การฝึกอภิญญา ตอนที่ ๒

1 2

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลายและบรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปขอท่านทั้งหลายได้ตั้งใจสดับกรรมฐานพิเศษ สำหรับวันนี้จะแนะนำในด้านพระกรรมฐานพิเศษ แต่ทว่าเวลานี้พวกเรากำลังมีความสนใจในด้าน " ทิพจักขุญาณ " และด้านของ " อภิญญา " แต่ทว่าก่อนที่จะแนะนำหรือจะสอนกัน จะบอกกันเรื่อง " อภิญญาสมาบัติ " และ " วิชชาสาม "

สำหรับในตอนนี้ก็จะขอให้ท่านทราบจริยาเบื้องต้นเสียก่อน คือว่า อาการของการเจริญพระกรรมฐานในด้าน สุกขวิปัสสโกก็ดี เตวิชโชก็ดี ปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ดี ทั้งหมดนี้ถ้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า คือ เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ทั้งหมดนี้มีค่าเสมอกัน

คำว่า " มีค่าเสมอกัน " ก็เพราะว่าเป็นพระอริยเจ้าเท่ากันตัดกิเลสได้เสมอกัน ไปนิพพานได้เหมือนกัน แต่ทว่าคุณสมบัติพิเศษไม่เสมอกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่มุ่งเฉพาะสุกขวิปัสสโกก็เป็นอรหันต์ที่ไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งหมด หมายความว่า ไม่ได้ฝึกมาในสายทิพจักขุญาณหรือว่าอภิญญาหกหรือปฏิสัมภิทาญาณ

ฉะนั้น หากท่านที่เป็นสาย " สุกขวิปัสสโก " จึงไม่รู้ไม่เห็นไม่สามารถที่จะบังคับจิตให้เห็นสวรรค์ เห็นพรหมโลก เห็นเทวดา เห็นพรหมได้

สำหรับท่านที่เจริญในด้าน " วิชชาสาม " สามารถจะได้ทิพจักขุญาณ คือ เห็นเทวดา เห็นพรหม และก็เห็นนรก เห็นสัตว์นรก เห็นเปรต เห็นอะไรต่าง ๆ ถ้ามีอารมณ์เข้าถึงพระโสดาบันก็สามารถจะเห็นพระนิพพานได้

สำหรับท่านผู้ทรงอภิญญามีอานุภาพมากกว่าวิชชาสาม สามารถจะทำอทิสสมานกายยกกายภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นอภิญญาใหญ่ทรง " อภิญญาหก " ก็สามารถเอากายเนื้อไปในภพต่าง ๆ ได้ไม่เลือกสถานที่

สำหรับ " ปฏิสัมภิทาญาณ " มีความดีเป็นพิเศษ คือ มีความสามารถคลุมสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญทั้งหมด และก็ยังมีความรอบรู้ต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น สามารถจะรู้ได้ทุกภาษา เช่น ภาษาคน ภาษาสัตว์ มีความฉลาดในการขยายความสั้นให้ยาว ย่อเนื้อความยาวให้สั้นอย่างนี้เป็นต้น และก็มีอารมณ์ว่องไวมาก

อันนี้เป็นที่เปรียบเทียบเพื่อให้ท่านทั้งหลายเข้าใจ ที่นำมาพูดนี้ทำไมจึงได้นำมาพูด เพราะผมทราบ ทราบว่าในสำนักของเรายังมีคนที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้องอีกเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนที่ผมสอนไว้ในปัจจุบันก็ดี ที่เป็นอดีตเป็นเทปบันทักไว้ก็ดี ที่เป็นหนังสือก็ดี และก็ปรากฏว่ายังมีหลายท่านฟังไม่รู้เรื่องบ้าง อ่านหนังสือไม่ออกบ้าง คำว่าฟังไม่รู้เรื่องอ่านหนังสือไม่ออกก็แสดงว่า หาความเข้าใจอะไรไม่ได้ ยังมีความเข้าใจผิดมีความเข้าใจพลาดอยู่มาก อันนี้ถือว่าเป็นโทษหนัก

