หลักสูตรอภิญญาหก
ตอนที่ ๑

ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายและพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับวันนี้ก็จะขอแนะนำท่านในเรื่อง "การฝึกอภิญญาหก" สำหรับวิธีการฝึกอภิญญาก็ดี วิชชาสามก็ดี ทั้งหมดนี้จะขอแนะนำไว้แต่เพียงหัวข้อเท่านั้น มิใช่ว่าจะมาแนะนำถึงขั้นละเอียดละออจนเกินไป ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเป็นของไม่ง่ายเกินไป แล้วก็ไม่ยากเกินไป เพราะว่าจะถือว่ายากเกินไป คนอื่นก็ไม่สามารถจะทำได้ ถ้าง่ายเกินไปก็ทำได้ทุกคน

เป็นอันว่า วิชชาสามก็ดี อภิญญาหกก็ดี จะง่ายสำหรับคนที่มีวิริยะอุตสาหะจริงจังเท่านั้น สำหรับคนที่ขาดวิริยะอุตสาหะจริงจัง จะไม่มีผลปรากฏเลย เมื่อได้กล่าวมาถึงเนื่องมาจากวิชชาสามผ่านมาแล้ว ก็ขอแนะนำแต่เพียงหัวข้อคร่าว ๆ ในด้านอภิญญาหก ว่าการฝึกอภิญญาหกนี้ประกอบไปด้วยฤทธิ์แล้วก็ทำอะไรต่อมิอะไรได้ทุกอย่าง เช่น ปฐวีกสิณ ก็สามารถจะทำของอ่อนให้เป็นของแข็งได้ เช่นน้ำอ่อนเราก็ทำให้เป็นน้ำแข็งได้ อากาศอ่อนก็ทำให้เป็นอากาศแข็งได้ หรือวัตถุสิ่งใดที่มันอ่อนเกินไป ไม่สมควรแก่การที่เราจะใช้ ก็อธิษฐานให้ของสิ่งนั้นแข็งได้ นี่เป็นเรื่องของปฐวีกสิณ

สำหรับ อาโปกสิณ ก็สามารถทำของแข็งให้เป็นของอ่อนได้ ทำพื้นที่ไม่มีน้ำให้มีน้ำได้ ถ้าฝนไม่ตกทำให้ฝนตกได้ หรือที่ที่มีน้ำน้อยเกินไป ทำให้มีน้ำมากก็ได้

เตโชกสิณ สถานที่ใดมีความหนาวเกินไป เย็นเกินไป สร้างความอบอุ่นให้เกิดได้ สถานที่ใดมีความมืดทำให้เกิดแสงสว่างได้ หรือว่าเราต้องการทำเป็นไฟเผาผลาญอะไรก็ได้ หรือว่าทำให้ไฟลุกโชนขึ้นมาดูเล่นโก้ ๆ หรือขู่ขวัญใครก็ได้

สำหรับ วาโยกสิณ ทำกายให้เบาสามารถจะเดินได้เร็วกว่าปกติก็ได้ ลอยไปในอากาศก็ได้ที่เรียกว่า "เหาะ"

ทีนี้ต่อมาก็สำหรับ กสิณสีแดง กสิณสีแดงนี่ทำสีต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สีแดงให้เป็นสีแดงได้

กสิณสีเหลือง ทำสีต่าง ๆ ให้เป็นสีเหลืองได้ หรือเป็นสีทองได้ อย่างชนิดที่เรียกว่า เสกดินเป็นทอง เสกหินเป็นทอง อย่างนี้เป็นต้น

สำหรับ กสิณสีเขียว กสิณสีเขียวกับสีดำ หรือสีมืด มันมีสภาพเดียวกัน สถานที่ใดมีความสว่างมากเกินไป ทำให้มืดได้ หรือว่าทำสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นให้เป็นสีเขียวก็ได้

สำหรับกสิณสีขาว ก็เหมือนกัน สามารถสร้างสีขาวให้เกิดในสภาพที่ต่าง ๆ ได้ตามประสงค์

สำหรับ อาโลกกสิณ กสิณแสงสว่าง กสิณแสงสว่างนี่สามารถจะทำที่มืดให้สว่างได้ หรือว่าสามารถจะเห็นของในหีบห่อ ในสิ่งที่เร้นลับอย่างกับร่างกายของคนแทนที่เอ็กซเรย์ เรารู้ว่ากายนี้มีโรคอะไรบ้าง มีสภาวะเป็นอย่างไรอย่างนี้ก็ดูได้ ของใต้แผ่นดินในหุบเขาเราก็สามารถจะเห็นได้ หรือว่าในที่นั่นจะมีที่มุงที่บังอย่างไรก็ตาม แต่ว่าอาศัยกสิณแสงสว่างทำให้เห็นได้คล้ายกับไม่มีอะไรปิดบัง

