พระอภิญญา

ปีนั้นเป็นปีครบรอบที่ หลวงพ่อปาน บอกว่า "ถ้าแกบวชครบ ๒๐ พรรษา จะต้องออกจากวัด" ท่านไล่ไว้ตั้งแต่วันบวชแล้ว ไม่ใช่มาไล่ทีหลังหรอก ตอนบวชใหม่ ๆ ท่านสั่งสององค์นั่นบอกว่า

"ไอ้ ๒ ตัวนี่ ๑๐ พรรษาต้องเข้าป่าไป แล้วห้ามเข้าเมืองจนกว่าจะตาย ไอ้ตัวนี้ ๒๐ พรรษา ต้องออกจากวัด แต่เข้าป่าไม่ได้นะ เป็นหนีเขามาก..."


ไอ้เราก็นึก "เอ๊! เป็นหนี้ใครมาละหว่า...เกิดมาชาตินี้ก็ไม่ได้ยืมสตางค์ใคร มีแต่ขโมยสตางค์แม่ ขโมยสตางค์ยาย เราไม่ได้ยืมนี่ เราขโมยต่างหาก แปลก!..."

ก็เป็นอันว่า ๒ องค์นั้น ๑๐ พรรษาเขาเข้าป่าตามคำสั่ง เขาบอกศาลาเลย นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป การเข้ากลุ่มชนจะไม่มีสำหรับเขา แต่มันก็ไม่ใช่ของแปลก เพราะเขาเป็น"พระอภิญญา" ใช่ไหม อภิญญาก็ครบหกเสียด้วย ไม่ใช่ห้า สำหรับพระอภิญญาไปอยู่ป่านี่ ถ้าจะถามว่ามิต้องไปสร้างกุฏิอยู่เรอะ! ก็ตอบได้ว่าจะต้องสร้างอะไรกับมัน ฝนตกมันก็บอกว่า ไปตกที่อื่นเถอะ! ที่กูห้ามตกนะ มันก็ไม่ตก ตกได้รอบ ๆ ตัว แต่ที่ตัวเขาไม่ตกหรอก อากาศหนาว บอกแกไปหนาวที่อื่นตัวข้าห้ามหนาว มันก็ไม่หนาวใช่ไหม มันเรื่องเล็ก ๆ น่ะ แล้วไอ้หมอ ๒ คนมันก็ขยันซน ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก

เมื่อปีที่แล้วไปที่ป่าสุโขทัย คุณอ๋อยไปด้วย ไปกับท่านหญิงวิภาวดีด้วย แหม..มันหนาวจับใจ ความจริงหนาวต้องคิดทีเดียว ไอ้ผ้าที่ติดตัวไปมันก็น้อย แต่คิดว่าหนาวก็หนาว อยากตายให้มันตายไป ขี้เกียจหนาว พอดึกขึ้นมามันก็หนาวขึ้นทุกที ลุกขึ้นมานึกว่า เอ..มันจะหนาวไปถึงไหนหว่า..พักหนาวเสียทีเถอะ! มันก็เบาหนาว พอเบาหนาวเจ้า ๒ ตัว เอ้ย! ๒ องค์ แต่ไม่เป็นไร พวกเดียวกัน พวกโยมล่ะอย่าไปเรียกเข้านา คนละพวก เจ้า ๒ ตัวเขาโผล่มาก็ถามว่า "เฮ้ย! มึงมาทำไมวะ?" เขาตอบว่า "กูมาเที่ยวส่ง" ถามว่า "เอ..มากี่ตัววะ?" เขาบอกว่า "กู ๒ ตัว แล้วอยู่ข้างนอกอีก ๕ ตัว"

เป็นอันว่า "พระอภิญญา" ของเรานี้ เวลานี้ในป่ามีเยอะ เขาบอกว่า "เวลานี้มา ๗ องค์ด้วยกัน" ไอ้ที่ไปพักน่ะมันเป็นที่ระหว่างวงเขาล้อมแคบ ๆ นะ บริเวณนั้นก็จะมีเนื้อที่สัก ๑,๐๐๐ ไร่ นอกนั้นเป็นเขาล้อมหมด ถามว่า "อีก ๕ องค์อยู่ไหน?" เขาตอบว่า "อยู่บนยอดเขาริม ๆ " ถามว่า "หนาวไหม?" เขาบอก "ฮึ! เรื่องหนาวเรื่องร้อนเรื่องเล็ก เราอยากหนาวมากมันก็หนาวมาก เราอยากหนาวน้อยมันก็หนาวน้อย อยากร้อนมากก็ร้อนมาก" เขาก็เบ่งส่งเดช แต่เบ่งได้เสียด้วยซิ

