ประวัติหลวงพ่อปาน
( พระครูวิหารกิจจานุการ ) วัดบางนมโค

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17
18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30

***หลวงพ่อปานเรียนหมอ...๔***

วันนี้วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ขณะนี้ฉันกำลังสร้างกุฏิพระเป็นตึกชำระหนี้สงฆ์ เพราะอะไร เพราะว่าฉันรื้อกุฏิพระออกไป ๒ หลัง หลังแรกรื้อไปเพื่อจะทำศาลา แล้วตั้งใจว่าจะเอากุฏิหลังนั้นไปตั้งไว้ที่เดิม แต่พอรือแล้วก็ปรากฏว่ากุฏิมันยุ่ยหมด ไม้ฝาไม้ส่วนอื่นพอรื้อแล้วรู้สึกใช้ไม่ได้ จะเหลือไว้ได้ก็ประมาณสัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ต่อมาก็ตั้งใจว่าจะสร้างอาคารหลังหนึ่ง ให้นามว่า อาคารเสริมศรี ศุขสวัสดิ์ เป็นที่พักของบรรดาลูกและหลายที่มีความประสงค์ธรรมะ เพราะว่าเวลานี้ที่พักอาศัยมันไม่มีแน่นอน เวลามาหาฉันก็ต้องแออัดกันอยู่ในกุฏิ หาความสุข หาความสะดวกไม่ได้ นักปฏิบัติ นักมุ่งธรรมจริง ๆ บางคนต้องการจะคุย บางคนต้องการจะพักผ่อน ก็หาที่หลับที่นอนที่พักผ่อนแน่นอนไม่ได้ ก็ตั้งใจจะสร้างอาคารเสริมศรี ศุขสวัสดิ์ขึ้น เป็นอาคารยาวประมาณ ๑๒ วา กว้างประมาณสัก ๖ วา เป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นล่างจะเปิดเป็นห้องโถงหมด ชั้นบนจะกั้นเป็นห้อง ๆ สำหรับเป็นที่พักผ่อน เป็นที่นอนกัน ทีนี้การจะสร้างกุฏิหลังนี้ กุฏิพระครูปลัดผ่องก็เลยมาขวางอยู่ เพราะอาคารหลังนี้มันยาวเข้าไปถึงส่วนลึกใกล้ ๆ จะหมดกุฏิพระครูปลัดผ่อง ก็จำต้องรื้อกุฏิหลังนั้นออก กุฏิพระครูปลัดผ่องก็เหมือนกัน เมื่อรื้อออกแล้วมันก็ยุ่ยหมดเหมือนกัน เป็นอันว่าของที่รื้นไปแล้วใช้ได้ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ฉันก็เห็นว่าการรื้อกุฏิของสงฆ์ กุฏิแต่ละหลังของสงฆ์ที่สร้างขึ้นมาก็อาศัยแรงศรัทธาของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท และบรรดาอดีตเจ้าอาวาสที่ท่านทรงคุณความดีมาก สร้างความเลื่อมใสให้แก่ประชาชน กว่าจะได้กุฏิวิหารแต่ละหลังก็เหนื่อยสายตัวเกือบกระเด็น เรียกว่าเลือดตาเกือบจะกระเด็น เพราะว่าพระเป็นคนไม่มีทุน ต้องสร้างความดีภายใน ต้องให้คนเขาเห็นว่าดีภายนอก เรียกว่าต้องดีทั้งในและนอก ด้านในก็คือปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัย เรียกว่าไม่บกพร่อง คำว่าไม่บกพร่องของพระนี่ไม่มี คำว่าบกพร่องมันมี แต่ว่าบกพร่องน้อย ส่วนดีมันมาก เรื่องของการดีข้างในนี่น่ะมันก็ขัดคอกับคนข้างนอกเหมือนกัน เพราะว่าชาวบ้านชาวโลกเขาต้องการดีกันอีกอย่างหนึ่ง ท่านก็ต้องทำให้เขามองเห็นความดีที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย แต่ถ้าดีนอกมากเกินไปละก็ มันขาดพระ ต้องว่ากันตามสมควร

