หลักสูตรอภิญญาหก
ตอนที่ ๒

เป็นอันว่า การปฏิบัติในกสิณ ๑๐ พูดกันมาโดยย่อ จะทำกสิณกองใดกองหนึ่งก็ตาม ให้ถือมาตรฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทะเทรงสอนกับ พระลูกชายนายช่างทอง เป็นสำคัญ อารมณ์ของกสิณนั้น

ฌานที่ ๑ ยังรู้คำภาวนาในลักษณะของกสิณกองนั้น แล้วก็เห็นภาพของกสิณโดยทางใจ มีเป็นประกายแพรวพราว สามารถจะบังคับให้ภาพของกสิณนั้นเล็กก็ได้ ใหญ่ก็ได้ สูงก็ได้ ต่ำก็ได้ อยู่ข้างซ้ายก็ได้ อยู่ข้างขวาก็ได้ ไปอยู่ข้างหลังก็ได้ ให้คล่องตามนั้น แต่ถ้าฝึกกสิณกองไหนให้คล่องจริง ๆ ในกองนั้น อย่ารีบร้อน ให้มันได้จริง ๆ ทำเหมือนกับที่แนะนำในการตักน้ำใส่ถ้วยใส่กระป๋องน้ำมันมา จึงจะมีผล

พอสมาธิจิตเข้าถึง ฌานที่ ๒ ภาพกสิณจะใสจัด คำภาวนาจะหายไป จิตใจจะมีการตั้งมั่นมากขึ้น จับภาพกสิณทรงตัวได้ดีกว่า มีจิตสงบสงัดดีกว่า มีความเอิบอิ่มในใจ

พอถึง ฌานที่ ๓ ภาพความอิ่มในใจหายไป มีจิตใจตั้งอารมณ์เครียดตึงเป๋ง ทรงตัวเป็นสมาธิมากขึ้น ร่างกายรู้สึกว่าเหมือนสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง มันมามัดเข้าไว้ให้มีการทรงตัว เหมือนกับหลักที่ปักแน่น ๆ หูได้ยินเสียงภายนอกน้อย ๆ ใจทรงอารมณ์ฉพาะ จิตจับในภาพกสิณไม่คลายตัว นานแสนนานจะทรงอยู่ได้สบาย

พอจิตเข้าถึงฌานที่ ๔ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฌานที่ ๓ หูจะได้ยินเสียงภาพนอกแว่ว ๆ แม้แต่เสียงดังแว่ว ๆ ก็เบานิดเดียว จิตจะไม่ไหวโคลง จิตจะไม่หวั่นไหว ไม่สอดส่ายไปสู่ในอารมณ์ใด ๆ ทั้งหมด จิตจะทรงตัวมั่น

พอถึง ฌานที่ ๔ จิตจะวางอารมณ์ ตัดภาระภายนอกทั้งหมด เป็นอันว่าตอนนี้จิตกับกายแยกกัน เห็นภาพกสิณมีสภาพแจ่มใส แต่ว่าประสาททั้งหมดของร่างกายจะกระทบกระทั่งอะไร ใจไม่ยอมรับรู้ เป็นอันว่าจิตกับกายแยกกันเด็ดขาด ทรงอารมณ์เป็นอุเบกขารมณ์ กับ เอกัคคตารมณ์ เอกัคคตารมณ์ คือ มีอารมณ์จับภาพกสิณเป็นอารมณ์เดียว นิ่ง อารมณ์สว่างไสว มีกำลังใจโพลง อุเบกขา วางเฉย ไม่รู้หนาว ไม่รู้ร้อน ไม่รูปวด ไม่รู้เมื่อย ยุงจะกิน ริ้นจะกัด ไม่รู้หมด อย่างนี้เป็นอาการของฌาน ๔