เป็นอันว่า เขาก็มานั่งคุย คุยไปคุยมา ถามว่า "อยู่ในป่าเป็นสุขไหม?" เขาว่า "ในป่าดีกว่าในเมือง" ถามต่อไปว่า "แกเข้าเมืองบ้างหรือเปล่า?" ตอบว่า "ตอนนี้ไปบ่อยโว้ย!" ถามว่า "ไปคนเดียวรึ หรือว่า ๒ องค์?" เขาบอกว่า "ไม่ใช่หรอก.." ถามอีกว่า "ในป่ามีเท่าไหร่ล่ะ? ไอ้พวกลิง ๆ แบบนี้น่ะ" ตอบว่า "เยอะ! หลายตัว" คณะเขาที่ตั้งกลุ่มกันอยู่ประมาณสัก ๓๐ ตัวกว่า พวกลิงนะ ไอ้ที่เขาไม่ลิงต่างหาก คือ พวกลิงหมายความว่าพวกซนเล่นอภิญญามีเยอะนะ แต่พวกนี้เข้ามาในเมืองไม่ได้นะ ถ้าเขามาล่ะ พวกเราตกนรกกันเป็นแถว ถ้าเข้ามาประจันหน้ากับคนนะ ดีไม่ดีเข้ามาแบบนี้ เดี๋ยวทำพระพุทธลอยเล่น หรือนั่งเอาหัวลงเอาก้นขึ้นเสียแล้ว เราเห็นก็จะว่า เอ..พระองค์นี้เล่นกลนี่หว่า บ้า ๆ บอ ๆ เสร็จเลยเรา ๕๐๐ ชาติ ว่าท่านบ้า ๆ บอ ๆ เราก็ไปจวกบ้าเสีย ๕๐๐ ชาติ นี่เขาต้องหลบเพราะเหตุนี้นะ ท่านที่ทรงอภิญญาจริง ๆ แล้วก็ชอบซนนี่ แต่อภิญญาที่ไม่ซนเขามีอยู่ อภิญญาที่ไม่ซนและสู้หน้าคนเขามีอยู่ ถ้าอภิญญาซนนี่ต้องเข้าป่าหมด...

ท่านบอกว่า เข้ามาในเมืองบ่อย เพราะเวลานี้เข้ามาบ่อยได้ ที่เข้ามาบ่อยได้เพราะอะไร เพราะจิตใจของบุคคลที่รักพระนิพพานมีมากขึ้น แต่ว่าลักษณะการมาของเขาน่ะ พวกเราไม่รู้หรอก แล้วแต่เขาชอบใจใคร บางทีพระเดินบิณฑบาตเขาก็เดินตามมาเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ถ้าเรามีโอกาสใส่บาตรเขาหน่อย ก็รู้สึกมีคุณค่ามาก เพราะถ้าเขามาเขาต้องทรงอภิญญา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาเป็นพระอรหันต์ด้วย

เวลาจะเข้าอภิญญาสมาบัติ สมาบัติมันต้องเต็มที่ ถ้าไม่เต็มที่มันมาเร็วไม่ได้ เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียวมันช้าไป ช้ากว่า ตามพระบาลีบอกว่า "แค่ลัดนิ้วมือเดียว" ไม่รู้จะเอาอะไรเร็วกว่านั้นใช่ไหม แต่เนื้อแท้แล้วทำจริงเร็วกว่านั้นมาก นี่ก็ชื่อว่าเป็นบุญของบรรดาประชาชนที่พระอภิญญาในป่าเข้ามาเยี่ยมบ่อย ๆ แต่ทว่าเราจะรู้จักท่านไม่ได้ นอกจากว่าท่านจะแสดงอะไรสักอย่างหนึ่ง

อย่างคุณหมอนั่น ที่ว่าแกเห็นนั่นน่ะใช่ ที่ว่ามาบิณฑบาตอยู่ดี ๆ พอเปิดจีวรก็บาตรลูกเบ้อเริ่มเลย แกก็สงสัยว่าพระองค์นี้ทำไมบาตรโต ไอ้เวลาเดินมาเห็นเท่าธรรมดานะ แต่เวลาใส่บาตรแล้วบาตรใหญ่ พอใส่บาตรแล้วเงยหน้าขึ้นมาเจอะกัน

ท่านบอกว่า "โยม! ขอกระติกน้ำร้อนลูกหนึ่ง" แน่ะ! อันเสือกขอเอาด้วย พระนี่ไม่ใช่ญาติไม่ได้ปวารณาไว้นี่เขาห้ามขอนะ ถ้าขอเป็นอาบัติ แกก็รับว่าครับ วันนั้นเป็นวันเสาร์ แกเลยบอกว่าวันจันทร์นิมนต์มารับ พอกลับมาจากใส่บาตร แกก็ให้ลูกชายไปซื้อกระติกน้ำร้อน พอลูกชายไปแล้วแกก็นึกในใจว่า ถ้าพระองค์นี้เป็นพระควรแก่การบูชา พระดี ก็ขอให้ลูกชายได้กระติกสีเขียวมา เพราะแกชอบสีเขียว อ้อ..คุณหมออุดม ถ้าหากเป็นพระธรรมดาขอให้ได้สีอื่น พอลูกชายเอากระติกน้ำร้อนมาก็กลายเป็นสีเขียวจริง ๆ แกบอกว่าไม่ได้ตั้งจิตบังคับลูกชายหรอก แต่คิดว่าพระองค์นี้สำคัญ

พอวันจันทร์ แกก็เตรียมเครื่องใส่บาตรเป็นกรณีพิเศษสำหรับใส่บาตร ปกติแกก็ให้คนอื่นใส่ แกเองไม่ใส่ คอยนั่งจ้อง เอาน้ำร้อนน้ำชาใส่กระติกเสร็จ จัดอาหารเป็นกรณีพิเศษนั่งคอยจนพระบิณฑบาตหมด ก็ไม่เห็นพระองค์นั้นมา แกคอยจ้องดูกลัวจะจำไม่ได้ เดี๋ยวท่านจะผ่านไปโดยไม่เห็น แกก็คิดว่า ถ้า ๘ โมงเช้าแล้วไม่มาก็เป็นอันไม่มาแน่ ก้มลงมองดูนาฬิกา ๘ โมง พออยากจะลุกก็โผล่ถึงพอดี แกก็เลยถวายของไป ถวายกระติกน้ำไป

