อุปกรณ์การฝึกมโนมยิทธิแบบเต็มกำลัง
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10

ครูผู้ฝึก

๑. น้ำมนต์ พระจะพรมก่อนและหลังการฝึก เพื่อป้องกันผีแทรก

๒. คทาเสก ใช้สำหรับแตะศีรษะผู้ฝึก เพื่อช่วยให้จิตใจสว่างแจ่มใส คทาเสกนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จองค์ปฐม ทำไว้ให้ในสมัยหลวงพ่อมีชีวิตอยู่ ให้ใช้สำหรับการฝึกมโนมยิทธิแบบเต็มกำลัง และใช้สำหรับสะเดาะเคราะห์ และให้ลาภ

๓. ไฟฉาย ใช้สำหรับส่องที่ใบหน้าของผู้ฝึก เพื่อกระตุ้นให้จิตใจของผู้ฝึกมีสว่างและแจ่มใส ครูฝึกเมื่อส่องไฟฉายไปที่ใบหน้า ให้ภาวนาว่า "นะโมพุทธายะ" และขออาราธบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยสงเคราะห์ให้ผู้ฝึกมีจิตใจสว่างแจ่มใส (เวลาส่องไฟอย่าฉายไฟตรง ๆ หน้า ควรส่องจากที่สูง ส่องเฉียงลงมา)

๔. ธูปหอม จุดแล้วรมหรือแกว่งรอบ ๆ ผู้ฝึกเพื่อให้มีกลิ่นหอม ทำให้ผู้ฝึกมีจิตใจสดชื่น มีความสบายใจ ทำให้มีกำลังใจดี ครูฝึกขณะรมไปแกว่งไป ให้ภาวนาว่า "นะโมพุทธายะ" และขออาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าให้สงเคราะห์ให้ผู้ฝึกมีจิตใจแจ่มใสด้วย


ผู้ฝึก

๑. ธูป ๓ ดอก เทียน หนัก ๑ บาท ๑ เล่ม เงิน ๑ สลึง (หรือมากกว่า ๑ สลึงก็ได้)

๒. ดอกไม้ ๓ สี ดอกสีอะไรก็ได้ มีให้ครบ ๓ สี

(ของทั้ง ๓ สิ่งนี้ให้วางในขันหรือในกระทง)

๓. กระดาษปิดหน้า เขียนด้วยภาษาขอมว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" เป็นพระนามย่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระพุทธกัสสป พระสมณโคดม และพระศรีอาริยเมตไตรย และไม่ควรเรียกว่า "หน้ากาก" เวลาปิดหน้าให้เอาด้านแหลมลง


ลำดับขั้นตอนในการฝึก

๑. เปิดเทปคำแนะนำการฝึกมโนมยิทธิแบบเต็มกำลัง โดย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

๒. พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ ให้ศีล

๓. เปิดเทปสมาทานพระกรรมฐาน ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ

๔. สมาทานพระกรรมฐานจบแล้ว ผู้ฝึกพนมมือเริ่มภาวนา "นะ มะ พะ ธะ"

๕. พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้ทุกคน

๖. พระสงฆ์ที่ได้รับมอบให้ใช้ คทาเสก จะถือคทาไปแตะศีรษะของผู้ฝึกทุกคน

๗. ครูฝึกช่วยส่องไฟ เอาธูปหอมไปรมช่วยให้มีกำลังใจแจ่มใส

๘. หมดเวลาการฝึกแล้ว พระสงฆ์จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้อีกครั้งหนึ่ง

๙. อุทิศส่วนกุศลแล้ว เสร็จสิ้นการฝึก

หมายเหตุ อย่าลืมคืนกระดาษปิดหน้าที่เขียนว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" แก่เจ้าหน้าที่ด้วย


ข้อเตือนใจสำหรับผู้ฝึก

๑. ต้องตัดสินใจยอมมอบกายถวายชีวิต อย่าห่วงกังวลอะไรทั้งหมด แม้แต่ตัวจะสั่น ตัวจะล้มก็อย่าเป็นห่วง

๒. อย่าสนใจในจริยาอาการของผู้อื่น หรือเสียงของผู้อื่น ขอให้มั่นคงในคำภาวนาว่า "นะ มะ พะ ธะ" เท่านั้น

