การฝึกอภิญญา ตอนที่ ๒

1 2

ตอนนี้สำหรับ " มโนมยิทธิ " นี่ถ้าเราได้แล้วผลแห่งการบรรลุมรรคผลจะรวดเร็วกว่าวิชชาสามมาก คือ ใช้ปัญญา เวลาเล็กน้อยเท่านั้นเป็นการฝึก สำหรับด้านทิพจักขุญาณก็รู้สึกว่ายังมีประโยชน์เยอะ เพราะว่าเรานั่งอยู่ตรงนี้เราจะพูดกับเทวดาก็ได้ เราจะพูดกับพรหมก็ได้ เราจะพูดกับสัตว์นรก จะพูดกับเปรต อสุรกายก็ได้ จะพูดกับพระยายมก็ได้ แต่ทว่าเป็นคนประเภทตาดีแต่ขาเดินไม่ไหว กำลังใจดีกว่าปฏิบัติในขั้นสุกขวิปัสสโกมาก แต่ว่าความรวดเร็วในการจะได้มรรคผลช้ากว่าในด้านของอภิญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอภิญญานี่จะสอนขั้นมโนมยิทธิเท่านั้น จะไม่สอนถึงขั้นของอภิญญาหกซึ่งต้องใช้เวลามาก รู้สึกว่าจะช้า ดีไม่ดี ๙๐ ปีก็ยังไม่ได้ ถ้ากำลังใจไม่เข้มแข็ง

นี่ถ้าจะพูดกันถึงการสำเร็จมรรคผล ถ้าจะว่ากันถึงมรรคผลจริง ๆ การปฏิบัติในขั้นสุกขวิปัสสโกก็ดี เตวิชโชก็ดี ฉฬภิญโญก็ดี ปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ดี ก็ใช้กำลังเสมอกัน คำว่า กำลังเสมอกันนี่ผมพูดมาเยอะ แต่รู้สึกว่านักปฏิบัติจะสนใจน้อยเกินไป นี่เห็นว่าสนใจน้อยเกินไป ผมจะรู้ได้เพราะความฉลาดหรือว่าความโง่ของพวกท่าน ถ้าหากว่าปฏิบัติกันจริง ๆ จะเป็นด้านไหนก็ตาม ถ้าจิตทรงสมาธิกันจริง ๆ อย่างที่ผมสอน ผมน่ะสอนพวกท่นไว้เสมอว่าอย่าให้เวลามันว่างจากอารมณ์ภาวนาหรือว่าการพิจารณา ถ้าอารมณ์ของเราไม่ใช้จิตอย่างอื่นหรือว่าเราใช้อารมณ์ของเราไปใช้จิตในการงาน ก็เอาจิตจับการงานนั้นด้วย คือ สมาธิจิต คือ ตั้งใจทำการงานนั้นโดยเฉพาะ แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาด้วยตามแบบของ " อิทธิบาท ๔ "

อิทธิบาท ๔ นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด เพราะว่าบรรดาพวกท่านทั้งหลายทิ้งอิทธิบาท ๔ เสียละก็ ผมให้ปฏิบัติไปอีกโกฏิชาติหรืออีกอสงไขยกัปมันก็ไม่ได้อะไรทั้งหมด เราฟังกันมาทุกวัน

ทีนี้การทำจิตไม่ว่าง ถ้าเราทำงานอยู่เอาจิตจับอยู่เฉพาะงาน แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาดูกิจการงานที่เราทำน่ะด้วยปัญญาอีกทีหนึ่ง อย่าใช้ความโง่ทำงาน ไอ้ใช้ความโง่ทำงานน่ะ ไอ้งานมันมีเฉพาะหน้าก็ทำดุ่ย มันดีหรือไม่ดีมันผิดหรือมันพลาดหรือยังไง มันควรจะเร็วมันควรจะช้าจะรุกไล่ให้มันดี มันเร็วขึ้นละเอียดขึ้นยังไงไม่เข้าใจ ทำส่งไกป ผลมันก็ได้เหมือนกันแหละ แต่ว่าผลมันได้อย่างเดียว คือ ได้งานที่เป็นโลกียวิสัย

