ๓ เดือน บรรลุอรหัตตผล

เอาล่ะ อารัมภบทกันยาวนาน แต่ผมบอกแล้วนี่ว่า ผมขอพูดยาวนิดหนึ่งเป็นอนุสสติที่มีความสำคัญมาก เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ สำหรับกายคตานุสสตินี่เป็นด่านสำคัญมาก ได้บอกไว้แล้วว่า ท่านผู้ใดที่จะเป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่สามารถจะทำลายอารมณ์ที่เกาะในกายได้ คือ ไม่ผ่านกายคตานุสสติกรรมฐาน ท่านผู้นั้นถ้าบอกว่าเป็นอรหันต์ จงอย่าเชื่อ ไม่มีทาง และเมื่อท่านพิจารณากายคตานุสสติกรรมฐาน ยังมีความเมาในชีวิต คิดว่า เรายังไม่ตาย หรือว่า มีความสงสัยในเรื่องพระนิพพาน ก็หมดด้วยประการทั้งปวง เชื่อกันไม่ได้

ถ้ายิ่งมีคนมาพูดกันว่า ผมเคยได้ยินพระพูด ทว่าพระผู้นั้นท่านเข้าใจว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แต่ท่านกลับบอกว่า เวลานี้พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว เราจะพบกันได้อย่างไร การที่พูดกันว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ในเวลานี้เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้านิพพานไปแล้ว สลายไปแล้ว มาไม่ได้ เป็นอันว่า พระองค์นั้นเป็นพระกังหัน คือ มีอารมณ์หมุนไม่รู้ จักจบ เอาล่ะ เรื่องอารัมภบทงดเอาไว้ซะที

ต่อแต่นี้ไปก็จะขอพูดกันถึงอนุสสติที่เราจะพึงเข้าถึง แต่ทั้งนี้ท่านทั้งหลายอย่าลืมว่า วิธีการเจริญพระกรรมฐานที่จะไดให้ได้ผลดี มีผลดีด้วย แล้วผลทรงตัวด้วย จิตจะสะอาด รวดเร็วด้วย เข้าถึงจุดหมายปลาย ทางเร็วด้วย นั่นก็คือ ต้องใช้การอนุโลม และ ปฏิโลม คำว่า อนุโลม คือ พิจารณามาตามลำดับ ใช้อารมณ์ไปตามลำดับ นับตั้งแต่ กรรมฐานกองแรกที่เราเจริญ อันนี้เราจะทิ้งไม่ได้ พิจารณาเรื่อยมาจนกระทั่งถึงองค์สุดท้าย จากสุดท้ายแล้วก็ถอยหลังกลับไปหาองค์ต้น อนุสสติ แปลว่า ตามระลึกนึกถึง

ฉะนั้น ก่อนที่ท่านจะพิจารณาอนุสสติทั้ง ๓ ประการ อันดับแรกท่านก็ต้องเริ่มต้นอารมณ์อานาปานุสสติกรรมฐาน แต่ความจริงในอนุสสติ เอ..ถ้าเรียงอานาปานุสสติเป็นขั้นสุดนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่มีความสำคัญ จะเรียงอย่างไรก็ช่าง แต่ถ้าว่าวิธีเวลาปฏิบัติ อันดับแรกท่านก็จับ อานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าจิตของท่านจิตทรงตัวถึงที่สุด คือ มีอารมณ์สงัดที่สุดเท่าที่ท่านพึงจะทำได้ เช่น จับอานาปานุสสติกรรมฐาน ควบกับ พุทธานุสสติกรรมฐาน ที่เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออก นึกว่า โธ แล้วก็กำหนดลม ๓ ฐาน หรือว่า กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก ว่ายาวหรือสั้นตามใจท่านเถอะ แบบมหาสติ ปัฏฐานสูตรก็ได้ แบบกรรมฐาน ๔๐ นี่ก็ได้ แบบกรรมฐาน ๔๐ เวลาหายใจเข้า มีความรู้สึกว่า ลมกระทบที่จมูกหรือกระทบริมฝีปาก แล้วแบบมหาสติปัฏฐานสูตร เวลาหายใจเข้าก็รู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจ ออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น ออกยาวหรือสั้นก็รู้ด้วย ถ้าควบกับคำภาวนา ถ้าว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ นี่เป็นบทต้น บทต้นอย่างนี้