คำว่า " เป็นโทษหนัก " ก็คือ จะเป็นคนมีมานะ มานะมันเป็นกิเลสหรือว่ากลายเป็นมิจฉาทิฏฐิมีความเข้าใจพลาด ถ้าเรามีความเข้าใจพลาด การปฏิบัติของเราก็พลาด ผลที่เราจะพึงได้ก็เป็นผลพลาด ถ้าพลาดหรือว่าตกมีความหมายยังไงก็เข้าใจดีอยู่แล้ว มันก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าเดินทางพลาด ดีไม่ดีลงนรกไปเลย

นี่ความสำคัญตัวมีความสำคัญมากอย่าสำคัญผิด ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า " อัตตนา โจทยัตตานัง " จงเตือนตนเองไว้เสมอ นี่ต้องจำ! ฟังได้แล้วต้องจำ! จำแล้วใช้ปัญญาพิจารณาใน " อิทธิบาท ๔ " ท่านบอกว่า

ฉันทะ มีความพอใจ

วิริยะ พากเพียรทำลายอุปสรรค

จิตตะ สนใจในสิ่งนั้นไม่วางมือ

วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจ

ถ้าอารมณ์ของท่านทั้งหลายทรงอยู่ในอารมณ์นี้ทั้งหมดก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะทรงอารมณ์ให้ได้ดีจริง ๆ พระกรรมฐานทรงตัวจะเป็นด้านสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ตาม อารมณ์จะต้องทรงบารมี ๑๐ ครบถ้วน " บารมี ๑๐ " นี่จะต้องมีให้เต็มกำลังใจไว้เสมอ และก็ต้องมี " จรณะ ๑๕ " ครบถ้วน ถ้ามิฉะนั้นการปฏิบัติของพวกท่านหาผลได้ยาก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของเก่าทั้งหมด ที่ผมนำมาพูด

ต่อไปนี้ก็จะเปรียบถึงด้านอารมณ์ที่เข้าถึงให้ฟัง พวกที่ได้ทิพจักขุญาณอย่างหนึ่ง ที่ได้อภิญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราฝึกกันด้านมโนมยิทธิอย่างหนึ่ง กับอารมณ์ของบุคคลที่เข้าถึงอุปจารสมาธิอันนี้ไม่เหมือนกัน อารมณ์ที่เข้าถึงอุปจารสมาธิสามารถจะเห็นภาพต่าง ๆ ได้บ้างในบางขณะ ไม่มีอารมณ์สามารถจะบังคับให้รู้ให้เห็นได้โดยเฉพาะ อย่างสมมติว่าเวลานี้เราอยากจะเห็นพระอินทร์ แล้วก็นั่งภาวนาพิจารณากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกหรือภาวนาจับนิมิต ดีไม่ดีจิตถ้ามันนึกอยากเห็นพระอินทร์ขึ้นมา อะไรมาก็ไม่รู้ ดีไม่ดีก็ถูกอสุรกายหลอก อุปจารสมาธินี่มีหลายท่าน

นี่ผมหมายถึงว่าเคยพบมามีหลายคน เมื่ออารมณ์จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิเข้าใจว่าสำเร็จเสียแล้ว ดูเหมือนว่าผมจะเคยเขียนไว้ในหนังสือหลวงพ่อปาน ว่ามีสำนักหนึ่งมีคนเขาไปปฏิบัติกันมา เมื่อเขาผ่านมาแล้วอยู่บ้าน ๒ - ๓ เดือน เขาก็มาหาผม ถามว่า " หลวงพ่อช่วยตรวจดูทีสิว่า กรรมฐานของฉันน่ะมันเสื่อมไปแล้วหรือยัง? " ผมก็แปลกใจว่าไอ้กรรมฐานเสื่อมไม่เสื่อมนี่ไม่มีใครเขาถามชาวบ้านกันหรอก ตัวเองน่ะรู้ตัวของตัวเอง จึงถามว่า " โยมไปศึกษาที่ไหนมา? " เขาก็บอกสำนัก ถามว่า " อาจารย์บอกว่ายังไง? " แกก็เลยบอกว่า " อาจารย์บอกว่าสำเร็จแล้ว " จึงได้ถามว่า " อาการที่อาจารย์บอกว่าสำเร็จน่ะ โยมมีความรู้สึกเกิดขึ้นกับจิตประการใดบ้าง? "