เมื่อทำกสิณกองใดกองหนึ่งได้ถึงฌาน ๔ แล้ว ต้องทรงกสิณกองนั้นให้ช่ำให้คล่อง นึกจะเข้าฌาน ๔ เมื่อไรก็เข้าได้ เข้าฌาน ๓ ฌาน ๒ ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ หัดเข้าให้มนคล่องตามจังหวะ ตามลำดับฌาน แล้วถอยไปถอยมา ถอยมาถอยไป หรือนึกว่าเข้าฌาน ๑ แล้วอยากจะเข้าฌาน ๔ ถอยจากฌาน ๑ ไปเข้าฌาน ๔ ถอยจากฌาน ๔ ไปเข้าฌาน ๒ ถอยจากฌาน ๒ ไปเข้าฌาน ๓ ทำอย่างนี้ก็ได้ ให้มันคล่อง สลับกันไปสลับกันมา

ตอนนี้อ่านแล้วรู้สึกเหนื่อยไหม เหนื่อยแน่สำหรับคนไม่เอาจริง แต่คนที่ท่านมี "อิทธิบาท ๔" ท่านไม่เหนื่อย ท่านสนุก! เข้ากสิณตามลำดับฌาน ๑ , ๒ , ๓ , ๔ เข้าฌานถอยจาก ๔ , ๓ ,๒ ,๑ เข้าฌานสลับฌาน ๑ , ๓ , ๓ แล้วก็ ๒ แล้วก็ ๔ เล่นอย่างนี้ให้เป็นปกติ ทั้งนั่งอยู่ ทั้งยืนอยู่ ทั้งเดินอยู่ นอน ๆ หลับ ๆ ตกใจตื่นขึ้นมาจับฌาน ๔ ฌาน ๓ ฌาน ๒ ฌาน ๑ ได้ทันทีตามที่ต้องการ เดินไปเดินมามันแสนจะเหนื่อย วิ่ง ๆ ก็ได้ อย่าว่าแต่เดิน วิ่งเล่นเสียก็ยังได้ แต่อย่าให้คนเห็นนะ ถ้าคนเห็นเขาจะหาว่าบ้า เขาจะหาว่าเราเป็นคนบ้า ทำอะไรให้มันเหนื่อย ๆ เหนื่อย ๆ เข้าปั๊บ ฉันจะเข้าฌาน ๔ ล่ะ! ให้มันเข้าได้ทันที จะไม่ยอมเสียเวลาแม้แต่ ๑ วินาทีเดียว อย่างนี้เรียกว่ามีความชำนาญในการเข้าฌาน ตามภาษาบาลีท่านเรียกว่า "นวสี" นวสี นวเสอ อย่าไปพูดกันเลย ภาษาที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ไม่ต้องพูดกัน มีความชำนาญมีการคล่องในการเข้าฌาน

ในเมื่อการคล่องในการเข้าฌาน กสิณกองใดกองหนึ่งคล่องดีแล้ว เอาให้คล่อง เล่นให้ช่ำ เล่นหลาย ๆ วัน สักครึ่งเดือนหรือ ๑ เดือนก็ยังดี ตัวคล่องนี่ให้มันคล่องจริง ๆ ทุกท่าทุกอิริยาบถ ตื่นนอนใหม่ ๆ คว้าปั๊บ! ตั้งใจไว้ จะเข้ากสิณอะไร เข้าฌานอะไรได้ทันที เมื่อคล่องแบบนี้แล้วก็หันจิตไปจับกสิณกองอื่น ก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรเป็นแต่เพียงเปลี่ยนรูปเท่านั้น เปลี่ยนคำภาวนานิดหนึ่ง อาจจะขลุกขลิกจริง ๆ ก็อยู่ในเกณฑ์ ๓ วัน แล้วก็ทรงฌานได้คล่องเหมือนกัน

