อภิญญาปฏิบัติ


1 2

" อภิญญา ๕ "

๑. อิทธิฤทธิญาณ มีความรู้ในการแสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ

๒. ทิพโสตญาณมีความรู้เหมือนหูทิพย์

๓. เจโตปริยญาณรู้วาระจิตของคนและสัตว์

๔. จุตูปปาตญาณรู้ว่าสัตว์ที่ตายแล้วไปเกิด ณ ที่ใด

๕. ปุพเพนิวาสนุสสติญาณระลึกชาติหนหลังได้

๕ ข้อข้างบนนี้ ท่านรวมเรียกว่า "อภิญญา" เพราะมีความรู้เกินกว่าสามัญชนจะพึงทำได้ อภิญญาทั้ง ๕ นี้เป็นโลกียวิสัย โลกียชนสามารถจะปฏิบัติ หรือฝึกหัดจิตของตนให้ได้ ให้ถึงได้ทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกวาสนาบารมี แต่เลือกเอาเฉพาะผู้ทำถูก ทำจริง และทำดี ถ้าทำจริง ทำถูก และทำแต่พอดีแล้ว ได้เหมือนกันหมด เว้นเสียแต่ท่านผู้รู้นอกลู่นอกทางเท่านั้น ที่จะทำไม่พบไม่ถึง ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า เมื่ออภิญญานี้เป็นของคนทุกชั้นทุกวรรณะแล้ว ทำไมนักปฏิบัติกรรมฐานสมัยนี้มีดื่น สำนักกรรมฐานก็ก่อตั้งกันขึ้นเหมือนดอกเห็ด ทำไมเขาเหล่านั้นไม่มีใครได้อภิญญา? ถ้าท่านถามอย่างนี้ ก็ขอตอบว่า ที่เขาได้เขาถึงในปัจจุบันนี้ก็มีมาก แต่เขาไม่กล้าแสดงตนให้ท่านทราบ เพราะดีไม่ดีท่านนั่นแหละจะหาว่าเขาบ้า ๆ บอ ๆ เสียก็ได้ ที่ปฏิบัติกันเกือบล้มเกือบตายไม่ได้ผลอะไรเลยแม้แต่ปฐมฌานก็มี ที่ไม่ปรากฏผลก็เพราะเขาปฏิบัติไม่ถูก

บางสำนักไม่แต่เพียงปฏิบัติไม่ถูกอย่างเดียว ยังแถมสร้างแบบสร้างแผนปฏิบัติเป็นของตนเอง แล้วแอบอ้างว่าเป็นของพระพุทธเจ้า ทำการโฆษณาคุณภาพแล้วก็สอนกันไปตามอารมณ์ ตามความคิดความนึกของตัว พอทำกันไปไม่กี่วันก็มีการสอบเลื่อนชั้นเลื่อนลำดับ แล้วออกใบประกาศรับรองว่าคนนั้นได้ชั้นนั้น คนนี้ได้ชั้นนี้ ครั้นพิสูจน์กันเข้าจริง ๆ ปรากฎว่าไม่ได้อะไรเลย แม้แต่อุปจารฌานก็ไม่ได้ แล้วยังแถมมีจิตคิดผิด หลงผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิไปเสียอีก กรรมหนักแท้ ๆ

ในบางสำนักก็ให้ชื่อสำนักของตนเป็นสำนักวิปัสสนา แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาสอนไปตามลัทธิของตน ถูกหรือผิดไม่รู้ แล้วแถมยังคุยเขื่องอีกว่าพวกฉันเป็นพวกวิปัสสนา ฉันไม่ใช่สมถะ พวกสมถะต่ำ ไปนิพพานยังไม่ได้ ส่วนวิปัสสนาของฉันเป็นทางลัดไปนิพพานโดยตรงเลย น่าสงสารแท้ ๆ ช่างไม่รู้เก้ารู้สิบเอาเสียเลย ความรู้เรื่องไปนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้ชัดเจน ไม่ได้ปิดบังอำพรางแต่ประการใด ท่านสอนว่า ผู้ที่มุ่งพระนิพพานนั้น ในขั้นต้นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต ที่เรียกว่า "อธิศีลสิกขา"