พอต่อมา หมออุดมมาเล่าให้ฟังก็นึกในใจว่า ไอ้เสือนี่มาเล่นเขาเข้าแล้ว ตกกลางคืนพบกับเขาก็ถามว่า "นี่..แกไปหลอกเขาหรือ?" ตอบว่า "ฮึ! ข้าไม่ได้หลอกนี่หว่า.." ค้านว่า "ไม่ได้หลอกทำไมถึงบาตรใหญ่" ตอบว่า "อ้าว! ถ้าบาตรไม่ใหญ่ก็ไม่สงสัยน่ะซิ!" เออ..เขาไม่ได้หลอก เขาทำให้สงสัย ว่าเขาไม่ได้นะ เลยถามว่า "แล้วแกไปขอกระติกน้ำเขาทำไม? ธรรมดาคนที่ไม่ใช่ญาติไม่ได้ปวารณา แกไปขอเขามาเป็นอาบัติ" เขาก็เถียงว่า "แกรู้เรอะว่าข้าไม่ได้เป็นญาติกับหมอน่ะ!" บอกว่า "จะเป็นญาติยังไง หมอกับแกไม่เคยรู้จักกันมาก่อน อายุอานามก็ไล่เรียงกัน ถ้าเป็นญาติของแกข้าก็ต้องรู้จัก เพราะว่าอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก" เขาบอกว่า "ชาตินี้ไม่ใช่ญาติ ก็ชาติก่อนเป็นญาตินี่หว่า.." ถามว่า "ทำไม?" แกก็ตอบว่า "เห็นหมออุดมเป็นคนดี มีจิตใจเข้าถึงธรรม" ก็ถามว่า "หมออุดมนี่มีกำลังถึงอรหันต์ไหม?" เขาก็เลยบอกว่า "ถ้าหมออุดมไม่ยั้งตัวก็ถึงอรหันต์" นี่เป็นอันว่า เขามากันบ่อย ๆ

คราวหนึ่ง อาตมาเขียนไว้ในหนังสือแล้ว ที่ไปพบเขาที่วงเวียนใหญ่ จะไปซื้อยาสักหน่อยหลายปีมาแล้ว กำลังเดิน ๆ อยู่ เจอะนาย ๒ เตื้อเดินมาพอดี ถามว่า "มาทำไม?" แกก็บอกว่า "มาที่กาญจนบุรีมีผู้หญิงคนหนึ่ง แกถามว่าจะไปกรุงเทพฯ ไหม?" ก็เลยบอกว่า มา แกก็ซื้อตั๋วให้เสร็จ แกก็นั่งมาในรถ อีตอนนั้นสงครามโลกเสร็จใหม่ ๆ ตอนกึ่งพุทธกาลใหม่ ๆ นั่นแหละ วิปัสสนาเริ่มเกิดใหม่ เกิดเป็นดอกเห็ดทีเดียว กำลังเฟื่องวิปัสสนากันซิ ตอนนั่งมาในรถแกก็เลยว่า ท่านบวชกี่พรรษา เขาก็ตอบว่า ๓๐ พรรษากว่า ๆ เคยวิปัสสนาไหม? แหม..มดไปถามเอาช้างเข้า แกก็เลยถามกลับไปว่า "โยม! วิปัสสนาเขาทำยังไง?" คือไม่ได้บอกว่าทำหรือไม่ทำ ยายนั่นแกก็เลยนั่งสอนวิปัสสนามาตั้งแต่เมืองกาญจนบุรีจนถึงท่ารถสายใต้ เขาก็บอก "แหม...เดี๋ยวนี้อาจารย์วิปัสสนามันเยอะจังว่ะ!" ถามว่า "ทำไมล่ะ?" ตอบว่า "แหม..ข้านั่งรับการอบรมมาตั้งแต่กาญจนบุรีจนถึงท่ารถสายใต้เลย" แต่คนสนใจธรรมะเขาก็พอใจแล้ว

ไอ้วันนั้นก็เดินไปเดินมา เวลามันก็จะเพล ถามว่าวันนี้แกจะกินเพลไหมล่ะ? ตอบว่า กิน ถาม กินที่ไหนล่ะ? เขาบอก เดี๋ยว! เดินไปเดินมาก่อนหาที่เหมาะ ๆ ค่อยกิน พอถึงร้านหนึ่งเขาก็ชวนเข้าไป บอกว่ากินร้านนี้แหละ ถามว่า แกมีสตางค์เรอะ! บอกว่า ไม่มีหรอก อ้าว! งั้นกินไงล่ะ...เขาบอก กินส่งไปเถอะ! ไอ้เราก็ไม่แปลก เรามีสตางค์นะ เวลานั้นมีสตางค์ก็ไม่มาก ติดไป ๒๐ บาท เป็นอัตราประจำ วันไหนมีถึงร้อยวันนั้นครึ้มมาก เริ่มงานวัดคราวไหนมีเงิน ๑๐๐ บาทติดตัว ทายกยิ้มแป้นบอกว่า "เฮ้ย! วันนี้มีตั้ง ๑๐๐ โว้ย!..."