พอเริ่มจับอารมณ์ให้ทรงตัว แล้วต่อมา ก็พิจารณาความดี ในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้อารมณ์พิจารณาให้เห็นชัดว่า ถ้อยคำสอนของสมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ ดีอย่างไร อย่าเชื่อชาวบ้าน ใช้ปัญญาของเราพิจารณาด้วย ด้วยเหตุผล ตอนนี้พอจิตสบาย เลื่อมใสในธรรม มีความปีติเกิดขึ้น เพราะมั่นใจในความดี คำสอนของพระชินศรีตรัส

ต่อไปก็จับอารมณ์ที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์แนะนำถึงเรื่องความดีของพระสงฆ์ว่า สุปฏิปันโน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อุชุปฏิปันโนปฏิบัติตรง ญายะปฏิปันโน ปฏิบัติสมควร สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติ เอาล่ะปฏิบัติอย่างไรก็ช่าง เอากันดีก็แล้วกัน แล้วต่อไปจับสีลานุสสติกรรมฐานให้ทรงตัว พอได้แค่สีลานุสสติกรรมฐาน ท่านก็เป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าทรงจริง ๆ อย่างนี้จับให้มั่นอย่าให้พลาด

แล้วต่อมาก็ จาคานุสสติกรรมฐาน ตัวจาคะตัวเดียวนี่ก็ไปนิพพานได้ ใช้จิตตั้งไว้ในอารมณ์บ้าง เราจะเป็นนักเสียสละ สละอะไร สละวัตถุภายนอก วัตถุภายในในปกครอง แม้แต่ร่างชีวิต ร่างกายเราก็สละได้ เพื่อความทรงธรรม คือ เพื่อนิพพาน

แล้วต่อมาจับ เทวตานุสสติกรรมฐานนี่เป็นกรรมฐานสำคัญ เพราะ ทรงหิริและโอตัปปะ อายชั่ว โกรธชั่ว รวมความว่า ไม่ยอมรวบรวมความชั่วไว้ในตัวเลย อันนี้เป็นปัจจัยของพระอรหันต์เหมือนกัน เป็นพระอรหันต์ก็ง่าย แล้วต่อมาก็มาว่ากัน กายคตานุสสติ มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ เป็นอันว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ อานาปาฯ จับให้จิตทรงตัวเป็นฌาน ฌานหรือไม่ฌานแค่ไหนก็แค่นั้น เท่าที่ได้ ใจเยือกเย็นสบาย ก็ไล่มาทีละอย่าง ๆ เรียก อนุโลมหรือปฏิโลม นี่ก็พิจารณาถอยหน้า ถอยหลัง ถอยหลัง ถอยหน้า ให้จิตทรงตัว นั่งหลับตาก็คิดเหมือนกัน ลืมตาก็คิดเหมือนกัน เวลาคุยกันอยู่ก็เดินบิณฑบาตทำกิจการงานก็คิดเหมือนกัน แบบนี้หมด

ก็เป็นอันว่าเพียงแค่อนุสสติหมวดใดหมวดหนึ่ง หรือว่าทุกหมวดตามใจชอบ ทำได้แล้วท่านก็เป็นพระอรหันต์ มันเป็นของไม่ยาก เราคิดชั่วทำไมเราจึงคิดได้ เราคิดดีทำไมจึงคิดไม่ได้