ถ้าเราใช้กำลังใจของเราในงานนั้นเป็นกรรมฐาน ทำไปด้วยและก็พิจารณามันไปด้วย จิตจับอยู่ในงานคิดว่าไอ้งานที่เราทำนี่ คนที่เขาทำงานอย่างเรานี่มันก็ทำมาตลอดทุกระยะ ตั้งแต่ต้นกัปหรือกัปไหน ๆ เขาก็ทำกัน และก็ทำกันแล้วมันก็ตายทุกคน แล้วผลงานที่เราทำเราทำดีที่สุด แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปมันก็เสื่อมไปทีละน้อย ๆ ผลที่สุดไอ้วัตถุที่เรามันก็พัง แล้วไอ้คนที่เขาเคยทำงานมาก่อนเรานี่มันก็พังเหมือนกัน แล้วเราจะมานั่งโง่เกิดเพื่อประโยชน์อะไร

นี่ใช้ปัญญาพิจารณาไปด้วย ถ้าทำกิจการงานที่ต้องใช้กำลังแรงงานใช้ปัญญาพิจารณาด้วยแล้วก็ความฉลาดมันก็เกิด ต้องใช้ดุลยพินิจว่าอย่างไหนมันจะดี อย่างไหนมันจะถูก อย่างไหนมันจะควร ความสามารถของเรามีอยู่แค่ไหน รู้ในความสามารถรู้ในกิจในการควรไม่ควร แล้วก็เปรียบเทียบกับชีวิต ไอ้ชีวิตของเรามันก็เหมือนงานที่เราทำ มันเพิ่มขึ้นมาทีละน้อย ๆ นี่ งานมันขึ้นมาทีละนิด ๆ ในที่สุดงานมันก็โต ในที่สุดมันก็ถึงที่สุด ชีวิตของเราก็เหมือนกัน มันเล็กขึ้นมาแล้วมันก็โตขึ้นไปถึงที่สุด คือ ร่างกายเมื่อถึงที่สุดไปไหนก็โทรมน่ะสิ พัง! เสื่อมลงไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดก็พัง ถ้าสภาวะมันเป็นอย่างนี้เราจะเกาะมันไว้ทำไม ขันธ์ ๕

แต่ทว่าไอ้การไม่เกาะขันธ์ ๕ นี่ไม่ใช่ขี้เกียจทำการงาน ทำงานตามภาระ ทำงานตามหน้าที่ งานที่มันควรจะเสร็จให้มันเสร็จไป ใจมันจะได้ไม่ยุ่งเวลาที่พิจารณา นี่ถึงแม้ขั้นสุกขวิปัสสโกก็ต้องทำอย่างนี้ เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโตเขาก็ทำกันอย่างนี้