เมื่อปรับปรุงศีลอันเป็นเครื่องระงับความชั่วทางกาย วาจาได้แล้ว ก็ให้เข้ามาปรับปรุงใจ ใจนั้นมีสภาพดิ้นรนกลับกลอก ไม่อยู่นิ่ง คล้ายลิง ให้ผูกใจมัดใจให้มีสภาพคงที่มั่นคงเสียก่อน โดยหาอุบายฝึกใจให้จับอยู่ในอารมณ์เดียว คือ คิดอะไรก็ให้อยู่ในวัตถุนั้น ไม่สอดส่ายไปในวัตถุอื่น ที่เรียกว่า "สมาธิ" หรือเรียกตามชื่อของกรรมฐานว่า "สมถะกรรมฐาน" เป็นอุบายสงบใจ การทำใจให้สงบนี้ จะโดยวิธีใดก็ตาม เรียกว่า สมถะทั้งนั้น อุบายที่ทำให้ให้สงบระงับไม่ดิ้นรนนี้ พระพุทธเจ้าทรงวางแบบไว้ถึง ๔๐ แบบ จัดเป็นกลุ่มได้ ๗ กลุ่ม

กลุ่มที่ ๑ เอาไว้ปราบพวกรักสวยรักงาม เรียกว่า "ราคะจริต"

กลุ่มที่ ๒ เอาไว้ปราบพวกใจร้ายอำมหิต เรียกว่า "โทสะจริต"

กลุ่มที่ ๓ เอาไว้ปราบพวกหลงงมงาน เรียกว่า "โมหะจริต"

กลุ่มที่ ๔ เอาไว้ปราบพวกเชื่อง่ายไม่มีเหตุผล เรียกว่า "ศรัทธาจริต"

กลุ่มที่ ๕ เอาไว้ปราบพวกช่างคิดช่างนึก ตัดสินใจไม่เด็ดขาด เรียกว่า "วิตกจริต"

กลุ่มที่ ๖ เอาไว้ปราบพวกฉลาดเฉียบแหลม เรียกว่า พุทธจริต

กลุ่มที่ ๗ เป็นกรรมฐานกลาง ปฏิบัติได้ทุกพวก


เมื่อสามารถระงับใจให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน ๆ พอจะใช้งานด้านวิปัสสนาได้ ที่เรียกว่า ได้ฌานที่ ๑ - ๒ - ๓ - ๔ ตามลำดับอย่างนี้เรียกว่า "อธิจิตสิกขา" เป็นการเตรียมการณ์ลำดับที่ ๒ แล้วจึงเอาจิตที่มีสมาธิตั้งมั่นจนถึงลำดับฌานแล้วนี่แหละไปวิจัยด้านวิปัสสนา



คำว่า "วิปัสสนา" นั้นแปลว่า รู้แจ้งเห็นจริง หรือ ถ้าจะพูดตามภาษานิยมก็เรียกว่า ยอมรับนับถือตามความเป็นจริง ไม่ฝืนกฎธรรมดานั่นเอง แล้วก็พวกวิปัสสนาลัดทุ่งลัดป่า ที่ไม่ยอมปรับปรุงศีล ไม่ปรับปรุงสมาธิที่เรียกว่าสมถะ แล้วเอาอะไรมาเป็นวิปัสสนา เห็นสำเร็จมรรคผล ซื้อไร่ซื้อนา รับจำนำจำนองกันให้ยุ่งไปหมด อย่างนี้เรียกว่าถึงมรรคถึงผลแล้วหรือ น่าขายขี้หน้าชาวต่างชาติต่างศาสนา เขามาประเดี๋ยวเดียวเขาก็คว้าเอาของดีไปหมด เราอยู่ในเมืองพระพุทธศาสนา มัวทำตนเป็นปีศาจอย่างนี้ ในที่สุดก็ไปทำให้พระยายมมีงานมากขึ้น