๓. อย่าให้มีอารมณ์ "อยาก" เกิดขึ้นในขณะฝึก ทำใจให้สบาย เฉย ๆ ภาวนา "นะ มะ พะ ธะ" เรื่อย ๆ ไป นึกว่าไปได้ก็ไป ไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราจะภาวนาของเราเรื่อย ๆ ไป เพื่อเป็นการนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ขอให้ช่วยเรา

๔. ผู้ฝึกไม่จำเป็นต้องรอให้พระรดน้ำมนต์ก่อน ไม่ต้องรอให้คทาเสกมาแตะศีรษะก่อน ภาวนาแล้วถ้าเห็นแสงก็ไปก่อนเลย แต่ฝึกเสร็จแล้ว ต้องนั่งรอให้พระพรมน้ำมนต์เสียก่อน จึงลุกไปได้

๕. สำหรับผู้ฝึก มโนมยิทธิแบบครึ่งกำลังได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องรอแสงสว่างที่พุ่งลงมาก็ได้ ถ้าเห็นพระหรือเห็นหลวงพ่อหลวงปู่องค์ใดก็ให้ท่านนำขึ้นไปเลย อย่างที่เคยฝึก ถ้าไปถึงแล้วจะแจ่มใสเอง

๖. ถ้าฝึกได้แล้ว อย่าได้มี มานะคิดว่ากูแน่แล้ว เก่งแล้ว ถ้ายังตัดกิเลสไม่หมดใจเพียงใด อย่าคิดว่าแน่เป็นอันขาด เพราะว่าฌานโลกีย์ย่อมมีการเสื่อมได้

หมายเหตุ ถ้าฝึกได้แล้ว ไปฝึกที่บ้านได้ ใช้อุปกรณ์เพียงดอกไม้ ๓ สี ธูป ๓ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม เงิน ๑ สลึง (หรือมากกว่า) เท่านั้น อุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ต้องใช้


ข้อแนะนำสำหรับครูฝึก

๑. ถ้าหากเห็นผู้ฝึกสั่นหรือเต้น หรือตบมือ ก็อย่าเพิ่งรีบไปจับให้เขาหยุด ปล่อยให้เขาสั่นเขาเต้นไป ถ้าเห็นว่าถ้าปล่อยให้เต้นต่อไปไม่ไหวแน่ ช้ำแน่ ก็ค่อย ๆ จับให้หยุดเต้น หยุดสั่น หยุดตบมือ

๒. ถ้าเห็นผู้ฝึกสั่นหรือเต้นไปสักครู่ ช่วยแนะนำให้ผู้ฝึกมีกำลังใจ เช่น เห็นแสงสว่างไหม? เห็นพระไหม? ถ้าเขาตอบว่าเห็นก็ขอให้เขาพุ่งตามแสงไป หรือตามพระไป แนะนำให้เขาไปพระจุฬามณีเจดียสถานเป็นลำดับแรก เมื่อถึงแล้วก็ปล่อยให้เขาไปนิพพานต่อไป ( ไม่ต้องถามมากเหมือนเช่นการฝึกแบบครึ่งกำลัง ) ถ้าเขาบอกว่า ไม่เห็นก็ขอให้เขาภาวนาต่อไป หรือแนะนำเกี่ยวกับวิปัสสนาญาณเล็กน้อย

๓. อย่าสนใจดูแต่คนสั่นอย่างเดียว ผู้ฝึกที่นั่งเฉย ๆ ก็เข้าไปถามและแนะนำเขาได้

๔. ถ้าผู้ฝึกทำท่าว่าจะล้มกระแทกพื้นแรง ช่วยประคองรับไว้ด้วย (แต่จริง ๆ ถ้าไม่ประคองก็ไม่เป็นอะไรหรอก)

๕. ครูฝึกผู้ชายห้ามจับต้องตัวผู้ฝึก ที่เป็นหญิงสาวเป็นอันขาด


การฝึกมโนมยิทธิแบบเต็มกำลังจะฝึกเพียงปีละ ๑ ครั้ง ในระหว่างที่อยู่ฝึกธุดงค์ เดือนธันวาคมของทุกปี

กลับหน้า 2ไปหน้า 4Copyright © 2001 by
Amine
9 ต.ค. 2545 13:52:46