ทีนี้มาว่ากันถึงด้านภาวนา คือ ทรงสมาธิจิตหรือวิปัสสนาญาณ เมื่อเราเสร็จสิ้นจากการงานที่เราทำหรือดูหนังสือ หรืออะไรก็ตามเถอะ ถ้ายิ่งของเรานี่ได้กำไรมาก เทปเสียงมีอยู่ไม่ขาดสาย เมื่อว่างจากการงานเปิดเทปฟังเสียงไป หูก็ฟังเสียง ใจก็พิจารณาไปด้วย อย่าให้มันว่าง ถ้าไม่มีเทปฟังเสียง ไม่มีหนังสือดู เดินไปเดินมาอยู่จิตใจจับคำภาวนาและพิจารณาอยู่ตลอดเวลา เพียงเท่านี้ความฉลาดมันจะเกิดกับจิต เพราะว่าจิตเป็นสมาธิว่างจากนิวรณ์ ไอ้คนที่จิตโง่มีอารมณ์ฟุ้งที่มีความเข้าใจผิด นิวรณ์มันเข้ามาสิงใจถึงได้แสดงความโง่ ความไม่เข้าใจออกมา ถ้านิวรณ์มันหลุดออกไปจากใจ จิตมันก็เป็นฌาน ความฉลาดมันก็เกิด นี่ที่ผมรู้ พวกท่านนี่ผมรู้! จะเป็นพระ เป็นเณร อุบาสก อุบาสิกาก็ตาม ที่รู้ว่ายังไม่ฉลาด คือ ยังไม่ได้อะไรขึ้นมามากมายนัก หรือ บางท่านก็เลยไม่ได้อะไรเลย ก็เพราะว่าจิตไม่เอาจริง ถ้าเรื่องเอาจริงละมันได้ทุกคน ขอให้เอาจริง ๆ ตามที่แนะนำเถอะ! แต่ว่าฟังไปเลยเป็นธรรมดา ดีไม่ดีก็ฟังเป็นพิธี หรือดีไม่ดีก็เลยไม่ฟังเสียเลย ไอ้หูกระทะตากระทู้นี่ ไอ้หูกระทะฟังไม่ได้ยิน ตากระทู้มองดูอะไรไม่เห็น

นี่เป็นอันว่าต้องใช้กำลังจิตให้มันทรงตัวอยู่ตลอดเวลา วันนี้จะพูดถึงด้านทิพจักขุญาณก่อน ถ้าเราได้ ทิพจักขุญาณ แล้วเราก็ได้ จุตูปปาตญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ ยถากัมมุตาญาณ หมายความว่า เห็นผีเห็นเทวดาได้ รู้ว่าสัตว์ที่ตายแล้วไปเกิดที่ไหน คนและสัตว์ที่เกิดมาแล้วนี่มาจากไหน รู้วาระน้ำจิตของตน รู้วาระน้ำจิตของบุคคลอื่น สามารถระลึกชาติได้ รู้เหตุการณ์ในอดีตของคนและสัตว์ รู้เหตุการณ์ในอนาคตของคนและสัตว์และวัตถุ รู้ว่าปัจจุบันนี้ใครทำอะไรอยู่ ใครดีใครชั่ว รู้กฎของกรรมว่าคนที่ดีที่ชั่วนี่มีความสุขความทุกข์เพราะกรรมอะไรเป็นปัจจัย

นี่ถ้าเราได้ทิพจักขุญาณอย่างเดียวเหมือนได้ญาณ ๘ อย่างด้วย เพราะว่ามันเป็นญาณอันเดียวกันสุดแล้วแต่เราจะใช้

ทีนี้สำหรับกำลังใจในด้านปฏิบัตินี่เขาทำกันยังไง? วิธีฝึกทิพจักขุญาณนี่มีหลายแบบ แบบตามปกติเขาใช้ " กสิณ " กัน นี่พระพุทธเจ้าทรงตรัส แต่ก็มีแบบลัดอีกแบบหนึ่ง คือ แบบลัดนี่มีเยอะ แต่ทว่าผมจะพูดแต่เพียงแบบเดียว นี่ว่ากันแค่ทิพจักขุญาณกันก่อนนะ แต่ก็ใช้กำลังใจเหมือนกัน ถ้าหากท่านจะฝึกมโนมยิทธิก็ต้องใช้กำลังใจแบบนี้เหมือนกัน คือ กำลังใจที่ทรงสมาธิน่ะมันเท่ากันสุดแล้วแต่เราจะเลือกว่าเราจะปฏิบัติทางไหนเท่านั้น ไม่ใช่สุกขวิปัสสโกก็ทำเหยาะแหยะ ๆ ๆ อย่างนี้ไม่ใช่สุกขวิปัสสโกแล้ว เป็นทุกขวิปัสสโก กว่าจะได้มันก็แสนลำบาก กำลังใจน่ะใช้เสมอกันสุดแล้วแต่จะเลือกผลเท่านั้น เหมือนกันงานที่เราทำ ถ้าอยากจะสร้างบ้านสร้างเรือน อยากจะสร้างตึก สร้างถนน อยากจะปั้นหม้อ อยากจะปั้นตุ่ม อยากจะปั้นน้ำให้เป็นตัว