นี่ก็เป็นการลำบากสำหรับพระที่จะเอาใจชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเลื่อมใส ลำบากแบบฉันสมัยก่อน ฉันชอบทำดีนอก ดีนอกของฉันมีเยอะ ดีในไม่ค่อยมี ตอนนั้นชาวบ้านชอบ พูดจาก็เพราะ จริยาต่าง ๆ ก็นิ่มนวล รู้สึกว่าเป็นที่พอใจของชาวบ้านมาก แต่อีตอนแก่นี่ดีนอกไม่ค่อยมีแล้ว มันเหลือแต่แก่นแล้ว แล้วก็เปลือกดีก็ไม่ค่อยมี กระพี้ดีก็ไม่ค่อยมี เหลือแต่แก่นแล้ว เรียกว่าจะพูดจาปราศัยกับใครก็โฮกฮาก เสียงก็ไม่เพราะ ท่าทางก็ไม่ดี ท่าทางที่จะทำให้มันนิ่มนวลเหมือนในตอนก่อน ๆ ก็ไม่ค่อยจะทำ เพราะว่าอะไร ชักอายชาวบ้าน ความจริงไม่ได้อายชาวบ้าน แต่ไปอายพระพุทธเจ้า ท่านจะหาว่าประจบชาวบ้านเกินไปจนพระธรรมวินัยเสีย ก็เลยปล่อยกันตามเรื่องตามราว ก็เรียกว่ามีเลวเท่าไรงัดเอามาอวดชาวบ้านกันจนหมด มีดีเท่าไรเก็บเข้าไว้ ดีข้างในน่ะเก็บเข้าไว้ มีเลวเท่าไรงัดออกมาอวดจนหมด เขาจะได้รู้ว่าฉันเลว เวลาเขาจะคบเขาจะได้รู้เนื้อแท้ว่าฉันน่ะมันเลวแค่ไหน มันควรคบหรือไม่ควรคบ แล้วส่วนความดีจริง ๆที่มีอยู่เอาออกมาก็ไม่ได้ เอาออกมาไม่ได้หรอกลูกหลาน เพราะอะไร เพราะเดี๋ยวตกนรกกันเป็นแถว เอ้า นี่ว่ากันตอนนี้นา ตานี้ว่ากันถึงกุฏิสงฆ์หรือของสงฆ์ที่รื้อถอนออกไป ทำไมจึงได้กล่าวว่าเป็นการสร้างชำระหนี้ เพราะว่าของเหล่านี้เขาสร้างถวายพระพุทธเจ้านะ ฟังกันไว้ให้ดีนะ ของในวัดน่ะ แม้แต่ที่ดินกระเบียดนิ้วเดียวก็ตาม ไม้ไม่ถึงนิ้วก็ตาม ที่เขานำมาถวายวัดน่ะ เขานำมาถวายพระพุทธเจ้า ใครไปรื้อถอนเข้าต้องทำของเขาให้ได้ ทำให้เหมือนเขาหรือดีกว่าเขา ถ้าไม่ยังงั้นละก็ โทษตัวนี้ระวังให้ดีลงอเวจีกันเป็นแถว ไม่ว่าพระหรือชาวบ้านที่เรียกว่าอำนาจราชศักดิ์อะไรก็ตาม หรือว่าไงลุงพุฒิ


( ภายนอกและภายในของปราสาททองคำ วัดจันทาราม ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ )

นี่เวลาบวงสรวงแล้ว ลุงพุฒิแกมานะ ยิ้มแต้ วันนี้บอกว่าว่างมาก ไปชำระความกันแต่ ๕ โมงกว่า ๆ เท่าไรลุงพุฒิ กี่คน วันนี้ ๓ พันคนหรือ เฮอะ นี่ไปหามาจากไหนนะ แกบอกว่าแกไม่ได้หาหรอก เขาไปกันเอง วันนี้ผ่านแดนลุงพุฒิ ๓ พันคนเศษ นี่ลุงพุฒิแกยิ้ม บอกว่าให้ลูกหลานมันรู้ไว้ด้วย คนลงนรกน่ะมากกว่าไปสวรรค์ แล้วแกก็ร้องบอกมา บอกว่า นี่แกนั่งอยู่ใกล้ ๆ นะ ๒ วันนี้ลุงพุฒิใจดี อ้อ แต่แกบอกว่านี่ทีหลังอย่าพูดว่าแยกเขี้ยวแหงซี ถาม ทำไมล่ะ แกตอบมาว่าพูดว่าแยกเขี้ยวนี่น่ะ เขาจะหาว่าพญายมมีเขี้ยว เวลานี้พญายมในโทรทัศน์เขาใส่เขาเข้าแล้ว มันเหมือนเขางัว แกว่ายังงั้นนะ แกใช้คำว่างัว ไม่ใช่วัว ไม่ใช่ตัว ว. เป็นตัว ง. ว่าไง อ๋อ แกบอกว่าภาษาโบราณน่ะเขาเรียกว่า งัว ไม่ใช่วัว เวลานี้เขาใส่เขางัวไว้ให้แล้ว ถ้าท่านไปบอกว่าผมแยกเขี้ยวแหงละก็ ประเดี๋ยวเขาจะใส่เขี้ยวเข้าให้อีก จะกลายเป็นงัวมีเขี้ยวไป เป็นไงล่ะ ก็ดีนี่ มีทั้งเขาทั้งเขี้ยว แกบอกว่ามันเป็นงัวจัญไร ถ้าวัวมีทั้งเขาทั้งเขี้ยวละก็ งัวจัญไร แกพูดแล้วแกก็ชอบใจ แล้วแกบอกว่าให้บอกลูกบอกหลานด้วยว่า ลูกหลายของท่านน่ะมันลูกหลายของแกเหมือนกัน ท่านมีความห่วงใยลูกหลานเพียงใด แกก็มีความห่วงในลูกหลานเหมือนกัน แกบอกว่าแกห่วงมาก เวลาใครมันจะไปทำชั่วละก็แกไม่สบายใจ เอางี้ก็แล้วกันนาลุงพุฒินา ถ้าหากไม่สบายใจ เด็กของเรามันไปทำชั่ว เราไม่จดมันได้ไหมล่ะ แกหัวเราะ แกบอกว่าความจริงน่ะไม่ได้จด มันปรากฏขึ้นเอง ถ้าผมจดละก็ ผมจดให้ไอ้พวกนี้อีพวกนี้มันไปนิพพานหมดแล้ว นี่ผมไม่จด กฎของกรรมมันปรากฏเองหรอก เป็นอันว่ารู้กันนะลูกหลานนะ แล้วเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ลุงพุฒิ อย่างที่ฉันรื้อกุฏิของเขาไป ๒ หลังน่ะ มันจะผุหรือไม่ผุเขาก็อยู่กันได้ ฉันไปสร้างหลังเดียวนี่น่ะ แล้วก็สร้างศาลาดินให้อีกด้วย สร้างส้วมซึมให้ ๔ ห้อง เทพื้นบริเวณเป็นคอนกรีตนี่น่ะ ยังงี้พอจะพ้นหนี้ไหม แกบอกว่าพ้น พ้นนา เพราะว่าที่อยู่เราก็ทำใหม่ มันดีกว่าเก่า แล้วใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเก่า แล้วการชำระหนี้สงฆ์นี่นะถ้าหากว่าลูกหลานเขาจะร่วมด้วยมันจะมีบุญเพิ่มไหม โอ๊ะ แกบอกว่าเยอะ เยอะยังไงลุง แกตอบว่า หนึ่ง ท่านเป็นหนี้สงฆ์ นี่เป็นบุญตอนหนึ่งนะ เป็นการสงเคราะห์ท่าน เป็นสังคหวัตถุ เรียกว่าเป็นการสงเคราะห์คนแก่ที่เป็นหนี้สงฆ์ ประการที่สอง แกบอกว่าของเหล่านี้เมื่อสร้างแล้วตกเป็นสมบัติของสงฆ์ ก็เป็นการสร้างวิหารทานไว้ในพระพุทธศาสนา นี่เป็นตามนี้จริง ๆ นาลุงพุฒินา แกบอกว่าอย่าซ้ำ พูดแล้วอย่าซ้ำ เทวดาเขาพูดไม่ล่อกแล่กเหมือนชาวบ้าน นี่เป็นอันว่ารู้กันนะลูกหลานที่รัก

