คำสอนมโนมยิทธิแบบเต็มกำลัง
โดย ... หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10

ตอนที่ ๒

สำหรับการปฏิบัติ ทุกคนใช้คำภาวนาว่า นะ มะ พะ ธะ เหมือนเดิม ท่านมีกระดาษเอากระดาษปิดไว้ที่ลูกตาแล้วก็พนมมือ ทีนี้เวลาที่จะได้หรือไม่ได้ให้สังเกต ถ้ามือมันจะสั่น ร่างกายจะสั่นก็ปล่อยไป อย่าไปฝืนนะ ถ้าอาการสั่นมากเพียงใดก็แสดงว่า สมาธิเริ่มเข้าจุด เพราะอย่างนี้เป็นการฝึกเต็มกำลัง และก็จะไม่มีครูเข้าไปจ้ำจี้จ้ำไชสอนเหมือนฝึกครึ่งกำลัง เวลานี้ทุกคนต้องช่วยตัวเอง

อันดับแรก ขอให้ทุกคนก่อนที่จะภาวนาให้นึกถึงบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน หลังจากนั้นก็นึกถึงพระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหมด เทวดาหรือพรหม ขอให้ช่วย และก็ ตัดสินใจว่า ขึ้นชื่อว่าเกิดเป็นมนุษย์มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เราเกิดมานี่เราไม่มีความสุข ตั้งแต่วันเกิดถึงวันตายเราไม่มีความสุข ถ้าร่างกายนี้พังเมื่อไรไม่ขอเกิดอีก และก็ไม่ต้องการเป็นเทวดาหรือพรหม เราก็ต้องมาเกิดใหม่ ต้องการไปนิพพานจุดเดียว หลังจากนั้นทุกคนก็ภาวนาว่า นะ มะ พะ ธะ

เวลาภาวนาให้ว่าตามสบาย ไม่ต้องยึดลมหายใจเข้าออก แบบนี้ไม่ต้องยึดถือลมหายใจเข้าออก ปล่อยธรรมดาไปเลย ถ้าไปยึดลมหายใจเข้าออกแล้วจะไม่ไป หลุดไปไม่ได้ ลมหายใจมันดึง ภาวนาว่า นะ มะ พะ ธะ ไปเฉย ๆ ตามแบบสบาย ๆ บางคนว่าไป ๆ มันจะเคลื่อนไปเอง บางคนพอว่าไปเข้ามันจะสั่นหนักเข้า ๆ

ทีนี้ถ้าเอาอาการสั่นเกิดขึ้น ต้องปล่อยให้มันสั่น อย่าไปฝืน เพราะว่าแบบนี้ต้องทำถึงฌาน ๔ ถ้าไม่ถึงฌาน ๔ ไปไม่ได้ ไปแบบเต็มกำลัง แบบที่เราฝึกครึ่งกำลังนะแค่อุปจารสมาธิ ไม่ถึงปฐมฌานขั้นต้น เวลาจะไปจริง ๆ ก็เป็นฌาน ๔ เหมือนกัน ฌาน ๔ ละเอียด แบบนี้จะออกได้จากฌาน ๔ หยาบก่อน ฌาน ๔ หยายเป็นการแสดงทางกาย มันจะเต้นปึ้บปั้บ ๆ ท่าทางเป็นช่างไรก็ช่างหัวมัน เรื่องร่างกายอย่าไปสนใจ สนใจอย่างเดียว คือ ผลได้หรือไม่ได้

ต่อไปถ้าเราทำได้แล้ว ไปบ้านต้องฝึกฝนไว้เสมอ แล้วถ้าจิตถึงฌาน ๔ ละเอียด อาการต่าง ๆ จะไม่มีเลย จะเงียบ แต่ไอ้การออกได้นี้จะมีอาการชัดเจนแจ่มใสมาก