ฝึกอภิญญาปฏิบัติ

เพื่อย่นเวลาอ่านให้สั้นเข้า จึงใคร่จะให้ท่านผู้อ่านได้รู้ได้เห็นวิธีฝึกใจเพื่อได้อภิญญาเสียเลย แล้วจึงจะได้เขียนถึงวิธีเตรียมการณ์ไว้ท้ายบท

อภิญญาที่ ๑ อิทธิฤทธิญาณ อภิญญาที่ ๑ นี้ ผู้ประสงค์จะฝึกท่านให้เรียนกสิณ ๑๐ ให้ชำนาญจากอาจารย์ผู้สอนเสียก่อน ถามวิธีฝึกและข้อเคล็ดลับต่าง ๆ ให้เข้าใจ เมื่อขณะฝึกนั้นถ้ามีอะไรสงสัยให้รีบหารืออาจารย์ อย่าตัดสินเองเป็นอันขาด ข้อสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อจะเรียนนั้นดูอาจารย์เสียก่อนว่าได้แล้วหรือเปล่า ถ้าอาจารย์ไม่ได้ก็จงอย่าไปขอเรียนเลย เคยเห็นพาลูกศิษย์ลูกหาไปผิดลู่ผิดทาง เลอะเทอะกันมาแล้ว เมื่อเห็นอาจารย์ได้จริงแล้วก็เรียนเถิด ท่านคงไม่พาเข้ารกเข้าป่า

เมื่อทำกสิณได้ชำนาญทั้ง ๑๐ อย่างแล้ว ท่านให้พยายามเข้าฌานตามลำดับฌาน แล้วเข้าฌานตามลำดับกสิณ แล้วเข้าฌานสลับฌาน แล้วเข้าฌานสลับกสิณ ทำให้คล่องนึกจะเข้าเมื่อไรเข้าฌานได้ทันที นอนหลับพอรู้สึกตัวก็เข้าฌานได้ทันที กำลังเดิน กำลังทำงาน กำลังพูด อ่านหนังสือ ดูมหรสพ หรือในกิจต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ เมื่อคิดว่าเราจะเข้าฌานละก็เข้าได้ทันที อย่างนี้เรียกว่าได้อภิญญาที่ ๑ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ตามความพอใจ

อภิญญาที่ ๒ ทิพโสตญาณ ญาณหูทิพย์นี้ ท่านให้เข้าฌานในกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ได้ เป็นกรรมฐานที่มีอภิญญาเป็นบาท คือ กรรมฐานกองนี้ทรงคุณถึงฌานที่ ๔ ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ทำไมกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ทรงคุณไม่เสมอกันหรืออย่างไร ขอตอบว่ากำลังของกรรมฐานทั้ง ๔๐ ไม่เท่ากัน เช่น อนุสสติ ๓ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นต้น ทรงกำลังได้เพียงอุปจารฌาน กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ จตุธาตุ ๔ เป็นต้น ทรงกำลังได้ถึงฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้เป็นฌานที่มีอภิญญาเป็นบาท เพราะทรงอภิญญาไว้ได้