ทีนี้ถ้าหากว่าลูกหลานช่วยบำเพ็ญกุศลชำระหนี้สงฆ์ด้วย ก็เป็นการสงเคราะห์ฉันส่วนหนึ่ง แล้วก็เป็นการสร้างวิหารทานไว้ในศาสนาอยางหนึ่ง ไอ้อานิสงส์ ๒ อย่างอันนี้รู้สึกว่าเป็นกำไรมากนะ แรงงาน นนทาเขาบอกว่าเขาจะออกเอง ก็ดีเหมือนกัน วันนี้เขาถามว่าแรงงานจะจายกี่งวด ๑๐วันครั้งหรือ ๑๕ วันครั้ง ก็บอกว่าตอนนี้วันที่ ๓๑ เราจ่ายครั้งหนึ่งแล้วต่อปก็จ่ายอีกครั้งหนึ่ง เงินของลูกหลานที่คิดว่าจะไปจ่ายค่าแรงงาน ๒ พันเศษ ๆ น่ะ เอาไปพิมพ์ฎิกาเสียแล้ว แล้วก็ไปพิมพ์หนังสือแจกกันเสียแล้ว มันก็หมดเข้าไปพันกว่า ๆ เหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งพัน นั่นมันก็ยังไม่พอนี่ คงจะจ่ายต่อไปอีก แล้วตอนนี้อย่ามาว่าฉันขโมยเลยนะ ฉันขโมยฉันก็บอกนะ บอกว่าฉันเอาไปทำอะไร โมทนาเสียนะ เพราะว่าหนังสือพระปัจเจกพุทธเจ้าพิมพ์แจกเป็นการบันดาลให้คนอื่นร่ำรวย เมื่อเขาร่ำรวยเพียงใดเราก็มีความสุขเพียงนั้น ชาตินี้เราก็รวย ชาติหน้าเราก็รวย แต่รวยในความเป็นมนุษยชาติต่อไป ฉันต้องการให้ลูกหลานรวยเหมือนกัน แต่อยากให้รวยอย่างเทวดา อยากให้รวยอย่างพรหม อยากให้รวยอย่างพระนิพพาน นี่เป็นความต้องการของฉัน แล้วต่อแต่นี้จะเข้าเรื่องกันเสียที

นี่ว่าอารัมภบทกันเสียทุกวัน ลูกหลานรำคาญไหม มันมีเรื่องพูดก็เลยพูด วันนี้จะเข้าเรื่องหลวงพ่อปานเลย ปรากฏว่าเมื่อคืนนี้ คืนวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ฉันทำกรรมฐานขึ้นไปหาสมเด็จท่าน ท่านก็บอกว่าคุณ เรื่องที่คุณพูดวานนี้น่ะนะถึงอาโลกกสิณกับอากาสกสิณน่ะ มันยังไม่หมด คุณอย่าเพิ่งต่อนะ เพราะว่าหลักสูตรในพระพุทธศาสนาของเราเป็นของจริง เราจะต้องท้าทายเขา คนภายนอกที่เขายังไม่เชื่อหรือประกาศตนเป็นศาสนิกชานก็ตามแต่ว่าเป็นพุทธศาสนิกชานแบบอ่านเฉพาะตำรา อาจจะยังไม่เชื่อ ฉันเคยท้าทายอยู่เสมอ คำว่า ฉัน น่ะ หมายถึงสมเด็จนะ ไม่ใช่ฉันเป็นคนพูด ฉันเคยท้าทายเขาอยู่เสมอว่า โอปนยิโก ถ้าใครไม่เชื่อเชิญเข้ามาพิสูจน์ คำสอนของฉันนี่น่ะ ใครว่าไม่จริง มันไม่เป็นไปตามนั้น เชิญเข้ามาพิสูจน์กัน เอามาดูกันให้มันเห็นจริง อย่าเอาแต่อ่าน อย่าเอาแต่เพียงฟังอย่างเดียว ต้องทำด้วย อย่างนี้เคยพูดมาแล้วนะลูกหลานนะ เหมือนคนกินเกลือ กินส้ม กินน้ำตาล ถ้าเพียงแต่ดูคนอื่นเขากิน มันไม่รู้รสจริง ๆ ถ้าหากเรากินเองเราก็จะรู้รส ผลของพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน คำสอนของพระพุทธเจ้าต้องทำด้วยนะ บรรดาเถรตำราทั้งหลายไม่พ้นนรก นี่ฉันว่ายังงี้นา จริงไหมลุงพุฒิ นี่พยานของฉันมี