ถ้าเราจะไปได้หรือไม่ได้ ให้สังเกตตามนี้ คือว่า เวลาภาวนาไป ๆ จะมีแสงสว่าง แสงสว่างนี้จะบอกว่าจิตเราเข้าถึงระดับหรอืไม่ ถ้ามีแสงสว่างพุ่งจากข้างบนก็ดี หรือว่าแสงสว่างพุ่งจากกายข้างล่างขึ้นไปก็ดี หรือแสงสว่างปรากฏเฉย ๆ ก็ดี มันมีได้หลายแบบ เมื่อแสงสว่างปรากฏเต็มที่ ให้พุ่งจิตออกตามแสงสว่าง เพียงเท่านี้จิตจะเคลื่อนออกจากกายทันที ออกไปแล้วถ้ารู้สึกว่าเวิ้งว้างไม่รู้จะนึกถึงใคร ไปไหนไม่ถูก ถ้าคนที่เคยได้ครึ่งกำลังมาก่อนหรือยังไม่ได้ก็ตาม ให้ตั้งใจนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนเพื่อน ขอพระพุทธเจ้าทรงโปรด ถ้าเราจะไปไหนก็ตั้งใจไปตามทางที่เราเคยไป ไอ้ทางที่จะไปฝึกครึ่งกำลังหรือเต็มกำลัง มันทางเดียวกัน แต่ว่าทำแบบนี้มันใสสว่างกว่ามาก ไปเต็มกำลังตัว หรือ ถ้าหากว่าเรานึกถึงพระพุทธเจ้าไม่ได้ บางคนเคยทำได้ เป็นลูกแม่ก็นึกถึงแม่ไว้ก่อนก็ได้ ขอให้ท่านมาช่วย แม่ก็คือเป็นพระอรหันต์นั่นเอง ท่านเป็น พระอรหันต์ และเวลาออกไปแล้วปั๊บจะเห็นท่าน เราจะไปทางไหนก็ว่ากันไป

ทีนี้ วิธีปฏิบัติ อันดับแรก จะให้พระเอาน้ำมนต์ไปพรม เพราะแบบนี้ต้องพรมน้ำมนต์ เวลาเลิกแล้วก็ต้องพรมน้ำมนต์ น้ำมนต์นี่กัน ๒ อย่าง คือ กันอารมณ์เฝือ กับ กันผีแทรก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ถูกเรื่องไสยศาสตร์มาแล้ว ไสยศาสตร์ที่หนักสุดที่เขากลัวกันก็คือ เรื่องของน้ำมันพราย น้ำมันพรายนี่มีสภาพรักษาไม่หาย ถ้าหมอผู้รักษา รักษาไปทำท่าว่าจะหาย กลับไปบ้านกินอะไรผสมน้ำมัน จะเป็นน้ำมันทิพย์หรือน้ำมันไม่ทิพย์ก็ตาม น้ำมันหมู น้ำมันหมา น้ำมันอะไรก็ตาม น้ำมันพรายจะเกิดขึ้นใหม่ นี่มันติดกระดูกและก็จะทำลายร่างกายเราทรุดโทรมป่วยหนัก รักษาใหม่หายแล้วก็ไปกระทบใหม่แบบนั้น คือ ไสยศาสตร์ที่กลัวกันมากจริง ๆ ก็น้ำมันพราย

พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์ก่อนและหลังการฝึก

แต่ว่าเมื่อปี ๐๘ ที่วัดสะพานปรากฏว่ามีคนถูกน้ำมันพรายอย่างหนัก วันแรกเธอทำก็ดิ้นปุ้บปั้บ ๆ ๆ มันเป็นฤดูหนาว คนอื่นเขาไม่มีเหงื่อ เห็นแกมีเหงื่อคนเดียว พอตอนเลิกแล้วไปดู แทนที่จะเป็นเหงื่อ มันเป็นน้ำมันคล้ายน้ำมันหมู เปื้อนจากเสื้อไปถึงผ้าทั้งตัว แล้วก็ไปดูที่พื้นกระดาน ที่พื้นที่นั่งเป็นน้ำมันคล้ายน้ำมันหมูราด พอวันที่ ๒ น้ำมันมีซึมออกมาเล็กน้อย จางเต็มที วันที่ ๓ อาจจะมีบ้างแต่ไม่รู้สึกว่ามี ตอนนี้พอวันที่ ๔ ก็เลยทำได้ น้ำมันหมดไป ไปถามพระอาจารย์ผู้รักษาคือ หลวงพ่อสำเภา ท่านบอก "อีนี่มันโดนน้ำมันพราย มันรักษากับผม มาครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓" เป็นอันว่าโรคน้ำมันพรายนี่ เขารักษาหาย และ โรคไสยศาสตร์ทั้งหมด ถ้าเรามีความมั่นใจ ถ้าใครมีโรคไสยศาสตร์ในกาย อันนี้หายแน่

เวลาที่เริ่มทำ พอบอกว่าเริ่มทำเมื่อสมาทานแล้ว ไหว้พระสวดมนต์เสร็จ สมาทานแล้วก็ทุกคนมีกระดาษ เอากระดาษปิดหน้า กระดาษนี่เขาเขียนว่า นะ โม พุท ธา ยะ หมายถึง พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์นะ เมื่อกี้นี้เดินมา เห็นวางที่พื้นเป็นแถว อันนี้ก็เสร็จ ปรามาสพระพุทธเจ้า เดี๋ยวขอขมาท่านนะ เป็นการปรามาสพระพุทธเจ้า นี่ผลมันเกิดน้อย อันนี้ต้องระมัดระวัง อย่าสักแต่ว่าทำ เพราะเราต้องการผลดี ชื่อของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์นี่เราก็ต้องนอบน้อมในท่าน ต้องเทิดไว้ในที่สูง แต่ว่าทำเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ท่านอาจจะให้อภัย แต่ก็ต้องตั้งใจขอขมาท่านเสีย ไม่อย่างนั้นผลการปฏิบัติจะไม่มีผล ก็เป็นอันว่า ต้องระมัดระวังให้มาก อย่าปรามาสพระพุทธเจ้า เวลาเลิกแล้วก็ตามอย่าวางข้างล่าง ถือไว้ แล้วก็พระท่านจะมีขันหรือพาน ก็มาวางไว้บนขันบนพาน ให้ถือว่า นั่นเป็นชื่อพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า อะไรก็ช่างเถอะ ต้องยอมรับนับถือด้วยความเคารพ ถ้าเราไม่เคารพในพระพุทธเจ้า อะไรที่พระพุทธเจ้าให้เรา เราจะได้อย่างไร มันไม่ได้ นี่ต้องระวัง

เริ่มต้น พระจะพรมน้ำมนต์ และหลังจากนั้นจะมีพระเอาไม้เลี่ยมแล้วไปแตะที่ศีรษะเบา ๆ ก็มีคาถาช่วย เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ ภาวนาไปเรื่อย นะ มะ พะ ธะ ไปเรื่อย มันจะสั่นก็สั่น ไม่สั่นก็แล้วไป ถ้ามันสั่นอย่ายั้งไว้และพร้อม ๆ กันนั้น ก็จะมีคนหรือพระ เอาไฟฉายเข้าไปฉายช่วยแสงสว่าง การฉายไฟเขาก็มีคาถาช่วย ไม่ใช่ฉายเล่นโก้ ๆ เป็นการช่วยแสงสว่าง ร่างกายจะสั่น ปล่อยให้สั่น อย่ายั้งนะ มันจะไปได้หรือไม่ได้ก็อีตรงที่สั่นกันนั่นแหล่ะ ถ้าแกล้งสั่นมันก็ไปไม่ได้ ถ้าสั่นน้อยกำลังไม่พอก็ไปไม่ได้ ถ้าสั่นมาก สำหรับผู้หญิงจะมีผู้หญิงมาช่วยจับมือวางที่ตัก ไม่อย่างนั้นก็ตีหน้าอกแรง หมอรักษาวัณโรค จะรวยใช่ไหม ตีหน้าอกแรง ๆ แต่ต้องปล่ยให้สั่นให้แรงก่อนนะ ถ้าไม่แรงถ้าวางที่ตักหยุดต้องยกมือขึ้นพนมใหม่ ถ้ากำลังจิตเป็นฌานทรงตัวเขาจับมือวางที่ตักนี่มันจะหยุด มือก็จะตีเข่า ก็จะแสดงสัญลักษณ์ออก ถ้าเดินเร็วมันก็ตีเร็ว ถ้าเดินช้าก็ตีช้า นี่เป็นสัญลักษณ์ของคนที่ได้ฌานอย่างหยาบ ถ้าทำเรื่อย ๆ ไป พอจิตละเอียด อาการแบบนี้ไม่มีละ จะเงียบฉี่ตามเดิม