เข้าไปในร้านก็สั่งอาหารตามชอบ ขณะฉันอาหารมีผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณสัก ๓๐ แต่งตัวเรียบร้อย หน้าตาดี นั่งอยู่หน้าร้าน พวกเราก็ไม่ได้สนใจ ฉันข้าวกันเรื่อยไป พออิ่มเรียกเจ๊กมาให้คิดเงิน ก็ไม่กี่สตางค์ สักสิบบาทกระมัง ฉันนิด ๆ หน่อย ๆ ฉันไม่มาก ปรากฏว่า เจ๊กบอกว่าไม่ต้องจ่ายหรอก ผู้หญิงคนนั้นเขาจ่ายแล้ว แล้วเขาไปแล้ว เลยถามไอ้สองเตื้อนั่นว่า "เฮ้ย! ผู้หญิงคนนั้นเป็นอะไร?" เขาตอบว่า "เป็นแม่กูว่ะ! กูรู้ว่าแม่กูจะมา" ถามว่า "แม่ชาติไหน?" เขาตอบ "ถอยหลังไปสัก ๑๐๐ ชาติได้" เขาตั้งใจมาโปรดแม่เขา ถามว่า "ทำไมต้องพร้อมสาม?" เขาบอกว่า "ต่างก็เคยเป็นลูกกันมา" ส่วนแม่เดี๋ยวนี้ไม่รู้หายไปไหน "แม่" คนนี้อ่อนกว่าฉันหลายปี ตอนนั้นฉันอายุ ๕๐ เศษ แต่แม่อายุ ๓๐

นี่เรื่องต้องคิด! การเข้ามานี่ไม่ใช่แต่ ๒ องค์นี้ หลาย ๆ องค์เขาก็เข้ามากัน บางคราวเราก็พบไอ้พบนี่มันมีอารมณ์สะดุด สะดุดง่าย คือว่า กระทบแรง แล้วก็ดีใจว่าทุกท่านนี่น่ะสนใจกับสมณธรรมของคนทั้งหมด จะเป็นสำนักไหนก็ตาม เพราะว่าคนที่เข้าไปทุกสำนักนั้นเป็นคนดีทั้งหมด ไม่งั้นเขาจะเข้าไปทำไม เขาอยู่บ้านเขาดีกว่าแต่ผู้สอนจะสอนถึงระดับไหนนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง การเจริญพระกรรมฐานที่เราศึกษากัน พวกเรามาเจริญกรรมฐานที่นี่แล้วไปฟังที่อื่นไม่รู้เรื่องน่ะ อย่าว่าท่านนะ อย่าไปว่าสำนักนั้นสอนไม่ดี เพราะเราไม่ได้ตามกันมา คือ จะต้องตามกันจึงจะพูดรู้เรื่อง คนที่เขาศรัทธาในสำนักอื่นก็เหมือนกัน มาสำนักเราเขาอาจจะฟังไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้ติดตามกันมา ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดี เขาก็ดีเหมือนกัน คนที่จะพูดให้คนทุกประเภทรู้เรื่องได้น่ะ มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว แต่สำหรับพวกสาวกนี่ต้องอาศัยเป็นคนที่ติดตามกันมาแต่ในอดีตชาติ ทำบุญร่วมกันมาแบบนี้แหละ ฉันก็เกิดเป็นพระเรี่ยไรญาติโยมอยู่ตลอดเวลายังงี้ มันน่าเกิดทุกชาตินะ แต่มันไม่ยังงั้นน่ะซิ บางชาติก็พาพวกไปรบกับเขาสนุกสนาน ไอ้ฉันก็หัวโจกผู้หยงผู้หญิงก็คว้าดาบเข้าฟันกับเขา ตีกับเขา โอ๊! สนุก! เผลอ ๆ ก็ลงนรกกันสนุกเสียที

แต่คิดว่าพวกเรานี่คงจะไม่ลงนรกมาประมาณ ๑,๐๐๐ ชาติแล้วนะ แล้วอย่ากลับไปอีกเลย ถ้าหัวหน้าไม่ลงลูกน้องก็ไม่ลงหรอก ใช่ไหม...

ความจริงอาตมาไม่รู้เอง มีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อคราว พ.ศ. ๒๔๙๗ ปีนั้นนั่งนึก ๆ ดู เอ..ไอ้กูนี่ตายแล้วจะไปไหนดีหว่า...มานั่งคิดบัญชีตั้งแต่เกิดมา มันทำบาปมากกว่าทำบุญ รู้ตัว่าทำบาปมาเยอะ แต่การทำบาปก็เป็นสาธารณประโยชน์ ถึงเป็นสาธราณประโยชน์ก็จริง แต่ไอ้การฆ่าเขานี่มันก็บาป ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นโจรเป็นผู้ร้าย ก็มานั่งคิดว่าน่ากลัวจะไปนรกเล่นสบาย ๆ นั่งเลือกเอาสักขุม ขุมไหนก็ช่างมันเถอะ! รำพึงดูว่าจะเปลื้องตัวเองให้พ้นนรกจะทำยังไง การเจริญพระกรรมฐานน่ะจริง เจริญมาตั้งแต่วันบวช แต่ก็เกรงกำลังใจว่าเวลาตาย ถ้าจิตเราเสียนิดหนึ่งอาจจะไปนรก

พอคิดถึงตอนนี้ก็มีเสียงไม่แว่วหรอก ดังชัด! เสียงถามว่า "จะไปขุมไหนดีล่ะ?" เสียงจากข้างบน ถ้ามาจากข้างล่างล่ะยุ่งแน่ เสียงเพราะนะ เหมือนเสียงเด็กก็ไม่ใช่ เป็นเสียงเด็กกับเสียงผู้หญิงบวกกัน เสียงประเภทนี้มาจาก ๒ แห่ง คือ จากพรหมหรือจากนิพพาน แต่ตอนนั้นเข้าใจว่าจะเป็นเสียงพรหม ถามว่า "จะไปขุมไหนดี ตัดสินใจแล้วหรือยัง?" ตอบไปว่า "ยังหาที่เลือกไม่ได้" แล้วเสียงนั้นก็ตอบมาบอกว่า "จะไปได้ยังไงในเมื่อท่านไม่ไปมา ๑,๐๐๐ ชาติแล้ว..."