มันต้องใช้กำลังเท่ากัน มีความขยันหมั่นเพียรเท่ากัน " ฉันทะ " มีความพอใจเท่ากัน " วิริยะ " มีความเพียรเท่ากัน " จิตตะ " เอาจิตใจจดจ่อเหมือนกัน " วิมังสา " ใช้ปัญญาพิจารณาเหมือนกัน

ทีนี้มาว่ากันถึง " ทิพจักขุญาณ " ทิพจักขุญาณนี่ผมฝึกมาในด้านลัด แต่ผมฝึกจริง ๆ น่ะ ผมฝึกมันหมดไม่ว่าอีท่าไหนผมฟัดหมด กรรมฐาน ๔๐ ท่านถามผมสิ กองไหนที่ผมไม่ได้ไม่มี แล้วมหาสติปัฎฐานสูตรจุดไหนที่ผมไม่ได้ไม่มี ผมทำยังไง ผมทำบ้า ๆ บอ ๆ อย่างที่ผมอธิบายให้ท่านฟัง ผมจะไม่ยอมปล่อยเวลาแม้แต่หนึ่งวินาทีของจิตให้มันว่างจากการคำภาวนาหรือพิจารณา ทำงานเอางานเป็นกรรมฐาน เดินเอาเดินเป็นกรรมฐาน นั่งเอานั่งเป็นกรรมฐาน นอนเอานอนเป็นกรรมฐาน ดูหนังดูภาพยนตร์หรือว่าดูมโหรสพต่าง ๆ ผมเอามโหรสพเป็นกรรมฐาน ฟังเสียงคนพูดฟังเสียงคนร้องเพลง ฟังเสียงดนตรีผมเอาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นกรรมฐาน เห็นพืชผักเอาเป็นกรรมฐานทั้งหมด เอาเป็นกรรมฐานยังไง ตั้งใจฟังเสียงเป็นสมาธิเป็นสมถะ ใช้จิตพิจารณาว่าคนก็ดีสัตว์ก้ดี ไอ้ที่แสดงมโหรสพกันอยู่ และภาพที่มันเห็นนี่ หรือวัตถะธาตุต่าง ๆ มันเป็น " อนิจจัง " มันเป็นของไม่เที่ยง อย่างพวกนักแสดง

แหม..เวลาออกมาข้างนอกแต่งตัวโก้เป็นเจ้าเป็นนาย คนเป็นขี้ข้าท่าทางหมอบราบคาบแก้วกลัวกันเหลือเกิน ออกกำลังปฏิบัติตามกัน แต่พอเข้าไปในโรง ดีไม่ดีไอ้ตัวนายเป็นลูกไล่ของตัวขี้ข้า นี่มันเที่ยงที่ไหน มันไม่เที่ยง เขาต้องใช้ใจอย่างนี้

ตอนนี้ก็มาพูดกันถึงว่าเราจะเดินสายทิพจักขุญาณค่อย ๆ ว่ากันทีละขั้น ถามว่าท่านจะฝึกมโนมยิทธิหรือ นอนภาวนา นั่งภาวนา เดินภาวนาไปเลย นะมะ พะธะ ว่ากันไปเลย อย่าให้เวลามันว่าง อย่าให้จิตมันว่าง จะได้เลิกกันเสียที ไอ้ความเห็นผิด ไอ้การรู้ผิด ไอ้การเข้าใจผิดน่ะ เลิกกันเสียที ถ้าได้มโนมยิทธิน่ะ เขาแก้อารมณ์กันข้างบนโน่น เขาขึ้นไปเที่ยวกันบนสวรรค์ เที่ยวกันบนพรหม เที่ยวกันบนนิพพาน ถ้าจิตเข้าถึง แล้วแก้อารมณ์มันง่าย ใช้อารมณ์แว๊บเดียวเดี๋ยวเดียวเป็นขั้นนั้นขั้นนี้ไปเลย