โยมคนนั้นก็บอกว่า เวลานั่งบางครั้งเห็นภาพเทวดาบ้าง เห็นภาพวิมานบ้าง เห็นภาพอะไรต่ออะไรมาบ้างในบางขณะ หรือ บางทีก็พบทุกวันก็ยังได้ แต่เห็นแว๊บเดียวแล้วก็หายไป บางทีก็ตั้งอยู่ครู่หนึ่งก็หายไป จึงได้ถามว่า โยมสามารถบังคับจิตได้ไหม ว่าเดี๋ยวนี้เราต้องการเห็นนรก ต้องการเห็นเปรต ต้องการเห็นอสุรกาย ต้องการเห็นสัมภเวสี ต้องการเห็นเทวดา ต้องการเห็นพรหม ต้องการเห็นนิพพาน หรือว่าต้องการเห็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ที่ท่านนิพพานไปแล้ว โยมบอก " ไม่ได้หรอกเจ้าค่ะ " ถ้าไม่ได้เป็นแต่เพียงนั่ง ๆ ไปพอจิตสบายก็เห็นภาพ บางทีก็เห็นได้ทุกวันอันนี้ผมไม่ขัดคอ

ถ้าหากว่าเห็นได้ทุกวันขณะที่นั่งอยู่ ถ้าจิตเป็นสมาธิหรือว่าจะเห็นได้ทั้งวันก็ได้ แต่ต้องใช้เวลาที่เราตั้งจิตสงบ และก็ใช้เวลาบ้าง หมายความว่าอาจจะต้องใช้เวลาสัก ๒ - ๓ นาที เห็นภาพแล้วก็คุยกันไม่ได้ แว๊บหนึ่งก็หายไป ตั้งอยู่ครู่หนึ่งก็หายไป อาการอย่างนี้ไม่ใช่อาการของทิพจักขุญาณ หรือไม่ใช่อาการของอภิญญา เป็นอาการของอุปจารสมาธิและก็เป็นอาการของคนที่จิตยังไม่เข้าถึงปฐมฌาน นี่ขอท่านทั้งหลายจงจำไว้นะ! จำให้มันดีและก็จงอย่าหลงว่าเราได้ทิพจักขุญาณเสียแล้ว การที่จะได้ทิพจักขุญาณจะต้องทรงถึงฌาน ๔ คือ ความจริงทิพจักขุญาณนี่เขาอาจจะเริ่มได้ตั้งแต่อุปจารสมาธิ แต่ว่าต้องฝึกตรง เฉพาะที่เราเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ได้แล้วก็เห็นนิมิตนั่น เขาเรียกว่า " อุปจารสมาธิ " หรือว่า " อุปจารฌาน "

เมื่อจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิหรืออุปจารฌาน ก็สามารถที่จะได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ สามารถที่จะเห็นภาพที่เป็นทิพย์ได้ แต่มันแว๊บเดียวคำสองคำก็หายไป และเราเองก็ไม่สามารถจะบังคับให้เจ้าของเสียงนั้นพูดต่อไปได้ เราไม่สามารถจะบังคับให้เจ้าของภาพนั้นทรงต่อไปได้ ในการเห็นใหม่มันก็ไม่ซ้ำกัน คุยกันก็ไม่ได้ เห็นกันนานก็ไม่ได้ อาการอย่างนี้เป็นการหลงผิดอย่างกับโยมที่มาถามนั่นแหละ เป็นอันว่าท่านศึกษายังไม่ขึ้นประถมปีที่ ๑ คือ " ปฐมฌาน " แต่ทว่าอาจารย์ก็บอกว่าสำเร็จเสียแล้ว

ฉะนั้น พวกเราก็เหมือนกัน คณะของพวกเรานี่ผมทราบว่ายังมีการหลงผิดกันอยู่มาก บางท่านไปประสบพบอารมณ์อย่างที่ผมว่ามานี้ แต่ก็จิตคิดไปว่าเราได้ดี คือ เราได้ทิพจักขุญาณ ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้รีบถอยหลังเสีย คำว่า ถอยหลัง หมายถึง ถอนความรู้สึกนั้นเสีย มันจะเกิดความเสียหายกับท่าน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านจะไม่ก้าวเข้าไปสู่ความดี อารมณ์อุปจารสมาธินี่นักเจริญพระกรรมฐานจริง ๆ เขาไม่ใช้ จะประสบพบภาพอะไรได้ยินเสียงอะไรก็ตารม เขาไม่ใช้กันหรอก ยังถือว่าไม่ใช่สาระไม่ใช่แก่นสาร แต่ทว่าคนที่มีความทะนง จุดนี้แหละเป็นจุดสำคัญ ที่มีความทะนงทำลายตัวเองให้มีความพินาศไปจากกำลังของความดีที่จะพึงได้ จำไว้นะวันนี้จะพูดเฉพาะอาการ