ครูฝึกเอาคทาเสกแตะศีรษะและสอบถามให้กำลังใจ

ครูฝึกใช้ธูปหอมรมและแกว่งไปรอบ ๆ เพื่อให้จิตใจสดชื่น

ครูฝึกเอาไฟฉายช่วยส่อง เพื่อให้จิตใจแจ่มใส

และไอ้การไปนี่ชัดเจนแจ่มใสมาก ถ้าคนที่ตัดสินใจถือเอาพระนิพพานเป็นที่ไป อย่าลืมนะ ตอนที่นั่งฟังพูดนี่ก็นึกไปเลย ก็ได้ขึ้นชื่อว่า การเกิดเป็นคนหรือเป็นมนุษย์นี่มันทุกข์ เรามีการเหนื่อยยากด้วยประการทั้งปวง ก็ไม่น่าจะอธิบาย ถ้าคนเราไม่รู้จักทุกข์ก็ไม่น่าจะปฏิบัติกรรมฐาน ให้รู้ว่าเราเกิดมานี่มีแต่ความเหน็ดเหนื่อย มันทุกข์ เป็นคน ไม่ดี เป็นเทวดาหรือพรหมเป็นสุขจริง แต่สุขไม่นาน ไม่ดี หมดบุญจากเทวดาหรือพรหม ก็ต้องมาเกิดเป็นคนอีก แต่บางรายก็ไม่เกิดเป็นคน โดดลงนรกไปเลย จุดที่เราต้องการจริง ๆ คือ นิพพาน ให้ตัดสินใจตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปว่า การทำความดีวันนี้ เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน ถ้าร่างกายนี้พังเมื่อไร เราจะไปนิพพานจุดเดียว เพียงเท่านี้ทุกคนออกไปได้ กำลังใจสะอาดจากกิเลส สะอาดมากและจะมีความสว่างไสวคล้ายพระอาทิตยืเวลาเที่ยง การพบกับเทวดาหรือพรหมหรือกับใครก็ตาม จะเหมือนกับเวลาพระอาทิตย์เที่ยง เรานั่งกลางแจ้งเห็นกัน นี่ความสว่าง ๆ แบบนี้นะ

ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษา หรือข้าราชการที่ยังต้องสอบต่อไป ถ้าทำให้คล่องแล้ว ไม่ใช่ทำได้ไปถึงบ้านแล้วก็ทิ้ง อันนี้ช่วยกันไม่ได้ พ่อแม่ถือว่าเป็นผู้ให้สมบัติ พ่อแม่คือพระพุทธเจ้า ถ้าลูกไม่รู้จักคุณค่าของสมบัติ เป็นเรื่องของลูก พ่อแม่จะตามไปช่วยทำมาหากินถึงบ้านมันเป็นไปไม่ได้ ไปถึงแล้วฝึกฝนทำทุกวัน อย่างน้อยที่สุดวันละ ๒ ครั้ง ก่อนหลับและตื่นใหม่ ๆ เวลาทำไม่ต้องนั่งละ เขาไม่ได้ห้าม ให้จิตมันแจ่มใสถึงคล่อง คิดว่าต้องการเมื่อไร ได้เมื่อนั้นทันที ถ้าแบบนี้คนที่มีการงานต่าง ๆ และผู้ต้องการสอบ ประโยชน์มีมาก