เราเลยนึกว่าแกโกหกน่ะซิ! ๑,๐๐๐ ชาติถอยหลังไป โอ้โฮ! ขนาดหนักเลย ฆ่านับหัวไม่ถ้วน รบทัพจับศึกนี่ฆ่ากันมาเท่าไหร่ ก็ถามว่า "มันจะแน่ได้ยังไง ไม่ตกนรก ๑,๐๐๐ ชาติ" แกบอกว่า "ถอยหลังไปดูซิ! ทุกชาติเล่นฌานสมาบัติ รบก็รบกัน เวลาเลิกจากรบก็ทำบุญสุนทาน สร้างวัดสร้างวาให้ทาน เจริญกรรมฐานก็ใช้กำลังฌานหนีนรกมาทุกชาติ แล้วทำไมชาตินี้จึงจะไปล่ะ?"

เอ..ชักครึ้ม ๆ ค่อยยังชั่วหน่อย ก็เลยร้องถามไป "ถ้าฉันตายเวลานี้ไปอยู่ที่ไหน?"

อีตอนนั้นความจริงยังไม่ถอนจาก "พุทธภูมิ" เขาเลยตอบว่า "ชาตินี้ก็เลือกเอาซิ! อยากจะไปอยู่พรหมหรืออยู่ดุสิต?" ก็เลยนั่งนึกนอนนึกจะไปไหนดีหว่า .. จะไปอยู่ชั้นดุสิต ผู้หญิงมากนี่ ดูท่าจะไม่ไหว เพราะอีตอนนั้นข้าง ๆ วัดแกทะเลาะกันเรื่อย พูดกันแค่คนละคำเราก็แย่แล้ว ถ้าจะไปอยู่พรหมก็นานเกินไป เลยคิดว่า เอ้า! อยู่ไหนก็ช่างมันเถอะ! ใช้ได้..ถ้าเขาพูดกันมากนัก เราทำเฉย ๆ เสียมันก็หมดเรื่อง..


ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๓ หลายปีนะ ปีนั้นนั่งอยู่คนเดียว พระเขาไปหากินผีกันหมด เขานิมนต์ไปมาติกาบังสุกุลหมดวัด ฉันมันเป็นคนขี้เกียจนี่ ถ้าไม่มาป้อนถึงวัดก็ไม่ค่อยจะเอาหรอก แล้วก็เป็นห่วงถ้าไปกันหมดเดี๋ยวขโมยลักวัด เลยนั่งอยู่คนเดียวประมาณสัก ๔ โมงเช้า ลองนึกดู เออ..ไอ้กูมันเกิดมาเป็นคนมากี่ชาติหนอ แล้วเป็นสัตว์มากี่ชาติ นึกเท่านี้ก็มีเสียงกังวานมา เสียงเพราะมาก เสียงผู้หญิงบวกผู้ชายเหมือนกัน แต่กังวานมากนี่เป็นเสียงจากนิพพาน แต่ฟังชัดมากเหมือนกับเราคุยกันใกล้ ๆ บอกว่า "คุณอยากจะรู้หรือว่าเกิดเป็นคนกี่ชาติ? เกิดเป็นสัตว์กี่ชาติ?" ก็เลยตอบว่า "พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าอยากจะทราบ" ท่านก็บอกว่า "ดูข้างหน้านี่ซิ!" ก็มองไปข้างหน้า ไอ้ชาติที่เกิดเป็นคนนี่นอนเรียงกันยาวสัก ๑๐ กว้าง ๑๐ นี่นะเรียงขึ้นไป มันเลยเขาพลองตั้ง ๒ เท่า ส่วนภาพเสดงชาติที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นอีก ๔ เท่า จากสัตว์เล็กถึงสัตว์ใหญ่สูงเท่า ๆ กันแหละ คิดเฉลี่ยแล้วเป็นสัตว์มากกว่าเป็นคนมาก แหม...เรามีบุญเยอะ

ท่านก็เลยบอกว่า "นี่แค่สัตว์กับคนนะ นรกยังไม่ได้คิด" แหม..ขนาดนรกยังไม่ได้คิด ท่านก็เลยบอกว่า "เราทิ้งอัตภาพมาขนาดนี้แล้ว ร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์ ขณะที่เราเกิดเราก็คิดว่าเราไม่ตาย แต่ทุกชาติเราก็ตาย ทำไมชาตินี้เราจะห่วงใยอะไรต่อไปอีกรึ ยังคิดว่าเราจะเกิดต่อไปรึ เห็นไหม.. แต่ละอัตภาพที่เกิดมาน่ะมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ แล้วการเกิดแต่ละชาติมันไม่ใช่เป็นมนุษย์เสมอไป ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานจากสัตว์เล็กไปถึงสัตว์ใหญ่ก็มี บางคราวเกิดเป็นเทวดาก็มี เป็นพรหมก็มี เป็นสัตว์นรกก็มี แต่ไอ้เทวดากับพรหมน่ะมันน้อยกว่าสัตว์นรกและสัตว์เดรัจฉาน แล้วคุณจะหวังเกิดมาทำไมล่ะ .. ?"