ทีนี้มาพูดถึงคนที่เขาได้ทิพจักขุญาณ ทิพจักขุญาณนี่ก็ต้องวัดระดับเป็นฌานโลกีย์ เป็นพระอริยเจ้า คือ พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความสว่างไสวแจ่มใสชัดเจนมั่นคงไม่เสมอกัน แต่นั่นก็ช่างเถอะผมจะไม่อธิบาย จะอธิบายแต่เพียงว่าท่านที่ได้ทิพจักขุญาณนั้นต้องฝึกฝนโดยตรงเฉพาะ เพราะว่าวิชาเฉพาะทิพจักขุญาณเขามีอยู่ คือ จับพลัดจับผลูอึกอักก็ให้มันได้โดยไม่ใช้วิชาเฉพาะนั้นไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ใช่สัพพัญญูวิสัย เราเป็นสาวก มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่เมื่อถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วอะไร ๆ ก็ได้หมด สำหรับพระสาวกนี่จะต้องเรียนเฉพาะกิจ เว้นไว้แต่ว่าท่านผู้นั้นเคยได้ญาณนั้นมาแล้วในชาติก่อน แต่พอกำลังจิตเข้าถึงก็สามารถจะรู้ได้ แต่อย่างนั้นก็เป็นที่สังเกตไม่ยาก ผู้ที่เขาได้มาก่อนพอเจริญสมาธิจิตถึงฌานนิดเดียว ของเก่ากลับมาหมด อันนี้สังเกตไม่ยาก

เพียงได้ยินคำพูดคำเดียวก็รู้แล้ว่าท่านผู้นั้นมีทุนมาก่อนหรือว่าไม่มีทุนมาก่อน ถ้าเขามีทุนก่อนจะไม่มีวาจาที่เฝือออกมาแม้แต่คำเดียว นี่เรามาพูดกันถึงการฝึก อาการที่เขาได้ทิพจักขุญาณจริง ๆ นะเขารู้จริง ๆ แต่ว่าอาการรู้นี่จะต้องระวัง ถ้าเป็นพวกฌานโลกีย์นี่มีอารมณ์หลงมาก และ มีอุปาทานกินมาก ถ้าบุคคลผู้นั้นยังใช้กำลังใจของตนเองเป็นเครื่องได้ยิน เป็นเครื่องรับทราบจากเสียงและก็เป็นเครื่องเห็นภาพ ถึงแม้ว่าจะได้ทิพจักขุญาณก็ยังถือว่ายังใช้ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่ากำลังใจของท่านที่ยังไม่ถึงอรหัตผล ยังไง ๆ กิเลสมันก็ขวางหน้าท่านได้ ถ้ายิ่งได้ฌานโลกีย์ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ของดีจริง ๆ จะไม่มีทางได้ บางทีก็รู้ถูกรู้ผิด ถ้ามีอารมณ์คิดกำหนดไว้ก่อนนิดเดียวภาพหลอนก็จะปรากฎ นี่ว่ากันถึงฌานโลกีย์ แม้แต่พวกพระอริยเจ้าก็ตาม

ถ้ายิ่งเป็นพระอริยเจ้าด้วยแล้ว เขายิ่งไม่ไว้ใจตัวเองอย่างยิ่ง เมื่อได้ทิพจักขุญาณแล้วนับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เขาก็ใช้กำลังใจติดต่อเฉพาะ คำว่า เฉพาะในที่นี้เฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หากว่าท่านจะถามว่าเราจะติดต่อพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ตอนนี้ผมก็ขอตอบว่า ให้ท่านฝึกทิพจักขุญาณให้คล่องเสียก่อน แล้วก็ทำใจของท่านให้เข้าถึงพระโสดาบันเสีย แล้วเวลาที่เราต้องการจะพบจะเห็นอะไร เขาใช้อารมณ์แบบนี้ ต้องสร้างนิมิตคือ ทิพจักขุญาณนั้นให้มีอารมณ์แจ่มใน คือ ดูใจของเราเองให้มันแจ่มใส ต้องเห็นกระแสจิตของตนเอง เห็นกระแสจิตของตัวเองแจ่มใสจนกระทั่งไม่มีสีอื่นเจือปน มีสีเป็นแก้วใสเป็นประกายสวยสดงดงาม นี่แสดงว่าจิตว่างจากกิเลสแล้ว จิตตัวนี้ว่างจากกิเลส ๆ ไม่ยุ่ง ถ้าจิตมีกิเลสมันยุ่งนิดเดียวเดี๋ยวมันก็ถูกหลอก