เวลานี้มาหมดนะ สมเด็จท่านก็มา หลวงพ่อท่านก็มา หลวงพ่อปาน หลวงพ่อสุ่น ใครต่อใครมาหมด พรหมก็เยอะ ท้าวมหาชมภูก็ยืนยิ้ม ท่านปู่ของลูกหลานก็มายืนอยู่ ทุกคนเขามายืนยิ้มกันอยู่เป็นแถว แล้วแถมมีสาว ๆ สวย ๆ เยอะ วันนี้แต่งตัวกรีดกรายยืนยิ้มกันเป็นแถว ๆ เขาบอกว่าเขาดีใจ ถามว่า เออ อีหนูเอ๊ย ดีใจอะไรกันหว่า นี่ฉันเรียกอีหนูนะ ฉันโตแล้วนา เมื่อก่อนฉันเรียกแม่หนู คุณหนู เดี๋ยวนี้ฉันไม่เรียกแล้วพวกนางฟ้า เดี๋ยวนี้ฉันไม่ติดพันแล้ว ฉันเลิกแล้ว ฉันอายโยม ๆ ท่านยืนยิ้ม เลิกแล้วไม่เอาแล้ว ฉันไม่อยากแต่งงานด้วยแล้ว ฉันเป็นผู้ใหญ่ดีกว่า ฉันเรียกอีหนู แหม อีหนูคนหนึ่งแต่งตัวสวยเหลือเกิน นุ่งผ้าสีเขียวอ่อน ๆ ผมเหมือนกับใส่ชฎา มีเครื่องประดับเพชรแพรวพราว นิ้วมือของแกมันเต็มไปด้วยแหวนเพชร ผ้าก็ประดับไปด้วยเพชร ที่คอเอาเพชรไปขายคงขายได้หลายสิบล้าน นั่งยกมือไหว้บอกว่า ดิฉันดีใจที่มากันวันนี้ ก็ทราบว่าพวกเก่าของฉันจะกลับไปอยู่ด้วยกันบ้างยังงั้นหรือ แล้วขึ้นไปอยู่สูงกว่าบ้าง แล้วก็ไปเลยบ้างยังงั้นหรือ แล้วเธอไม่อิจฉาหรือ ไม่อิจฉา เขาบอกว่าดีใจ พยายามสนับสนุนอยู่เสมอ เออดี โมทนาด้วยนะ เทวดานี่เขาก็มีมุทิตาจิตนะ ทุกองค์ท่านพนมมือ ท่านยินดีด้วยกับการกระทำความดีของคน จัดว่าเป็นปัตตานุโมทนามัยใช่ไหมโยม ท่านรับว่าใช่ เมื่อกี้ฉันพูดอะไรค้างไว้กไม่รู้ เอ้า ช่างมัน มันอยากลืมช่างมัน มันเลอะเทอะนี่ เป็นอันว่าสมเด็จท่านเตือนว่าการพูดอาโลกกสิณน่ะยังไม่ครบถ้วน ควรพูดให้เขาฟัง เพราะว่าอาโลกกสิณเป็นหลักการของวิชชา ๓ โอทาตกสิณก็ดี แล้วก็เตโชกสิณก็ดี ๓ ประการนี้เป็นพื้นฐานของวิชชา ๓ น่ะ มีอะไรบ้างลูกหลาน ๑ มีทิพยจักษุญาณ ๒ ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ ๓ อาสวักขยญาณ ลูกหลายรู้ไหม ญาณ ๓ ญาณน่ะมันยานมันหย่อนกันตรงไหน อะไรมันหย่อนมันยาน มันยานมันหย่อนกันถึง ๓ แห่งน่ะตรงไหนบ้าง จะบอกให้ฟัง ทิพยจักษุญาณ ก็มีความรู้สึกทางใจคล้ายตาทิพย์ นี่หมอนิดกำลังรู้อยู่เวลานี้ อะไรก็ตามที่มันกระทบจิตขึ้นมา มีความรู้ตรงตามความเป็นจริง นี่หมอนิดน่ะเขาได้แล้วนะ ได้เบื้องต้นก็ยังไม่ไกล อย่าไปหยุดไว้แค่นั้นนะ ทำให้มันได้ดีไปกว่านี้ ถ้ารักษาอารมณ์ดีไปกว่านี้แล้ว ก็รักษาอารมณ์วิปัสสนาญาณดีกว่านี้ ต่อปจะรู้ได้ดีกว่านี้มาก การรู้เวลานี้รู้พิเศษกว่าคนธรรมดาได้แล้ว แต่ยังเป็นผิวนัก ราคายังไม่ถึง ๕ สตางค์ ราคายังต่ำอยู่ ควรจะทำให้มันถึงบาทเสีย