ตอนนี้ มาว่าถึงคนที่มีกำลังใจไม่เข้าถึงมโนมยิทธิ มาว่ากันถึงทิพจักขุญาณ ผมสอนไว้แล้วว่า

พุทธัง เมฆนิมิต จิตตัง มะอะอุ

ธัมมัง เมฆนิมิต จิตตัง อุอะมะ

สังฆัง เมฆนิมิตจิตตัง อะมะอุ

นี่เป็นแบบลัด คลุมหมดวิชชา ๘ ที่สมาทานกันนี่ ถ้าทำอันนี้ได้ทำได้หมด เวลาเขาทำเขาทำกันยังไง ให้จับภาพพระพุทธรูปหรือจับภาพพระสงฆ์ เป็นพระใช้ได้หมด เวลาภาวนาไปเดินไป นั่งอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ก็ตาม ภาวนาให้มันติดใจให้มันโผล่ขึ้นมาในใจเสมอ ถ้าจิตเว้นว่างจากอารมณ์อย่างอื่น ให้คำภาวนานี้มันโผล่ขึ้นมาเลย แล้วก็จิตนึกถึงภาพพระให้มันเป็นปกติ นึกเห็นนะ ไม่ใช่พระลอยมา นี่พวกเราที่ยังติดภาพลอยกันอยู่เยอะ ภาพลอยนี่เขาไม่ใช้นะ มันต้องใช้อารมณ์จิตที่เป็นสมาธิ นึกเห็นภาพพระ จะเอาไว้ในอกก็ได้ จะเอาไว้ข้างนอกก็ได้ แต่ผมเองนิยมเอาไว้ในอกหรือว่าในสมอง นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งอยู่ในอกหรืออยู่ในสมอง ถามว่ามันทำยากหรือมันทำง่าย ผมต้องตอบว่ามันไม่ยากถ้าเราแน่ใจซะอย่าง ถ้าเรามีอิทธิบาท ๔ ซะอย่างมันไม่มีอะไรยาก ความเข้มแข็งของจิต ต้องคิดว่าคนอื่นน่ะ เขากินข้าวเราก็กินข้าว เขามีมือ ๆ ละ ๕ นิ้ว เราก็มีมือ ๆ ละ ๕ นิ้ว เขาฟังภาษามนุษย์รู้เรื่องเราก็ฟังภาษามนุษย์รู้เรื่อง เขามีกำลังใจได้เราก็มีกำลังใจได้ นี่..ความท้อแท้มันต้องไม่มี มี " วิริยะ " อยู่ในใจ " จิตตะ " อารมณ์จะไม่ยอมปล่อยคำภาวนา และภาพพระพุทธรูปหรือภาพพระสงฆ์ที่เราจับไว้ " วิมังสา " ใช้ปัญญาพิจารณาไปด้วยว่า