สำหรับอากาศกสิณก็เช่นเดียวกัน อากาศกสิณนี่ก็มีสภาพเช่นเดียวกัน แล้วก็สามารถเห็นในสิ่งต่าง ๆ วัตถุต่าง ๆ ที่มีอยู่ เครื่องมุงเครื่องบังเราก็ทำให้ว่างเหมือนกับอากาศได้ หรือว่าในที่ใดมีอากาศไม่พอ อย่างโลกพระจันทร์ก็ดี หรือโลกพระอังคารก็ดี เขาบอกว่าอากาศไม่พอสำหรับมนุษย์ที่จะพึงอยู่ได้ ถ้าเราไปในที่นั้นเราก็อธิษฐานให้อากาศพอดีกับความต้องการของเราก็ได้

ก็รวมความว่าท่านที่เจริญกสิณทั้ง ๑๐ ประการนี้คล่องตัว ก็สามารถจะทำได้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ตนประสงค์ แต่ว่าการจะทำกสิณให้ครบถ้วนมันเป็นของไม่ยาก ความจริงการเจริญกสิณนี่ กสิณทุกตอนทุกอย่างจะต้องได้ถึงฌาน ๔ ทั้งหมด คือ นับตั้งแต่กสิณดินมาเป็นต้น เรียกว่าทั้ง ๑๐ อย่างคือ :-

๑. กสิณดิน

๒. กสิณน้ำ

๓. กสิณลม

๔. กสิณไฟ

๕. กสิณสีแดง

๖. กสิณสีเหลือง

๗. กสิณสีเขียว

๘. กสิณสีขาว

๙. กสิณแสงสว่าง

๑๐. กสิณอากาศ

ทั้ง ๑๐ อย่างนี้ต้องทำให้ได้ฌาน ๔ ทั้งหมด นี่อ่านอย่างนี้แล้วก็รู้สึกว่าหนักใจ ว่าถ้าเราจะทำกสิณทั้ง ๑๐ อย่างให้ได้ถึงฌาน ๔ ทั้งหมด ชีวิตนี้ทั้งชีวิตอาจจะไม่มีโอกาสก็ได้ นี่เราพูดกันแบบคนที่ไม่เคยทำ หรือพูดกันชนิดที่คนที่เรียกว่า "เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ" คือ ไม่รู้จักการเอาจริงเอาจัง คนที่เขามีวิริยะอุตสาหะจริง ๆ เขาไม่ท้อถอยในเรื่องของกสิณ เรื่องกสิณก็กสิณ อย่าลืมว่ากสิณทุกอย่างเราก็เรียก "กสิณ" อาการทุกอย่างที่จะปฏิบัติก็เหมือนกัน ใช้อารมณ์อย่างเดียวกัน เหมือนกับเรามีกระป๋องน้ำเล็ก ๆ อยู่ ๑๐ ลูก เดิมทีเดียวเราไม่รู้จักกระป๋องน้ำ เขาบอกว่ากระป๋องน้ำเล็ก ๆ นี่ท่านต้องไปตักให้เต็ม เราก็เกิดความหนักใจ ขึ้นชื่อว่าไอ้กระป๋องนี้มันมีรูปร่างอย่างไร ทีนี้การตักน้ำให้เต็มมันจะเต็มได้แบบไหน นี่ถ้าเรายังไม่เคยตัก เรายังไม่เคยรู้จักกระป๋องเราก็หนักใจ

แต่ว่าเห็นสภาพของกระป๋องแล้ว ลูกมันไม่โตนักพอจะยกไหว สำหรับตัวกระป๋องจริง ๆ เบา ไม่หนัก ถ้าตักน้ำให้เต็มมันก็ไม่หนักมากนัก พอจะแบกหามเอามาได้ แต่ว่าถ้ากำลังกายของเรายังไม่ดีพอ ก็หมั่นพยายามตักทีละน้อย ๆ ครั้งแรกอย่าเพิ่งให้เต็มกระป๋อง ตักเอามา ยกพอแค่พอกำลัง แล้วก็เดินไปถึงจุดหมายปลายทางที่บุคคลสั่งเขาสั่งเอาไว้ เมื่อทำอย่างนี้จนคล่องตัวรู้สึกว่ากำลังดีขึ้น สามารถจะเดินได้สบาย มันไม่มีความหนักนัก ก็เพิ่มน้ำให้มากขึ้นอีกนิดหนึ่ง ทำอย่างนี้เรื่อย ๆ ไปโดยไม่ละวิริยะอุตสาหะ หมั่นเพียรทำเป็นปกติ