ทุกคนมีความดีที่คิดว่ามีวิมานเป็นที่อยู่ บนชั้นกามาวจรสวรรค์บ้าง บนพรหมโลกบ้าง อย่าไปยับยั้งความดีไว้แค่นั้น ถ้ายับยั้งไว้มันจะถอยหลัง สร้างความดีต่อไปเพื่อรักษาความดีที่เรามีอยู่ และเสริมความดีของเราที่มีอยู่แล้วให้มันดียิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วบางคนที่มีถึงปรมัตถบารมีแต่ยังไม่ครบถ้วนก็ควรจะทำให้ครบถ้วนเสีย ทำอะไรทุกอย่างทำด้วยการตัดเด็ดขาดไปเลย หมายความว่าอย่าไปเกาะมัน ทำเพื่อการสงเคราะห์อย่างเดียว อย่างนี้เป็นปรมัตถบารมี หลักสูตรวิชชา ๓ ท่านเตือนว่าคุณต้องพูดให้ครบ ท้าเขาสิ ท้าให้เขาพิสูจน์ว่าใครจริงกันแน่ ถ้าเขาจริงตามหลักสูตรของฉัน ท่านว่ายังงั้นนา ไม่ใช่ฉันนา แล้วเขาก็รู้เองเห็นเอง อาโลกกสิณ คือ การเพ่งแสงสว่าง นี่ฉันจะไม่อธิบาย เมื่อแสงสว่างปรากฏชัดเป็นแสงประกายพฤกษ์ จนกระทั่งลมหายใจไม่ปรากฏ อันนี้เขาเรียกกันว่า ฌาน ๔ นี่เรียกกันว่าจบอาโลกกสิณ แต่ความจริงคนเจริญอาโลกกสิณก็ดี โอทาตกสิณก็ดี หรือว่าเตโชกสิณก็ดี ถ้าเป็นคนฉลาดหรือว่าอาจารย์ที่สอนฉลาด บางทีลูกศิษย์ฉลาด อาจารย์โง่ก็ถมไป อย่างฉันนี่ไม่ต้องดูใคร อย่างฉันนี่แหละ มโนมยิทธิ ฉันปล้ำมาเกือบตายกว่าจะได้ แต่ลูกศิษย์ฉันบางคนมาเพียงแค่ ๑๐ นาที เอาไปฉิบ คือ แสดงว่าอาจารย์มันโง่กว่าลูกศิษย์ ลูกศิษย์เขามีความฉลาดกว่า เขาทำได้รวดเร็วกว่า เป็นอันว่าฉันไม่ได้อิจฉาเขา ถ้าลูกทำได้ดีกว่าพ่อแม่ ทำได้ผลรวดเร็วกว่าพ่อแม่ทำ พ่อแม่ก็ดีใจ ฉันก็มีความรู้สึกอย่างนั้น สำหรับอาโลกกสิณก็ดี โอทาตกสิณก็ดี หรือเตโชกสิณก็ดี ถ้าทำเข้าถึงอุปจารฌาน หมายความว่าจับภาพนิมิตได้คงที่ แต่มันเป็นภาพตามเดิม ต่อมานิมิตนั้นได้คลายตัวไปมีประกายแจ่มใสขึ้น สดสวย มีอาการหนึ่งปรากฎ มีความสดสวยปรากฏเป็นความสุขบอกไม่ถูก อย่างนี้เรียกว่าเข้าถึงสุข แต่ยังไม่ถึงเอกัคตา ยังไม่ถึงปฐมฌาน ขนาดนี้ถ้าคนปฏิบัติมีความฉลาด ก็เริ่มฝึกทิพยจักษุญาณได้แล้ว

ทิพยจักษุญาณน่ะ ถ้าเราไม่มีวาสนาบารมีมาในชาติก่อนนะ มันต้องฝึกกันใหม่ แต่คนที่เขามีวาสนาบารมีเคยได้มาแต่ชาติก่อน พออารมณ์จิตเป็นสมาธิมันก็ปรากฏเลย เพราะเป็นของเก่า อันนี้จำกันไว้ด้วยนะ อย่าไปวัดกันว่าคนนั้นทำไมได้เร็ว คนนี้ทำไมได้ช้า เพราะเราเคยสร้างของเรามาก่อนหรือเปล่า ถ้าเราไม่เคยสร้างมาก่อน เวลาจะฝึกมันก็ได้ช้า ถ้าเราสร้างมาก่อน พออารมณ์จิตถึงอุปจารสมาธิ ทิพยจักษุญาณมันปรากฏ มีวิธีฝึกสำหรับคนที่ไม่เคยได้มาในชาติก่อน เมื่อถึงอุปจารสมาธิ จับภาพนิมิต เมื่อจับภาพนิมิตอยู่แล้วก็เอาจิตเพิกภาพนิมิตเสีย คำว่า เพิก หมายความว่า ให้สลายตัวไป โดยกำหนดในใจว่าขอภาพกสิณนี้จงหายไป แล้วภาพนรก ภาพสวรรค์ ภาพพรหมโลก ภาพพระนิพพาน ภาพคนที่ตายไปแล้ว หรือใครที่ไหนก็ตามที่เราต้องการจะรู้ ขอจงปรากฏแทน เพียงเท่านี้ภาพที่ปรากฏในจิตมันจะหายไป แล้วภาพนั้นจะปรากฏแทน เราจะรู้สภาพของนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน หรือว่าคนที่อยู่ในที่ไหนก็ตาม หรือเขาตายไปแล้วก็ตาม เราจะรู้ได้ตามกำลังของจิต ถ้าจิตเข้าถึงฌาน ตอนจิตเข้าถึงอุปจารสมาธินี่มันก็เห็นไม่ชัด เห็นกันไม่ถนัด เวลาจะพูดจากัน คำสองคำมันก็จะหายไป จะต้องตั้งอารมณ์กันใหม่ ถ้าเข้าถึงฌาน เมื่อถึงฌานที่ ๔ แล้ว เราก็ฝึกการทรงฌาน จับนิมิตไว้ให้ได้นาน ๆ อย่างที่หลวงพ่อปานทำ แล้วต่อจากนั้นไปถ้าเราอยากจะรู้เรื่องอะไร เมื่อจับนิมิตได้นานแล้วก็คลายจิตออกมา อธิษฐานจิตว่าภาพสิ่งนี้จงหายไป ภาพสิ่งนั้น ๆ จงปรากฏ เท่านี้ภาพนั้น ๆ ก็จะปรากฏแจ่มใส คุยกันได้ตามสบายเหมือนเราคุยกัน นี่ตรงนี้แหละที่ท่านบอกว่าคุณยังพูดไม่ครบ ของจริงของเรามี แต่ว่าเวลานี้คนจริงของเราไม่ค่อยมี ท่านว่ายังงั้น นี่สมเด็จท่านว่านา ท่านบอกว่าคนจริงไม่ค่อยมี ถึงแม้ว่านักบวชที่บวชเข้ามาในพุทธศาสนาก็ตาม บวชเข้ามาแล้วตั้งหลาย ๆ สิบปี เขาไม่ค่อยจะจริงเหมือนกัน เขามักจะเกาะตำรากันเสียหมด ถ้าเกาะตำรากันมากเพียงใด คำสอนของฉันก็สลายตัวเร็วเท่านั้น นี่เป็นคำปรารภของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านบอกว่าไหน ๆ ลูกหลานของคุณเป็นคนมีบารมีดี อย่างน้อยก็เข้าถึงขั้นอุปบารมีแล้ว ไม่มีหรอก ต่ำกว่านั้นไม่มี