นี่เป็นอันว่าเสียเวลาจริง ๆ กสิณกองแรกกองเดียว และถ้ามีความชำนาญพอ กสิณทั้งหลายเหล่านั้นก็เอาละ กองละ ๓ , ๓ , ๓ เป็น ๙ เป็นอันว่าอีก ๒๗ วัน เราก็ได้ครบ ๑๐ กอง หลังจากกองแรกได้แล้ว กองแรกจะเสียเวลาเป็นเดือนก็เชิญเสียไป ในเมื่อมาได้กสิณทั้ง ๑๐ กองแล้ว มาเข้าฌานจนคล่องเฉพาะกสิณ ตานี้ก็หัดมาเข้าฌาน ฌานที่ ๑ ของปฐวีกสิณ ฌานที่ ๔ ของอากาศกสิณ ฌานที่ ๒ ของวาโยกสิณ ฌานที่ ๓ ของเตโชกสิณ เข้าฌานตามลำดับฌาน ตามลำกับกสิณ แล้วเข้าฌานสลับฌานสลับกสิณ เล่นให้คล่อง นึกขึ้นมาทีไรได้อย่างนั้นทันที

ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ชื่อว่าการฝึกกสิณจบ จบเรื่องการฝึกกสิณ การทรงอภิญญาสมาบัติได้ผลแล้ว ทีนี้การทรงอภิญญาสมาบัติได้ผลอย่างไร จะแนะนำเฉพาะกสิณสักกองใดกองหนึ่ง สมมติว่าเล่นปฐวีกสิณ ( ถ้าพูดถึงปฐวีกสิณน่ะ อย่าไปนึกถึงเรื่องของหลวงพ่อปานเข้านะ จะไปนั่งหัวเราะแล้วก็จมน้ำตายไปตาม ๆ กัน ) ปฐวีกสิณมีคุณค่าในการทำของอ่อนให้แข็ง ก็เอาน้ำใส่แก้วเข้า อย่างอื่นก็ทำเหมือนกัน อาจจะแนะนำไม่หมดทุกกอง

ทีนี้การทำให้คล่องมันเป็นเรื่องของท่าน เอาน้ำใส่แก้วเข้า ตั้งจิตอยู่ในอุปจารสมาธิ ขออธิษฐาน ขอให้น้ำในแก้วนี้จงแข็ง แล้วก็ทำจิตให้เข้าถึงฌาน ๔ ให้จิตทรงตัว ถอยหลังมาถึงอุปจารสมาธิ ให้อธิษฐานใหม่ว่า "น้ำนี้จงแข็ง" เอามือจิ้มลงไปในน้ำ น้ำมันแข็งหรือไม่แข็ง ถ้ายังไม่แข็งก็ยังใช้ไม่ได้ อธิษฐานกันใหม่ทำกันแบบนี้จนคล่อง ถ้ามันแข็งแล้วก็ทำให้มันชินต่อไป นึกปั๊บว่า "น้ำนี้จงแข็ง" แข็งทันที อย่างนี้ใช้ได้ ให้คล่องตัวแบบนี้

นี่ส่วนกสิณกองอื่นก็เหมือนกัน ทำแบบนี้ให้มันชินให้มันคล่อง เราอยากจะใช้อภิญญาสมาบัติ อยากจะดำดินก็ได้ อยากจะเดินน้ำก็ได้ อยากจะเหาะก็ได้ อยากจะอธิษฐานให้ไฟลุกขึ้นมาโชนมาที่ไหนก็ได้ ทำที่มืดให้สว่างก็ได้ ทำที่แสงสว่างเป็นที่มืดก็ได้ จะไปนึกเนรมิตอะไรก็ได้ หูก็เป็นทิพย์ ตาก็เป็นทิพย์ เหาะเหินเดินอากาศก็ได้ ได้ทุกอย่างตามที่เราต้องการ

แต่ว่าอย่าไปเล่นแบบประเภทเป็นเรื่องของชาวโลกเข้านะ ทำให้คนนี้รักกัน ทำให้คนนี้แตกกัน อย่างนี้ไม่ใช่กสิณของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นกสิณของพระยายม ตายแล้วก็ต้องโน้น ไปอยู่อเวจีมหานรก ใช้แต่สิ่งที่เป็นคุณ