ในที่สุดน้ำเต็มกระป๋องเราก็หิ้วไปหาจุดหมายปลายทางโดยไม่ยากนัก เมื่อหิ้วน้ำเต็มกระป๋องไปได้แล้ว ก็ต้องหัดหิ้วให้คล่อง ให้มีความรู้สึกว่าน้ำในกระป๋องนั้นเป็นของไม่หนักสำหรับเรา ให้มีความรู้สึกว่าน้ำในกระป๋องนั้นเป็นของไม่หนักสำหรับเรา คิดว่าจะตักน้ำเมื่อไรให้เต็มกระป๋องแล้วก็เดินไปหาจุดหมายปลายทางเมื่อไรไปได้ทันทีโดยไม่มีความหนักใจ นี่การคล่องในการใช้กระป๋อง ในเมื่อเราใช้กระป๋องลูกแรกได้ฉันใด กระป๋องอีก ๙ ลูกก็มีสภาพเท่ากันเหมือนกัน มีจริยาอย่างเดียวกัน เปลี่ยนกันแต่สีสันวรรณะเท่านั้น หรือเปลี่ยนหูหิ้ว การใช้หูหิ้วต่างกันนิดหน่อย เราก็สามารถจะทำได้เช่นเดียวกัน ข้อนี้อุปมาฉันใด ในกสิณทั้ง ๑๐ ประการก็เหมือนกัน

ถ้าหากว่าท่านนักปฏิบัติมีความเข้าใจหรือมีความชำนาญในกสิณกองใดกองหนึ่งแล้ว อีก ๙ กองเป็นของไม่มีความสำคัญ เพราะว่าทุกกอง แต่ละกองอีก ๙ กองเราสามารถจะบังคับจิตคุมกสิณกองนั้น ๆ ให้เข้าถึงฌาน ๔ ได้อย่างช้าภายใน ๗ วันทุกกอง อ่านอย่างนี้ก็รู้สึกว่าไม่หนัก

ทีนี้มาว่ากันถึง ฌานของกสิณ เสียก่อน ฌานของกสิณหรือว่าฌานของอะไรมันก็ฌานอย่างเดียวกัน ก็คือ มีอารมณ์อย่างเดียวกัน ถ้าเราเคยฝึกกสิณกองใดกองหนึ่งหรือวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งในวิชชาสามมาแล้วจนกระทั่งสามารถใช้วิชชาสามได้คล่องแคล่ว ตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้นเป็นอันว่า อารมณ์ของเราสามารถใช้กสิณเป็นฌาน ๔ ได้โดยฉับพลัน เป็นของไม่ยาก ไต่เต้ามาตามลำดับ อันนี้เป็นของไม่ยาก

นี่สมมติว่าเราไม่ต้องการวิชชาสาม เราต้องการอย่างเดียวคือ "อภิญญาหก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งอภิญญาหกนี่ เตโชกสิณก็ดี โอทาตกสิณก็ดี อาโลกกสิณก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้ถ้าทำถึงแล้วก็มีทิพจักขุญาณแจ่มใส แล้วมีการคล่องตัวดีกว่าฝึกทิพจักขุญาณธรรมดา เพราะมีความเข้มข้นกว่า นี่จะไม่กล่าวถึงตอนนี้ ก็เกรงว่าท่านจะสงสัยว่า ทำไมอภิญญาหกนี่จึงไม่มีจึงไม่สามารถจะใช้ทิพจักขุญาณ แต่ความจริง นอกจากทิพจักขุญาณแล้ว ทิพโสตญาณ คือ มีหูเป็นทิพย์ก็ได้ด้วย แล้วแถมแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ก็ได้ด้วย นอกจากนั้นก็ได้เหมือนกับวิชชาสามทุกอย่าง

เป็นอันว่าความสามารถใด ๆ ในวิชชาสาม เราทำอภิญญาหกได้ เราได้ดีกว่า ได้ทั้งหมดแล้วก็ได้มากกว่านั้น ได้ดีกว่านั้น การไปเที่ยวสวรรค์ การไปเที่ยวนรก ไปเที่ยวพรหมโลก ไปพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ต้องถอดอทิสสมานกายไปก็ได้ ไปทั้งกายเลยก็ได้ จะถอดอทิสสมานกายที่เรียกว่า "จิต" คือ กายในไปก็ได้ อันนี้เป็นไปตามเรื่องของเรา ตามที่เราจะต้องการ