เราก็นั่งตาปริบ ๆ ไอ้เราก็ไม่อยากจะเกิด แต่มันก็เกิดจะไปว่ายังไงมัน เลยถามท่านว่า "ถ้าอย่างนั้นล่ะ! จะไม่เกิดได้ไหม?" ท่านบอกว่า "ไม่เห็นมันยากนี่" แน่ะ! พูดกับคนไม่ยากนี่ พูดกับคนที่ไม่รู้จักเกิดก็ "ไม่ยาก!" ถามว่า "ไม่ยากจะทำยังไง?" ไอ้ที่ทำอยู่นี่ก็เพื่อความไม่เกิด แต่ว่ากำลังใจยังไม่ได้ตัดสินแน่นอนนัก ยังมีจังหวะห่วงหน้าห่วงหลัง มีจุดหนึ่งที่คิดว่าเราต้องการสงเคราะห์ประชาชนให้มีความสุข เพราะอาศัยพุทธภูมิเป็นสำคัญ จิตอีกดวงหนึ่งคิดว่าทำบาปขึ้นมานี่ เป็นพระอรหันต์ไปนิพพานเสียดีกว่า ท่านบอก "อย่าให้มันแย่งกันซิ! เอาด้านใดด้านหนึ่ง" ถามว่า "ถ้าด้านใดด้านหนึ่งใช้เวลานานไหม?" ท่านบอก "ไม่นาน" ถามว่า "เท่าไหร่?"

ท่านก็ตอบ แต่จะไม่บอกนะว่าท่านบอกว่าไง ท่านก็กะเวลาให้ อ๋อ! เรื่องเล็ก ๆ แต่ว่าต้องเป็นนักเรียนทุน พอเรียนจบแล้วต้องทำงานใช้หนี้ ๑๒ ปี ก็ทำตามท่านรู้สึกว่าง่าย ที่ง่ายเพราะอะไร เพราะว่าอันดับต้นที่บวชใหม่ ๆ เล่นสมาบัติ ๔ ถึงสมาบัติ ๘ พอถึงสมาบัติ ๘ อาศัยที่ปรารถนาพุทธภูมิ มันก็ยั้งตัวอยู่แค่นั้น ก็ฟัดกันเรื่องสาธารณประโยชน์ "พุทธภูมิ" นี่ห่วงคนอื่นมากกว่าห่วงตัว ตัวเองจะมีกินหรือไม่มีกินไม่สำคัญ ขอให้สาธารณชนเขามีความสุข จิตใจมันขยายไปแบบนั้นนะ ไอ้ที่นอนก็เป็นเสื่อขาด ๆ เก่า ๆ ของใหม่ไม่มีในกุฏิ เวลานี้ที่วัดมีของดี ๆ มาก ชาวบ้านเขาจัดให้ ถ้าชาวบ้านเขาให้ชนิดไม่จำกัดล่ะหมด แจกเรียบ!!!...

เวลานี้เขาบอกว่าไม่ได้ หลวงพ่อต้องใช้ เลยเอาของเขามาแจกไม่ได้ ถ้าทำก็เป็นการทำลายศรัทธาเขา พระพุทธเจ้าปรับโทษ เมื่อก่อนนี้ไม่มีใครเขากำชับ ของดีก็แจกเรียบ! พระผู้ใหญ่ไปมีเสื่อขาด ๆ รับ จะนั่งได้ก็ได้ ไม่ได้ก็แล้วไป เรื่องเล็กเพราะไม่ต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ นี่ขนาดเจ้าคณะมณฑลไป เอาเสื่อขาดหน่อยหนึ่งรับ ท่านก็แน่เหมือนกัน ถามว่ามีเท่านี้รึเสื่อ ตอบว่า มีดีกว่านี้อีกคือขาดมากกว่านี้ ปรากฎว่าท่านกลับไปถึงวัดส่งเสื่อไปโหลหนึ่ง อานิสงส์เสื่อขาด! ท่านเดินเข้าไปดูในที่ ๆ นอก ถามว่า โอ๋! แกมีเท่านี้แหละหรือ ไอ้ป้านน้ำดี ๆ ของแกไม่มีบ้างหรอกหรือ ตอบว่า มีแต่แจกหมดแล้ว ทอดกฐินทอดผ้าป่าหมด ท่านรู้ว่าเป็นนักเทศน์ ของเยอะไป แต่ว่าทุกปีพอถึงเดือนเกิด เรียบ! แจกไปหมดไม่เหลือ จะเก็บไว้ทำเกลืออะไร เดี๋ยวขโมยลักเปล่า ๆ แล้วผ้าใหม่ ๆ ไม่ใช้หรอก ของดีไม่ใช้ เขาถวายมาครองไตรขึ้นเทศน์ พอกลับมารีบซักเก็บ ถึงปีทอดกฐินหมด โละต้นทุน ยิ่งโละยิ่งมาหนัก มาเท่าไรก็โละใหญ่ โละไปโละมาเดี๋ยวนี้โละไม่ทันแฮะ! อันนี้อานิสงส์โละจริง ๆ นะ