ทีนี้เมื่อพูดกันถึงการเจริญกสิณเข้าฌาน ๔ จนคล่องแบบนี้ แล้วเราก็สามารถจะทรงอภิญญาสมาบัติได้ แบบไม่ยาก นึกอะไรก็ได้ มันนึกปั๊บเดียวมันเป็นได้ทันที อย่างนี้อย่างที่ พระโมคคัลลานะ ท่านคิดว่าจะไปสวรรค์ ท่านบอกประมาณลัดนิ้วมือเดียว อาตมาว่าช้าไป ไอ้การลัดนิ้วมือนี่มันต้องตั้งท่า ทีนี้ถ้าเราเล่นกสิณได้อภิญญาสมาบัติ แบบนี้มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ถอดกายถอดจิตไปได้ไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ตามความประสงค์

ทีนี้มาถามถึงความมุ่งหมายว่าเขาฝึกกันทำไม เขาฝึกกันเอาไว้เป็นคู่มือในความเป็นพระอรหันต์ กำลังใจเมื่อเข้มแข็งอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงนิวรณ์ แล้วก็ไม่ต้องพูดถึงจริต เพราะว่ามันชนะหมดแล้ว ถ้าไม่ชนะนิวรณ์ไม่ชนะจริตก็ทรงฌานสมาบัติเป็นอภิญญาสมาบัติไม่ได้ แต่ยังอยู่ในฐานของอภิญญาสมาบัติฝ่ายโลกีย์ เดี๋ยวมันก็เสื่อม

ถ้าพระหนุ่ม ๆ เห็นสาวน้อย ๆ กลอยใจหน้าตาละมุนละไม ผิวสวย เสียงเพราะ ลีลาดี ดีไม่ดีกสิณก็พัง ในเมื่อเราทำอภิญญาสมาบัติได้ขนาดนี้ เราก็ต้องคุมไว้ไม่ให้สลายตัว เวลาคุมไว้ไม่ให้สลายตัวทำอย่างไร ก็เข้าถึงฌาน ๔ กสิณกองใดกองหนึ่ง แล้วเราก็มาคุมอารมณ์เพื่อความเป็นพระโสดาบันเลย ไม่มีอะไรยาก ให้รู้จักการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ก็เอากสิณเอาอภิญญาไปพิสูจน์ได้ทุกชาติทุกภพ ถอยหลังชาติของตนไปกี่แสนชาติก็ได้ ก้าวหน้าไปก็ได้ ของใครก็ได้ เมื่อได้ขนาดนี้แล้ว คำว่าสงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มี

ดูตัวอย่างคนที่ละเมิดศีลไปดูมันเองในเมืองนรก ไปถามสัตว์นรกแต่ละพวกจะทราบชัดว่า เขาละเมิดศีลข้อไหนจึงลงนรกมีทุกขเวทนาแบบนี้ ไปถามเทวดาถามพรหมที่ท่านทรงศีลบริสุทธิ์ ท่านก็บอกให้เราเห็นโทษของการละเมิดศีล เห็นคุณของการทรงศีล เราก็มาทรงศีลให้บริสุทธิ์ นี่เราจะเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าจะถามไปอีกทีว่า ไอ้การทรงศีลบริสุทธิ์นี่ต้องฝึกใหม่ไหม มันก็ไม่มีอะไรนี่ เพราะว่าฌานโลกีย์ถ้าศีลบกพร่องเมื่อไร ฌานมันก็พังเมื่อนั้น ศีลดีเมื่อไรฌานก็โผล่ นี่มาทรงศีลบริสุทธิ์ คุมศีลให้ดี ศีลมันเคยคุมอยู่แล้ว เราก็มาคุมแบบสบาย ๆ เพราะว่าเรามี "อิทธิบาท ๔" ครบถ้วน มีกำลังใจครบถ้วน เป็นของไม่ยาก