ทีนี้มาพูดกันถึงเรื่องกสิณ กสิณนี่ความจริงฝึกก็ไม่อยากนัก เพราะเป็นกรรมฐานหยาบมีภาพสำหรับดู พูดเรื่องเดียวก็พอ เฉพาะปฐวีกสิณ กสิณดิน ดินที่เราจะมาเพ่งดูเราก็ใช้ดินสีอรุณ คือ ดินสีแดง แต่ความจริงเราจะชอบกสิณกองใดกองหนึ่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นปฐวีกสิณก่อน กสิณกองไหนที่เราชอบใจ เราชอบใจมาก ทำกองนั้นก่อน คือ ไม่จำเป็นต้องขึ้นตามลำดับ ทำให้ขึ้นถึงฌาน ๔

ตัวอย่าง พระลูกชายนายช่างทอง ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่จะพูดแบบอื่นก็จะว่าเอาเรื่องของอาจารย์องค์นั้นมาพูด เอาเรื่องของอาจารย์องค์นี้มาพูด แต่ความจริงเรื่องราวของอาจารย์ต่าง ๆ ท่านมีถมไป ปัจจุบันก็มีคนที่ได้อภิญญาหก นี่ที่พูดอย่างนี้น่ะก็อย่าไปหาว่าอาตมาได้อภิญญาหกเสียเองล่ะ อาตมาบอกแล้วว่าท่านที่ได้อภิญญาหกปัจจุบันก็มี แล้วที่จะย้อนกลับมาถามว่า คนที่จะรู้ว่าคนอื่นได้อภิญญาหกก็แสดงว่าบุคคลนั้นได้อภิญญาหก อาการอย่างนี้มันเป็นเรื่องเขาใช้จิตดูจิต แต่ที่เราไม่รู้ด้วยอาการอย่างนี้ก็ดี รู้จากอาการของท่านที่แสดงออก ซึ่งเราจะพอเข้าใจกันได้ว่าลักษณะของคนธรรมดา ฝ่ายสุกขวิปัสสโกก็ดี มนุษย์ธรรมดาก็ดี ไม่สามารถจะทำอย่างนี้ได้ แต่ท่านผู้นั้นรู้อย่างนั้นได้ เป็นวิสัยของวิชชาสาม อันนี้เราพอสังเกตได้ การกระทำบางอย่างซึ่งวิชชาสามทำไม่ได้ แต่ว่าท่านทั้งหลายทำเกินไปกว่านั้นไปก็แสดงว่าท่านได้อภิญญาหก อย่างนี้สมัยนี้มีอยู่ แต่ว่าท่านอยากจะรู้ว่า ใครเป็นผู้ได้ก็ไปถามผู้นั้นกันเอง อาตมาไม่สามารถจะบอกท่านได้ว่าใครเป็นผู้ได้

แต่ว่าทราบว่ามีตัวตนก็ยังมี ไม่ต้องเอาคนตายมาพูด จะไปไล่เบี้ยกับท่าน ท่านไม่ยอมรับจะทำอย่างไร ลีลานี่คนเขาฉลาดเขาจับกันมาได้หลายท่านแล้ว คนที่ทรงอภิญญาไม่จำเป็นต้องเป็นพระเสมอไป จะเป็นเณรก็ได้ เป็นเถรก็ได้ เป็นชีก็ได้ เป็นฆราวาสมีผมยาว ๆ นุ่งกางเกง กินข้าวเย็น มีลูกมีเมีย หรืออุบาสิกาที่มีผัวมีลูก เขาก็ทำกันได้ เพราะว่าเป็นฌานโลกีย์ ทำไมเขาจึงได้ ก็เพราะว่าเขาเป็นคนจริง เขามี อิทธิบาท"ครบ

ฉันทะ ความพอใจในกิจที่เขาจะพึงทำนั้น เขาไม่ละความพอใจ ไม่มีการท้อถอย

วิริยะ คือ ความบากบั่นหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

จิตตะ ตั้งใจไว้เสมอว่าเราต้องทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ

วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง ว่าไอ้การทำอย่างนี้มันถูกหรือมันผิด แล้วผลที่เกิดมาประเภทนี้ เพราะอาศัยเราใช้อารมณ์อะไร เขาจะไม่ลืมอารมณ์นั้น จะไม่ลืมจริยานั้น