นักเรียนหรอืนักศึกษาที่จะสอบก็รู้ข้อสอบก่อนว่า ข้อสอบเขาจะออกว่าอย่างไร ตอบว่าอย่างไรรู้หมด เขาไม่ทันออก ปีหน้าเขาจะออกอย่างไร ปีนี้มันรู้แล้ว อีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า เขาจะออกอย่างไร ปีนี้มันรู้แล้ว นี่คล่องนะ

ทีนี้ผู้ที่ทำมาหากิน ทำอะไรจะดี ก็เป็นฌานอันเดียวกัน ที่เรียกว่า อนาคตังสญาณ อันนี้เขาจะบอกเสร็จว่าทำอะไรดี จะหาอะไรกิน ได้กำไร ไม่ได้กำไร ถ้ามีความจำเป็น ต้องหากินแบบนี้ ข้างหน้าจะไปถึงไหน จะจอดไม่ต้องแจวหรือแจวไม่ต้องจอด หรือว่า แจว ๆ จอด ๆ เป็นไงแจว ๆ จอด ๆ ขายของเราเขาเรียกว่าก็จอดน่ะซิ แจวไม่ต้องจอดก็อดตายเหมือนกัน จอดไม่ต้องแจวก็อดตาย ก็รวมความว่า เราก็รู้ผลข้างหน้าว่าเราจะดีหรือจะเลว จะรวยหรือไม่รวย มันรู้ได้ทุกอย่าง นี่หมายความว่านอกจากเรื่องของสวรรค์ นิพพานนะ

ทุกคนที่มานี่ขอให้ตั้งใจจริง อย่าลืมคำว่าบารมี แปลว่ากำลังใจ ไอ้กำลังใจตัวนี้ อย่าคบนิวรณ์ ๕ ประการ เข้ามาใช้เวลาปฏิบัติอยู่ ถ้านิวรณ์ ๕ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามากวนในเวลานี้ ผลการปฏิบัติ แม้แต่นิดหนึ่งจะไม่มีเลย นิวรณ์ ๕ ประการก็คือ

ข้อที่ ๑ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เวลานี้โยนทิ้งไปชั่วขณะหนึ่ง เวลาที่เรานั่งอยู่นี่นิวรณ์นี่ตัดไม่ได้แน่ แต่เราพักมันไว้ชั่วคราว พักแค่ขณะที่เราจะทำ

ข้อที่ ๒ อารมณ์ไม่พอใจ นี่ผู้ถือตัวถือตนระวังนะ ถ้าเอาอะไรไปแตะที่ศีรษะบ้าง เอาไฟไปฉายข้างหน้าบ้างเกิดไม่พอใจขึ้นมาอย่างนี้ไม่มีทางจะได้หรอก นี่เขาทำเพื่อผลของเรา เขาไม่ได้ไปเบ่ง ไอ้งานคนที่ไปทำมันเมื่อยไม่ได้ค่าจ้างหรอก เขาต้องเหนื่อยเขาต้องเมื่อย เขาจะนั่งสบาย ๆ เขาไม่ได้นั่ง เราจะคิดว่าเพื่อความหวังดีกับเรา เรามีหน้าที่ภาวนาเราก็ภาวนามันเรื่อยไป