แต่ว่าความจริงแล้วท่านที่ได้อภิญญาสมาบัติ เขาไม่มามัวนั่งเล่นพระโสดา สกิทา อนาคา กันหรอก เพราะอะไร เพราะกำลังอ่อนไป ฌานจัดอันดับต่ำสุดก็อนาคามีเลย ทุกอย่างเขามีครบอยู่แล้ว เหลืออีกอย่างเดียว พิจารณาว่า เออ..ร่างกายของเรานี่มันเป็นเราเป็นของเราหรือเปล่านี่ มันไม่ใช่เรานี่ มันไม่ใช่ของเรา ร่างกายคนนี่มันดีหรือมันเลว มองปั๊บเดียวเห็นตับไตไส้ปอดหมดในร่างกาย ไม่มีอะไรเหลือ อยากจะดูจิตใจของคนที่เราอยากจะรัก จิตใจของคนที่เราอยากจะรักมันก็เต็มไปด้วยความเลว เต็มไปด้วยความโลภโมโทสัน หาจุดจบของความปรารถนาไม่ได้

เป็นอันว่า ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรควร ตัดความรักเสียได้แบบง่าย ๆ เรื่องความโกรธพยาบาทเราก็ห้ำหั่นเสียแล้วด้วยกำลังของฌาน มันไม่มีแรงจะดิ้นก็ตัดเสียเลยทีเดียวว่า การโกรธ การพยาบาท ก็อาศัยตัวเองเป็นสำคัญ ร่างกายเป็นสำคัญ เราโกรธคนน่ะเราโกรธกาย เราถือตัวเราถือกาย เราไม่ได้ถือใจ ไอ้กายที่เราคิดจะฆ่า ยังไง ๆ มันก็ตาย ส่วนนายของมันก็คือใจที่เราไม่คิดจะฆ่า ถ้าเราจะไปฆ่าใจของบุคคลอื่นก็ไม่ตาย ควรจะฆ่าใจของเราที่มันคบความชั่ว ฆ่าอารมณ์ความชั่วในใจของเราให้มันสิ้นไป อย่าไปสนใจกับวาทะของบุคคลอื่น ที่พูดเสียดแทง อย่าไปสนใจกับอาการของบุคคลอื่นที่เสียดแทงใจเรา เพราะอะไรนั้น นั่นเขาไม่ได้ด่าใจ เขาด่ากาย กายของเราประเดี๋ยวมันก็พัง ใจเราเราไม่รับรู้ กายมันถูกด่าก็ช่างมัน

เป็นอันว่าเราขอตัดสภาวะความรักในเพศ ความโกรธ ความกระทบกระทั่งจิตที่ไม่ถูกใจเสียให้หมด เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ปรากฏว่า มันมีผลเป็นทุกข์ ถ้าเราสงสัยก็ถอดอทิสสมานกายก็ได้ ไม่ถอดก็ได้ ไปมันเลยทั้งตัวก็ได้ ไปถามพระท่านดู พระท่านอยู่ที่ไหนเราไปหาได้อย่างไร ก็ให้ได้อภิญญาหกเสียก่อน ถ้าได้อภิญญาหกเสียก่อนค่อยพูดกัน ถ้าได้อภิญญาแล้วถ้ายังไปไม่ได้ ก็มาคุยกันใหม่ว่าทำไมถึงไปไม่ได้ ถ้าได้อภิญญาแล้วไปไม่ได้ละก็โกหกกันแน่ จับโกหกกันแน่ แล้วถามว่าจะไปหาพระที่ไหน ที่ไปมีอยู่ เราศึกษาตรงเฉพาะพระก็แล้วกัน พระสอนมาอย่างไรปฏิบัติแบบนั้น

เราไม่ต้องเรียนเพื่อเป็นพระโสดาบัน ไม่ต้องเรียนเพื่อความเป็นสกิทาคา ไม่ต้องเรียนเพื่อความเป็นพระอนาคา เขาเรียนเฉพาะพระอรหันต์กันเลย เพราะว่ากำลังของท่านที่ได้อภิญญา ถ้าจะไปทียบกับสุกขวิปัสสโก มันไกลกันลิบลับ ไกลแบบเทียบกันไม่ได้ กำลังสูงกว่ากันมาก เทียบกำลังกันคล้าย ๆ กับกำลังหมูกับกำลังช้าง สุกขวิปัสสโกกำลังเหมือนกับกำลังหนู ฉฬภิญโญกำลังเหมือนกับกำลังช้าง ในเมื่อท่านมีกำลังเหมือนช้าง