จำให้ดีนะลูกหลานที่รัก นี่ท่านชมมาเองนะ ท่านบอกว่าลูกหลานของคุณน่ะอย่างเลวที่สุดเข้าถึงอุปบารมีแล้วทั้งหมด แล้วก็นอกจากนั้นที่เข้าถึงปรมัตถบารมีใกล้จะครบถ้วนก็มีอยู่มากไม่น้อย คำว่าไม่น้อยนี่เป็นพหูพจน์นะ หมายความว่าไม่ใช่ ๑ เกินกว่า ๑ นี่มีอยู่มาก ฉะนั้น เมื่อลูกหลานของคุณมีบารมีอย่างนี้ เขาพอจะรับฟังได้ก็ให้เขารับฟังไว้ สำหรับคนอื่นที่เขายังเข้าไม่ถึง เขายังเกาะตำรากันอยู่ เขารับฟังแล้วเขาไม่เชื่อก็ช่างเขา เราไม่มีอำนาจจะไปโปรดคนทั้งโลกได้ นี่จำไว้นะ อาโลกกสิณก็ขอทวนกันแค่นี้ ท่านบอกให้ท้านี่ก็ท้า ผู้ฟังทั้งหลายไม่เชื่อเชิญลองเชิญพิสูจน์ด้วยการปฏิบัตินะ อาตมาน่ะขอเอาตัวเข้ายืนยัน ขอเอาตัวเองเข้ายืนยันว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องจริงที่คนที่ทำได้จะเห็นผลจริง ถ้าไม่ทำอันนี้ก็ไม่คุยด้วยนะ เอาแต่ตำราหรือคำคนอื่นเขาว่ามาคุยกันน่ะ ขอโทษเถอะ อย่าหาว่ารังเกียจเลย ไม่อยากฟังเสียงนะ คนไม่เอาไหนน่ะ ไม่อยากฟังเสียง เพราะฟังไปมันก็ไร้ประโยชน์ เสียเวลานอน เสียเวลาพักผ่อน เสียเวลาคิดการงานอย่างอื่น พูดกับคนไม่ทำนี่พูดเท่าไรมันก็ไม่รู้เรื่อง ความจริงเรื่องของกสิณเป็นของง่าย ไม่ใช่ของยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาโลกกสิณเป็นกสิณกลาง เป็นกรรมฐานกลาง คนที่มีอุปนิสัยแบบไหนก็ตามทำได้หมด ขอเชิญทำกัน ขอเชิญพิสูจน์กันด้วยการปฏิบัติ เอากันจริง ๆ กี่เดือนกี่วันได้นั้นพยากรณ์ไม่ได้ ถ้าพ่อเจ้าประคุณขี้เกียจกันละก็ ร้อยปี ร้อยเดือน ร้อยวัน มันก็ไม่ได้ ถ้าขยันจริง ๆ ก็ไม่เกิน ๗ วัน ตั้งอารมณ์ให้ถูก รักษาอารมณ์ให้คงที่ จับนิมิตให้ได้ แค่อุปจารสมาธิมันไม่ถึงหางอึ่ง ไกลไม่ถึงปลายนิ้วก้อย อารมณ์สมาธิก็เล็กน้อยเท่านี้ เป็นของเด็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฌานโลกีย์ทั้งหมด เขาเรียกกันว่าของเด็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องที่คนในโลกจะมากล่าวว่าไม่ใช่วิสัยที่ฉันจะทำได้ คำว่า ฌานโลกีย์ เป็นเรื่องของคนทุกคนทำได้ ถ้าเกิดมาแล้วมีสิทธิทำได้ทุกคน เราเป็นชาวโลกใช่ไหม ท่านทั้งหลายก็จะตอบว่า ใช่ ในเมื่อเราเป็นชาวโลกแล้ว สมบัติที่มันเกิดในโลก สมมติว่าน้ำนี่น่ะ เราจะอาบมันได้ไหม เราจะกินมันได้ไหม เขาไม่มีไว้สำหรับพระมหากษัตริย์หรอกนาน้ำนี่น่ะ ทุกคนอาบได้กินได้ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็อาบได้กินได้ นี่อาหารที่เราจะเคี้ยวกินเข้าไปอย่างลูกไม้ ข้าวปลาอาหารต่าง ๆ นี่ เราจะกินได้ไหม เขามีไว้เฉพาะพระมหากษัตริย์หรือว่าพวกเราด้วย ต วันนีากว่า คนทุกคนในโลกมีสิทธิ์กินได้เหมือนกัน ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ฌานโลกีย์ก็เหมือนกัน