เมื่อจิตว่างจากกิเลสมีกระแสใสผ่องใสเต็มที่ ตอนนี้เราจะพบองค์สมเด็จพระมหามุนีได้ไม่ยาก และเราเห็นท่านก็แจ่มใส เห็นท่านได้แจ่มใสเวลาจะพูดจะคุยจะทูลถามอะไรพระองค์จะทรงตรัสอะไรก็ชัดเจน จะนั่งอยู่นานแสนนานเท่าไหร่ก็ได้จะพูดกันมากเท่าไหร่ก็ได้ นั่งอยู่ตรงนี้จะคุยกับสัตว์นรก คุยกับเปรต คุยกับอสุรกาย คุยกับพระยายม คุยกับเทวดา คุยกับพรหม คุยกับพระอริยเจ้าก็ได้ เหมือนกับนั่งอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่อารมณ์ของทิพจักขุญาณนี่เขาใช้กันได้ทุกขณะ ไม่ใช่ต้องไปนั่งทำจิตให้เป็นสมาธิให้อารมณ์สบาย แล้วเห็นภาพว๊อบ ๆ แว๊บ ๆ ได้ยินเสียงบ้างอะไรบ้างนี่เป็นอารมณ์เฝือ

ผมมีความรู้สึกว่าในสำนักเรานี่อาการอย่างนี้ยังมีอยู่ทสั้ง ๆ ที่ฟังคำแนะนำกันอยู่ตลอด ผมเสียดายเวลาของพวกท่าน ว่ายังมีความไม่เข้าใจอะไรกันอยู่มาก มันเป็นเรื่องแปลกที่สุด ถ้าผมจะคิดว่าพวกท่านศึกษากันกับสมัยที่ผมศึกษาน่ะ ถ้าอากรอย่างนี้มันเป็นของแปลกมาก ที่ว่าแปลกก็เพราะว่าการรับคำสอนนี่ผมไม่เคยได้รับกันทุกวัน ๆ ละหลายครั้งอย่างนี้

คำสอนของครูบาอาจารย์นี่สอนครั้งเดียวผมจำตลอดชีวิต และก็ต้องทำให้ได้ ของเรายังเฝือกันอยู่มาก ฟังมากไปบางทีจะชินเกินไป ถ้าชินเกินไปมีการหลงใจหลงตัวของตัวเอง ก็เกิดความทะนงนึกว่าตัวเป็นผู้วิเศษ หรือว่าได้มรรคได้ผล ข้อนี้ต้องระวังให้มาก

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่ได้ทิพจักขุญาณหรือวิชชาสาม นี่เขายังไม่กล้าไปแตะต้องกับพวกที่ได้มโนมยิทธิ พวกที่ได้มโนมยิทธินี่เขามีกำลังดีกว่ามาก ความสามารถเขาดีกว่ามาก เพราะว่าเขาเป็นอภิญญา ถ้าความสามารถเสมอกันพระพุทธเจ้าก็ไม่จัดไว้เป็นขั้น ๆ ไว้ในด้านความรู้พิเศษ ผู้ที่ได้มโนมยิทธิโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขาเป็นพระอริยเจ้า จุดนี้เขาจะไม่มีการหลงเลย และพวกนี้เขาจะไม่มีความประมาท เขาจะไม่ยอมใช้อารมณ์จิตของเขาโดยเด็ดขาด ถ้าต้องการจะรู้อะไรนี่เขาจะทูลถามพระพุทธเจ้าหรือว่าถามเทวดาหรือถามพรหมองค์ใดองค์หนึ่งที่เคยให้สัญญากับเขาไว้ว่า ถ้าต้องการจะรู้อะไรถามฉัน ฉันจะบอกทุกอย่าง