ตั้งแต่บวชพระมานี่ ปีไหนไม่เป็นหนี้ไม่มีหรอก แจ๋ว! ไอ้เป็นหนี้นี่กันไว้จุดหนึ่ง คือ กันการสะสมทรัพย์ ไม่ใช่จะอวดว่าหาเงินใช้หนี้เก่ง ไม่ใช่ยังงั้น! ถ้าเงินมันชักเหลือเป็นส่วนตัว ใจมันชักเริ่มไม่เป็นพระ ใจมันมัวหมอง ที่เป็นหนี้ก็หนี้งานก่อสร้าง หนี้งานสาธารณกุศล ยอมเป็นหนี้เพราะไม่ไว้ใจตัวเอง จะไว้ใจตัวเองไม่ได้ถ้ามันไม่ตายใช่ไหม ถ้าเรายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด ถ้ายังหายใจอยู่ก็อย่าพึงคิดว่าเราดี นี่เป็นเรื่องสำคัญ

เรื่องใจตัวเองนี่ เวลานี้ก็ถือภาษิตว่า "อัตตนา โจทยัตตานัง" จงกล่าวโทษโจทก์ความผิดของตัวเองไว้เสมอ ชำระใจของตัวเองเป็นสำคัญ คนอื่นใครเขาจะดี ใครเขาจะชั่วน่ะมันเป็นเรื่องของเขา เราเท่านั้นจะเป็นผู้ชำระใจตนเองได้ เราเอาตัวรอดเท่านั้นเป็นพอ นี่ปกติอาตมาเป็นอย่างนี้นะ ปกติเวลานี้เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อก่อนไม่ใช่อย่างนี้หรอก ชอบเสือก เขาบอกว่านาย ก. อยู่ที่โน่น ขั้วโลกเหนือ แกดี เราเป็นต้องปั๊บ แกดีแค่ไหนหว่า จิตใจแกแค่ไหน เวลานี้แกได้อะไรบ้าง รู้! ถ้าพระขอไปอยู่วัดนั้น ๆ เอาเชียว องค์นี้ได้อะไรหว่า เสือกน่ะ! ไอ้เสือกรู้..หนักเข้า ๆ เอ๊! นี่มันเรื่องของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องของกู แต่อีตอนนั้นมันเครื่องวัดตัวเองกับเขา คือ เขาออกชื่อใครมาว่าดี แล้วก็จับโดยอารมณ์ของจิต มันเป็นของง่าย ๆ ไม่ยาก พอรู้ชื่อปั๊บ! รู้ทันที! การวัดจิตเขากับจิตเรานี่ ถ้าจิตของเราสู้เขาไม่ได้นะ เปิด ไม่ช้าหรอก ถึงไปขอเรียน ไม่ใช่ไปแข่งกับเขานะ ไปขอเรียนต่อจากเขา ถ้าเขาบอกองค์นั้นดี วัดดูแล้ว เออ..ท่านต่ำกว่าก็ไม่ว่าอะไรท่าน ท่านก็เหมือนกับเราแหละ ต่ำกว่าคนอื่น ถ้าเขาดีกว่าต้องยกให้เป็นครู

แต่ว่าบางทีไปดูแล้ โอ้โฮ! ไม่ไหวเลย ดูข้างนอกนะ พ่อเยี่ยวรดกุฏิเหม็นหมด มีหลายองค์เยี่ยวบนพื้นนี่แหละ บางทีก็เยี่ยวใส่กระโถนราด ๆ เราเข้าไป แหม..น้ำอบไทยกลิ่นมันแจ๋วจริง ๆ ถามว่า "หลวงพ่อ! ทำไมทำยังงี้ล่ะเฮอะ?" ท่านตอบว่า "แกมานี่ยังดีนะ! ให้เด็กมันถูเสียหน่อยแล้ว" ถามว่า "ทำไม?" ตอบว่า "คนมันมาก วุ่นว่ะ! มาขอหวยบ้าง อะไรต่ออะไร..."

สมัยโน้น หวย ก ข นะ ไล่เท่าไรก็ไม่ไป เลยเยี่ยวราดพื้นให้มันเหม็น แต่คนมันก็ทน ทนก็เยี่ยวใส่กระโถน ราดมันตรงหน้าเลย มันถึงได้ไป พอเราไปท่านบอก "เดี๋ยว ๆ ข้าไปเอาน้ำร้อนมาราด ๆ เสียหน่อย มันฉุนจัด" แล้วก็คุยกัน ถามเราว่า "แกมาทำไม?" ตอบไปว่า "เขาลือกันว่าหลวงพ่อดี" ท่านว่า "เอ๊อ! แกไปเชื่อ..ไอ้คนมันบ้า! ข้าดีที่ไหน?" บอกท่านว่า "จริง ๆ ครับ ผมมานี่ผมดูแล้วหลวงพ่อดีกว่าผม" ท่านว่า "ดียังไงวะ! เยี่ยวก็เหม็น ขี้ก็เหม็น" เอาแล้วชักออกฤทธิ์ออกเดช แต่ไป ๆ มา ๆ ท่านก็ยอม ยอมเราก็ขอเรียน ท่านก็ให้เรียน ความจริงการเรียนนี่ท่านฉลาดมาก จับจุดเฉพาะจุดที่เราพร่อง ที่ท่านจะแก้ไขได้ พอเราแก้ไขได้แล้ ท่านบอก "ไป! อยู่เปลืองข้าว ข้าไม่มีอะไรจะสอนแล้ว"