วันนี้ฉันจะพูดหนักไปหน่อยนะ เพราะว่าท่านสั่งให้ท้านี่ ยี่ห้อของฉันมันก็เป็นอย่างนี้ถ้าท้ากันละก็ นี่ดีว่ามันแก่เสียแล้วนะ เสียงมันแห้งเสียแล้ว สมัยก่อนละไม่ต้องหรอก ตวาดหมาหล่นใต้ถุนตายไปหลายตัวแล้ว เดี๋ยวนี้โรคกระเพาะมันมาตัดเสียงเสีย ไม่ยังงั้นละไม่ต้องหรอก เรื่องตวาดนี่น่าดู เวลาพูดกับคนงี้นิ่มนวลน่ารัก แต่เวลาตวาดไปอีกคนหนึ่ง คนละพวก เสียงดังแล้วก็เสียกระโชกโฮกฮาก มันเป็นยี่ห้อยักษ์ติดมา นี่ท้าวเวสสุวัณและบรรดายักษ์ทั้งหลายยิ้มกันเป็นแถว ท่านมากันแล้วนา ท่านมาคอยเตือนจิต มาล้อมกันทั้งหมด มาอยู่ข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้าง ทางพระบ้าง ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ลุงพุฒิก็มา ลุงพุฒินั่นนั่งติดเลยนะวันนี้นะ ลุงพุฒิบอกว่า แหมชอบ พูดให้ลูกให้หลานฟังละชอบมาก เพราะแกเป็นคนอยู่ต้นทางนี่ ถ้ามันพลัดลงไปแล้วก็ไม่รู้จะทำยังไง ความรักลูกความรักหลานนี่ถึงแม้จะเป็นผีเป็นเทวดาแล้วก็ยังห่วงอยู่ อดรักไม่ได้ นี่เป็นธรรมดานะลุงนะ แกพยักหน้าแล้วก็ยิ้ม ว่าไงลุง อ๋อ ยังห่วงไอ้เรื่องเขาอยู่หรือ ช่างเถอะ เขาใส่เขาให้ก็ดีแล้ว เขาไม่ใส่เขี้ยวก็บุญตัวแล้ว ถ้าเขาใส่เขี้ยวยักษ์ก็ยังดี ถ้าเขาใส่เขี้ยวหมาละซวยเลย หัวเราะใหญ่ ลุงพุฒิหัวเราะใหญ่ บอกว่า ถ้าเขาใส่เขี้ยวยักษ์ไม่เป็นไร เป็นบุญตัว ถ้าใส่เขี้ยวหมาละก็แย่ หัวเราะชอบใจบอกว่า เออ ไอ้เด็ก ๆ มันล้อเรา ช่างมันนะ ลุงใจดีไม่ใช่รึ แกบอกว่าไม่เป็นไรหรอก ไม่ได้ว่ามันหรอก มันก็ทำไปอย่างนั้นแหละ มันนึกยังไงมันก็ทำกันไป เอ้า มาเข้าเรื่องกันต่อไปนะ นี่เรื่องอาโลกกสิณว่ากันหมดแล้วซี มาเข้าเรื่องของหล่วงพ่อปานต่อนะ

หลังจากนั้นมาเมื่อหลวงพ่อปานฝึกอาโลกกสิณ อากาสกสิณเสร็จ ก็เหลือกสิณอีก ๔ อย่างคือ ปีตกสิณ สีเหลือง แล้วก็นีลกสิณ สีเขียว โอทาตกสิณ สีขาว โลหิตกสิณ สีแดง นี่กสิณทั้งหลายเหล่านี้ว่ากันเรื่องสีนะ กสิณสีเหลืองน่ะมีอานุภาพอย่างนี้ ถ้าเราต้องการอะไรก็ตามให้เป็นสีเหลืองหรือสีทอง เราบันดาลได้เลย สีเขียวก็เหมือนกัน ถ้าที่ใดสว่างอยู่ เราใช้กสิณสีเขียวเข้าบังคับ มันจะมืดตื้อไป หรือว่าต้องการของอย่างอื่นที่มันมีสีอื่น ถ้าต้องการให้มันมีสีเขียวละก็ทำได้ แล้วกสิณสีแดงก็เหมือนกัน กสิณสีขาวก็เหมือนกันนะ ทีนี้วิธีทำมันก็ไม่ยาก ไปเปิดตำราดูดีกว่านะ ให้ไปแล้วนี่ พูดไปแล้วก็จำไม่ได้หรอก ป่วยการ มันของง่าย ๆ กรรมฐานนี่น่ะนะลูกหลานนะ หลวงพ่อปานท่านบอกว่าเวลาฉันพูดนี่ หมายถึงหลวงพ่อปานเองนะ คำว่า ฉัน น่ะ ท่านบอกว่า คุณเอ๊ย กรรมฐาน ๔๐ กองนี่ เวลาฉันพูดมันก็ง่ายคล้ายๆ กับขนมเบื้องทำด้วยปาก ละเลงแซะ ๆ ๆ ประเดี๋ยวก็เสร็จ แต่ว่าเวลาทำจริง ๆ น่ะมันยากนะลูกนะ แต่มันก็ยากตอนต้นเท่านั้นนะ จะเป็นกรรมฐานกองใดก็ตาม ถ้าเราทำได้ถึงฌาน ๔ เพียงกองเดียว แล้วก็พยายามรักษาอารมณ์ของฌาน ๔ ให้ได้ ตั้งไว้ให้ได้นาน ๆ ต่อไปกรรมฐานอีก ๓๙ กอง คุณเอ๋ย ไม่ต้องห่วงหรอก ๓ เดือนเท่านั้นล้มขอนหมด นี่แสดงว่าท่านบวชพรรษาแรก กรรมฐาน ๔๐ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ท่านพิสูจน์หมดเลย ยากไหม ฉันไม่เห็นมันจะยากตรงไหนนี่ ฉันเคยบอกแล้วว่าถ้าเราอ่านหนังสือออก หนังสือ ๔๐ เล่ม ๆ เล็ก ๆ บาง ๆ หนาประมาณ ๑๐ หน้า ถ้าเราอ่านเล่มใดเล่มหนึ่งออกเสียแล้วนะ เราเรียนในตอนต้นฝึกมาอ่านออก เล่มต้นอ่านออกหมดแล้ว อีก ๓๙ เล่มมันก็อ่านออกเหมือนกัน ไม่เห็นมีอะไรยาก กรรมฐาน ๔๐ กองก็เหมือนกันแหละ