ข้อที่ ๓ ความง่วง

ข้อที่ ๔ จิตฟุ้งซ่านเกินไป อยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนี้ ไอ้นั่นถ้าทำได้นะ เสียงมันดังแน่ คนรำคาญในเสียงก็ไม่มีทาง เขาฝึกที่วัดสะพาน ไอ้รถแทร็คเต้อร์ ๕ คัน มันมาซ่อมข้างโบสถ์ ตีเป้งป้าง ๆ พูดไม่ค่อยจะรู้เรื่องเขาก็ทำกันได้

ข้อที่ ๕ คือ สงสัย ออกไปแล้วปุ๊บปั๊บอย่างนี้ เกิดสงสัยว่าใช่หรือไม่ใช่นี่พังเลย ให้เชื่อมั่นในอารมณ์จิตว่า เวลานี้จิตเป็นทิพย์ ทุกอย่างถูกต้องหมด

ผู้ที่ได้ครึ่งกำลังแล้ว ไปตามทางที่รู้ มันไปทางเดียวกันนั่นแหล่ะ ไม่มีอะไรมากกว่า การฝึกแบบนี้

๑. ไปสุดตัว
๒. ชัดเจนแจ่มใส
๓. คุยกับเทวดาหรือพรหมก็เหมือนคุยกับพรหมนะ ชัดมาก

ระวังให้ดีนะ อาจจะมียักษ์ขวาง ไม่ใครก็ใครล่ะ ระวังนะ พวกรุ่นพี่ที่แกสนุก ๆ น่ะมีมาก ที่ต้องระวังให้มากก็คือ พรทิพย์กับพวงทิพย์ และก็มเหสักขา ไอ้น้อง ๆ ที่น่ารัก ดีไม่ดีก็ทำเป็นยักษ์ แยกเขี้ยวหลอก ถ้าขึ้นไปถือว่ายักษ์บนสวรรค์ไม่มี แยกเขี้ยวก็บอกแยกก็แยกไป ข้าไม่แยกละ แกกลัวเมื่อยปากเดี๋ยวก็เลิก บอกยักษ์ข้าไม่กลัวล่ะใช่ไหม ถ้าจะมีอะไรก็ตามเราตัดสินใจว่า เขตนี้ไม่มียักษ์ไม่มีผี เขามาท่าไหน ก็ตาม เรานึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างเดียว และใครเป็นลูกแม่ก็นึกถึงแม่ ใครเป็นน้องของพี่ นึกถึงพี่ อย่างเกศแก้วมณี พรสวรรค์ มเหสักขา พรทิพย์ พวงทิพย์ นี่เขาเก่งมาก นึกไว้ก่อนก็ได้ ถ้าเผอิญได้ขอให้ มาช่วยนำไปเท่านี้นะ หรือนึกถึงแม่ด้วย นึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย เท่านี้พอขยับตัวได้ปั๊บ ก็เห็นเต็มอัตราแล้ว ไปไหนก็ไปกัน เวลาไปแล้ว ถ้าคนนำเขาถาม ให้ตอบมาตรง ๆ

อย่าลืมนะ คนนำ อย่าถามนำหน้า เห็นอย่างนั้นใช่ไหม เห็นอย่างนี้ใช่ไหม รูปร่างแบบนั้นใช่ไหม รูปร่างแบบนี้ใช่ไหม แบบเต็มกำลังหรือครึ่งกำลังก็ตาม นี่ห้ามทำแบบนี้เด็ดขาด มันผิด ถ้าคนที่มีปัญญา บางทีเขาเห็นจริง เขารู้จริง เขาเลยคิดว่าเป็นอุปทาน รู้ตามคำนำของคนสอน นึกไปตาม อันนี้ผิดมาก แต่ว่าวิธีทำแบบนี้ไม่ใช่อารมณ์นึกหรอก มันชัดเจนมากนะ

( คัดลอกจากธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๕๘ )

กลับหน้า 1ไปหน้า 3Copyright © 2001 by
Amine
19 ก.ค. 2544 13:35:53