ต่อไป ก็จะขอพูดถึงกายคตานุสสติก่อน กายคตานุสสตินี่เป็นกรรมฐานตัดกามฉันทะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กายคตานุสสติก็เข้าไปชิดติดกับสักกายทิฏฐิ อันนี้เป็นตัวตัดกิเลสพอ เพราะว่าการตัดกิเลสจริง ๆ นี่ตัดตัวเดียว ตัดที่สักกายทิฏฐิ อันนี้เป็นวิปัสสนาชัด สำหรับอุปสมานุสสติรักษาอารมณ์ให้เป็นสุข กายคตานุสสติท่านให้พิจารณาเห็นร่างกายของเรา ร่างกายของชาวบ้านเป็นอย่างไรก็ช่างเขา พิจารณา กายที่ว่ามันเป็นเรา มานั่งนึกดูตามที่พระอุปัชฌาย์สอนว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วก็ทวน ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา เอาแค่ ๕อย่าง มันเป็นกาย ผมสะอาดหรือว่าสกปรก โลมา ขนสะอาดหรือว่าสกปรก เล็บสะอาดหรือว่าสกปรก เกสา โลมา นขา ทันตา ฟัน ฟันที่อยู่ในปากสะอาดหรือว่าสกปรก ตโจ หนัง หนังสะอาดหรือว่าสกปรก นี่เพียงแค่ส่วนย่อเท่านั้น

ผมของเรานี่ ถ้าหากว่าเราจะไว้ผมยาว ผมยาวหรือผมสั้นไม่สำคัญ ไม่สระไม่สาง ไม่ล้าง ไม่เช็ด ไม่ถู ผมของเรานี่ความจริงมันมีสภาพไม่เน่า แต่ถ้าปล่อยเกรอะกรังไว้ไม่กี่วัน มันก็ดูไม่ได้ สภาพสวยงามไม่ปรากฏ องค์ สมเด็จพระบรมสุคตให้มองว่ากายส่วนที่คิดว่ามันไม่เน่า มันไม่เหม็น มันก็มีสภาพสกปรก เหม็นสาบ เหม็นสางด้วย อาศัยสิ่งอื่นเข้ามาประกอบ เฉพาะผมจริง ๆ แล้วมันไม่เหม็น แต่สิ่งที่มันเหม็นมันไหล มาจากกายภายใน ที่เรียกกันว่า เหงื่อไคล เป็นต้น แต่ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเข้ามาจับ ผมจะสวยมันจะสะอาดได้ไหม และในที่สุดผมมันก็ไม่มีการทรงตัว มันงอกแทบทุกวัน ส่วนที่งอกแล้วเลยไป เราต้องตัดทิ้ง ยาวเกินไปนั่นมันสลายไปแล้ว แต่มันก็ยาวต่อไปอีกเท่าที่เห็นว่าผมมีอยู่เสมอ นี่ความจริงผมที่เกิดมาเก่ามาก่อนมันหายไปแล้ว ถูกตัดถูกทำลาย แต่ที่เกิดมาใหม่ก็อาศัย สันตติ คือ การสืบเนื่อง มันเกิดไม่ขาดสาย จึงเห็นผมยังมีอยู่ นี่เป็นอันว่ามันก็เป็นอนัตตาสิ เกิดขึ้นมาแล้ว ของเก่าหมดไป ของใหม่เกิดมา

ทีนี้ผมอย่างเดียวมันทรงสภาพตามเดิมไหม สีสันวรรณะของมันพออายุกาลผ่านวัยมากไป ผมก็จะกลายสีจากดำเป็นแดง จากแดงเป็นขาว ผมหงอกเสียแล้ว หมด หมดสวย หมดดี สำหรับขนที่มีอยู่ในร่างกาย ก็เช่นเดียวกัน มันมีสภาวะสกปรก ฟันที่อยู่ในปาก เราอมฟันได้ แต่ถ้าหากเขาถอนฟันออกมาจากปากเรา เอาฟันยัดเข้าไปในปากไม่ได้ นั่นเป็นเพราะอะไร เพราะว่าเรารังเกียจว่าฟันมันสกปรก แต่ว่าฟันอยู่ในปาก ทำไมเราจึงไม่คิดว่าฟันมันสกปรก หนังก็เหมือนกัน ความนิยมของเราที่ว่าสวยสดงดงาม เรามองกันที่หนัง คนนั้นผิวขาว คนนั้นผิวดำ คนนี้ผิดเหลือง คนผิวเขียวก็ตามเรื่อง ความจริงว่าร่างกายของคนทุกส่วนนี่ ที่จะนิยมว่าสวยสดงดงามจริง ๆ ก็แค่นั้น