เราก็กลับ กลับไปก็หาใหม่อีก ใครเขาลือกันที่ไหนนะ พอเขาลือเราก็ใช้เจโตปริยญาณจับจิต มันไม่ยากหรอก พอเขาพูดก็รู้ทันที ไอ้เวลานั้นใช้มากนะ ได้เป็นปกติจนคล่อง เวลานี้เลิกขี้เกียจ ใครจะไปเหนือไปใต้ก็ช่างเขา นอนสบาย..หมดเรื่อง... ถ้าเราไปยุ่งกับชาวบ้านเขาเรามันจะแย่ เราควรจะยุ่งกับใจเราเองเป็นสำคัญถึงจะดี ใครจะด่าเราก็เฉย ไอ้เรื่องด่านี่เคยชนะยาย ยายแกขี้บ่น ของแกนี่ใครหยิบไม่ได้จริง ๆ นะ ของ ๆ ท่านวางไว้ ใครไปยกขึ้นแล้ววางให้ตรงมุมอย่างเก่ากลับมาก็รู้ โอ้โฮ! เก่งจริง ๆ แต่ก็ช่างเถอะ! ยายไม่อยู่เมื่อไรสตางค์หายเมื่อนั้นแหละ สตางค์หายไม่โทษใครหรอก "ไอ้เล็กเอาของกู คนอื่นไม่มีใครเอาของกูหรอก" แล้วก็พึมพำ ๆ ไปตามเรื่อง เราไปกินก๋วยเตี๋ยวแล้ว อยากด่าก็ด่าไป เราก็นั่งหัวเราะเรื่อย อีวันหนึ่งเอามากหน่อย สมัยโน้น ๑๐ บาท ตัดเสื้อกางเกงโก้เลย หมวกเสร็จ พอโผล่มา "ไอ้เล็ก! เอ็งลักสตางค์ยายไปใช่มั๊ย?" บอก "ครับ!" ถามว่า "เอาไปทำไม?" บอก "นี่ครับเครื่องแต่งตัวนี่" ถามว่า "แกทำไมไม่ขอฉัน" บอก "ขอยายไม่ให้ครับ"

คราวนี้ก็เลยขึ้นกัณฑ์มหาราช อีคราวนี้ยาวหน่อย เราก็ถอดเสื้อพับแล้วก็กราบ ๆ กราบแล้วก็นอน แล้วก็หลับ พอตื่นมา อ้าว! เลิกด่าไปแล้ว ถามว่า "ไอ้เล็กหิวข้าวหรือเปล่าล่ะ?" บอก "หิวครับ!" ยายบอก "ยายทำไว้ให้แล้ว แกงเกิงไปกินเสียไป" ถามว่า "อ้าว! ยายไปทำเมื่อไหร่ครับ?" บอก "เห็นหลับข้าก็เลยไปทำ ขี้เกียจด่าแม่มัน ด่ามันก็หลับ" เราเลยชนะ สู้เราไม่ได้ ทีหลังเข็ดสั่งว่า เอาสตางค์ไปกี่บาทก็เขียนไว้นะ คราวนี้ตามสบาย ถ้าขอล่ะไม่ค่อยได้หรอก ซักนั่นซักนี่ สอนให้เราขโมย เรื่องฉันมันเยอะไอ้เรื่องเด็ก ๆ

ตอนอายุสัก ๑๕ - ๑๖ ได้ละมัง เขาไปปลูกบ้านให้หลังหนึ่ง สองชั้นสองห้อง อยู่คนเดียว ของเต็มหมด ๒ ห้อง ทำอะไรเล่นน้าชายก็สนับสนุน เล่นไปเล่นมาจนขโมยไฟฟ้าเขาได้ ไอ้ไฟฟ้านี่ไม่ต้องเอาสายต่อใช้ได้ แต่ความรู้นี้ให้ไม่ได้ มันบาปน่ะ! ถ้าไฟฟ้าแรงสูงห่าง ๑ กิโลใช้ได้สบายเลย ไฟแสงสว่างนะ ไฟแสงสว่างนี่ใช้เท่าไหร่ก็ได้ แต่ใช้แรงงานไม่ได้นะ เวลานี้วิชานี้ยังมีอยู่นะ แต่ไม่สอนใคร

พระพุทธเจ้าบอกว่า "วิชาที่ตถาคตรู้มีมากกว่านี้ แต่ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ตถาคตไม่สอน.."

วิชานี้สอนแล้วตกนรกจะสอนทำไมล่ะ! มีหลายเรื่องตอนเด็ก ๆ เรือเขาใช้ใบจักรกัน เราก็ใช้เรือยนต์ไม่ต้องใช้ใบจักร เอาเครื่องสูบน้ำเป่าให้ท่อมันจมไปลึก ๆ มันก็วิ่ง น้าก็ตามใจจริง ยายก็ด่าน้าบอก "ไอ้นอบ! ไอ้เนียบ!" ความจริงเขามีบรรดาศักดิ์ทั้งนั้นไม่เรียก เรียกชื่อ .. บอกว่า "ตามใจหลานนัก" สองคุณน้าบอก "คุณแม่ครับ! สตางค์ส่วนของคุณแม่ผมให้แล้วทุกเดือนนะครับ นี่มันสตางค์ส่วนของผมน่ะ .. " แต่พอเราทำเสร็จ! แกก็เอาสิทธิไปขายได้สตางค์มาทุกทีแหละ ไอ้เราก็ซน!! นักวิทยาศาสตร์โกง ๆ แบบนี้ไม่มีหลักสูตร เออ..นี่ ๓ ทุ่มแล้ว สมาทานกรรมฐานกันดีกว่านะ ...สวัสดี

Copyright © 2001 by
Amine
02 ก.ค. 2545 10:37:24