โอ้หนอ.. ที่เราภาวนานี่มันถูกหรือไม่ถูก ภาพพระที่เรานึกเข้าไว้นี่มันถูกหรือไม่ถูก เห็นภาพลอยมานี่ต้องใช้ปัญญา สัญญาและปัญญาคู่กัน สัญญาคือจำไว้ว่าครูห้ามยึดถือภาพที่ลอยมาเป็นอันขาด อยากจะมาก็เชิญมา อยากจะไปก็เชิญไป คำภาวนาว่าอย่างไรที่เราเริ่มต้น ใช้อย่างนั้นเป็นปกติ ไม่ยอมเปลี่ยนเด็ดขาด ภาพพระพุทธรูปหรือภาพพระสงฆ์ที่เรากำหนดไว้ภายในอกหรือว่าในสมอง เราจะไม่ยอมให้ภาพนั้นเคลื่อนจากอารมณ์ของจิต ใหม่ ๆ มันก็ลำบากนิดหนึ่งไม่เห็นมันยากเยิกอะไร เอาจริงเอาจังน่ะไม่มีอะไรมันยาก ไอ้ที่ยากน่ะมันคนไม่จริง สักแต่ว่าอยากอย่างนั้น สักแต่ว่าอยากอย่างนี้ ถ้าลงอยากล่ะพัง ไม่ต้องไปนั่งอยากไม่ต้องไปนั่งนึก เอามันเลย จิตปักคิดว่าพระพุทธรูปองค์นี้แหละเราจะถือเป็นอารมณ์สำหรับนึก นึกถึงเมื่อเวลาภาวนา เดินไปเดินมา ไปบิณฑบาตทำกิจการงานทำอะไรก็ตาม คุยอยู่ก็ตาม ว่างนิดจิตนึกถึงภาพพระองค์นั้นภาวนาจิตขึ้นมา

นี่เป็นอันว่า ให้อารมณ์มันติดอย่างนี้จริง ๆ ทีนี้หากบังเอิญภาพพระที่เรานั่ง เรานึกถึงภาพพระนั่งแต่ภาพพระจะกลายเปลี่ยนเป็นนอน เป็นยืน เป็นเดิน จับภาพพระพุทธ ภาพพระพุทธจะหายไปจะกลายเป็นภาพพระสงฆ์อารมณ์จะเสียก็ช่าง จะเป็นพระสีขาว สีดำ สีแดงก็ช่าง เราจับภาพพระให้เป็นภาพพระก็แล้วกัน อิริยาบถท่านจะเปลี่ยน ภาพจากกระแสจะเปลี่ยนไปยังไงก็ช่าง ถ้าจับภาพได้อย่างนี้จริง ๆ ได้ทุกเวลาตามที่เราต้องการ อาการอย่างนั้นจะเริ่มเป็นอุปจารสมาธิ เมื่อจิตเริ่มเป็นอุปจารสมาธิ อารมณ์แห่งทิพจักขุญาณมันก็จะเริ่มเกิด ถ้าภาพนั้นไม่สดสวยน่ะ เป็นภาพธรรมดา ภาพพระพุทธที่เราเคยเห็นก็เป็นภาพพระพุทธรูป บางทีก็เห็นเป็นนั่งบ้างเป็นนอนบ้าง อย่าเอาภาพลอยมานะ เอาใจนึกเห็น อย่างนี้เขาเรียกว่า วิปัสสนึก เอาจิตนึกเห็นไว้ แล้วอย่าไปอวดวิเศษน่ะว่านั่นเป็นอุปาทานอุปาเทินนะ..

แหม.. อวดดีนี่ไม่ว่า แต่ไอ้อวดเลวนี่สิมันระยำ จำแบบจำแผนเขาไว้ให้ดี ว่าที่เขาได้มานี่เขาทำกันยังไง ถ้าหากว่าเราเก่งจริง ๆ น่ะ ไม่ต้องมาฝึกหรอก มันก็ดีมาตั้งแต่ท้องแม่แล้ว ไอ้ที่เขาทำกันได้เนี่ยเขาทำกันอย่างนี้ ถือว่า แหม..มันเป็นอุปาทานอย่างนั้นอย่างนี้ หูได้ยินเสียงเป็นอุปาทาน ตาที่พึงใจที่เห็นอารมณ์ได้หลับตาแล้วเห็นภาพได้เป็นอุปาทาน มันไม่ใช่อุปาทาน