รวมความว่า คนมีอิทธิบาททั้ง ๔ ประการ คือ :-

ฉันทะ ความพอใจ

วิริยะ ความเพียร

จิตตะ จิตใจจดจ่อในสิ่งนั้น

วิมังสา ใช้ปัญญาเป็นเครื่องประกอบตลอดเวลา

คนประเภทนี้ทำอะไรก็สำเร็จ อย่าว่าแต่อภิญญาหกซึ่งเป็นฌานโลกีย์ หรือว่า สองในวิชชาสามซึ่งเป็นฌานโลกีย์ ห้าในอภิญญาหกซึ่งเป็นฌานโลกีย์ ที่บรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลายถือว่าเป็นของเด็กเล่น ถ้าจะเทียบกับนักเรียนนักศึกษา เขาถือว่าแค่ประถมปีที่ ๑ เท่านั้น ยังมีความรู้ยังมีความสามารถไม่มาก ก็ไอ้ของขี้ประติ๋วเท่านี้ ทำไมล่ะ คนที่มี "อิทธิบาท ๔" จะทำไม่ได้ เพราะท่านมี "อิทธิบาท ๔" อยากจะเป็นพระโสดาบันเมื่อไรก็เป็นได้ อยากจะเป็นสกิทาคามีเมื่อไรก็เป็นได้ อยากจะเป็นพระอนาคามีเมื่อไรก็เป็นได้ อยากจะเป็นพระอรหันต์เมื่อไรก็เป็นได้

ถ้าไปถามท่านว่า ยากไหม ท่านก็บอกว่า ไม่ยาก เพราะของที่ท่านมีอารมณ์ใจรักแล้วก็ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหมด การกระทบกระทั่งผจญกับอุปสรรคถือว่าเป็นผลที่จะพึงได้ งานใดไม่มีอุปสรรค งานนั้นถือว่าไม่เป็นงาน


นี่อ่านไปแล้วก็คิดไปด้วย นี่เราก็มานั่งเริ่มต้นเอากสิณอะไรดี เอาโลหิตกสิณ เถอะ! ประเดี๋ยวจะหาว่าไปเอาของคนนั้นมาพูดเอาของคนนี้มาพูด เราเอาของพระพุทธเจ้ามาพูดกัน

พระลูกชายนายช่างทอง ที่บวชกับ พระสารีบุตร มาสิ้นเวลา ๓ เดือน พระสารีบุตรเห็นว่าเธอเป็นคนหนุ่มเป็นคนสวย แล้วก็เป็นคนรวย คิดว่าจะยุ่งเรื่องเพศตรงกันข้ามมาก อารมณ์จะข้องในเรื่องนั้น ท่านจึงให้ อสุภกรรมฐาน กับ กายคตานุสสติ เป็นอันว่า ๓ เดือน ไม่มีผลสำหรับพระองค์นั้น ต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้ว พระสารีบุตรพาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาแล้วว่าพระองค์นี้เป็นคนมีโทสะจริตเป็นตัวนำ ต้องให้ กสิณ ๔ อย่าง คือ สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะเหมาะกับจริตของเธอ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้กสิณสีแดง ที่เรียกกันว่า "โลหิตกสิณ"


สีแดง อธิษฐานดอกบัวทองคำเป็นสีแดงมอบให้แก่เธอ แล้วบอกให้เธอไปที่กองทรายหน้าวิหาร เอาก้านบัวปักไปบนกองทราย ทำทรายเป็นกองมูลขึ้น แล้วก็ปักก้านลงไป สั่งให้ลืมตาดูดอกบัว จำสีแดงได้แล้วก็หลับตานึกภาพสีแดง ถ้าภาพมันเลือนไปจากใจ ลืมตาดูใหม่ ดูจำได้แล้วก็หลับตา วิธีนี้เป็นวิธีที่ตัดอารมณ์ฟุ้งซ่านได้ดี เธอก็ปฏิบัติตามนั้น ขณะที่หลับตาเธอก็นึกว่า สีแดง สีแดง สีแดง ทำไปลืมตาบ้างหลับตาบ้างว่ากันอยู่ครู่หนึ่ง ประเดี๋ยวจิตก็จับสภาพสีแดงได้เป็นปกติ จิตก็หมดอารมณ์ซ่าน เมื่อจิตมีอาการทรงตัว อารมณ์ทรงสมาธิดีขึ้น สีแดงก็กลายเป็นสีเหลืองทีละน้อย ๆ เหลืองมาก เหลืองปนแดง ต่อไปแดงหายไปเหลือแต่เหลือง ต่อไปเหลืองก็กลายตัวเป็นขาวเป็นนวลขึ้นมา ในที่สุดก็กลายเป็นขาวปกติทั้งหมด หลังจากนั้นก็กลายจากขาวเป็นประกายพรึกแพรวพราว คล้าย ๆ กับกระจกเงาที่สะท้อนแสงอาทิตย์ จิตก็ทรงอารมณ์แนบนิ่งสนิท มีจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ กับ อุเบกขารมณ์