กำลังของกรรมฐานไม่เท่ากันอย่างนี้ ท่านจึงให้เลือกกรรมฐานเข้าฌาน เข้าให้ถึงฌานที่ ๔ แล้วถอยจิตออกจากฌานให้ตั้งอยู่เพียงอุปจารฌาน แล้วคิดคำนึงถึงเสียงที่ได้ยินมาแล้วในเวลาก่อน ๆ ในระยะแรกให้คำนึงถึงเสียงที่ดังมาก ๆ เช่น เสียงกลอง เสียงระฆัง เสียงหวูดรถไฟ เรือยนต์ แล้วค่อยคำนึงถึงเสียงที่เบาลงมาเป็นลำดับ จนถึงเสียงกระซิบ และเสียงมดปลวก ซึ่งปกติเราจะไม่ได้ยินเสียง คำนึงด้วยจิตในสมาธิ จนเสียงนั้น ๆ ก้องอยู่ คล้ายกับเสียงนั้นปรากฏอยู่เฉพาะหน้า และใกล้หู ต่อไปก็คำนึงถึงเสียงที่อยู่ไกล ข้ามบ้าน ข้ามตำบล อำเภอ จังหวัด และเสียงที่บุคคลอื่นพูดแล้วในเวลาที่ล่วงเลยมาแล้ว เมื่อเสียงนั้น ๆ ปรากฏชัดแล้ว เป็นอันว่าได้ ทิพโสตญาณ หูทิพย์ในอภิญญาที่ ๒

อภิญญาที่ ๓ เจโตปริยญาณ ญาณนี้รู้ใจคนและสัตว์ รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ในขณะนี้หรือก่อน หรือในวันต่อไป เจโตปริยญาณ ก็ดี จุตูปปาตญาณ ก็ดี ทั้ง ๒ อย่างนี้ ล้วนเป็นกิ่งก้านของทิพจักขุญาณ เมื่อท่านเจริญทิพจักขุญาณ คือ ญาณที่มีความรู้เหมือนตาทิพย์ได้แล้ว ทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้เจโตและจุตูปปาตญานเอง ทำทิพจักขุญาณนั้นเป็นญาณที่สร้างให้ได้ก่อนญาณอื่น เพราะเจริญกรรมฐานให้ได้เพียงอุปจารฌาน

คือ เจริญอาโลกกสิณ โอทาตกสิณ หรือ เตโชกสิณ ใน ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้อุปจารฌาน แล้วกำหนดจิตว่าต้องการเห็นนรก ก็ถอนจิตจากนิมิตกสิณนั้นเสีย แล้วกำหนดใจดูนรก ภาพนรกก็จะปรากฏ เมื่อประสงค์จะเห็นสวรรค์และอย่างอื่น ๆ ก็ได้เหมือนกัน การเห็นนั้นจะมัวหรือชัดเจนขึ้นอยู่กับนิมิต

เมื่อเพ่งนิมิตคือ รูปกสิณ ถ้าเห็นรูปกสิณชัดเท่าใด ภาพนรกสวรรค์หรืออย่างอื่นที่เราปรารถนาจะรู้ก็ชัดเจนแจ่มใสเท่านั้น เมื่อท่านเจริญกสิณกองใดกองหนึ่งใน ๓ กองนี้จนได้อุปจารฌานแล้ว ฝึกทิพจักขุญาณได้แล้ว ให้พยายามทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๑ - ๒ - ๓ - ๔ โดยลำดับ ท่านจะได้ภาพที่เห็นชัดเจนขึ้น และสามารถเจรจากับพวกพรหมเทวดา และภูตผีปีศาจได้เท่า ๆ กับมนุษย์ เมื่อทำจติให้ตั้งมั่นจนถึงฌานที่ ๔ แล้ว ก็จะรู้วาระจิตของคนอื่น ว่าคนนี้มีกิเลสอะไรเป็นตัวนำ ขณะนี้เขากำลังคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ เรียกว่า "เจโตปริยญาณ"

และรู้ต่อไปว่าสัตว์ตัวนี้หรือคน ๆ นี้ ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์หรือคนที่เกิดใหม่นั้นมาจากไหน อย่างนี้เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ"

และรู้ต่อไปว่าสัตว์หรือคนที่มาเกิดนี้เพราะกรรมอะไรที่เป็นบุญหรือเป็นบาปบันดาลให้มาเกิด เขาตายไปแล้วไปตกนรกเพราะกรรมอะไร ไปเกิดบนสวรรค์เพราะกรรมอะไร อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่า "ยถากัมมุตาญาณ"