แต่ถ้าจะถามว่าพวกได้อภิญญานี่เขาจะใช้อารมณ์รู้เองได้ไหม ก็ต้องตอบว่าเขาใช้อารมณ์รู้ได้ แต่ไม่มีใครเขาโง่ที่จะต้องใช้อารมณ์ตัวของเขาเอง เพราะว่าขึ้นชื่อว่าความสามารถ แต่ว่าเทวดาหรือพรหมที่จะถามต้องเป็นเทวดาหรือพรหมที่เป็นพระอริยเจ้า ถ้าเป็นเทวดาหรือพรหมที่ไม่ใช่พระอริยเจ้าก็ไม่ควรถาม เพราะว่าเทวดาก็ดี พรหมก็ดี ความสามารถไม่เสมอกัน ถ้าเป็นเทวดาไปจากทาน ไปจากศีล ไปจากการฟังเทศน์ ความสามารถก็น้อยกว่าเทวดาหรือพรหมที่ไปจากฌาน เทวดาหรือพรหมที่ไปจากฌานก็มีความสามารถน้อยกว่าเทวดาหรือพรหมที่เป็นพระอริยเจ้า เทวดาหรือพรหมที่เป็นพระอริยเจ้าก็จะต้องมีความสามารถเป็นขั้น ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราไปถามท่านที่เป็นพระอรหันต์ อันนี้ก็ถือว่าถึงที่สุด แต่ว่าท่านที่ได้อภิญญาสมาบัติจริง ๆ หรือว่าได้ทิพจักขุญาณจริง ๆ ส่วนมากเขายึดจุดพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ

นี่สำหรับวันนี้ไม่มีอะไรหรอก ให้คติไว้แต่เพียงว่าข้อเปรียบเทียบเท่านั้น ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายที่ฝึกกรรมฐานไป จงอย่าหลงผิดคิดว่าเราดีเสียแล้ว ถ้าเราไปพบกับผู้ที่เขาได้มโนมยิทธิก็ดี ทิพจักขุญาณจริง ๆ ก็ดี แต่บังเอิญเราเข้าถึงอุปจารสมาธิ จงจำไว้ให้ดีนะว่าอุปจารสมาธิใช้กำลังจิตทันทีทันใดไม่ได้ จะต้องไปนั่งภาวนาพิจารณาจนกระทั่งอารมณ์จิตสบายจึงเข้าถึงอุปจารสมาธิ แต่ว่าภาพที่จะเห็นได้นั้นไม่ใช่ว่าตามใจตัวเอง เป็นภาพที่ลอยมาเฉย ๆ เป็นการบังเอิญ เหมือนกับเราเป็นง่อยหรือว่าเราเป็นคนสายตาสั้น เขาต้องมาให้เห็นหรือเขาต้องมาหาเรา จึงจะเห็นได้ หรือคุยกับเขาได้ ไม่เหมือนคนสายตายาว คือ ทิพจักขุญาณเหมือนคนสายตายาว สามารถจะมองไกลแสนไกลก็ได้ มองเมื่อไหร่ก็ได้ นี่เป็นจุดหนึ่งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ได้อภิญญาอย่าไปแตะต้องกับเขา นั่นเขายิ่งเก่งกว่า ดีกว่า แจ่มใสกว่าผู้ที่ได้ทิพจักขุญาณ

ฉะนั้น ขอบรรดาท่านทั้งหลาย ต่อจากนี้ไปจะแนะนำเรื่องการฝึกทิพจักขุญาณ และ มโนมยิทธิเป็นด้านของอภิญญา และก็ขอท่านทั้งหลายจงเข้าใจว่านับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เลิกการทะนงในจิตเสีย ถ้าเรายังดีไม่เท่าเขาหรือว่าเราดีเท่าเขาหรือว่าเราดีเกินกว่าเขา จงวางอารมณ์เสีย มันเป็นมานะ ถ้ามีความรู้สึกอย่างนั้น ถ้าเรารู้ไม่จริงเห็นไม่จริง คนที่รู้ไม่จริงเห็นไม่จริงนี่สังเกตง่าย มักจะมีการทะนงตนถือความรู้สึกของตัวเองเป็นสำคัญ ใครเขาพูดอะไรมา ถามว่านั่นอุปาทานใช่ไหม การที่เห็นอาจจะเป็นภาพอุปาทาน เสียงที่ได้ยินเป็นอุปาทาน แต่ความจริง ถ้าจิตเข้าถึงทิพจักขุญาณแจ่มใสจริง ๆ ตามที่ผมพูดไม่มีสี หรือการถอดกายภายใจออกไปข้างนอก ที่เรียกกันว่า มโนมยิทธิประเภทนี้ ถ้าไปได้จริง ๆ คำว่าอุปาทานไม่มี แต่ว่ายังมีเหมือนกันบุคคลผู้หลงผิดมันไปไม่ได้ แต่เป็นจิตหลอน อย่างนี้มีอยู่