อย่างเรื่องกสิณก็เหมือนกันนะ นักปฏิบัติพระกรรมฐานน่ะ พอพูดเรื่องกสิณละ บางคนทำตาโต บอกแหม นี่เล่นกสิณเชียวรึ ฉันฟังแล้วสลดใจ ของธรรมดา ๆ ทั้งหลายเท่านั้นแหละ ทำไมมาพูดกันให้เป็นของยาก เป็นของหนัก สร้างความท้อแท้ให้แก่นักปฏิบัติที่หวังความดี นี่เป็นอันว่าจบการฝึกกรรมฐาน เอาเรื่องการเรียนหมอของหลวงพ่อปานดีกว่า เมื่อหลวงพ่อปานฝึกกสิณเสร็จท่านก็ย่ำเท้ากรรมฐานอีก ๓๐ กองจนเสร็จ ในระหว่างเสร็จแล้วนี่แหละ หลวงพ่อสุ่นก็ใช้ให้หลวงพ่อปานเป็นหมอแทน ตอนนี้หลวงพ่อสุ่นเป็นประธานแล้ว คนไข้จะไปจะมาเป็นหน้าที่ของหลวงพ่อปาน เอาละซี เป็นทั้งหมอยา หมอสับ หมอน้ำมนต์ หมอน้ำมนต์แช่ หมอเสกหมาก ว่ากันไปตามเรื่องตามราว แล้วหลวงพ่อสุ่นก็คอยให้จังหวะ ถ้าคนไข้คนไหนสั่นแหง็ก ๆ เข้ามา หนาวจัดเป็นไข้มาเลเรีย บอกคุณปานไปเป่าเขาให้หายหนาวซี แต่ความจริงวิธีการอย่างนั้นจะไม่เป่าก็ได้ นึกให้มันหายหนาวก็ได้ แต่ชาวบ้านเขาจะหาว่าอวดฤทธิ์ ก็เลยใช้เป็นบทของคาถาเข้าบังเสีย หลวงพ่อสุ่นท่านก็บอก ปานเอ๊ย ไปนั่งทางหัวนอนคนไข้ซี ทางหัวเขานะ แล้วก็เป่าลงไป ๓ ที บอกให้เขาหยุดสั่น ให้เขาหยุดหนาวเสียเดี๋ยวนี้ มันจะได้พูดกันรู้เรื่อง หลวงพ่อปานก็ต้องเข้าเตโชกสิณ เวลาเข้าตั้งท่าหรือเปล่า เปล่า ไม่ได้ตั้งท่าหรอก นั่งอยู่งั้น เขานึกปั๊บก็ได้แล้ว เขาคล่องนี่ ก็เป่าลงไป แต่อธิษฐานว่าขออำนาจเตโชกสิณไฟนี้จงทำให้ร่างกายของคนไข้อบอุ่น แล้วก็เป่าลงไป ๓ ที คนไข้ก็หายสั่น ว่าไงหมอนิด ยังงี้ดีไหม หายสั่นแล้วมันก็ร้อนขึ้นมา ถ้าคนไข้คนไหนร้อนกลุ้ม หลวงพ่อสุ่นก็บอกว่า ปานเอ๊ย ไปเป่าให้เขาหายร้อนหายกลุ้มนะลูกนะ หลวงพ่อปานก็ทำอย่างนั้น

นี่เป็นการเรียนหมอ ฝึกวิชาหมอไปในตัวเสร็จ แล้วการเรียนวิชาหมอนี่ก็เป็นของง่าย เพราะว่าพอล่อกสิณเข้าไปแล้วไม่มีอะไรยาก มันแบบคนที่เป็นมหาเศรษฐีใหญ่ มีเงินใช้ไม่หมด จะต้องการอะไราคาเท่าไรก็ได้ตามต้องการ หรือว่าคนมีกำลังมาก ของจะหนักสักเท่าไรก็ยกไหว นี่ก็เหมือนกัน แล้วในด้านฌานต่าง ๆ หลวงพ่อปานเรียนจบถึงอรูปฌานภายในปีแรก หมายความว่ากรรมฐานนี่ ถ้าได้ถึง ๔๐ กองแล้วก็ได้อรูปฌาน เป็นสมาบัติ ๘

หน้าที่ผ่านมาหน้าต่อไปCopyright © 2001 by
Amine
พิมพ์โดย Amine29 มี.ค. 2547 16:12:16