สามารถรู้เรื่องในอดีตคือที่ล่วงมาแล้วมาก ๆ เรียกว่า "อตีตังสญาณ" รู้เรื่องในอนาคตได้มาก ๆ เรียกว่า "อนาคตังสญาณ" และเมื่อปรารถนาจะรู้เรื่องถอยหลังไปถึงชาติก่อน ๆ นี้ก็รู้ได้ เรียกว่า "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ"

รวมความแล้วเมื่อเจริญกรรมฐานในกสิณ ๓ อย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จนถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้ญาณรวมกันทั้งหมด ๗ อย่าง เป็นกรรมฐานที่ได้กำไรมาก


ปรับพื้นใจ

ไม่ว่าอะไร จะเป็นบ้าน ตึก เรือน โรง หรือถนนหนทางก็ตามทีก่อนจะสร้างให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็ต้องปรับพื้น ตอกหลัก ปักเข็มกันทรุดเสียก่อน แม้การเจริญอภิญญาปฏิบัติก็เหมือนกัน อยู่ ๆ จะมาปฏิบัติเพื่อทำให้ได้แบบชุบมือเปิบนั้น ไม่มีทางสำเร็จแน่ ต้องปรับปรุงกาย วาจา ใจ ให้เข้ามาตรฐานเสียก่อน ถ้ายังรู้จักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นชู้ลูกเมียคนอื่น โกหกตอแหล ดื่มเหล้าเมาสุรา หรือยังรู้จักอิจฉาริษยาชาวบ้านชาวเมือง สะสมกอบโกย กลั่นแกล้ง ตระหนี่ขี้เหนียวอยู่แล้ว อย่าคิดอย่าฝันเลยว่าจะพบอภิญญากับเขา


อภิญญารักคนดี เกลียดคนชั่ว

ฉะนั้น สมัยนี้พวกนักต่าง ๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ หรือนักศาสตร์อื่น ๆ จนกระทั่งนักศาสตร์ขี้เหล้าเมายา ก็พากันวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนรกสวรรค์ อยากจะรู้อยากจะเห็นด้วยตาตนเอง ถ้าอยากรู้อยากเห็นจริงแล้ว เชิญทดลองปฏิบัติได้เลย ขออย่างเดียวทำตนให้เข้ากับหลักสูตรให้ได้เสียก่อน ถ้าทำตนของท่านให้เข้ากับหลักสูตรไม่ได้แล้ว ก็ควรเลิกฝอย เสียเวลาเปล่า ไม่ว่านักเรียนนักศึกษาหรือนักอะไรทั้งนั้น ถ้าความประพฤติไม่ดีไม่เหมาะสมแล้ว โรงเรียนหรือสถานที่นั้น ๆ เขาก็คงไม่ต้องการ เรื่องความรู้หรือค่าแรงงานก็เป็นอันไม่ได้รับ อภิญญานี้ก็เหมือนกัน ขอให้ทำตนให้เหมาะสมเสียก่อน แล้วจึงเข้ามาปฏิบัติ คำว่าทำตนให้เหมาะสมนี้ ท่านอย่าคิดนะว่า ถ้าได้โกนหัวห่มเหลืองแล้วจะใช้ได้ ชนิดโกนหัวห่มเหลืองนี้ ที่เป็นหนอนบ่อนไชพระพุทธศาสนาก็ไม่น้อย บวชแล้วแทนที่จะช่วยกันบำรุงพระศาสนา แต่กลับไปติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญเยินยอ ประกาศพระศาสนาแข่งกับพระพุทธเจ้า โปรดสังเกตดูเถอะหาไม่ยาก ฉะนั้น การทำตนให้เหมาะสมจึงไม่ใช่จะต้องบวช เอาเพียงประพฤติให้ถูกเท่านั้น เป็นพอดีแล้ว

อ่านหน้าที่ ๒Copyright © 2001 by
Amine
03 ก.ค. 2545 17:33:59