แต่พาหนะของภาระหมูอันใดที่หมูแบกได้ ช้างแบกไม่ได้ไม่มี เป็นอันว่าสิ่งที่หมูแบกไปได้โดยคล่องฉันใดช้างหยิบเข้าไปแล้วมันก็ไม่รู้สึกหนัก เพราะมันไปคล่องกว่าหมู ข้อนี้อุปมาฉันใด การตัดกามฉันทะก็ดี การตัดปฏิฆะก็ดี ความเมาในรูปฌานก็ดี ความเมาในอรูปฌานก็ดี การเมาในมานะการถือตัวถือตนก็ดี สามารถจะแก้ด้วยฌานหรือญาณที่ได้มา แล้วอารมณ์ฟุ้งซ่านก็ดี หรือความโง่ที่ไม่เข้าใจใน "อริยสัจ" ก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีปัญญาแหลมคมและมีกำลังมากด้วยกำลังฌาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ศึกษากับพระอาจารย์ที่ไม่ใช่มนุษย์มีไหม มีหรือไม่มี อาจารย์ที่ไม่ใช่มนุษย์ ถ้าถามท่าน ท่านอาจจะตอบว่าไม่รู้ ถ้าถามอาตมา อาตมาก็ตอบว่ามี ถ้าถามว่ามี เวลานี้ท่านอยู่ที่ไหน ก็ต้องตอบว่า ไม่ยอมบอกให้ทราบ จะไปบอกกันทำไม ถ้าอยากจะรู้ก็เชิญทำให้ได้ แล้วก็ไปให้ถึง ถ้าจะถามว่า คนพูดเคยทำได้ เคยไปถึงไหม ก็ตอบว่า ก็ไม่รู้เหมือนกัน นึกไม่ออกเวลาที่พูดนี่นึกไม่ออก เพราะไม่อยากจะนึก จะมาถามกันทำไม


เป็นอันว่า ที่พูดมานี่ก็ขอบอกให้ทราบ พูดตามหลักวิชาเท่านั้น ไม่ใช่เอาตัวเข้ามาเทียบ จะมาถามว่าได้หรือเปล่า อาตมาก็ตอบว่าไม่รู้ ถามว่าไม่รู้ตอบได้อย่างไร ตอบว่าพูดมาได้หรือว่าตอบก็ได้ ตามหลักวิชา ตามตำรับตำราที่ได้เขียนไว้บ้าง ตามที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านแนะนำสั่งสอนบ้าง แล้วก็ตามที่ท่านที่อยู่ ๆ เดินอยู่ในประเทศไทย เผลอแผล็บเดียวถึงพุทธคยา เผลอแผล็บเดียวถึงทัชมาฮาล เผลออีกนิดเดียวถึงสุวรรณวิหาร เผลอหน่อยเดียวไปลังกา นี่อย่างนี้ตัวเขามีอยู่

เป็นอันว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้ ท่านได้อภิญญาสมาบัติ เมื่อท่านได้อภิญญาสมาบัติก็ถามท่าน ท่านบอกมาให้ฟังอย่างนี้ ก็พูดกันมาให้ทราบ แล้วผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าบอกว่าเชื่อทันที อาตมาก็ขอตำหนิ ไอ้การที่บอกว่าเชื่อทันทีแบบนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ถือว่าเป็น "อธิโมกขศรัทธา" เชื่อโดยไม่ใช้ปัญญาแลไม่ลองปฏิบัติตาม คนประเภทนี้ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้แล้วก็ไม่อยากจะคบ คบกันได้อย่างไร พูดให้ฟังเดี๋ยวเดียวก็เชื่อเสียแล้ว ดีไม่ดีไปฟังคนอื่นเขาบอกว่า ไอ้แบบนี้ใช้ไม่ได้แบบนั้นดีกว่า ก็ไปเชื่อเขาอีก แล้วไปคบกับคนที่ ๓ เขาบอกว่า ไอ้ ๒ แบบที่ฟังมาน่ะมันใช้ไม่ได้ แบบนี้ดีกว่า ก็เชื่อเขาอีก คนประเภทนี้พระไม่คบ ไม่คบเพราะอะไร เพราะไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาตามความเป็นจริง