เอาละ ต่อไปนี้ขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครู เวลาที่จะพูดมันก็หมดเสียแล้ว วันนี้ให้นัยไว้เท่านี้นะ จงอย่าลืม! อย่าทะนงตน เห็นคนอื่นเขาดีจงคิดว่าเขาทำอย่างไรจึงดี แล้วจึงทำตามเขา อย่าเอาอารมณ์แห่งโมหะเข้าไปผสมผสานทำตัวเป็นประธาน คือ ยึดยืดตัวคิดว่าเราเหนือเขาหรือดีกว่าเขา นั่นท่านจะจมปรก หมายความว่า จะไม่พบกับความดี วิชชาสามก็ดี อภิญญาก็ดี ทั้ง ๒ ประการนี้ หากว่าใครปฏิบัติได้ การบรรลุมรรคผลถึงขั้นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ จะทำได้รวดเร็วกว่าสุกขวิปัสสโกมาก ถือว่าเป็นกรรมฐานที่ไม่ใช่ประเภทนั่งหลับตาเดิน ขอโทษ ไม่ใช่นั่งหลับตา ไอ้นั่งน่ะมันเดินไม่ได้ ขั้นสุกขวิปัสสโกนี่ความจริงเขาเรียกกันว่า การบรรลุอรหันต์แบบง่าย ๆ แต่ทว่ากำลังใจของเราผู้ปฏิบัติเวลานี้ไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา

คำว่า " ไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา " ก็หมายความว่า พระวรกายขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมานั่งพูดนั่งเทศน์ให้พวกเราฟังนั้นรู้สึกว่าไม่มีอยู่ แต่ว่าธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระบรมครูมี ยังมีครบถ้วนพอที่เราจะเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ได้ แต่ทว่าสุกขวิปัสสโกนี้เหมือนกับคนหลับตาแล้วเอาผ้าดำโพกตาเดิน มันไม่สามารถจะเปลื้องความสงสัยของตัวเองได้ ถ้าบังเอิญเราได้สองในวิชชาสาม คือ ทิพจักขุญาณ และ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ได้ญาณทั้ง ๒ ประการนี้ก็เหมือนคนลืมตาเดิน คนลืมตามองเห็นทาง ตอนนี้ผมยังไม่พูดว่าเดินนะขออภัย เหมือนคนลืมตามองเห็นทาง สามารถจะรู้ได้ว่าทางโน้นไปทางไหน ทางนี้ไปทางไหน จะเปลื้องความสงสัยในการตัดสังโยชน์ของเราได้แบบง่ายกว่าสุกขวิปัสสโก แต่ถ้าหากว่าเราได้อภิญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งอภิญญาหกนี่รู้สึกว่าจะหนักไปเสียหน่อย ใช้เวลานาน เราใช้อภิญญาเล็กกัน คือ " มโนมยิทธิ " ถ้าเราสามารถทำมโนมยิทธิได้ สามารถถอด " อทิสสมานกาย " คือ กายจริง ๆ ของเราที่อยู่ข้างในนี้ไม่ใช่เปลือก ไอ้กายที่เห็นข้างนอกนี่มันเป็นกายเปลือก เอากายจริง ๆไปสู่สวรรค์ ไปสู่พรหมโลก ไปนรก ไปสู่แดนของเปรต สู่แดนของอสุรกาย หรือว่าถ้าจิตเข้าถึงโคตรภูญาณสามารถจะไปถึงพระนิพพานได้ แล้วก็ไปพบพระ พบเทวดา พบพรหม พบสัตว์นรก พบอะไรต่ออะไรก็ได้

อ่านหน้าที่ ๒Copyright © 2001 by
Amine
14 เม.ย. 2545 07:32:26