ตอนนี้ไม่รู้สึกว่าลมหายใจปรากฏ แต่จิตตรงอยู่แบบสบาย ภาพกสิณที่เป็นประกายปรากฏเฉพาะหน้า อย่างนี้เรียกว่า "ฌาน ๔" เธอหลับตามาดูแล้วก็ลืมตาดู แล้วก็หลับตาลงไป สภาพแพรวพราวของกสิณนั้นก็ยังปรากฏอยู่

ตอนนี้องค์สมเด็จพระบรมครูพิจารณาดูว่า โอหนอ...เวลานี้เธอเข้าถึงฌานที่ ๔ แล้ว และองค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็เลยช่วยเธอให้เป็นพระอรหันต์ ตอนนี้เราไม่พูดกัน พูดกันถึงเรื่องฌาน ๔ ของกสิณ เป็นอันว่าจะเป็นกสิณอะไรก็ตาม ถ้าเรานั่งเพ่งภาพ เพ่งอย่าลืมจะไปลืมตาแป๋วเพ่ง อย่างที่คนมาบอกว่า แหม..เพ่งภาพพระเสียจนแสบตา อย่างนี้มันเลยครู ครูไม่ได้สอนแบบนั้น ครูสอนแต่เพียงบอกว่าลืมตาดูภาพ ให้จำภาพของภาพนั้นไว้ได้ ไว้ในใจให้ได้ ให้ทรงตัว ถ้าอารมณ์มันเลือนไปก็ลืมตาขึ้นมาดูใหม่ ลืมตาแล้วก็หลับตานึกถึงภาพนั้น เมื่อภาพนั้นยังเป็นภาพนั้นเป็นปกติ ทรงตัวอยู่ท่านเรียกว่า "อุคคหนิมิต" แต่ว่าเป็นอุคคหนิมิตอย่างต่ำ ๆ

ต่อมาภาพนั้นก็จะกลายมาเป็นสีขาวจัดขึ้นทีละน้อย ๆ จนกระทั่งแพรวพราวเป็นประกายพรึก มีอารมณ์สงัด หูได้ยินเสียงภายนอกชัด แต่ไม่รำคาญในเสียง อารมณ์ยังภาวนาอยู่

ปฐวีกสิณ ก็ภาวนาว่า "ปฐวีกสิณัง"

อาโปกสิณ ก็จิตใจก็คิดว่า "อาโปกสิณัง"

วาโยกสิณ ก็คิดในใจว่า "วาโยกสิณัง"

เตโชกสิณ ก็คิดในใจว่า "เตโชกสิณัง"

โลหิตกสิณ ก็คิดในใจว่า "โลหิตกสิณัง"

ปีตกสิณ กสิณสีเหลือง ก็คิดในใจว่า "ปีตกสิณัง"

กสิณสีเขียว ก็นึกในใจว่า "นีลกสิณัง"

กสิณสีขาว ก็นึกในใจว่า "โอทาตกสิณัง"

กสิณแสงสว่าง ก็นึกในใจว่า "อาโลกกสิณัง"

ถ้าพิจารณา อากาศกสิณ ก็นึกในใจว่า "อากาศกสิณัง" เป็นต้น

นี่นึกถึงภาพนั้นแล้วก็นึกถึงคำภาวนา เรียกชื่อนั้นไว้ในใจด้วย ช่วยอาการทรงจิตให้มันทรงตัว

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยทั่วหน้า แล้วบรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย เรื่องกสิณถ้าจะว่ากันไป เวลาที่จะแนะนำกันมันก็หมดแล้ว สำหรับวันนี้ก็จะขอยุติแต่เพียงเท่านี้ก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ซึ่งเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุแล้ว ขอทุกท่านจงบรรลุธรรมนั้นโดยฉับพลัน สวัสดี*

Copyright © 2001 by
Amine
7 ส.ค. 2545 18:32:30