แล้วหนังกำพร้าที่หุ้มกายนี่มันบางนิดเดียว พอหนังถลอกเปลือกเสียนิดหนึ่ง คนที่เรานิยมว่าสวย ผิวพรรณดี เราก็กลับประฌามคนประเภทนี้ว่า แบบมันน่าเกลียด หาความน่ารักไม่ได้ นี่แค่เราเห็นกันว่าสวย แล้วมามองภายในส่วนของร่างกาย ถ้าผมว่ามีอาการ ๓๒ นั้น สามเดือนไม่จบ สรุปเอาง่าย ๆ ว่าภายในกายของเรานี่มีอะไรบ้าง น้ำลายที่มีอยู่ในปากอมได้ ถ้าบ้วนออกมาแล้ว แม้แต่มือก็ไม่กล้าเข้าไปแตะน้ำลาย เพราะอะไร เพราะว่ามันสกปรก อุจจาระ ปัสสาวะ เกิดขึ้นมา สำหรับปัสสาวะมันมีได้ น้ำสะอาดที่เราดื่มเข้าไป อุจจาระมีขึ้นมาได้ก็เพราะอาหารที่เราคิดว่ามันดี มันเลิศมีรสอร่อย เราดื่มเข้าไป แต่ถ้าว่า ความเป็นกาก เป็นกากถ่ายออกมาแล้ว มันมาจากไหน ก่อนที่มันจะออกมา มันมาจากเมืองญี่ปุ่น เมืองฝรั่งหรืออย่างไร แต่ความจริงมันมาจากภายในกายของเรา อันนี้เรารังเกียจว่ามันสกปรกหรือว่าสะอาด แต่ของทั้งหลายเหล่านี้ที่อยู่ในกาย ในกายของเรานั่นสะอาดหรือสกปรก

สำหรับน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เสมหะอะไรก็ตาม นั่งนึกกันก็แล้ว อย่าให้ผมไปถึง ๓๒ เลย ถ้าหากว่าไปถึงขนาดนั้น ประเดี๋ยวชาวบ้านเขาจะหาว่าพวกท่านนี่มันโง่เกินไป ไม่ได้ใช้ปัญญาเสียเลย เพียงแค่ของอย่างเดียว ก็สามารถเห็นกันได้ เป็นอันว่าพิจารณาไปว่า ตับไต ไส้ ปอด น้ำเหลือง น้ำหนอง ที่มีอยู่ในร่างกาย มันคลุกเคล้ากันไปหมด ถ้าเราจะกำหนดจริง ๆ จะเห็นว่า ร่างกายนี้เหมือนกับป่าช้าเคลื่อนที่ หรือว่า ส้วมเคลื่อนที่ แล้วมันสะอาดหรือว่าสกปรก แล้วว่าถ้าร่างกายของเราแล้วเห็นร่างกายของเราสกปรก ร่างกายคนอื่นที่เรารัก ปรารถนาอยากจะอยู่เป็นคู่ครอง ที่เราเลือกสรรมาแล้วว่าสะอาดสวยดี อย่างนั้น อย่างนี้ แต่เขามีสิ่งที่เราเห็นว่าสกปรกไหม ถ้าเขามีอย่างนั้นแล้วเราจะผูกพันมันเพื่ออะไร เราต้องการของดี แต่สิ่งที่เราจะได้มานี้มันเป็นของเลว สมควรแล้วหรือยัง เหตุที่ท่านทั้งหลายเห็นว่าร่างกายเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี เป็นของสวยสดงดงาม เป็นของน่ารัก ของน่าประดับ น่าประคับประคอง

ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ควรจะสลัดทิ้งมันไป เพราะร่างกายมันเต็มไปด้วยความสกปรก ร่างกายเป็นปัจจัยเป็นปัจจัยของความทุกข์ ถ้ามาพูดถึงทุกข์มันก็เป็นวิปัสสนาญาณ

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน และ พระโยคาวจรทั้งหลาย วันนี้ก็คงจะให้ไว้แต่เพียงแค่นี้ สำหรับกายคตานุสสติกรรมฐาน จะหยุดอยู่แค่นี้เพราะหมดเวลา ต่อแต่นี้ไป ขอให้ทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าท่านจะเห็นสมควรที่ท่านจะพัก สวัสดี.

Copyright © 2001 by
Amine
07 ส.ค. 2544 21:08:45