คำว่า " อุปาทาน " หมายถึงว่า สิ่งที่เราคิดไว้ก่อน เราเห็นไว้ก่อน แล้วเวลาที่ทำสมาธิไป ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันปรากฏขึ้น อย่างกับเคยเห็นภาพเทวดาที่เขาเขียนตามผนังโบสถ์ไม่มีเสื้อ นางฟ้าไม่มีเสื้อ เทวดาไม่มีเสื้อ อารมณ์แว๊บหนึ่งภาพลอยมาเทวดาไม่มีเสื้อ นี่แหละตัวอุปาทาน ไอ้ตัวที่จิตมันยึดอยู่ ถ้าอารมณ์เราเป็นสมาธิจริง ๆ จิตจับภาพพระเป็นปกติ แต่บางขณะจิตหายแว๊บลงไป สิ่งอื่นมันสะดุดขึ้นมาปรากฏในขณะที่จิตเป็นสมาธิ นั่นเป็นของแท้ ไม่ใช่อุปาทานนะ

อันนี้พูดกันถึงด้านทิพจักขุญาณก่อน แต่ถ้าหากว่าท่านจะฝึกมโนมยิทธิก็ต้องใช้อารมณ์อย่างนี้ อารมณ์มันต้องใช้เท่ากัน ทั้ง ๔ อย่างนี่บอกแล้ว สุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต ใช้อารมณ์อย่างเดียวกัน ความเข้มแข็งของจิตเหมือนกัน แต่เว้นไว้แต่จะเลือกทางเดินกันเท่านั้น ทีนี้ ถ้าหากว่าภาพของท่านเข้าถึงอารมณ์อุปจารสมาธิ ตอนนี้อารมณ์เริ่มเป็นทิพย์ จิตเริ่มเป็นทิพย์ จะเริ่มมีอาการไหวตัวขึ้นมาในด้านลักษณะของทิพจักขุญาณ เดี๋ยวก่อน ผมขอพูดต่อไปก่อน ยังไม่อธิบายหรอกตอนนี้ ถ้าต่อไปอาการภาพพระที่เราเห็น มีสภาพผ่องใสจับได้เป็นปกติ คำว่าปกติ นึกภาวนาขึ้นมาเมื่อไหร่ นึกถึงเห็นภาพพระทันที ไม่เสียเวลาแม้แต่หนึ่งวินาที นี่จิตต้องคล่องอย่างนี้นี่ตามวิสุทธิมรรคท่านว่า จิตต้องเป็นนวสี นวสี ก็คือ การคล่อง

ถ้าการคล่องอย่างนี้เกิดขึ้น อารมณ์แห่งทิพจักขุญาณสามารถใช้ได้ เริ่มใช้ได้แต่ว่ายังไม่ดี วิธีใช้ทำยังไง ทีนี้วันนี้ผมจะพูดถึงอาการแห่งทิพจักขุญาณที่มันเกิดขึ้นอันดับต้น มันจะเกิดขึ้นแบบนี้ก่อน คือว่า เวลาเรานอนภาวนาไป เวลาภาวนานอนภาวนาจับภาพพระเรื่อยไป พอใกล้จะหลับ มันครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือว่าตื่นขึ้นมาครึ่งหลับครึ่งตื่น ไม่เต็มที่ มันจะเกิดนิมิตแว๊บหนึ่งขึ้นปรากฏ นิมิตนั่นจะเป็นนิมิตอะไรก็ตาม จิตมันจะบอกเลยว่านิมิตอันนี้จะเป็นภาวะอันนั้นเกิดขึ้น มันจะมีอะไรเกิดขึ้นใจเราต้องเชื่อจุดนี้ทันที อย่าไปคิดตอนหลังไม่ได้ แล้วจุดนั้นมันจะตรง

เอาละ สำหรับวันนี้หมดเวลาแล้ว สวัสดี

กลับหน้าที่ ๑Copyright © 2001 by
Amine
22 เม.ย. 2545 20:07:44