พระต้องการอย่างเดียวคือคนใช้ปัญญาแล้วปฏิบัติตาม ก่อนที่จะปฏิบัติตาม ใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนว่า ธรรมะที่พระพูดมานี่ควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดี จริงหรือไม่จริง สมเหตุสมผลไหม

ถ้าพิจารณากันด้วยปัญญาเห็นสมเหตุสมผล เป็นของควรเป็นของดี แล้วก็เชื่ออย่างนี้ใช้ไม่ได้ แต่ยังใช้ได้เล็ก ๆ ยังใช้ไม่ได้ใหญ่ ถ้าใช้ได้ใหญ่จริง ๆ นี่เขาต้องปฏิบัติตามตำรา ต้องดูตัวอย่าง พระสารีบุตร กับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ มีพระสงฆ์ประชุมกันอยู่มากในเวลานั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา ซึ่งเป็นผลให้ตัดความทุกข์เข้าไปหาความสุข

เมื่อพระองค์ทรงตรัสจบ ก็ถามพระสารีบุตรว่า

"สารีปุตตะ ดูก่อนสารีบุตร ถ้อยคำที่ตถาคตพูดมานี่เธอเชื่อไหม?"

พระสารีบุตรได้กราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าข้า"

ตอนนี้บรรดาพระทั้งหลาย พากันมองหน้าพระสารีบุตร เริ่มเกลียดน้ำหน้าพระสารีบุตร ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะหาว่าพระสารีบุตรทะนงตน ที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงยกย่องว่า เป็นอัครสาวกเบื้องขวา เป็นผู้มากไปด้วยปัญญา แสดงท่าเบ่งอวดเก่งดีกว่าพระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงทราบวาระน้ำจิตของบรรดาพระสาวกทั้งหลาย จึงได้กล่าวว่า

"เธอทั้งหลายจงจำคำพระสารีบุตรไว้"

องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสถามว่า

"ทำไมจึงไม่เชื่อ?"

พระสารีบุตรจึงตอบว่า "ข้าพระพุทธเจ้าต้องนำไปประพฤติปฏิบัติก่อน ถ้ามีผลจริงตามที่องค์สมเด็จพระชินวรทรงตรัส ข้าพระพุทธเจ้าก็จะเชื่อ ถ้าไม่มีผลจริงข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าข้า"

สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสกับบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายว่า

"เธอทั้งหลายจงเอาอย่างพระสารีบุตร เมื่อตถาคตพูดอะไรไปแล้วจงอย่าเพิ่งเชื่อ ใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนแล้วปฏิบัติตาม ถ้ามีผลจริงตามนั้นแล้วจึงเชื่อ"

นี่แหละบรรดาท่านทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายอ่านแล้วก็เชื่อ อาตมาจึงบอกว่าไม่อยากคบ อยากจะคบปรเภทเดียวอ่านแล้วใช้ปัญญาคิด คิดอย่างเดียวไม่พอ ลงมือทำด้วย ทำอย่างจริงจัง ทำอย่างคนที่มี "อิทธิบาท ๔" คือ มีฉันทะ ความพอใจ มีวิริยะ ความเพียร มีจิตตะ เอาใจจดจ่อ มีวิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาในเวลาจะปฏิบัติ ทำอย่างนี้องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ทรงชมเชยฉันใด อาตมาก็ชมท่านฉันนั้น

สำหรับวันนี้ก็หมดเวลาเสียแล้ว ขอบรรดาพระโยคาวจรทั้งหลาย จงพากันตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น ใช้ปัญญาพิจารณาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระภควันต์ หรือจะทรงฌานสมาบัติด้วยกำลังจิตของท่านก็ได้ ตามสมควรแก่เวลา และขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพระโยคาวจรทุกคนโดยทั่วหน้า สวัสดี*

Copyright © 2001 by
Amine
8 ส.ค. 2545 21:25:14